การยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุกรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้งขัดกับหลักการประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

โชคชัย สุทธาเวศ


หัวหน้าพรรคสังคมธิปไตย

ประธานสมาพันธ์พรรคการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย (สพป.)

 

 

ข้าพเจ้ามิได้เป็นตัวแทนพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่เข้าใจและเห็นใจพรรคเหล่านี้ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นคนหนึ่งที่ย่อมได้รับผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อมต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองโดยภาพรวม จึงใคร่ขอวิพากษ์เรื่องนี้และเสนอทางออกด้วยความคาดหวังต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและพรรคการเมืองของประเทศไทยโดยรวมในทางที่ดีขึ้น

 

ข้อวิพากษ์


  1. การยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคอื่นๆ ถือเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความผิดในเรื่องการทุจริตเลือกตั้งควรรับผิดชอบเฉพาะผู้กระทำผิดเท่านั้น เว้นแต่คณะกรรมการบริหารพรรคโดยส่วนใหญ่ร่วมกระทำการ ให้การสนับสนุน หรือมีส่วนรับรู้รับเห็นด้วย จึงจะนำหลักการร่วมรับผิดมาใช้บังคับเพื่อให้คณะกรรมการบริหารทั้งพรรคพ้นหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง

 


  1. การใช้หลักการร่วมรับผิดของกรรมการบริหารพรรค โดยให้ผู้ไม่ทุจริตร่วมรับเคราะห์กรรมกับผู้ทุจริตด้วยการยุบทั้งพรรคนั้น ไม่ใช่หลักประชาธิปไตยที่แท้อย่างแน่นอน หากเทียบเคียงให้หนักหน่วงขึ้นในสายตาพวกเผด็จการที่ไม่ชอบระบอบรัฐสภาอาจเห็นได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบอยู่ด้วย ส.ส. ที่ได้ตำแหน่งมาโดยทุจริตกับได้มาโดยสุจริตที่อยู่รวมกันภายใต้สภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ก็ย่อมถือว่ามีของไม่ดีปนกับของดี ส.ส. ทุกพรรคจึงมิต้องร่วมรับผิดชอบให้มีการยุบสภาผู้แทนพร้อมกันไปด้วยหรือ (เหลือแต่วุฒิสภาที่ไม่มีใครทุจริตหรือถูกจับได้ว่าทุจริตการเลือกตั้งหรือถูกสรรหาได้มา !?)

 


  1. พรรคการเมืองเป็นองค์การประชาธิปไตยของประชาชนหรือสมาชิก การยุบพรรคเท่ากับทำให้สมาชิกพรรคทุกคนต้องสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกไปด้วย ทั้งๆ ที่สมาชิกพรรคมิได้กระทำความผิดแต่อย่างใด ซึ่งในที่สุดสมาชิกพรรคที่ถูกยุบก็ไปก่อตั้งหรือสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ได้อยู่ดี และเป็นการขยายผู้นิยมชมชอบในพรรคแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นๆ โดยไม่ตั้งใจ การยุบพรรคจึงมิใช่ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด (ประเทศที่ใช้ระบบเช่นนี้มักเป็นประเทศเผด็จการล้าหลัง)

 


  1. การยุบพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดที่ยอมรับได้ คือ การที่พรรคการเมืองเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งรัฐ หรือ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือ ได้อำนาจมาโดยวิธีการอันมิใช่ประชาธิปไตย

 


  1. สำหรับกรณีพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค โดยเฉพาะพรรคพลังประชาชนนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าพรรคนี้ขาดความชอบธรรมในที่มา ด้วยข้อหาว่าซื้อเสียงประชาชน (เสมือนได้อำนาจโดยวิธีการอันมิใช่ประชาธิปไตย) แต่เราจะจำแนกและรู้ชัดได้อย่างไรว่าพรรคนี้และพรรคอื่นๆ ซื้อเสียงกี่คน และได้คะแนนมาโดยสุจริตกี่คนจากคะแนนเสียงทั้งหมดที่ได้ (หักลบกันแล้วอะไรมากกว่ากัน - ในสายตาข้าพเจ้าจำนวนคะแนนบริสุทธิ์น่าจะมากกว่าจำนวนคะแนนทุจริต) และ คนที่ใช้เงินมากในการซื้อเสียงอาจไม่ได้รับเลือกตั้งก็คงมีไม่น้อย ซึ่งมักไม่ถูกเล่นงาน

 


  1. การขายนโยบายหรือโครงการของพรรคการเมืองเพื่อความอยู่ดีกินดียิ่งขึ้นของชาวบ้านเพื่อชนะใจประชาชนนั้น ประเทศทั่วโลกในระบอบประชาธิปไตยเขาทำกันทั้งนั้น เพราะพรรคต่างๆ ต้องแข่งขันกันเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชน โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ/วัตถุ/สิทธิประโยชน์เชิงคุณภาพชีวิตในแง่มุมต่างๆ (แต่อย่าทุจริตในการบริหารโครงการตามสัญญาประชาคมก็แล้วกัน) เราจึงไม่สามารถทึกทักเอาว่าเป็นการซื้อเสียงได้

 


  1. ในการแข่งขันการเลือกตั้งนั้น สิ่งที่พรรคพลังประชาชนได้เปรียบพรรคอื่นก็คือใช้เงินหาเสียงตามกรอบที่กฎหมายกำหนดได้เต็มที่หรืออาจแอบใช้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดและมากกว่าพรรคอื่นๆ ทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้หลากหลายช่องทางหรือในช่องทางสำคัญๆ ได้มากกว่า/ดีกว่าพรรคที่มีเงินน้อย ตรงนี้ย่อมควรถูกวิจารณ์ให้มากเป็นพิเศษว่ายุติธรรมหรือไม่ มากกว่าการกล่าวหาว่าซื้อเสียงกันเป็นหลัก (แม้ว่า ส.ส. พรรคพลังประชาชนจะมีโอกาสซื้อเสียงได้มากกว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคอื่นๆ เพราะมีเงินใช้เพื่อการเลือกตั้งมากกว่าเพื่อนก็ตาม)

 


  1. กระบวนการพิจารณาคดียุบพรรคคราวนี้มีการวิจารณ์กันในฝ่ายเสียเปรียบว่าขาดความยุติธรรม บางประเด็นโต้แย้งสมควรรับฟัง เสียดายที่ความยุติธรรมที่แท้จริงอันขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่สืบสวนสอบสวนขั้นต้นตลอดจนผู้พิพากษาขั้นปลายว่าจะวางตัววางตนใช้หลักแห่งความยุติธรรมอย่างเป็นกลางได้อย่างไรตามวิชาชีพนั้น กลับไม่เพียงพอ ความยุติธรรมในกระบวนการยุบพรรคการเมืองที่ไม่สามารถให้ฝ่ายผู้เสียหายอุทธรณ์ได้จึงดูเหมือนทำให้มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้อ่อนด้อยไป

 

อุทาหรณ์

การยุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรคตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 (ประการ

หนึ่งเนื่องเพราะศาลต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ถูกจงใจเขียนไว้อย่างขัดหลักการประชาธิปไตย) นั้น จึงเป็นการลงโทษที่เกินเหตุ สุดโต่ง การลงโทษควรกระทำเฉพาะตัวบุคคลผู้กระทำผิด หรืออย่างมากที่สุดที่ยอมรับได้คือการถอดถอนคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งชุด (หากส่วนใหญ่ร่วมกระทำผิด) แต่คงพรรคการเมืองและสมาชิกไว้ต่อไปเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พรรคการเมืองนั้นต่อไปให้สำเร็จ และนำบทเรียนมาเสริมสร้างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้ยึดหลักความถูกต้องดีงาม สำหรับนักประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะอยู่พรรคหรือกลุ่มการเมืองใด จึงมิใช่เรื่องที่เราควรจะไปแสดงความยินดีปรีดาหรือฉลองชัยชนะในเรื่องที่พรรคการเมืองถูกยุบกันแต่อย่างใด

                       

ข้อเสนอ

สิ่งที่ชอบธรรมกว่าการยุบพรรคการเมืองคือสมาชิกที่มิใช่คณะกรรมการบริหารพรรคที่มิ

ได้กระทำความผิดจะต้องยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไปพร้อมกับการยังคงอยู่ต่อไปของพรรคนั้น เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนผู้ที่กระทำความผิดที่ถูกปลดออก แต่กระนั้นพรรคการเมืองจะต้องมีประชาธิปไตยของสมาชิกภายในพรรคอย่างแข็งขันเพื่อเล่นงานกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตด้วย เพื่อช่วยกันตรวจสอบและจรรโลงสถาบันพรรคการเมืองให้แก้ไขและพัฒนาตนเองเป็นองค์การประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในที่สุด

 

ทางเลือกที่ดีกว่าการยุบพรรคการเมืองตามแนวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น โทษหนัก

สำหรับผู้ทุจริตการเลือกตั้ง ตามที่สมาพันธ์พรรการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตยเคยเสนอไว้แล้ว คือ ห้ามบุคคลผู้นั้นลงรับสมัครเลือกตั้งทางการเมืองตลอดชีวิต (ประหารชีวิตทางการเมือง) ปรับหลายสิบเท่าของเงินที่ใช้ซื้อเสียง รวมทั้งมีโทษจำคุกด้วย จะเหมาะสมกว่าการยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค

 

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 237 ที่ให้เปิดโอกาสให้ศาลสั่งยุบพรรคการเมืองที่

กรรมการบริหารพรรคกระทำการอันไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในการได้มาซึ่ง ส.ส. จึงสมควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง รวมทั้งบทบัญญัติในกระบวนการยุติธรรมพิจารณาคดีแบบนี้ก็สมควรให้เพิ่มขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้ได้ด้วยเพื่อยกระดับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมในบริบทการเมืองแบบสังคมประชาธิปไตย (การโต้แย้งระหว่างพิจารณาคดีไม่เพียงพอ และ ตุลาการซึ่งมักไม่เคร่งเท่าผู้พิพากษาอาจจะไม่ประสีประสาหรืออาจจะแจ่มแจ้งหรือโจ่งแจ้งเกินไปในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยผ่านการพิจารณาและพิพากษาคดีความด้วย)

 

นอกจากนี้สังคมไทยจำเป็นต้องทุ่มเทลงไปให้มากกว่านี้ในการปฏิรูปการเลือกตั้งให้ยุติธรรมระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ และแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งให้ตรงจุด ไม่ใช่ยกเลิกการเลือกตั้ง แล้วใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาแทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท