Skip to main content
sharethis

นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงสถานการณ์ทางการเมือง ภายใต้ชื่อ บทเสนอแนะ "การฝ่าวิกฤติการเมืองไทย ที่ตระหนักถึงรากเหง้าแท้จริงของปัญหา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 28 พ.ย.51


 


 


 


บทเสนอแนะ "การฝ่าวิกฤติการเมืองไทย ที่ตระหนักถึงรากเหง้าแท้จริงของปัญหา"


 


ความเป็นไปและภาพรวมของวิกฤติ


 


1.3 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยมีอุบาทว์พญายมหน้าเหลี่ยมเข้าแทรก จะมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก คาดว่าจะเกิดวิปริตอาเพทอีกนาน


 


2.นักวิชาการได้เตือนล่วงหน้าว่าถ้าทักษิณ และพปช.ดิ้นรนแก้รัฐธรรมนูญล้มล้างความผิดตัวเอง เพื่อกลับมาสู่อำนาจใหม่ จะเกิดวิกฤติรอบสองซึ่งเสียหายร้ายแรงกว่าเดิม


 


3.รัฐบาลชาย กระโปรง คิดแต่จะอยู่ในอำนาจเพื่อจ้องหาผลประโยชน์ ใช้ลีลายึกยักในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนวิกฤติบานปลาย รัฐบาลชาย กระโปรง จะทำบาปมหันต์ถ้าเลือกใช้วิธีการระดมมวลชนมาปะทะกันเป็นสงครามกลางเมือง


 


4. การต่อสู้ของพันธมิตรได้ทำให้ความขัดแย้งการเมืองไทยกลายเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ พันธมิตรคัดค้านการคอร์รัปชั่นการซื้อเสียงของนักการเมือง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นปัญหาที่ปล่อยให้คาราคาซังมานานของการเมืองไทย ฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่กับการซื้อเสียงและแสวงประโยชน์ตนเอง แต่อ้างประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นความถูกต้อง เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างอุดมการณ์ที่ถูกต้องคนละส่วน ปัญหาจึงแก้ได้ยาก พันธมิตรใช้วิธีแข็งขืนกฎหมาย ฝ่ายรัฐใช้อำนาจป่าเถื่อนเข้าตอบโต้ พันธมิตรก็ใช้วิธีผิดกฎหมายสุดขั้วยิ่งขึ้นด้วยการปิดสนามบิน ความขัดแย้งขยายตัวไป เกิดเป็นทัศนคติที่โน้มเอียง เป็นอคติและขาดสติยับยั้งมากขึ้นทุกทีในทุกๆ ส่วนของสังคม





รากเหง้าและสถานะของวิกฤติปัจจุบัน


 


1.การเมืองไทยที่เกิดวิกฤติยืดเยื้อรุนแรงและรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนทุกๆ ฝ่ายเผชิญกับความเสียหายมหาศาล เป็นผลกรรมของเราเองที่ปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐานของการเมืองไม่สมดุลอย่างแรง ไม่แก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่คำนึงแต่ผลประโยชน์ตน ไม่เคยสนับสนุนให้ภาคสังคมและประชาชนเข้มแข็ง ภาคราชการและทหารที่ยอมสยบต่อนักการเมือง ชนชั้นนำไม่เคยใส่ใจการเมืองและชนชั้นรากหญ้าซึ่งยากจนอยู่ในวัฒนธรรมอุปถัมภ์ จนตกอยู่ในกับดักการซื้อเสียงของนักธุรกิจการเมือง ภาคสังคมวิชาการ สื่อมวลชน ก็ไม่มีพลังพอจะถ่วงดุลระบบธุรกิจการเมืองที่เข้ามาฉกฉวยประโยชน์จากประชาธิปไตยได้ อำนาจตุลาการเพิ่งขยับตัวเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง


 


ในอนาคตภาคธุรกิจต้องสนับสนุนภาคสังคม (civil society) กลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวางเหมือนในเกาหลีใต้ เยอรมัน ประเทศสแกนดิเนเวีย และอื่นๆ ในยุโรป


 


ภาคราชการและทหารต้องประสานงานกัน มีปากมีเสียงปกป้องศักดิ์ศรีตัวเองมากขึ้น ชนชั้นนำและกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ต้องไม่ตื่นตัวเฉพาะเวลาที่สถาบันที่ตัวศรัทธาถูกรุกล้ำท้าทายอำนาจ แต่ต้องตื่นตัวถาวร มีส่วนสร้างค่านิยม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม (civic virtue) อย่างต่อเนื่อง


 


ทุกฝ่ายต้องช่วยกันธำรงความเป็นสถาบันหลักต่างๆ ของประเทศและสังคมเอาไว้ ยกระดับความรับผิดชอบของคนไทยให้ก้าวพ้นจากกับดักการซื้อเสียงของกลุ่มธุรกิจการเมืองให้มากที่สุด เคารพศักดิ์ศรีและสร้างความทัดเทียมยุติธรรมให้ทุกคนทุกกลุ่มในประเทศ


 


2.โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สมดุลดังกล่าวถูกซ้ำเติมโดยการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ทำให้บางกลุ่มของธุรกิจการเมืองใช้อำนาจเงินซื้อเสียง ให้ผลประโยชน์เชื่อมโยงนักการเมือง ข้าราชการ และรากหญ้าเข้าด้วยกัน เป็นโครงสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จที่คอร์รัปชั่น ใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด เป็นภัยคุกคามต่อสถานะของสถาบันดั้งเดิมต่างๆ อย่างมาก จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับเป็นแรงเหวี่ยงอย่างรุนแรง จะทำให้ทุกๆ ส่วนของประเทศขัดแย้งร้าวลึกมากกว่าปกติไปในทุกๆ ส่วน ไม่เพียงระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่ระหว่างพรรคการเมือง ข้าราชการ กองทัพ ตำรวจ กลุ่มศาสนา กลุ่มธุรกิจ วิชาชีพ ฯลฯ ทุกสถาบันตั้งแต่ศาล มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน วิชาชีพต่างๆ ถูกดึงดูดเข้าสู่หลุมดำแห่งความขัดแย้งนี้ จนหลายส่วนสูญเสียสถานะและความศรัทธา ซึ่งอาจเลวร้ายมากขึ้นไปเรื่อยๆ


 


แรงเหวี่ยงหรือปฏิกิริยากลับไปกลับมาใดๆ ที่มากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาหรือซ้ำเติมปัญหาได้ในช่วงวิกฤตินี้รวมทั้งในอนาคตข้างหน้า ทุกสถาบันต้องพยายามธำรงความเป็นสถาบันของตน ตั้งตรงอยู่ในหน้าที่ที่ถูกต้อง แต่ควรมีวิจารณญาณเพื่อมีส่วนช่วยแก้วิกฤติครั้งนี้ด้วยจิตใจที่เอื้ออาทรต่อชีวิตคน ต่อผลประโยชน์ของประเทศด้วย และสำหรับแก้วิกฤติของประเทศถ้ามีโอกาสจะทำกัน ก็ควรมุ่งแก้ที่รากฐานของปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ให้วิกฤติวนเวียนกลับมาไม่รู้จบ


 


3. วิกฤติมีโอกาสบานปลายไปสู่การจลาจลและระดับใกล้เคียงสงครามกลางเมืองสูง ขณะที่ระบบการเมืองล้มเหลว รัฐอยู่ในภาวะอัมพาต สถาบันต่างๆ ทำงานไม่ได้ผล เกิดการเมืองนอกระบบขยายตัวเป็นความรุนแรงขึ้น จนมีฉากความเป็นไปได้ 3 แนวทางคือ


 


(1) รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา


(2) รัฐบาลสลายการชุมนุม


(3) เกิดการปะทุของความรุนแรงย่อยๆ การปะทะย่อยๆ จนนำไปสู่การปะทะขนาดใหญ่ของมวลชน


 


ฉากความเป็นไปได้ทั้ง 3 แบบมีโอกาสเกิดภายในไม่กี่วันจนถึงประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้า แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะปัญหาใหญ่โตเกินกว่าจะแก้ไขได้ในครั้งเดียว แต่จะมีโรคแทรกซ้อนขึ้น 2-3 โรคตามมา รัฐบาลชาย กระโปรง ปฏิเสธการลาออกและยุบสภา แต่ถึงแม้จะทำก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ส่งผลต่อการปฏิรูปการเมืองที่จะแก้ไขการซื้อเสียงและคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด ในที่สุดจะมีการชุมนุมคัดค้านอีก เพราะการตื่นตัวของประชาชนสูงขึ้นมาก ถ้ารัฐเลือกสั่งการให้ตำรวจสลายการชุมนุม จะส่งผลให้มีคนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ญาติมิตร พวกพ้องจะไม่ยินยอม มีการต่อสู้จลาจลไม่จบสิ้น นำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด ในฉากที่ 3 ก็จะเกิดผลเช่นเดียวกัน คือการสูญเสียครั้งใหญ่ และการเข้ามาควบคุมสถานการณ์ของฝ่ายทหาร แต่ก็จะเป็นการรัฐประหารที่ยุ่งยากกว่าทุกหน ไม่ชัดเจนว่าจะมีวิธีการใดมาแก้ปัญหาระยะยาวได้อย่างไร การต่อต้านก็จะมีสูงและซับซ้อนกว่าทุกหนที่ผ่านมา


 


สังคมไทยไม่มีทางออก ทุกเส้นทางนำไปสู่การสูญเสีย จึงขอให้คนที่ทำความดีตั้งใจดีตั้งสติภาวนาให้มีปาฏิหาริย์ที่จะให้ปัญหาซึ่งใหญ่หลวงและหยั่งรากลึก ได้คลี่คลายโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อ


 


 


ข้อเสนอแนะ


ข้อแนะนำนี้อาจช่วยบรรเทาปัญหา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด


 


1. ข้อแนะนำต่อรัฐบาล


 


ก. รัฐบาลควรยอมรับว่ามีความไม่ชอบธรรมจากการซื้อเสียง คอร์รัปชั่นดำรงอยู่ในภาคการเมือง และยอมให้มีการปฏิรูปการเมือง ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายอิสระ รัฐบาลควรดำเนินการตามข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดี 26 สถาบัน เมื่อ 26 กันยายน 2551 ที่ให้ตั้งประธานเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการอิสะเพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครอง จากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างข้อเสนอปฏิรูปการเมืองประเทศ จากนั้นควรลาออกเพื่อมีส่วนคลี่คลายเหตุการณ์หรือไม่ เป็นดุลพินิจของรัฐบาล


 


ข. ปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาการเมือง รัฐบาลไม่ควรสร้างภาพพันธมิตรเป็นกลุ่มผิดกฎหมายหรือกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นเจตนาจะกระพือความรุนแรงให้สูงขึ้นอย่างไร้คุณธรรม


 


ค. รัฐบาลควรเปิดการเจรจากับพันธมิตร เพื่อเปิดโอกาสให้มีทางออกโดยไม่เสียเลือดเนื้อ รัฐควรตั้งคณะกรรมการเจรจากับแกนนำพันธมิตรอย่างเปิดเผยโปร่งใสต่อสาธารณชน ก่อนจะตัดสินใจใช้มาตรการใดๆ ที่จะนำพาไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ


 


2 ข้อเสนอต่อพันธมิตร พันธมิตรควรเลือกการดำเนินการระยะยาว เพื่อปฏิรูปโครงสร้างการเมืองอย่างถาวร ในฐานะคนที่เคยสนับสนุนการต่อสู้ของพันธมิตรกับระบอบทักษิณมาตลอด และเคารพในจิตใจที่มุ่งมั่นกล้าเสียสละของมวลชนพันธมิตร มีข้อเสนอดังนี้คือ


 


ก. พันธมิตรได้ปรับตัวจากกลุ่มประท้วงเป็นขบวนการทางการเมืองที่มีความเชื่อ มีอุดมคติที่แรงกล้าของตน จนถึงขั้นยอมเสียสละชีวิตได้ การประท้วงมีข้อบกพร่องมากพอสมควรซึ่งควรแก้ไข แต่ก็สร้างประโยชน์ในการปลุกเร้าคนส่วนต่างๆ ของสังคมให้ตื่นตัวขึ้นมาตระหนักในปัญหาและความรับผิดชอบทางการเมืองของตนมากขึ้น ซึ่งมีคุณค่า ควรถนอมรักษาไว้ ใช้อย่างมีสติปัญญา ระมัดระวังเพื่อประโยชน์สูงสุดในระยะยาวแก่ประเทศชาติ


 


ข. แม้รัฐบาลจะประกาศ พรก. ฉุกเฉิน และข่มขู่สลายการชุมนุม แต่จะถือว่าพันธมิตรได้ตัดสินใจอย่างฉลาดและกล้าหาญที่สุด ถ้าจะเป็นฝ่ายเลือกประกาศยุติการเคลื่อนไหวทั้งหมดทันที โดยยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริงภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด ตามหลักการดังต่อไปนี้คือ


 


- แม้ชาวบ้านจะตกอยู่ภายใต้วงจรการซื้อเสียงของกลุ่มธุรกิจการเมือง แต่เพื่อเคารพต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย จะต้องยอมรับอำนาจเลือกตั้งของประชาชนอย่างเต็มที่ ที่จะกำหนดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ที่มีประสิทธิภาพแท้จริง


 


ต้องแก้กฎหมายเลือกตั้งให้มีการลงโทษการซื้อเสียง ขายเสียงอย่างรุนแรงที่สุด เพิ่มอำนาจในการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเพิ่ม


 


แก้กฎหมายเพื่อให้การตรวจสอบคอร์รัปชั่นโดยสังคม ประชาชน และองค์กรอิสระทำได้ง่ายขึ้น ประสานงานกันได้มากขึ้น รวมทั้งให้การพิจารณาดำเนินคดีการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองรวดเร็ว และลงโทษมากกว่าปกติ


 


เพิ่มประสิทธิภาพขยายขอบเขตอำนาจ ขนาดขององค์กรอิสระ ให้ตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองได้ดีขึ้นอีก


 


สนับสนุนอำนาจยุติธรรมในการตรวจสอบการใช้อำนาจ การคอร์รัปชั่นของนักการเมืองอย่างเที่ยงตรง


 


ถ้าพันธมิตรทำเช่นนี้ แรงกดดันจะหวนกลับและพุ่งตรงไปที่รัฐบาล ส่วนต่างๆ ของสังคมคงจะเห็นด้วย เพราะเชื่อในความมุ่งมั่นของพันธมิตร และมองว่าเป้าหมายการต่อสู้ถูกต้องสมเหตุสมผล เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ถาวร เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ


 


ค. ถ้าพันธมิตรตัดสินใจดังกล่าว ภาคการเมืองจะกริ่งเกรงพลังความมุ่งมั่นของพันธมิตร จะทำให้อำนาจการต่อรองของภาคประชาชนดีขึ้น รวมทั้งเครือข่ายของพันธมิตรซึ่งสามารถมีบทบาทตรวจสอบการเมืองและการเมืองท้องถิ่นอย่างเป็นการถาวร มีโอกาสเป็นจริงได้


 


ง. ถ้าพันธมิตรตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเรื่องยากและเจ็บปวด รวมทั้งแกนนำและบางส่วนจะถูกดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย แต่เชื่อว่าสังคมจะเห็นความตั้งใจดี ความมุ่งมั่นเพื่อส่วนรวมอย่างมีประมาณการของพันธมิตร การคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นน่ามีโอกาสเป็นไปได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net