Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานความคืบหน้ากรณีการดำเนินคดีกับแกนนำพันธมิตรว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ศาลอาญา นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำพันธมิตร ฯ พร้อมทนายความ เดินทางไปเพื่อรายงานตัวและสอบถามว่า อัยการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ ปรากฏว่าอัยการยังไม่มีคำสั่งคดี และครบกำหนดควบคุมตัวตามกฎหมายแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งปล่อยตัว ทำให้นายไชยวัฒน์ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาอีกต่อไป ขณะที่คดีส่วนของนายสนธิ ลิ้มทองกุลกับพวก จะครบกำหนดฝากขัง และควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ก็มีแนวโน้มจะสั่งฟ้องไม่ทันเช่นกัน  


 


ด้านนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดี อัยการสำนักงานคดีอาญา เผยว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนนำสำนวนดำเนินคดีกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนาย เทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมฯ เป็นผู้ต้องหาที่ 1-9 ในข้อหาใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการส่งให้พนักงานอัยการเมื่อวันที่ 5 พ.ย. เพื่อพิจารณาสำนวนเพื่อสั่งฟ้องต่อศาล แต่เมื่อวันที่ 18 พ.ย. พนักงานอัยการยังไม่สามารถสั่งคดีได้ ต้องเลื่อนสั่งคดีไปเป็นวันที่ 21 ม.ค. 52 เวลา 10.00 น. ขณะนี้ตนและคณะทำงานตรวจสอบสำนวนแล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนทำงานค่อนข้างหยาบ และสำนวนยังไม่เรียบร้อย มีการส่งแผ่นวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์มาให้เป็นชุด แต่ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงแห่งการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา อัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนไปทำการถอดข้อความจากแผ่นวีซีดีมาให้ จากนั้นก็จะได้นำข้อเท็จจริงมาประกอบดุลพินิจ 


 


อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากล่าวอีกว่า ที่ว่าพนักงานสอบสวนทำงานค่อนข้างหยาบ เพราะอาจเป็นไปได้ที่พนักงานสอบสวนถูกศาลอุทธรณ์เพิกถอนข้อหาหลัก ทำให้การสอบสวนส่วนที่เหลือเร่งสรุปให้เสร็จๆไป ตนเห็นว่าไม่ถูก ในเมื่อมีการสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาแล้ว ก็ต้องพยายามค้นหาหลักฐานมาสนับสนุน ถ้าทำสำนวนมาอย่างที่เห็นนี้ก็เท่ากับเพิ่มน้ำหนักให้เห็นว่าที่ถูกเพิกถอนข้อหาในหมายจับนั้นสมควรแล้ว พนักงานสอบสวนไม่น่าเร่งรีบส่งสำนวน หากการสอบสวนมีหลักฐานว่าเป็นกบฏ ก็สอบสวนลงไปอีกแล้วแจ้งข้อหากบฏเพิ่มก็ได้ ตามกฎหมาย ป.วิอาญาอยู่แล้ว หรือจะหมายเรียกพยานบุคคลสิ่งของมาตรวจสอบได้ทั้งสิ้น ถ้าอัยการจะเรียกพยานมาซักถามก็สามารถทำได้ ส่วนการเดินเผชิญสืบดูที่เกิดเหตุก็ทำมาแล้วในการพิจารณาสำนวนคดีบุกสถานี เอ็นบีที ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาลก็ไม่ต้องไปตรวจดูซ้ำอีก 


 


นายกายสิทธิ์กล่าวอีกว่า คดีนี้ความจริงจะปรากฏหรือไม่ อัยการยังตอบไม่ได้ แต่จะพยายามตรวจสำนวนในทุกข้อหาดูว่า พยานหลักฐานที่มีถึงหรือไม่ ถ้าไม่ถึงก็จนใจ แต่ถ้าอัยการดูแล้วสำนวนถึง ก็จะให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากบฏเพิ่มเติมได้ เพราะในชั้นนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุดกระบวนการสอบสวน ถ้าอัยการเร่งสั่งคดีให้เสร็จพ้นๆไป ระบบงานยุติธรรมทางอาญาจะเสียหาย ตัวอย่างนี้คนร้าย 3 คนไปปล้นฆ่า ตำรวจรีบสรุปเหลือข้อหาพยายามลักทรัพย์ ถ้าอัยการเห็นพ้องด้วยกับตำรวจ แล้วผู้เสียหายจะไปพึ่งใคร


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายสนธิ และ พล.ต.จำลอง ครบฝากขังครั้งสุดท้ายวันที่ 24 พ.ย.นี้จะกระทบต่อการดำเนินคดีหรือไม่ นายกายสิทธิ์กล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะนายไชยวัฒน์ ถูกแจ้งข้อหามีอัตราโทษที่น้อย และฝากขังตามกฎหมายได้ 4 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน เมื่ออัยการสั่งคดีไม่ทันก็ต้องปล่อยเขา ถ้าอัยการฟ้องก็จะเชิญท่านมาทราบคำสั่ง ส่วนคดี พล.ต.จำลองกับพวก ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ก็คงสั่งคดีไม่ทันเช่นกัน ต้องปล่อยทั้ง 9 คน แต่จะไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอย่างใด ทุกคดีมีอายุความ 10 ปี


 


 


 


เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์ไทยรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net