Skip to main content
sharethis

ประชาชาติธุรกิจ


วันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2552


ปีที่ 32 ฉบับที่ 4069


 


 


 


จากหนังสือ "บันทึกคนข่าว 7 ตุลาฯ ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง" ซึ่งจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปรากฏข้อเท็จจริงที่ผ่านสายตานักข่าวกว่า 20 ชีวิตที่หลายคนเห็นในสิ่งที่ แตกต่างจากรายงานสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมองเห็นความรุนแรงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ (เท่านั้น)

เพราะเอาเข้าจริงแล้วกลุ่มผู้ชุมนุมในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ใช้ความรุนแรง ผ่านเลยจุด ที่เรียกว่า อารยะขัดขืน ไปไกลมาก ต่อไปนี้คือ บันทึกนักข่าวที่สังคมควรได้รับรู้ความจริงอีกด้าน


.....



ตุลาฯ ลืมไม่ลง

(หัสยา ชาติมนตรี สำนักข่าวเนชั่น)

...ถนนพิชัยที่มุ่งหน้าไปทางพรรคชาติไทยได้ยินเสียงตะโกนไล่หลัง เมื่อหันไปก็เห็นตำรวจวิ่งถอยร่นลง ตำรวจคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บถูกด้ามธงของกลุ่มพันธมิตรฯแทงบริเวณท้อง เดินกุมท้องเลือดไหลเต็มขากางเกงและหยดลงไหลนองเต็มพื้นถนน พร้อมกับมีตำรวจคนอื่นได้รับบาดเจ็บ ทั้งหัวแตก ขาหัก โดยมีกลุ่มพันธมิตรฯถือไม้กอล์ฟ ธง และขว้างปาสิ่งของวิ่งโห่ไล่ประกบมาอย่างกระชั้นชิด

บริเวณถนนราชวิถี ฝั่งประตูทางเข้าพระที่นั่งวิมานเมฆ มีชาย 2 คนแขวนป้ายสีส้มมีข้อความ "สรส." (สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) เป็นแนวร่วมของกลุ่มพันธมิตรฯใช้อุปกรณ์ตัดไฟที่บริเวณดังกล่าว และให้ผู้ชุมนุมนั่งเฝ้าไว้ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ มาต่อไฟ

บริเวณหน้าพรรคชาติไทยมีรถเกิดไฟลุกไหม้อยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามพรรคชาติไทย พบว่ามีผู้เสียชีวิตนอนอยู่ด้านข้างรถโดยสภาพศพตอนนั้นไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นชายหรือหญิง เพราะร่างกายไหม้เกรียม อวัยวะ แขนขา ฉีกขาด กระจัดกระจายทั่วบริเวณเหมือนเป็นแค่ก้อนเนื้อ หัวกะโหลกเปิดออกทำให้สมองกระเด็นไปติดอยู่ที่ต้นไม้ที่อยู่ด้านข้าง บริเวณตัวรถมีไฟลุกไหม้และมีเสียงระเบิดดังตามมาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเปลวไฟได้ไหม้ไปถึงถังก๊าซติดรถยนต์ที่อยู่บริเวณหลังรถ ทำให้เกิด

ระเบิดอย่างรุนแรงและไฟได้ลุกไหม้ตัวรถอย่างรวดเร็ว

ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านถนนราชวิถีฝั่งทางเข้าสวนดุสิตคนหนึ่งได้ปาระเบิดขวดเข้าใส่บริเวณที่ตำรวจยืนอยู่ ทำให้เกิดไฟไหม้เพียงเล็กน้อย จากนั้นก็มีเสียงปืนยิงรัวมาจากฝั่ง ผู้ชุมนุมทั้ง 2 ด้าน ยังมีการยิงลูกเหล็ก นอต ลูกแก้ว เข้าใส่ตำรวจ ทำให้ตำรวจที่ขณะนั้นมีเพียงโล่และกระบองต้องวิ่งหนี

บริเวณหน้าอาคารวุฒิสภาก็มีตำรวจถูกยิงที่ไหปลาร้าด้านขวา 1 คน และบริเวณราวนมด้านขวาอีก 1 คน เพื่อนตำรวจตัดสินใจใช้มีดผ่ากระสุนให้กับผู้ที่โดนยิงที่ไหปลาร้า ส่วนอีกคนที่โดนยิงที่ราวนมด้านขวานั้นไม่สามารถผ่ากระสุนออกได้ เพราะกระสุนอยู่ลึกมาก


.....



กำแพงความรู้สึก

บทบันทึกจากซอยสวนอ้อยถึงเพลงชาติ


(ธนก บังผล หนังสือพิมพ์ประชาชาติฯ)

ชายฉกรรจ์เสื้อเหลืองหลายสิบคนกำลังล้อมรถตำรวจคันหนึ่งอยู่ ซึ่งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งนั่งอยู่ในรถ โดยที่ล้อรถทั้งสี่ถูกเจาะลมออกจนแบนราบแล้ว

จากที่เดินวนรัฐสภาหลายรอบ เดินย้อนกลับมายังทางเดิมอีกครั้ง ผ่านกลุ่มคนที่ล้อมรถตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นกำลังอยู่ในรถ และถูกล้อมโดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่ง บางคนมีอาวุธอยู่ในมือ

มอเตอร์ไซค์หลายคนขับขี่ด้วยความเร็วลัดเลาะไปตามซอกซอยต่างๆ วัยรุ่นบางคนซ้อนมอเตอร์ไซค์ทั้งๆ ที่กำไม้ยาวอยู่ในมือแน่น มีวัยรุ่นหลายคนถือไม้และเหล็กเตรียมพร้อม เด็กวัยรุ่นเอาไม้และรถมอเตอร์ไซค์มาจอดปิดกั้นทางเข้า ได้ยินเด็กบางคนในกลุ่มวัยรุ่นตะโกนขับไล่คนเสื้อเหลืองที่กำลังวิ่งแตกฮือผ่านหลังซอย

และยังพบอีกว่า ในอารมณ์นั้น เวลานั้น วัยรุ่นบางคนในซอยสวนอ้อยยืนถือไม้หรือเหล็กเฝ้าทางเข้าเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯล้ำมาในพื้นที่ชุมชน


.....



ต่างเหตุต่างผลที่หน้า บช.น.

(ธานี ทวีเกิด หนังสือพิมพ์ข่าวสด)

บนถนนศรีอยุธยาด้านหน้า บช.น. เห็นตำรวจแต่ละคนเริ่มเตรียมพร้อมทั้งโล่และกระบอง ตามด้วยปืนยิงแก๊สน้ำตา กระสุนอีกเป็นลัง มีรายงานว่าฝ่ายพันธมิตรฯ เริ่มแตกและจะกลับไปที่ทำเนียบฯ แต่ต้องผ่าน บช.น. ทำให้ช่วงเย็นเริ่มมีกลุ่มพันธมิตรฯ จับกลุ่มโห่ร้อง แถมด่าตำรวจด้วยความเจ็บแค้น ส่วนตำรวจมาตั้งแถวเตรียมพร้อมรับมือ โดยเอารั้วลวดหนามมากั้นไว้ 2 ชั้น

เหตุการณ์เหมือนจะไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ มีเสียงตำรวจร้องขอว่า "พี่น้องครับอย่าเข้ามานะครับ" แต่กลับมีเสียงโห่ฮาอย่างสนุกสนานตอบกลับมา กระทั่งฟ้ามืดเรื่องก็พลิก เมื่อพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองพยายามจะผ่านแดนด้วยการเข้ามายกรั้งลวดหนามออก สักครู่เสียงตูม ตูม ตูม จึงดังสนั่นขึ้น ตามด้วยเสียงหวีดร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกคนในกลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมตัวมาแล้วว่าต้องทำอย่างไร บางคนมีอุปกรณ์ป้องกันตัว

บางคนยืนหยัดสู้กับฝ่ายตำรวจ เจ้าหน้าที่มีโล่และกระบองเป็นอาวุธ เสียงยิงแก๊สน้ำตายังดังไม่ขาดระยะ ตามด้วยเสียงสะท้อนกลับจากคมกระสุนของหนังสติ๊กบรรจุลูกแก้วและลูกเหล็กดังขึ้นไม่ขาดกัน

ท่ามกลางความชุลมุนฝูงชนเสียงตีเกราะ เสียงโห่ไล่ ดังนานนับชั่วโมง พันธมิตรฯ ร้องท้าทายตำรวจท่ามกลางหมอกควันของแก๊สน้ำตา "ไอ้สารเลว ถ้ามึงแน่จริงก็มาต่อยกับกูตัวๆ มั้ยล่ะ อาวุธไม่เกี่ยว"

สุดท้ายตำรวจต้องใช้แผนระดมยิงอย่างไม่ยั้ง ภายใต้เหตุผลว่าต้องรักษาที่มั่นของตัวเอง เพราะถ้ารักษาที่ตั้งตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปดูแลบ้านของคนอื่นแล้ว


 


.....



บันทึกจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศ : เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

(Nick Nostitz เผยแพร่ในเว็บไซต์ New Mandala)

ประมาณ 10.00 น. ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็เริ่มโจมตี พวกเขาโยนระเบิดปิงปองเข้าไปในพื้นที่ของ บช.น. และเข้าใส่ตำรวจ พวกเขาใช้หนังสติ๊กระดมยิงลูกเหล็กและลูกแก้วเข้าใส่ตำรวจ ช่วงบ่ายเกิดการปะทะกันอีกครั้ง ผู้ชุมนุมที่กำลังถูกตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ โดยตำรวจพยายามตอบโต้การโจมตีของฝ่ายพันธมิตรฯ

สถานการณ์ก็ตึงเครียดอย่างไม่น่าเชื่อ ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาตลอดเวลา ทั้งตรงหัวมุมถนนที่ใกล้กับประตูใหญ่รัฐสภา ขณะหนึ่ง ฝ่ายพันธมิตรฯพยายามขับรถบรรทุกตรงเข้ามายังตำรวจที่อยู่ตรงถนนร่วมจิต พวกตำรวจจึงรีบตั้งเครื่องกีดขวางและยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่รถบรรทุกทันก่อนที่รถจะชนตำรวจ คนขับถูกตำรวจนำตัวไป

ฝ่ายพันธมิตรฯใช้ปืนสั้นยิงเข้าใส่ตำรวจหัวมุมตึกรัฐสภา และตำรวจที่ถูกปิกอัพพุ่งชนโดยตั้งใจ

เมื่อฟ้ามืด บช.น. ซึ่งกำลังเจอกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรฯ ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา พันธมิตรฯใช้หนังสติ๊ก เสียงกระสุนปะทะกับโล่กำบังและพื้นถนนตลอดเวลา ฝ่ายพันธมิตรฯยิงปืนออกไปเป็นครั้งคราวเช่นกัน มีความพยายามขับรถยนต์และรถบรรทุกเข้าชนแนวกีดขวาง แต่ตำรวจสกัดไว้ได้

สถานการณ์สงบลงเล็กน้อย ตำรวจยึดตรงหัวมุมลานพระบรมรูปทรงม้ากลับมาได้ รถปิกอัพที่พยายามจะชนตำรวจจอดแน่นิ่ง ตำรวจลากชาย 2 คนออกมาจากข้างหลังและเล่นงานพวกเขาเล็กน้อย

หลัง 22.00 น. สถานการณ์เริ่มอยู่ในการควบคุมมากขึ้น สักครู่มีชายใส่ชุดพรางลายทหาร อาจเป็นทหารประจำการหรือนอกราชการที่อยู่ฝ่ายพันธมิตรฯ มาเจรจากับตำรวจอยู่ชั่วครู่

ตำรวจตอบไปว่าพวกเขาจะหยุดยิงแก๊สน้ำตาหากฝ่ายพันธมิตรฯหยุดยิงหนังสติ๊กและโจมตีตำรวจ ตำรวจเพียงแค่ตอบโต้การโจมตีเท่านั้น



.....



7 ตุลาทมิฬ

กับความชินชาของกลิ่นคาวเลือด


(หทัยรัตน์ พหลทัพ หนังสือพิมพ์มติชน)

เวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังขืนใจประชาชนด้วยการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาออกจากอาคารรัฐสภา ที่ฝ่ายหนึ่งถืออาวุธที่เรียกว่าปืนและกระสุนแก๊สน้ำตาที่มีอานุภาพร้ายแรง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีไม้ หนังสติ๊ก ด้ามธง และบางส่วนก็มีปืนเป็นอาวุธ


 


.....


 


7 ชั่วโมง

ม็อบล้อมสภา นายกฯ กลัว สื่อก็กลัว


(สกู๊ปหน้า 1 ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2551)

ช่างภาพเล่าให้ฟังว่าเห็นตำรวจถูกยิงที่คอ แต่ก็เก็บภาพไม่ได้ว่าใครยิง ทิศทางกระสุนที่ตำรวจยิงมาจากฝั่งม็อบ ภาพข่าวที่เห็นทางทีวีช่องหนึ่งจับภาพผู้ประท้วง คนหนึ่ง วิ่งไปด้วย ยิงปืนไปด้วย...หันปากกระบอกมาทางเจ้าหน้าที่

รถที่เสียหายส่วนใหญ่เป็นรถตำรวจโดน ทุบกระจกพังยับ โดนปล่อยลมยาง 4 ล้อ


 


.....



ผมเห็นเขาวิ่งหนี

(วุฒิ นกสกุล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

ประมาณ 11.00 น. แกนนำประกาศให้การ์ดของพันธมิตรฯ เดินหน้าผลักดัน เจ้าหน้าที่ตำรวจหวังที่เดินเข้าไปปิดทางออก

การ์ดฯ บางคนใช้ไม้ ใช้เหล็ก หวดเข้าไปที่โล่กำบังของเจ้าหน้าที่ถึงกับแตก

การ์ดของพันธมิตรฯบ้างก็ห้ามพวกของตัวเองว่าอย่าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูเหมือนไม่ได้ผล ไล่ชกต่อและตีเจ้าหน้าที่อย่างเมามันจนล้มลุกคลุกคลาน บางรายเดินเจาะยางรถยนต์ของเจ้าหน้าตำรวจทุกคันตลอดทางการผลักดันกว่า 15 คัน

กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯได้เข็นรถบรรทุกหกล้อ ปิดทางเข้าออกรัฐสภา พร้อมกับเจาะยางทุกล้อ


.....



บันทึกความทรงจำ

(สมเมธ สมคะเน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

เวลา 11.00 น. การ์ดอาสาพันธมิตรฯ ได้เริ่มโจมตีแนวสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการขว้างก้อนหิน ขวดน้ำ และใช้ท่อนเหล็ก กับด้ามธงดัดแปลงเป็นปลายหอก ไล่ตีผลักดันออกจากถนนราชวิถี ทำให้ตำรวจที่มีอยู่ประมาณ 2 กองร้อยต้องถอยร่น ตำรวจที่หนีไม่ทันได้แต่นั่งยกมือไหว้อ้อนวอนร้องขอชีวิตอย่างน่าสงสาร

พฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรมของกลุ่ม ผู้ชุมนุมที่มีป้ายการ์ดอาสาฯ คล้องคอหลายคนปิดกั้นไม่ยอมให้รถพยาบาลฉุกเฉินของ ร.พ. ตำรวจ นำ จ.ส.ต.ทวีป กลั่นเทียม ผบ. หมู่งานบังคับและปราบปราม สภ.อ. กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ที่ถูกกลุ่มพันธมิตรฯ แทงด้วยด้ามธงได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการปะทะที่แยกอู่ทองในออกจากพื้นที่

การ์ดอาสาพันธมิตรฯ อีกบางส่วนได้ปล่อยลมยางตำรวจ และรถพยาบาลทั้งหมดที่จอดอยู่บริเวณถนนพิชัยและถนนสุโขทัย รวมทั้งได้รื้อค้นทรัพย์สินในรถทั้งหมด และทำลายระบบสตาร์ตรถไม่ให้ใช้การได้

เวลา 16.15 น. ตำรวจปราบจลาจล ซึ่งมีอาวุธพร้อมทั้งกระสุนยาง ปืนยิงแก๊สน้ำตา ระเบิดแก๊สน้ำตา และหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา ได้เริ่มต้นยิงแก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่องเข้าใส่ผู้ชุมนุมหลายสิบนัดบริเวณแยกการเรือน ทำให้ผู้ชุมนุมหลบหนีอย่างอลหม่านไปตามซอกซอยชุมชน สวนอ้อย ผู้ชุมนุมอีกบางส่วนได้ใช้เก้าอี้ ทุบกระจกอาคารพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ขึ้นไปหลบ บนอาคารและด้านหลังอาคาร ในอาการสั่นงันงก เนื่องจากกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจทำลาย ขณะผู้ชุมนุมที่ห้อยป้ายการ์ดอาสาฯ บางคนได้ใช้ระเบิดขวดปาตอบโต้

การ์ดอาสาพันธมิตรฯ ที่เคยไล่ตีตำรวจอย่างกระหน่ำรุนแรงเมื่อเวลา 11.00 น. ต่างหลบหน้าหายตัวไปหมด

เหลือเพียงประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทั่วไปต้องต่อสู่ป้องกันตัวตามลำพัง เนื่องจากเกรงจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย เห็นได้จากผู้ชุมนุมพยายามใช้ขวดน้ำ ก้อนอิฐ ก้อนหินเท่าที่หาได้เขวี้ยงใส่ตำรวจระหว่างวิ่งหนีแก๊สน้ำตา มีความพยายามใช้รถสิบล้อวิ่งจากแยกอู่ทองนอก เพื่อต้องการจะเข้าไปชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก่อนจะถึงตัว เจ้าหน้าที่ประมาณ 100 เมตร ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาระดมเข้าใส่รถคันดังกล่าว ทำให้คนขับต้องกระโดดลงจาก รถเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดรถคันดังกล่าวขับออกไป

เริ่มมีการตอบโต้จากฝั่งของผู้ชุมนุมบ้าง ได้ใช้ก้อนอิฐตัวหนอนเขวี้ยงใส่และระดมยิงใส่หนังสติ๊ก โดยใช้นอตหัวตัดเป็นกระสุนเป็นระยะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเขวี้ยงสกัดการโจมตีของผู้ชุมนุม

การบุกตีโต้ของกลุ่มผู้ชุมนุมในถนนพิชัย ใช้อาวุธเป็นไม้หน้าสาม ด้ามธงติดปลายเหล็กแหลม ไล่ตีรันฟันแทงเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างหนัก

ผมซึ่งติดอยู่ในวงล้อมตอนนั้นด้วยต้องโดนผู้ชุมนุมใช้ไม้หน้าสามฟาดเข้าที่ท้ายทอย โชคดีที่ยังไม่หนักมาก พร้อมตะโกนร้องบอกผู้ชุมนุม "ผมเป็นนักข่าว... อย่าตีผม" ถึงได้รอดออกมา


 


.....


 


 


หลังภาพระทึก ชายเสื้อดำผู้ลั่นกระสุน

(ภานุมาศ สงวนวงษ์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน)

ความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมก็เริ่มขึ้น แถวหน้าเริ่มเข้าลุย โดยใช้สองมือดันโล่และแถวตำรวจให้แตก ก่อนที่ท่อนไม้ เสาธง ขวดแก้วและอาวุธเฉพาะกิจสารพัดจะระดมเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีโล่และกระบอง ตำรวจถอยร่นออกไปทางถนนสุโขทัย ผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ไม้วิ่งเข้าตีตำรวจที่กึ่งวิ่ง กึ่งเดิน รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบทุกคันที่จอดอยู่ริมถนนถูกปล่อยลมยางออกทั้งหมด

แกนนำผู้ชุมนุมประกาศของให้ตำรวจหยุดยิง พร้อมร้องขอให้เจ้าหน้าที่พยาบาลเข้าไปดูแลนำคนเจ็บออกมาจากจุดปะทะ สถานการณ์นิ่งชั่วครู่ก็กลับมาวุ่นวายอีกครั้ง เพราะมีผู้ชุมนุมบางคนใช้หนังสติ๊กยิงเข้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


 00000


 


     


 







   


 


                                       แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                     สรุปเรื่อง ความรุนแรงสูญเสียจากกรณีการสลายการชุมนุม วันที่ 7 ตุลาคม 2551
                                       ___________________________________




สืบเนื่องจากกรณีการสลายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่เข้าร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนราชวิถีและถนนอู่ทองในรอบๆ รัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาเศษ รวมทั้งการสลายฝูงชนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณถนนศรีอยุธยาด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาลในช่วงบ่ายและเย็นตามลำดับ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตด้วย



คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พิจารณาตรวจสอบจากเอกสารและคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตลอดจนพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งประมวลหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และหลักการพื้นฐานในการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแห่งสหประชาชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดประเด็นการตรวจสอบดังนี้



ประเด็นที่ 1 การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมหรือไม่



เห็นว่า ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสส่วนใหญ่ให้ถ้อยคำยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนได้ใช้อาวุธระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง โดยมีหลักฐานปรากฏตามวัตถุพยานที่เป็นทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อาวุธปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาในระยะใกล้ โดยยิงในแนวราบที่มีเป้าหมายคือประชาชนที่มาร่วมชุมนุม หรือแม้การยิงในวิถีโค้งจากพื้นสู่อากาศและตกลงสู่พื้นดิน แต่ก็ยังเป็นการยิงในระยะใกล้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและวัตถุระเบิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวเกิดจากการถูกยิงหรือถูกขว้างด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งมีจุดระเบิดจุดชนวนถ่วงเวลา และช่วยขยายการระเบิด ระเบิดแบบนี้จะมีอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตดังกล่าว



ประเด็นที่ 2 การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่



เห็นว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาที่ส่วนใหญ่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงระดมยิงและขว้างใส่เป้าหมายประชาชน อีกทั้งเป็นการยิงและขว้างในระยะใกล้ รวมทั้งการลอบยิงระเบิดแก๊สน้ำตาออกมาจากภายในรัฐสภาและกองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น เหล่านี้ เป็นการกระทำอันไม่เป็นไปตามหลักการสากลในการสลายการชุมนุม และการใช้แก๊สน้ำตา และทั้งเป็นการปฏิบัติการเกินความจำเป็น เข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและต่อกฎหมาย



ประเด็นที่ 3 การกระทำเกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่



เห็นว่า การระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการเล็งปืนเข้าสู่เป้าหมายคือประชาชนโดยตรง หรือเป็นการขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง รวมทั้งการลอบยิงออกมาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ย่อมประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลคือ อาจทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุพยานที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกภาพการสลายการชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน นับเป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ทั้งหมดนี้จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295, 297, 288, 289, 83



ประเด็นสุดท้าย บุคคลใดจะต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 บ้างหรือไม่ เพียงใด


 


เห็นว่า

1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุม และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบให้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม รวมทั้งรัฐมนตรีที่ร่วมอยู่ด้วยในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในการสลายชุมนุม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและละเมิดต่อกฎหมาย เข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295, 297, 288, 289, 84

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ปฏิบัติการ และผู้ควบคุมกำลังหน่วยที่มีระเบิดแก๊สน้ำตา ได้แก่หน่วยกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบังคับการปราบปราม

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการละเมิดต่อกฎหมายที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและ/หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295, 297, 288, 289, 83

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้ พึงต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน และกลไกการบริหารจัดการ สลายการชุมนุมประท้วงให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และภาคพลเมืองในฐานะที่เป็นผู้ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาบันตำรวจ ซึ่งจะต้องมีบทบาทสำคัญในยามที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤตของการขัดแย้งแตกแยกอย่างกว้างขวางและรุนแรงภายในสังคมเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีข้อเสนอแนะและเรียกร้องต่อรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีเรื่องนี้ควรได้รับการพิจารณาแก้ไข และดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมโดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
19 ธันวาคม 2551


 


 


 


 


อ่านข่าวเพิ่มเติม:


"เสน่ห์" โต้ พันธมิตรฯเปิดประเด็น กก.สิทธิฯสรุป 7 ต.ค. "สมชาย-บิ๊กจิ๋ว" ผิด


ผลสอบ 7 ตุลาถึงมือ "ป.ป.ช." ตำรวจ - สมชายเจอข้อหาหนัก "ฆ่า-พยายามฆ่า"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net