"ลูกไม้ไกลต้น": ปรากฏการณ์ใหม่ครอบครัวไทย

โดย "ต้นคิด" จดหมายข่าวรายเดือนประจำเดือนตุลาคม 2551

ผลิตโดย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพhttp://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/tonkit7.pdf

 

 

 

"ครอบครัว"          

เนิ่นนานตราบเท่าอารยธรรมมนุษย์ คำๆ นี้คือรากฐานแห่งความอยู่รอดและเบ้าหลอมตัวตนของผู้คน นับตั้งแต่ลมหายใจแรกตราบกระทั่งเฮือกสุดท้าย

น่าพิศวงหรือไม่ที่ยิ่งมนุษย์เจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น เรากลับยิ่งเห็นสภาพครอบครัวที่เป็นปกติสุข อันประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวลดน้อยลง และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากเข้าทุกที

ลูกที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับน้ำนมจากอกและเพลงเห่กล่อมของแม่

เด็กน้อยที่มีโอกาสได้เล่นของเล่นจากฝีมือของผู้เป็นพ่อ

ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด เทียด ผู้แก่ชรา ที่ได้รับการประคับประคอง ป้อนข้าวป้อนน้ำ เช็ดเนื้อเช็ดตัวด้วยมือลูกหลานแท้ๆ ที่ตนทุ่มกายทุ่มใจฟูมฟักเลี้ยงดูจนเติบใหญ่แข็งแรง

วิถีอันเรียบง่ายที่ร้อยรัดคนต่างวัยสายเลือดเดียวกันให้เกิดความผูกพันแนบแน่นเป็นหน่วยที่เล็กและแข็งแกร่งที่สุดของสังคม อันเคยดำเนินมายาวนานเท่ากับความทรงจำของมนุษยชาติ ณ บัดนี้ แปรเปลี่ยนไปสู่สถานะใกล้เคียงภาพอุดมคติที่ไม่อาจเกิดได้จริงในชีวิตเสียแล้ว

นี่มิใช่จินตนาการลมๆ แล้งๆ แต่คือข้อเท็จจริงที่ค่อยๆ ปรากฏตัวให้สังคมสำนึกและสำเหนียกผ่านข้อมูลเชิงสถิติที่พบแนวโน้มไปในทางเดียวกันจากหลายหน่วยงาน...

 

 

สาละวนอยู่คนละทางจนสายใยจืดจาง

การพัฒนาประเทศภายใต้ระบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งกระแสบริโภคนิยม การพัฒนาและแข่งขันกันในทางวัตถุ ส่งผลให้วิถีชีวิตครอบครัวไทยเปลี่ยนไป

ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

เวลาที่ให้แก่กันในครอบครัวและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันลดน้อยลง

จากการสำรวจผู้ปกครอง 1,066 ครอบครัวในกรุงเทพฯ ในรายงานของมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและศูนย์ประชามติ พบว่า

พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานวันละ 7-9 ชั่วโมง

พ่อแม่ร้อยละ 43 รู้สึกห่างเหินกับลูกเนื่องจากในแต่ละวันมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกเพียง 1-3ชั่วโมง

สภาพเช่นนี้ เป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวขาดความอบอุ่นและอ่อนแอลง ซึ่งแสดงตัวผ่านอัตราการหย่าร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากร้อยละ 10.5 ในปี /2537 เป็น ร้อยละ 25.1 ในปี 2549

ไม่เพียงเกิดสภาพ "คนในอยากออก" แต่คนไทยในวันนี้ยังมองว่าการสร้างครอบครัวเป็นเรื่องที่ "คนนอกก็ไม่อยากเข้า" ด้วย เพราะแม้ทุกวันนี้ประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ชี้ว่า จำนวนการสมรสกลับมีแนวโน้มลดลง เห็นได้จากจำนวนคู่สมรส 492,683 คน ในปี 2537 ในปี 2549 คนที่มีสถานะเป็น "คู่สมรส" ลดเหลือเพียง 355,460 คน

มีผู้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่าเป็นผลจากการตัดสินใจสมรสช้าลง และมีการอยู่ร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนเอย่างเป็นทางการมากขึ้น

แน่นอนว่าความรักและการดูแลเอาใจใส่ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา แต่ในยุคที่ "ความรัก"และ "การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว" มิใช่สองด้านในเหรียญเดียวกันอย่างที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป...

ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกในสังคมก็ได้เกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่อย่างไม่น่าเชื่อ

 

 

ลูกโซ่ข้อที่ 1 เด็กและคนชราถูกทอดทิ้งมากยิ่งขึ้น

จากปัญหาการหย่าร้างทำให้ครอบครัวแตกแยก จึงเป็นสาเหตุให้เด็กและผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก เมื่อมองย้อนไปในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจะโดดเด่นเห็นได้ชัดและแม้พ้นช่วงดังกล่าวแล้วก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง

สภาพเช่นนี้ก่อผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของผู้อ่อนแอทั้ง 2 กลุ่ม เพราะสาเหตุสำคัญคือไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในยามที่จำเป็นได้ เนื่องจากขาดคนเอาใจใส่ดูแล

 

 

ลูกโซ่ข้อที่ 2 มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

เนื่องจากคู่รักยุคใหม่นิยมใช้ชีวิตคู่ร่วมกันโดยไม่ได้ผ่านการสมรสตามรูปแบบประเพณี จึงไม่มีโอกาสเตรียมตัวให้พร้อม ทำให้ขาดทักษะเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่และการแก้ปัญหาในครอบครัว เมื่อเกิดปัญหาครอบครัวขึ้นจึงมีการใช้ความรุนแรง ทั้งการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ และการล่วงเกินทางเพศมากขึ้น

จากการสำรวจสภาวะความรุนแรงในครอบครัวจากพ่อบ้านและแม่บ้าน 2,279 คนในเขตกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช พบว่า มีแม่บ้านถึง 1 ใน 5 ถูกกระทำรุนแรง และแม่บ้านที่ถูกกระทำรุนแรง ร้อยละ 6.5 คิดที่จะฆ่าตัวตาย

เมื่อหนึ่งในกำลังสำคัญของครอบครัวตกอยู่สภาพเช่นนี้ จะมีแรงกายแรงใจสร้างความอบอุ่นและมั่นคงให้แก่สมาชิกในครอบครัวได้อย่างไร?

 

 

ลูกโซ่ข้อที่ 3 เด็กเล็กถูกพรากจากอกพ่อแม่เร็วเกินไป

สภาพครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงทำให้แบบแผนการเลี้ยงดูลูกเปลี่ยนตามไปด้วย ทุกวันนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้เลี้ยงลูกเองอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีเวลา จึงมักนำลูกไปให้คนอื่น ซึ่งเป็นคนนอกครอบครัวเลี้ยงดูมากขึ้น

จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุ 3-5 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นเด็กเล็กเกินกว่าจะเข้าสู่ระบบโรงเรียน ได้รับการเลี้ยงดูจากสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน ถึง ร้อยละ 53.3 ส่วนเด็กวัยเดียวกันที่อยู่ในอ้อมอกพ่อแม่มีเพียง ร้อยละ 28.6

การสำรวจโดยนิตยสาร เรียล แพเรนทิง (Real Parenting) ในปี 2549 ยืนยันข้อค้นพบดังกล่าว โดยได้ทำการสำรวจพ่อแม่วัย 21-40 ปี ในกรุงเทพฯ ที่มีลูกวัย 2-12 ปี พบว่ามีพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกเองเพียง ร้อยละ 30.2 หรือไม่ถึง1 ใน 3

ในสภาพเช่นนี้ จำนวนเด็กปฐมวัยที่ต้องผละออกจากอกพ่อแม่ก่อนวัยอันควร โดยถูกส่งไปเลี้ยงดูในโรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษาจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ร้อยละ 39.3 ในปี 2535 เป็น ร้อยละ 75.0 ในปี 2549

 

แผนภาพที่ 1 อัตราเด็กเล็ก (3-5 ปี) ที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนระหว่าง พ.ศ.2535-2549

ที่มา: สถิติการศึกษาในระบบโรงเรียน, กระทรวงศึกษาธิการ

 

ลูกโซ่ข้อที่ 4 ภาพรวมเด็กไทยพัฒนาการบกพร่อง

จากการที่พ่อแม่ไม่มีเวลาใกล้ชิดดูแลลูก จึงต้องนำลูกเข้าสู่สถานศึกษา หรือสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อให้ครูเป็นผู้ดูแลในช่วงเวลาที่พ่อแม่ไปทำงาน ทั้งๆ ที่ปัญหาศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ไม่ได้มาตรฐานยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตกในสังคมไทย ยิ่งไปกว่านั้นการที่เด็กตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่มีความผูกพันทางจิตวิญญาณเหมือนเช่นพ่อแม่ หรือญาติแท้ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและเชาวน์ปัญญาของเด็กและเยาวชนไทย

 

จากการศึกษาโดยโครงการวิจัยพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทย พบสถานการณ์ที่น่าวิตก เช่น

เด็กวัย 1-18 ปี ที่มีพัฒนาการอยู่ในเกณฑ์ที่จัดว่าปกติและเร็วกว่าปกติมีอยู่เพียง ร้อยละ 63

เด็กวัย 6-18 ปีมีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ

สภาพบกพร่องทางพัฒนาการทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกมากมาย เช่น ลักเพศ โรคเอดส์ การเสพยาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น

นี่คือความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบแบบ "ดาวกระจาย" ทว่า ส่งผลล้ำลึกต่อสังคมทั้งหมด โดยมีที่มาจากครอบครัวของเราแต่ละคนนี่เอง....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท