นักวิจัยจุฬาฯวิเคราะห์ 3 เหตุ "อิสราเอล" บุก "กาซ่า"

9 ม.ค. 52 - มีการจัดเสวนา "สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปาเลสไตน์" ณ ห้องมาลัยยหุวนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

นายศราวุฒิ อารีย์ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงประเด็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติรอบล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ว่า หากพูดตามสื่อทั่วไปจะบอกว่าการโจมตีของอิสราเอลไปในฉนวนกาซ่าตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 51 เป็นเพราะกลุ่มฮามาสยิงจรวดเข้าไปในฝั่งอิสราเอลก่อนทำให้ต้องตอบโต้เพื่อเป็นการหยุดยั้งฝั่งกาซ่าไม่ให้ทำร้ายคนอิสราเอล

 

แต่ในฐานะคนที่ติดตามสถานการณ์มาตลอดขอค้านในประเด็นดังกล่าว เพราะแม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงระหว่างข้อตกลงหยุดยิง 6 เดือน แต่ในวันที่ 4 ธ.ค. 51 หรือวันที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ มีสื่อรายงานว่า อิสราเอลได้รุกไปในฉนวนกาซ่าและฆ่าชาวปาเลสไตน์ไป 6 คน ทำให้มีการโต้ตอบ

 

นอกจากนี้  ตลอดปีกว่าๆที่ผ่านมาหลังจากฮามาสได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลปกครองปาเลสไตน์ได้ถูกประเทศมหาอำนาจและอิสราเอลปิดกั้นการช่วยเหลือทางด้านมนุษธรรมในฉนวนกาซ่าทั้งที่กาซ่าเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆที่ไม่ค่อยมีทรัพยากรธรรมชาติ และการปิดกั้นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังเกิดขึ้นในช่วงทำสัญญาหยุดยิง ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่าต้องทุกข์ทรมาน ขาดแคลนอาหาร จึงไม่ใช่เหตุผลที่อิสราเอลจะบอกได้ว่าละเมิดข้อตกลงหยุดยิงและทำเพื่อหยุดการก่อการร้ายของกลุ่มฮามาส

 

นายศราวุฒิ วิเคราะห์ต่อไปว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้มีการบุกกาซ่าครั้งนี้คือกลุ่มฮามาสได้รับชัยชนะการเลือกตั้งแทนกลุ่มฟะตะฮฺซึ่งมีท่าทีในทางให้ประโยชน์กับอิสราเอลมากกว่า การที่ประชาชนเลือกฮามาสแสดงว่าประชาชนเลือกเส้นทางของเขา เลือกที่จะอยู่อย่างมีเสรีภาพมากกว่าการถูกกดขี่ข่มเหง การเลือกกลุ่มฮามาสเป็นรัฐบาลเป็นสัญลักษณ์บอกว่าขณะนี้กำแพงความหวาดกลัวที่อิสราเอลสร้างขึ้นแก่ชาวปาเลสไตน์มันหมดไปแล้วซึ่งอิสราเอลกลัวมาก จึงมีเป้าหมายสร้างกำแพงความหวาดกลัวมาใหม่

 

สาเหตุของการโจมตีประการที่สอง นายศราวุฒิ เรียกว่า Election War เพราะอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งในอิสราเอลซึ่งนายเอฮุด โอลเมิร์ด นายกรัฐมนตรีอิสราเอล พรรค Kadima เสียคะแนนไปมากในการโจมตีเลบานอนครั้งก่อน จึงต้องเสี่ยงเข้าไปบุกในฉนวนกาซ่าเพื่อทำลายขบวนการฮามาสให้ได้ เพราะหากรัฐบาลปัจจจุบันทำได้โดยไม่เสียหายพรรค Kadima จะมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง

 

นอกจากนี้ Election ในปาเลสไตน์เองได้หมดวาระการเป็นประธานาธิบดีของนาย มะฮฺมูด อับบาส จากพรรคฟะตะฮฺ จึงต้องเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ กฎหมายระบุไว้ว่าถ้าหมดวาระแล้วไม่สามารถเลือกตั้งได้ โฆษกรัฐสภาต้องขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ขณะนี้โฆษกคนดังกล่าวถูกอิสราเอลจำคุก และกลุ่มฮามาสกำลังผลักดันให้รองโฆษกขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนได้ตามกฎหมายและผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งให้ไวที่สุด เพราะกลุ่มฮามาสเชื่อว่าจะได้รับเลือกได้จัดตั้งทั้งรัฐบาลและเป็นประธานาธิบดีได้อย่างสมบูรณ์

แต่ทางอิสราเอลไม่อยากให้กลุ่มฮามาสเป็นรัฐบาลเพราะนิยมแนวทางหลักการอิสลามที่มีอุดมการณ์คือต่อสู้เพื่อให้อิสราเอลออกไปจากพื้นที่ยึดครอง

 

ประเด็นสุดท้ายที่หลายคนคิดไม่ถึง คือ การแย่งชิงผลประโยชน์ด้านทรัพยกรน้ำมัน เพราะเมื่อ 10 ปี ก่อนเจอก๊าซธรรมชาติในฉนวนกาซ่าที่ประเมินมูลค่าได้ราว 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเจอทรัพยากร อิสราเอลจึงรีบรุดเข้าไปเพราะมีปัญหาในเรื่องพลังงานเช่นกัน และได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายไว้กับบริษัทน้ำมันและกลุ่มฟะตะฮฺซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่า ข้อตกลงนี้กำลังดำเนินไป แต่เมื่อกลุ่มฮามาสมีอำนาจ นโยบายประการแรกคือยกเลิกข้อตกลงนี้เพื่อให้มีการเจรจากันใหม่

 

นายศราวุฒิ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้เป็นอีกประเด็นที่ทำให้เกิดความรุนแรง ถ้าฮามาสได้เป็นรัฐบาลและครองทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดจะสามารถสร้างความสมดุลย์ทางอำนาจได้ สามารถพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของกาซ่าและเวสแบงค์อย่างยั่งยืนได้ เมื่อพื้นที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศก็เกิด จะตามมาด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทำให้ปาเลสไตน์จะกลายเป็นประเทศที่ทัดเทียมอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลไม่ต้องการ

 

นายศราวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า สังคมไทยมักเข้าใจผิดว่าปัญหาปาเลสไตน์เกี่ยวกับศาสนา ซึ่งถ้าเข้าใจไปอย่างนี้แนวทางแก้ปัญหาก็ทำยากเพราะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา ฟังแล้วแก้ยาก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องศาสนา

 

"ผู้นำทางการเมือฮามาสหนึ่งคนได้เขียนคอลัมข่าวลงในการ์เดียนว่าไม่ได้ต่อสู้กับอิราเอลเพราะแตกต่างเรื่องศรัทธาหรือทางวัฒนธรรม ยิวและปาเลสไตน์เคยอยู่กันได้อย่างสงบสุขมา 3 ศตวรรษ มองจากมุสลิมไม่ได้คิดว่ายิวเป็นปรปักษ์ทางศาสนา แต่เป็นการสืบทอดทางด้านศาสนา ยินยอมรับในศาสดาของชาวยิว คริสเตียน แล้วยอมรับว่าศาสดามูฮัมหมัดเป็นศาสดาสุดท้าย เรื่องปาเลสไตน์จึงไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ มันเกิดจากขบวนการยิวไซออนิสต์ในยุโรปที่ต้องการเข้ามายึดครองอิสลาม เกิดจากสนธิสัญญาที่อังกฤษทำสัญญาลับๆกันเพื่อแบ่งดินแดนในปาเลสไตน์ เกิดจากการที่อังกฤษต้องการตั้งรัฐอิสราเอล" นายศราวุฒิกล่าว

 

เขากล่าวต่อว่า ปัญหายังเกิดจากมติสหประชาชาติที่ยินยอมให้ตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นอย่างไม่เป็นเอกฉันท์  โดยมีการรับรอง 30 เสียง ไม่รับรอง 13 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง แต่ที่สำคัญคือไม่ได้สนใจเสียงของคนปาเลสไตน์ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่ การแบ่งเป็นอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไม่ได้ปรึกษาเจ้าของบ้าน ก่อน เมื่อรัฐอิสราเอลก่อตั้งขึ้นชาวปาเลสไตน์คือผู้คัดค้านการเข้ามา เป็นปัญหาของคนปาเลสไตน์ ต่อมาอาหรับจึงเข้ามาช่วย สื่อจึงประโคมมว่าเป็นปัญหาระหว่างอาหรับกับยิว

 

ทั้งนี้ ศราวุฒิ กล่าวว่า อิสราเอลในสายตาสังคมไทย คือประเทศเล็กๆที่ถูกห้อมล้อมด้วยประเทศอาหรับใหญ่ๆ และคิดว่าอิสราเอลเป็นฮีโร่ที่ต่อสู้กับศัตรูใหญ่ๆรายรอบได้

 

นายจรัญ มะลูลีม นักรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อิสราเอลไม่ยอมรับการมีอยู่ของปาเลสไตน์ แต่โลกให้การยอมรับภายใต้การนำของนายยัตเซอร์ อาราฟัด อดีตผู้นำองค์กรกู้ชาติปาเลสไตน์ (PLO) ซึ่งกลุ่มฮามาสก็เติบโตมาพร้อมๆกันในลักษณะที่เป็นองค์กรการกุศล สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และปราบปรามยาเสพติด ระยะเวลา 22 ปีที่ถูกยึดครองพูดเรื่องสันติภาพ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแผ่นดิน

 

ส่วนสหรัฐและชาติตะวันตกก็มองว่ากลุ่มฮามาสว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จึงยอมรับแค่ PLO แต่ต่อมากลุ่มฮามาสซึ่งเป็นทั้งองค์กรการกุศลและยึดหลักอิสลามเป็นที่นิยมขึ้นในภายหลังทำให้ชนะเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามสหรัฐพยายามขัดขวางไม่ให้เป็นรัฐบาล และการทำลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับประเทศหลายแห่งในโลกจึงมีคำถามว่าสหรัฐสนับสนุนประชาธิปไตยจริงหรือไม่

 

นายจรัญ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรก ฮามาสถูกปล่อยให้โตขึ้นเพื่อให้ขัดแย้งกันเองกับ PLO แต่ภายหลังกลุ่มฮามาสเข้มแข็งขึ้นหลังถูกยึดครองมา 2 ทศวรรษ ชาวปาเลสไตน์เคยลุกฮือครั้งใหญ่ 2 ครั้งและสู้โดยการเอาก้อนหินขว้างในขณะที่อีกฝ่ายใช้ไรเฟิลตอบโต้อย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม การสู้ด้วยก้อนหินทำให้อิสราเอลมองว่าเป็นขบวนการที่น่ากลัว

 

ทั้งนี้ ขบวนการขว้างลูกหินแม้ช่วงแรกมาจากขบวนการชาตินิยม แต่ถูกปลุกมาจากคนที่นิยมในอิสลาม ซึ่งเข้มแข็งทางจิตวิญญาณอย่างยิ่ง อิสราเอลจึงปราบปรามโดยสังหารพลเรือน ครั้งนี้จึงเป็นการย้อนรอยสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง ใน ค.ศ. 1987 สหประชาชาติประณามการกระทำของอิสราเอลอย่างชัดเจน ปลายเดือน ธ.ค. ค.ศ.1988 ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตราว 300 คน ส่วนอิสราเอลเสียชีวิต 14 คน ส่วนในขณะนี้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้ว 800 คน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท