Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สนับสนุนโดยศูนย์สมานฉันท์สหภาพแรงงานแห่งฟินแลนด์ (Trade Union Solidarity Centre of Finland- SASK) จัดการประชุม "สุดยอดผู้นำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย" ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค ภายในงานมีการนำเสนอรายงานการศึกษาโครงสร้างขบวนการแรงงานไทย ซึ่งสำรวจข้อมูล โดย วาสนา ลำดี และกุลนิภา พันตน


 


ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน ในฐานะที่ปรึกษาการจัดทำรายงาน กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมว่า ขบวนการแรงงานเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่า ขบวนการแรงงานไทยนั้นเล็ก แต่เข้าถึงยาก เข้าใจยากและซับซ้อน รวมถึงเพื่อปรับฐานข้อมูล ทั้งนี้ อาจยังไม่สมบูรณ์นัก อย่างไรก็ตาม จะนำข้อมูลขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์และให้ผู้มีข้อมูลช่วยกันแก้ไขด้วย นอกจากนี้แล้ว การสำรวจครั้งนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับโครงสร้างของ คสรท. เพื่อเรียงร้อยขบวนการแรงงานที่กระจัดกระจายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย


 


จากการสำรวจ พบว่า ปัญหาใหญ่คือการเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านแรงงาน โดยเข้าถึงยาก ตรวจสอบไม่ได้ สับสน หลายส่วนไม่น่าเชื่อถือ ไม่สมบูรณ์ หลายองค์กรมีการปกปิด และข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้ขบวนการแรงงานมีมุมมืด ซึ่งทำให้มีคนเข้าไปแสวงหาประโยชน์ ดังนั้น ต้องทำให้ข้อมูลโปร่งใสก่อนปรัีับขบวนการแรงงาน


 


ด้านภูมิหลัง ขบวนการแรงงานไทยอยู่ใต้บริบทของสังคมที่อยู่ใต้ระบอบเผด็จการยาวนาน ทำให้ขบวนการแรงงานไม่มีพัฒนาการต่อเนื่องและเกิดวัฒนธรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขบวนการแรงงานจะไปได้ดีกับสังคมที่มีวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย แต่ขบวนการแรงงานต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมที่ไม่ีสอดคล้ัองกับการมีสหภาพแรงงาน


 


ทั้งนี้ หากย้อนไปจะพบว่า ขบวนการแรงงานกำเนิดจากขบวนการของแรงงานข้ามชาติ คือแรงงานจีน ถูกมองเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากสังคมไทย มีการผลักให้ขบวนการแรงงานแปลกแยกจากรัฐและทุนตลอด ในช่วงสงครามเย็น ขบวนการแรงงานถูกผลักเป็นฝ่าซ้าย ป้ายสีเป็นคอมมิวนิสต์ คนรุ่นปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ต้องมาลบล้างภาพเหล่านี้ ซึ่งฝังลึกในมโนสำนึกของคนในสังคม  


 


ในอดีต ขบวนการแรงงานเป็นขบวนการที่กว้าง ไม่แคบแบบในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงขบวนการแรงงานของลูกจ้างในโรงงาน ซ้ำยังไม่ใช่ทั้งหมดที่มีด้วย ในอดีต เรามีคนถีบสามล้อเป็นผู้นำแรงงาน วันนี้คนเหล่านั้นถูกลืม ถูกกันออกจากขบวนการแรงงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดทัศนะเชิงลบต่อสหภาพแรงงาน การขยายการจัดตั้งทำได้ลำบาก ทำให้วันนี้เรากลายเป็นขบวนการลูกจ้างในระบบที่ค่อนข้างเล็ก


 


ด้านกรอบกฎหมาย กฎหมายไทยเป็นกฎหมายแบบที่อังกฤษใช้ปกครองอาณานิคม คือ แบ่งแยกแล้วปกครอง แยกคนงานในภาคเอกชนเป็นในระบบและนอกระบบ กันแรงงานเอกชนออกจากแรงงานรัฐวิสาหกิจ กีดกันคนออกจากการจัดตั้ง ไม่ส่งเสริมการรวมตัว ซึ่งสร้างความแตกแยก ทำให้กลายเป็นขบวนการแรงงา่นของคนส่วนน้อย ขยายการจัดตั้งยาก อ่อนแอ ไม่สามารถอ้างเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ได้


 


สำหรับภาพรวมขบวนการแรงงาน เป็นขบวนการที่เล็ก ไม่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน แยกย่อย แตกแยก ไม่เป็นเอกภาพ ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง องค์กรระดับสภา สหพันธ์ กลุ่มย่าน สหภาพฯ ไม่ได้เชื่อมร้อยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสลับซับซ้อน ทำให้อ่อนแอ ไม่มีพลังในการเรียกร้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ


 


สำหรับจำนวนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจนั้นมี 43 แห่ง สมาชิก 171,000 กว่าคน ถือว่ามีเอกภาพมากในแง่จำนวนคนเข้าสู่ขบวนการ ในภาคเอกชน มี 1,258 สหภาพฯ แต่หลายสหภาพฯ เป็นสหภาพตาย สหภาพกระดาษ หรือสหภาพที่ไม่ได้ทำงานแต่เราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าไหร่ โดยมีจำนวนสมาชิกคนงาน 331,853 คน แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต้องตรวจสอบ ทั้งนี้ มีสหพันธ์ในภาคเอกชน 18 แห่ง ในภาครัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง มีสภาองค์กรลูกจ้าง 12 สภา ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ขบวนการนี้เป็นเพียงตัวแทนของคนที่อยู่ในระบบเท่านั้น โดยเป็นของคนเพียง 1.3% จากจำนวนแรงงานทั้งหมด


 


องค์กรแรงงานภาคเอกชน ส่วนใหญ่พึ่งพิงตัวเองไม่ได้ทางการเงิน ซึ่งทำให้ต้องแสวงหาการพึ่งพิงจากส่วนอื่น ส่งผลให้ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีเอกภาพ ด้านองค์กรระดับสหภาพ ส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นสหภาพแบบอุตสาหกรรม แต่ในทางปฎิบัติ กลับเป็นสหภาพสถานประกอบการ ซึ่งเก็บค่าบำรุงสมาชิกต่ำ กระจุกตัว ไม่กระจายในทุกอุตสาหกรรม จำนวนหนึ่งเป็นสหภาพเทียม ที่ไม่ได้ทำงานจริง ซึ่งเมื่อไม่มีสหภาพก็ไม่มีอำนาจต่อรอง


 


ทั้งนี้ สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ 951 แห่งจากทั้งหมด 1,258 แห่ง อยู่ที่ กทม. และปริมณฑล มีเพียง 39 จังหวัดเท่านั้นที่มีสหภาพแรงงาน รวมถึงมีการแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายภาค ทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานน้อยลง


 


องค์กรระดับสหพันธ์มีทั้งสิ้น 18 แห่ง ที่ทำงานจริง 10 แห่ง ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยมี 2 อุตสาหกรรม ที่ยังไม่มีในไทย คือ สหพันธ์เกี่ยวกับสื่อมวลชนและการศึกษา อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ทั้งหมด มีสหภาพเป็นสมาชิกเพียง 212 จาก 1,258 สหภาพเท่านั้น เท่ากับยังไม่สามารถผนวกแรงงานใหเป็นเอกภาพได้ ทำให้สหพันธ์ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร


 


สภาองค์กรลูกจ้าง มี 12 แห่ง แตกออกเป็นสองซีก ยอดสมาชิกบางสภาไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือ มีภาพพจน์ของความแตกแยก ช่วงชิงผลประโยชน์ ส่วนกลุ่มย่าน เป็นองค์กรนอกกฎหมาย แต่ใกล้ชิดกับคนงานมากกว่าส่วนอื่น แต่ยังไม่ได้ทำให้เสียงคนงานมีความหมายต่อการเลือกตั้ง ขณะที่ในต่างประเทศ องค์กรที่กุมพื้นที่อยู่จะคุมเสียงในทางการเมือง คือได้นักการเมืองที่ให้สะท้อนผลประโยน์ของคนงาน


 


องค์กรรัฐวิสาหกิจ ถูกแยกออกจากเอกชน มี 43 แห่่ง เคยมีองค์กรร่มเงาหนึ่งเดียวคือ สรส. แต่ขณะนี้มีการแยกออกไปเป็นสหพันธ์ ซึ่งมีสมาชิก 12 สหภาพ ภาพพจน์เริ่มมีความขัดแย้ง แม้จะดูมีพลัง สมาชิกเยอะ แต่ไม่ต่างจากเอกชน เพราะเก็บค่าบำรุง 20-30 บาท ทั้งที่สมาชิกมีรายได้มาก ซึ่งการจ่ายน้อย จะทำให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของน้อยลง ไม่ผูกพันกับสหภาพ


 


แรงงานนอกระบบมี 23 ล้านคน แต่ยังมีการจัดตั้งที่จำกัด ยังแสวงหารูปแบบการจัดตั้งไม่ได้ แม้เริ่มมีการเชื่อมโยงกับแรงงานในระบบ แต่ยังเพิ่งเริ่มต้น ทำให้คนงานนอกระบบมีอำนาจต่อรองค่อนข้างน้่อย


 


องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานด้านแรงงานมีไม่มากนัก แต่น่าสนใจว่า มีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นประเด็นที่น่าสนใจและองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นองค์กรทุนสนใจ และเอ็นจีโอได้สร้างเครือข่ายทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ และช่วยดึงขบวนการแรงงานเข้าไปจับประเด็นแรงงานข้ามชาติได้เยอะ นอกจากนี้ ขณะนี้ยังมีการปรับบทบาทซึ่งทับซ้อนกันระหว่างเอ็นจีโอกับขวนการแรงงาน


 


องค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาทำงานในไทย อาทิ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) สภาแรงงานระดับโลก เข้ามาทำให้มีกิจกรรม แต่มีความช่วยเหลือบางอย่างพัฒนาไปสู่การแยกตัว ทำให้องค์กรคิดแต่เรื่องของตัวเองจนไม่มองภาพรวม นอกจากนี้ บางครั้งยังเป็นลักษณะคนที่เหนือกว่าเข้ามาช่วยคนที่อ่อนแอกว่า


 


 


"การเมือง" ทำแรงงานเสียขบวน


ศักดินา กล่าวว่า วันนี้ ขบวนการแรงงาน แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1. พันธมิตร 5 สภาองค์การลูกจ้าง ซึ่งมีพนัส ไทยล้วนและประเทือง แสงสังข์ เป็นแกนนำ 2. 7 สภาองค์การลูกจ้าง ที่นำโดย มนัส โกศล และ อุดมศักดิ์ บุพนิมิตร 3.คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ร่วมกับ สรส. และ 4. สมัชชา 1550 ซึ่งเกิดจากประเด็นทางการเมืองหลังรัฐประหาร โดยองค์กรเหล่านี้ให้น้ำหนักในการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้เสียงของคนงานไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในด้านหนึ่งเมื่อมีการรวมตัวกัน อย่างน้อยก็เกิดเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างของแต่ละกลุ่มชัดเจนมากขึ้น


 


ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปี ก่อให้เกิดปัญหากับขบวนการแรงงาน โดยหลังเกิดรัฐประหาร และ พธม. รอบสอง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยเมื่อปี 2550 กลุ่มย่านรังสิตลาออกจาก คสรท. เพราะเห็นว่า คสรท. เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พ.ย. สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ถอนตัว จาก คสรท. เนื่องจาก คสรท. ไม่เข้าร่วมกับ พธม. อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า เชื่อว่าพี่น้องทั้งหมดจะกลับเข้ามา


 


ทั้งนี้ ศักดินา กล่าวถึงข้อเสนอแนะจากการศึกษาว่า ขบวนการแรงงานไทยจำเป็นต้องขยายการจัดตั้ง พร้อมกับสร้างเอกภาพแบบข้ามระดับ ต้อทำนอกกรอบเพื่อเปลี่ยนแปลงขบวนการของลูกจ้างในระบบ เป็นขบวนการของคนส่วนใหญ่ กำจัดเหลือบและสร้างธรรมาภิบาลในขบวนการแรงงาน เพื่อให้ขบวนการแรงงานโปร่งใส เข้มแข็ง เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นปากเป็นเสียงได้


 


สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ ศักดินา ได้เสนอให้ศึกษาบทเรียนของวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่ทำให้บวนการแรงงานอ่อนแอลง สหภาพถูกกลั่นแกล้ง โดยต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ต้องทำให้ขบวนการแรงงานเป็นที่พึ่งให้คนทั้งหลายได้ เมื่อนั้นขบวนการแรงงานก็จะได้เครดิตกลับคืนมา


 


 


เสนอแก้ปัญหา "ไม่มีมวลชน" ด้วยการรับสหภาพฯ เป็นสมาชิกตรง


จากนั้น มีการนำเสนอโครงสร้างใหม่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดย ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินฯ กล่าวถึงสภาพปัญหาหลักของ คสรท. ว่า ปัจจุบันโครงสร้างองค์กรที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของ คสรท. ทำให้ไม่มีมวลชนสนับสนุน เมื่อจะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่าง คสรท. กับกรรมกรพื้นฐาน ซึ่งหากปล่อยไว้ต่อไปจะทำงานยากขึ้น รวมถึงหากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนงาน การเคลื่อนไหวต่างๆ รัฐก็จะไม่ฟังหรือตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง


 


ชัยสิทธิ์ ยกตัวอย่างว่าปัญหาโครงสร้างนี้เกิดจากการขาดการเชื่อมต่อ ข้อมูลไปไม่ถึงผู้ใช้แรงงาน บางครั้งถึงแค่ระดับสหพันธ์ กลุ่มย่าน เอ็นจีโอ แต่ไปไม่ถึงองค์กรพื้นฐาน หรือตัวสมาชิก ความรู้จากการประชุมไม่สามารถลงสู่พื้นฐาน รู้ข้อมูลกันเฉพาะระดับผู้นำ


 


ดังนั้น จึงเสนอปรับโครงสร้างใหม่ โดย คสรท. จะเปิดรับสหภาพแรงงานเป็นสมาชิกโดยตรง โดยจะขยายขอบเขตดูแลคนงาน ไปถึงลูกจ้างของรัฐ แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานทุกสาขา โดยจะจัดรวมกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างๆ เป็น 13 กลุ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดกลุ่มของขบวนการแรงงานระดับสากล โดยแต่ละกลุ่มจะมีประธานกลุ่ม รองประธาน และกรรมการบริหาร


 


 


เสนอโมเดลเก็บค่าบำรุง 1% ของเงินเดือน สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ คสรท.


วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอรูปแบบการเก็บค่าบำรุง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ของ คสรท. ว่า จะเริ่มจากสหภาพแรงงานที่มีการก่อตั้งใหม่ โดยจะรณรงค์ให้มีการเก็บค่าบำรุง 1% จากค่าจ้างของสมาชิกในสหภาพ โดยเงินที่ได้ 75% จะเข้าสหภาพ และนำเข้า คสรท. 25% ส่วนแรงงานนอกระบบและเอ็นจีโอ จะพิจารณาตามความเหมาะสม สำหรับเงินที่ คสรท. ได้จะแบ่งเป็น 50% ให้กลับไปที่สหพันธ์ 20% คสรท. เอาไว้บริหารองค์ืกร 15% ให้กลุ่มย่าน 10% เป็นค่าบำรุงองค์กรระหว่างประเทศ 5% เพื่อบำรุงพิืพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพื่อเป็นศูนย์ทางด้านวัฒนธรรมและฝึกอบรมของแรงงาน


 


วิไลวรรณ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างและเก็บค่าบำรุงในรูปแบบใหม่นี้ เพื่อยกระดับ คสรท. ให้เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างการบริหารงานที่จริงจัง มีการจัดการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น อุดช่องว่างระหว่างองค์กรนำกับมวชน โดยการเปิดรับสหภาพแรงงานเป็นสมาชิกตรง ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของใน คสรท. ระหว่างคนงานทุกกลุ่ม นอกจากนี้ จะทำให้การติดต่อสื่อสาร ให้ข้อมูล เข้าถึงคนงานมากขึ้น ขยายขอบเขตการดูแลคนงานไปถึงลูกจ้างของรัฐ แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ทำให้มีความเป็นตัวแทนแรงงานอย่างแท้จริง ทั้งนี้ กลุ่มย่านจะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นสาขาของ คสรท. ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มย่านมีบทบาทในการสร้างฐานเสียงของคนงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการรวมตัวของคนงานต่อไปด้วย


 


อย่างไรก็ตาม วิไลวรรณ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงสร้างและรูปแบบการเก็บค่าบำรุงดังกล่าวนั้นเป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ทั้งนี้ จะได้โครงสร้างและรูปแบบค่าบำรุงที่ชัดเจน ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2552 ซึ่งจะมีการประชุมใหญ่ของ คสรท.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net