Skip to main content
sharethis

(24 พ.ย.51) สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กทช.จัดการเสวนาทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "แนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 47 และมาตรา 305 (1)" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมกว่า 400 คน


 


ภายในการเสวนาได้เปิดให้หน่วยงานผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 4 ฉบับ พูดคุยเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยร่างกฎหมายของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีศาสตราจารย์ เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติร่วมพูดคุย สำหรับ ร่างกฎหมายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมพูดคุยโดยนายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)


 


ในส่วนร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมวุฒิสภา ร่วมพูดคุยโดยว่าที่ร้อยตรี สรายุทธ์ บุญเลิศกุล อนุกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ในคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา และร่างกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนพรรคร่วมพูดคุย


 


นายเศรษฐพร กล่าวว่า ในส่วนร่างกฎหมายของ กทช.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และ มาตรา 305 (1) ต้องการแก้ไข 2 ประเด็น คือ จัดให้มีองค์กรเดียว และต้องจัดการเรื่องกองทุนพัฒนา กิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกองทุนพัฒนาโทรคมนาคม จึงไม่จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ


 


อย่างไรก็ตาม การสรรหาฯ ต้องเป็นการเปิดให้สมัครเข้ามาโดยความต้องการของผู้สมัครเอง จะไม่มีการแต่งตั้ง หรือเลือกสรรมา ซึ่งหากร่างกฎหมายเข้าสภาได้ทัน และไม่มีวาระแอบแฝงอื่นๆ เชื่อว่าจะสามารถสรุปได้ใน 2-3 เดือน ขณะที่ การจัดให้มีองค์กรเดียว ต้องเน้นที่กระบวนการสรรหาที่โปร่งใส และมีกำหนดเวลาชัดเจน เช่น ภายใน 30 วัน ต้องได้กรรมการสรรหาครบ 17 คนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่หากไม่ครบก็สามารถดำเนินการต่อไปได้เลย


 



ส่วนว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ กล่าวว่า ร่างของ อนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภาเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถเสนอชื่อตัวแทน เป็นกรรมการสรรหาได้มากกว่าร่างอื่นๆ มีการกำหนดคุณสมบัติข้อห้ามชัดเจน เช่น การห้ามถือหุ้นหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในด้านอื่นๆ เป็น กทช.ได้สมัยเดียว และห้ามทำงานเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังพ้นตำแหน่ง 2 ปี


 



อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีปัญหากำหนดรายละเอียดและคุณสมบัติไม่ชัดเจน ซึ่งตามร่างกฎหมายใหม่ คณะกรรมการชุดใหม่ต้องโปร่งใส มีหลักเกณฑ์ทำงานชัดเจน จึงจำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ การทำเพียงบางส่วนตามที่ กทช. เสนอไม่เพียงพอ


 



ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า ร่างที่พรรคประชาธิปัตย์ศึกษาและเสนอไปนั้น ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูแลมากที่สุด จะใช้วิธีการคัดเลือกแบบเลือกกันเอง ทั้งนี้ องค์กรที่เกี่ยวข้องลงทะเบียนส่งตัวแทนเข้ามา เพื่อคัดเลือกให้ได้ 2 เท่าของจำนวนที่ต้องการ และเสนอต่อวุฒิสภา คัดเลือกขั้นสุดท้าย เป็นการใช้วิธีตรวจสอบกันเองภายใน


 


 


กม.คลื่นความถี่ อาจเข้าสภาฯ ไม่ทันปิดสมัยประชุม


จากกรณีที่เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับกระทรวงไอซีที และส่งให้กฤษฎีกาพิจารณารวมเป็นฉบับเดียวกับร่างกฎหมายฉบับแก้ไขของ กทช.โดยด่วน ก่อนส่งเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป


 


นายเศรษฐพร กล่าวว่า หากสามารถเสนอร่างทั้ง 2 ฉบับกลับไปยัง ครม. ได้ภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเร่งเสนอเข้าวาระที่ 1 ในสภาได้ทันภายในวันที่ 28 พ.ย. ก่อนปิดสมัยประชุมสภา เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ระหว่างที่สภาปิดประมาณ 1-2 เดือน จากนั้นเมื่อสภาเปิดอีกครั้งวันที่ 28 ม.ค. ปีหน้า ก็จะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป


 



ทั้งนี้ หากร่างดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ทันในการประชุมสมัยนี้ ก็จะนำเข้าในสมัยประชุมถัดไป โดยหลักการและนำร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และวุฒิสภา มาประกอบการพิจารณาด้วย


 


ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวว่า จากการที่ กทช. และ กระทรวงไอซีที เสนอให้มีการปรับปรุง และแก้ไขร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตนเห็นว่า การปรับเปลี่ยนร่างดังกล่าวจะทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งดูแล้วจากเวลาที่เหลืออยู่ขณะนี้เชื่อว่า จะนำเข้ารัฐสภาไม่ทันสมัยประชุมนี้แน่


 


ด้าน นายวิโรจน์ พูนสุข เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าขณะนี้ได้มีข้อตกลงกับกระทรวงไอซีทีว่าก่อนที่ร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรว่าให้กระทรวงไอซีที่นำร่างมาพูดคุยในขั้นกรรมาธิการ นอกจากนี้ยังได้รับฟังข้อเสนอจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เกี่ยวกับที่มีการจัดร่างกฎหมายของภาคประชาชน


 


ดังนั้นจึงเชิญชวนผู้ประกอบการ ผู้ที่ประสงค์จะได้คลื่นความถี่ หรือต้องการจะยื่นร่างกฎหมาย ยื่นข้อคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ ไปยังคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะทำการประมวลและนำเสนอ ต่อที่ประชุมร่วมระหว่างทาง กทช.และคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ พร้อมย้ำว่าน่าจะทำช่วงเวลา 2 เดือน ก่อนถึงวันที่ 28 ม.ค.ที่จะเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในสมัยต่อไป ให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำข้อเสนอยื่นให้กับคณะกรรมาธิการฯ


 


 


คลื่นความถี่ประโยชน์ของสาธารณะ ที่ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของ


นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นที่มีต่อแนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 47 และมาตรา 305 (1) ว่าหลักการของการร่างกฎหมายใหม่ในครั้งนี้มีการออกแบบโดยอิงทั้งในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 50 และฉบับปี 40


 


โดยมีหลักการพื้นฐาน คือ 1.การให้มี 2 องค์กรภายในองค์กรใหญ่และแยกย่อยออกจากกันในชัดเจน ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 2.คลื่นความถี่เป็นประโยชน์ของสาธารณะไม่ใช่ของรัฐอีกต่อไป โดยหลักการนี้จะนำซึ่งการจัดสรรให้ทั่วถึงเป็นธรรม การออกแบบองค์กรให้มีอิสระจากรัฐได้ 3.ให้ประชาชนมีในการประกอบกิจการ ในการดูแล ซึ่งจะไปเชื่อมโยงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดสรรผู้เข้ามาทำงาน การออกนโยบายและการกำเนินกิจกรรม และ4.ให้มีกองทุน


 


นายไพโรจน์ ยังได้กล่าวถึงการเปิดโอกาสการส่วนร่วมของภาคประชาชนในส่วนต่างๆ ว่า ในส่วนการสรรหา "กรรมการสรรหา" ที่ควรให้มีการขยายสัดส่วนให้เพิ่มขึ้นโดยเพิ่มภาคประชาสังคมเข้าไป อย่างน้อยเพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ และทั้งนี้องค์กรภาคประชาสังคมที่เข้ามาร่วมก็ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงองค์กรผู้บริโภค เพราะภาคประชาสังคมมีความหลากหลาย


 


"เรารับสื่อ ในคอนเซ็ปต์เรื่องรับสื่อ เราไม่ได้อยู่ในฐานะผู้บริโภคอย่างเดียว แต่อยู่ในฐานะคนที่กำหนดและเป็นเจ้าของด้วย" นายไพโรจน์กล่าว


 


นอกจากนี้กระบวนการสรรหาแล้ว นายไพโรจน์ กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนสามารถเข้าไปสู่การจัดทำแผนแม่บท เพื่อให้องค์กรที่เป็นอิสระจากการเมืองและธุรกิจนี้ไม่ตัดขาดกับภาคประชาชนและไม่เป็นอิสระจากการตรวจสอบของประชาชน โดยในส่วนของกรรมการตรวจสอบก็ควรเปิดให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม รวมไปถึงในส่วนกองทุน


 


ทั้งนี้กองทุนควรมีวัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจการของประชาชน และในส่วนการจัดสันคลื่นความถี่ ควรกำหนดสัดส่วนให้ภาคประชาชนไม่น้อยร้อยละ 20 เพื่อเป็นเงื่อนไขให้เกิดการกระจายคลื่นความถี่อย่างแท้จริง


 


 


 


..............................................................


หมายเหตุ: ในส่วนเอกสารประกอบการสัมมนาจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มี ดังนี้ (คลิกที่หัวข้อเพื่อดาวน์โหลด)


 


1. ความเห็นและร่างกฎหมายของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (มีจำนวนทั้งสิ้น 4 ไฟล์ ได้แก่ บทสรุปผู้บริหาร/เอกสาร1/เอกสาร2/เอกสาร3)
2. ความเห็นและร่างกฎหมายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 
3. ความเห็นและร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมวุฒิสภา 
4. ความเห็นและร่างกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ 
5. ตารางสรุปเปรียบเทียบความแตกต่างในหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฯ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net