Skip to main content
sharethis

 "อารมณ์ความรู้สึกของมวลชนพันธมิตรฯ ไม่ใช่อารมณ์ของการหลงใหลได้ปลื้ม...

โจทย์ที่พันธมิตรฯ รณรงค์กับสังคมหรือพูดในที่ชุมนุม


มันอาจจะเป็นโจทย์ที่สูงมาก เรื่องการเมืองใหม่

พอข้อสรุปมาที่การเปลี่ยนขั้ว หรือได้นายกฯ ใหม่ชื่ออภิสิทธิ์ก็ตาม


แต่พ่วงเอาเนวิน พ่วงเอาขั้วเก่าที่เคยอุ้มชูระบอบทักษิณมา


มันทำให้มวลชนพันธมิตรฯ อารมณ์ค้างพอสมควร และรู้สึกว่านี่ไม่ใช่คำตอบ"


"
ต้องยอมรับว่าพันธมิตรฯ มีมวลชนที่แน่นอน เป่านกหวีดแล้วมาอยู่ที่ว่าเราจะเป่ามาเพื่ออะไร


ถ้าเราอธิบายสังคมได้และก็มีความชอบธรรม ผมว่าคนลืมอดีตได้


ถ้าวันนี้คิดจะทำดี ความเลวร้ายในอดีตเราจะถูกลืม  


วันนี้ในสายตาหลายคนยังบอกเนวินฮีโร่ ให้อภัยได้


ลืมไปแล้วว่าเนวินทำอะไรบ้างสมัยเป็นขุนพลทักษิณ"

- - - - - - - - - - - - - - - - -





สนทนากับผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ครั้งแรกหลังจากประกาศ "ชัยชนะ" และเกิดการเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แน่นอนว่าในสายตาของผู้ที่อยู่ตรงข้าม พันธมิตรฯ กับ ปชป.คือพวกเดียวกัน ขณะที่ ปชป.และพันธมิตรฯ ต่างก็บอกว่าไม่ใช่ ความสัมพันธ์นี้จะขีดเส้นอย่างไร และพันธมิตรฯ จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร ทั้งในส่วนที่ร่วมและต่างกับ ปชป.

ถือเป็นการพูดคุยสบายๆ ในสถานการณ์วันนี้ที่ความเห็นต่างบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องถกเถียง แค่ซักถามให้เปิดความคิดสู่สาธารณชน ที่จะต้องติดตามบทบาทของพันธมิตรฯ ต่อไป



พันธแนวร่วม

"
ในทางสาธารณะ เราก็ปฏิเสธลำบากหรืออาจจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประชาธิปัตย์คือแนวร่วมการต่อสู้ขับไล่ระบอบทักษิณ แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างจำแนกหรือสังเกตเป็นช่วงๆ จะเห็นว่าประชาธิปัตย์เองก็พยายามรักษาระยะห่างกับพันธมิตรฯ เป็นจังหวะๆ แม้แต่ช่วงปิดสนามบิน ช่วงโค้งสุดท้ายของการต่อสู้ คุณอภิสิทธิ์ก็พูดชัดว่าไม่เห็นด้วยกับการปิดสนามบิน หรือแม้กระทั่งข้อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกหลังจากมีการปราบปราม 7 .. ประชาธิปัตย์ก็บอกว่าไม่ใช่แนวทาง ยังมีความจำเป็นต้องใช้เวทีสภา ฉะนั้นถ้าสังเกตก็จะเห็นว่ามันมีการรักษาระยะห่างของประชาธิปัตย์กับพันธมิตรฯ อยู่ มันไม่ได้ match กันทุกเรื่อง ทุกยุทธศาสตร์ แม้จะมี อ.สมเกียรติอยู่ก็ตาม แต่ อ.สมเกียรติเข้ามาพันธมิตรฯ ก่อนไปอยู่ประชาธิปัตย์ ฉะนั้นก็ไม่แปลกที่ อ.สมเกียรติ ไม่ได้รับธงหรือไม่ได้รับบัญชาการใดๆ จากประชาธิปัตย์มา และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง"

"
ดังนั้นในทางสาธารณะเราปฏิเสธยากก็จริง แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างเป็นธรรมก็จะเห็นว่ามันมีระยะห่าง ผมคิดว่าวันนี้ประชาธิปัตย์ก็คงต้องคิดมากว่าจะจัดความสัมพันธ์กับพันธมิตรฯ อย่างไร ถ้าประชาธิปัตย์กังวลกับข้อสงสัยของสังคมว่าเป็นนอมินีพันธมิตรฯ หรือเป็นแนวร่วมพันธมิตรฯ ถ้าประชาธิปัตย์เห็นว่าเป็นปัญหา แน่นอนว่าเขาก็ต้องรักษาระยะห่าง ซึ่งดูจากท่วงทำนอง ดูจาก speech ของนายกฯ ดูจากคำสัมภาษณ์ก็จะเห็นว่านายกฯ พยายามไม่พูดถึงพันธมิตรฯ หรือพยายามให้ระบบให้กลไกที่มีอยู่จัดการพันธมิตรฯ ไป เช่นเรื่องคดีนายกฯ ก็บอกว่าว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผมก็ยืนยันว่าจนนาทีนี้ยังไม่มีการคุยกับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ลับหรือที่แจ้ง ผมยืนยันว่าไม่มี และยังไม่มีการติดต่อประสานงานมาเลยว่ารัฐบาลจะขอคำหารือพันธมิตรฯ ไหม หรือพันธมิตรฯ ประเมินแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ไม่มี"

"
ฉะนั้นผมจึงเชื่อว่าประชาธิปัตย์เองก็เห็นปัญหาอยู่เหมือนกันว่าถ้าผูกกับพันธมิตรฯ มากอาจจะทำงานลำบาก แรงต้านจากเสื้อแดงจะสูงขึ้น สังเกตดูกรณีท่านทูตกษิตซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่โควตาพันธมิตรฯ แต่เมื่อมาขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ก็ถูกมองว่าเป็นโควตาพันธมิตรฯ ก็เป็นจุดที่ฝ่ายตรงข้ามโจมตี และเท่าที่ผมทราบก็มีข่าวทำนองว่าใครที่เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ จะมีโควตาเป็นที่ปรึกษาบ้างเป็นรัฐมนตรีบ้าง แต่ช่วงโค้งสุดท้ายก็หลุดโผกันหมด อันนี้ก็เป็นไปได้ว่าประชาธิปัตย์อาจจะปลดเงื่อนไขของการเผชิญหน้า เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าเออออห่อหมกกับพันธมิตรฯ"

"
ผมคิดว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่พันธมิตรฯ จะเอามาคิดหรือว่าตั้งแง่รังเกียจ มันไม่ใช่ประเด็นไม่ใช่สาระ แต่วันนี้สิ่งที่พันธมิตรฯ จับตาคือในยามประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านพูดอะไรไว้บ้าง เช่น เหตุการณ์ 7 .. ไปร้องคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ เอาผิดตำรวจที่เกี่ยวข้อง ผลสอบออกมาแล้ว และคุณเป็นรัฐบาลคุณจะสะสางความผิดถูกอย่างไร ส่วนเรื่องคดี พันธมิตรฯ ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร ก็ดีเสียอีกที่นายกฯ บอกว่าให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาด วันนี้ สปน.ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 18 ล้าน ผมคิดว่าเรายินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องอื่นๆ แม้กระทั่งเรื่องเขาพระวิหารที่มีการพูดบนเวที คุณกษิตเองเมื่อไปเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ในช่วงที่ขึ้นเวทีพันธมิตรเสนอทางออกต่อข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหารอย่างไร เราคงจำกันได้ และก็คงถูกตรวจสอบจากสังคมและฝ่ายพันธมิตรฯ ด้วยซ้ำ ดังนั้นเป็นท่านทูตกษิตคงไม่ง่ายแล้วละ เพราะท่านพูดไว้เยอะ เมื่อไปเป็นแล้วทำไม่ได้ท่านอาจจะโดนต้านหนักกว่าคนอื่นก็ได้ อย่าไปคิดว่าพันธมิตรฯ หลงใหลได้ปลื้มอะไร"

"
ซึ่งถ้าดูช่วง 10 วันที่ผ่านมาหลังแถลงนโยบาย หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนขั้วสำเร็จได้นายกฯ ชื่ออภิสิทธิ์ ตั้งแต่โปรดเกล้าฯ มา เท่าที่สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนพันธมิตรฯ ไม่ใช่อารมณ์ของการหลงใหลได้ปลื้ม เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล..สุรยุทธ์ ตอนนั้นกระแสสูงกว่าด้วยซ้ำ มอบดอกไม้ ขนาดรัฐประหารด้วยซ้ำ พันธมิตรฯ ทยอยมอบดอกไม้กันอย่างเปิดเผย ครั้งนี้แทบไม่เห็น นอกจากไม่เห็นแล้วอารมณ์ของการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากการไปจับขั้วการเมืองกับฝ่ายที่เคยอยู่ตรงข้ามพันธมิตรฯ เช่นกลุ่มเนวิน ก็เลยทำให้พันธมิตรฯ เหน็ดหนาระอาใจกับรัฐบาลชุดนี้ เริ่มต้นไม่สวย อารมณ์หลงใหลได้ปลื้มก็น้อยกว่า พล..สุรยุทธ์ด้วยซ้ำไป แน่นอนอาจจะมีบางส่วนที่รู้สึกว่าชื่นชมคุณอภิสิทธิ์เป็นการส่วนตัว แต่ในภาพรวมผมคิดว่ากระแสการหลงใหลได้ปลื้มเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล..สุรยุทธ์ น้อยกว่ากันมาก อันนี้น่าคิดนะ นอกจากน้อยกว่าแล้วการเปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์สูงกว่า ไม่ได้โอกาสจากพันธมิตรฯ พอๆ กับไม่ได้โอกาสจากเสื้อแดงด้วยซ้ำไป ถ้าเราดูอย่างละเอียด ASTV ก็เปิดฉากตั้งแต่ยังไม่ได้แถลงนโยบายด้วยซ้ำ พิธีกร ผู้ปราศรัย ออกรายการก็วิพากษ์วิจารณ์จนเกิดคำถามภายใน เขาถามว่าจะไม่ให้โอกาสรัฐบาลหรือ เราจะล่อเขาแบบนี้เลยหรือเปล่า"

"
ผมคิดว่าจุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อประชาธิปัตย์ก็คือจุดยืนของการตรวจสอบ เพราะพันธมิตรฯ เป็นการเมืองภาคประชาชน ใครจะไปทำงานช่วยรัฐบาลก็ตาม ก็ไปกันเป็นการส่วนตัว แต่ภาพรวมหรือใน 5 แกนนำไม่มีใครมีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาลชุดนี้ และก็ยังเป็นอิสระจากพรรคประชาธิปัตย์ จากรัฐบาล ไม่มีการครอบงำ หรือซูเอี๋ยอะไรกันทั้งสิ้น เรายังยืนยันที่จะเดินหน้าตรวจสอบ แต่ขณะนี้เนื่องจากเพิ่งแถลงนโยบายเสร็จ รูปธรรมในการทำงานของรัฐบาลก็ยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งคดี 7 .. ก็คงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะใช้เงื่อนไขรื้อรัฐตำรวจหรือปฏิรูปตำรวจก็ว่ากันไป ผมคิดว่ายังเป็นเงื่อนไขของการให้โอกาส เป็นการให้โอกาสแบบมีเงื่อนไข ให้เวลาเขาทำงาน ด้านหนึ่งก็ติติงตรวจสอบ ผมคิดว่าเราคงทำหน้าที่แบบนี้"

"
เพราะก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่ โจทย์ที่พันธมิตรฯ รณรงค์กับสังคมหรือพูดในที่ชุมนุม มันอาจจะเป็นโจทย์ที่สูงมาก เรื่องการเมืองใหม่ พอข้อสรุปมาที่การเปลี่ยนขั้ว หรือได้นายกฯ ใหม่ชื่ออภิสิทธิ์ก็ตาม แต่พ่วงเอาเนวิน พ่วงเอาขั้วเก่าที่เคยอุ้มชูระบอบทักษิณมา มันทำให้มวลชนพันธมิตรอารมณ์ค้างพอสมควร และรู้สึกว่านี่ไม่ใช่คำตอบ ด้านหนึ่งมันสะท้อนความก้าวหน้าของการต่อสู้ของมวลชนเหมือนกันว่าแค่เปลี่ยนขั้วไม่ใช่แล้ว ขนาดที่เปลี่ยนขั้วแล้วได้อภิสิทธิ์ นี่ดีนะที่เปลี่ยนขั้วแล้วไม่ใช่ได้บรรหารหรือได้คุณชวน คุณบัญญัติ ได้คุณอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นผลผลิตที่คิดว่าดีที่สุดในบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ คนก็ยังรู้สึกตั้งคำถามแรงด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งก็ไม่ง่ายสำหรับรัฐบาล แต่ด้านหนึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นเงื่อนไขดีด้วยซ้ำที่จะเอาโจทย์การเมืองใหม่มาเคลื่อนกันต่อ"

"
ผมเองตอนเปลี่ยนขั้วรัฐบาล สิ่งที่ผมกังวลที่สุดผมกลัวว่ามันจะเป็นต้นทุนที่เราไม่สามารถรักษาไว้ มันจะเป็นกำไรจากการต่อสู้ กำไรที่ผมคิดว่างดงามที่สุดของการต่อสู้ 193 วันคือการเมืองใหม่ มันได้เป็นวาระเป็นกระแสที่ค่อนข้างสูงพอสมควรในประเทศนี้ ผมกลัวที่สุดกลัวว่ามันจะหายไปกับการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล กลัวมันเอาไปแลกกับการได้มาซึ่งนายกฯ ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่พอเห็นตัวตนรัฐบาลชัด เห็นหน้า ครม. เห็นช่วง 10 วันที่ผ่านมา บรรยากาศของเสื้อแดงกับท่าทีความไม่เป็นภาวะผู้นำที่ดูเหมือนยังไม่มีพอของคุณอภิสิทธิ์ มันทำให้อารมณ์คนเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แล้วการเมืองแบบนี้ มันต้องไปสู่การเมืองใหม่ให้ได้ ผมว่านี่สูงมาก-เท่าที่สัมผัส และที่แปลกมากก็คือแกนนำนี่ยังไม่ได้ออกแบบกันเลยว่าเราจะทำแผนเรื่องการเมืองใหม่อย่างไร จะรับฟังจะรณรงค์อย่างไร หลังจากที่เราสัมมนาและก็ได้สมุดปกขาวมาเล่มหนึ่ง เรายังไม่ได้ประชุมเพื่อกำหนดแผนกันเลย ปรากกฏว่าในหลายจังหวัดจัดแล้ว ที่เราเห็นดาษดื่นอยู่นี่เป็นวงกึ่งสังสรรค์ กึ่งทอล์กโชว์ แต่สาระอาจจะไม่ได้มากเท่าไหร่ แต่ที่เราไม่เห็นและไม่ค่อยเป็นข่าวคือมีวงสัมมนา 50 คน 100 คน ทุกวัน และก็มีการหยิบเอาเรื่องการเมืองใหม่มาพูดกัน ว่าจะไปให้ไกลกว่าการเปลี่ยนขั้วได้อย่างไร การเมืองใหม่จะเป็นจริงได้อย่างไร"

"
ผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นว่ามวลชนไปไกลมาก กระทั่งมวลชนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หรือยังเป็นอยู่ ที่เคยเชื่อว่าอภิสิทธิ์คือคำตอบ วันนี้ชักไม่มั่นใจ รู้สึกว่ามันไม่พอแล้ว แน่นอนว่าเราเห็นความตั้งใจดี ความซื่อสัตย์ เฉลียวฉลาดของนายกฯ คนนี้ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีข้อตำหนิติติงเมื่อเปรียบเทียบกับนายกฯ ในอดีตที่เคยมีมา ผมว่าคุณอภิสิทธิ์โดดเด่นที่สุดก็ว่าได้ คนก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ใช่คำตอบ ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่คุณอภิสิทธิ์หรือคนที่เชียร์ประชาธิปัตย์จะน้อยใจอารมณ์คนแบบนี้ มันกระตุกให้คนกลับมาคิด ทำไมได้ขนาดนี้ยังไม่พอใจ อะไรคือความพึงพอใจ ผมรู้สึกว่าด้านหนึ่งมันเป็นความก้าวหน้าของมวลชนที่พยายามจะแสวงหาหรือมีความเชื่อว่ามีอะไรที่ดีกว่านี้ เราสามารถทำอะไรที่ดีกว่านี้ได้"

"
อันนี้ก็เป็นเงื่อนไขเชิงบวกที่อาจทำให้เราทำงานเรื่องการเมืองใหม่ ในปี 2552 การรณรงค์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับมากขึ้น มวลชนจะไม่จางหายไป หลังรัฐประหาร 2549 หลังจาก 5 แกนนำประกาศยุติบทบาทวันที่ 21 .. ต่างคนต่างก็กระจัดกระจาย กลับบ้านใครบ้านมัน แต่ครั้งนี้การเรียกร้องให้แกนนำอยู่ ไม่ให้สลายการนำ และก็ให้ทำงานเครือข่ายอย่างจริงจังเข้มข้นมากขึ้น เพิ่มสมรรถนะเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงาน ถูกเรียกร้องมากขึ้นกว่าในปี 2549 จนหลายส่วนคิดว่าเฮ้ยมันยกระดับเป็นพรรคการเมืองใหม่ได้ไหม หรือทำพรรคควบคู่ไปกับทำพันธมิตรฯ ให้เข้มแข็งได้ไหม นี่ก็เป็นโจทย์เป็นการบ้านที่ท้าทาย"

แต่เมื่อไหร่ที่จุดเรื่องการเมืองใหม่ ก็จะขัดแย้งกับประชาธิปัตย์ เพราะอภิสิทธิ์พูดชัดว่าไม่เอาด้วย
"
คุณอภิสิทธิ์เคยตำหนิเคยแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับ 70:30 ซึ่งโจทย์นั้นเราได้เคลียร์ไปแล้ว  ว่ามันเคยเป็นตุ๊กตาที่มีบางคนปราศรัยบนเวที หลังจากนั้นเราก็พยายามแก้โจทย์นี้โดยเสนอให้เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการเลือกตั้งที่ยึดโยงกับสาขาอาชีพ อันนี้ผมคิดว่าน่าจะตกไปแล้ว คุณอภิสิทธิ์เข้าใจว่าติดประเด็นนี้ประเด็นเดียว ประเด็นอื่นอาจจะไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่วิธีการไปสู่หรือทางไปอาจจะคิดต่างกัน"

"
เพราะสูตรของพันธมิตรฯ คิดว่ามันไม่ได้เริ่มต้นที่การแก้รัฐธรรมนูญ มันควรจะเริ่มต้นจากการบ่มเพาะ การกระตุ้นให้สังคมเห็นความหายนะที่รออยู่เบื้องหน้าว่าการเมืองแบบนี้ 10 อภิสิทธิ์ก็ไปยาก ต้องชี้ให้เขาเห็นก่อนว่าระบบและโครงสร้างแบบเก่า หรือที่คุณอภิสิทธิ์ใช้ว่าการเมืองที่ล้มเหลว มันพาชาติบ้านเมืองให้ก้าวพ้นจากวิกฤติหรือความขัดแย้งแบบนี้ไม่ได้ ผมคิดว่าเราน่าจะใช้สถานการณ์ขณะนี้บ่มเพาะ และทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในระดับมหาศาล ค่อยไปขมวดจบที่การแก้รัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญควรมาในขั้นตอนสุดท้าย ผมคิดว่าใช้เวลาอย่างช้าก็สัก 1 ปี ถ้าเราทำงานกันอย่างจริงจังและรัฐบาลเอาด้วย มี คปป.2 ผมว่าก็ไปได้ เหมือนที่รัฐบาลเคยพูดไว้แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมว่าจะมี คปป.2 หรือเปล่า"

"
พันธมิตรฯ อาจจะเข้าร่วมก็ได้ หรือทำเวทีคู่ขนานก็ได้ แต่ต้องมีเจ้าภาพทำเรื่องนี้ เพราะลำพังพันธมิตรฯ ทำไม่ได้ คนก็มีอคติ คนก็มีความรู้สึกว่าเป็นการเมืองแบบพันธมิตรฯ แรงต้านมันสูง ถ้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพแล้วระดมจากหลายองค์กรเข้ามาด้วย พันธมิตรฯ ก็ทำไป เสื้อแดงก็ทำไป เสนอแข่งกัน ขายความคิด ผมว่ามันจะเป็นความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่ไล่ปาไข่กันแล้วไม่รู้เสนออะไร มันเป็นความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ และทำให้ประเทศชาติเสียเวลา ฉะนั้นผมคิดว่านึกถึงบรรยากาศการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 ปี 2540 ก่อนจะมาที่การแก้มาตรา 211 มันก็พูดเรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบ เรื่องคอรัปชั่น เรื่องบทบาททหาร มันพูดกันมาทั้งระบบ จนสุดท้ายเห็นว่าต้องปฏิรูป ต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มันควรจะมาแบบนั้น การบ่มเพาะช่วงปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 ใช้เวลานานเป็นสิบปีหรือ 2 ทศวรรษด้วยซ้ำไปกว่าจะพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ครั้งนี้มันเร็วมากเลย มันถูกกระตุ้นว่าต้องแก้ๆ ตลอด"

"
แต่ต้องจัดการความขัดแย้งให้ได้ก่อน เพราะถ้าเราโยนโจทย์แก้รัฐธรรมนูญเข้าไปในบรรยากาศที่สังคมกำลังเผชิญหน้าและยกพวกตีกันอยู่แบบนี้ สุดท้ายก็ไม่รู้จะได้รัฐธรรมนูญฉบับไหน มันก็จะย้อนรอยเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.อีก ถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับท็อปบูตบ้าง ฉบับอำมาตยาธิปไตยบ้าง ผมคิดว่าต้องเริ่มต้นจากให้ทั้งไม่ว่าจะสีไหนก็ตาม ส่วนไหนก็ตามของสังคม เห็นความจำเป็นแล้วว่าเราต้องสร้างการเมืองใหม่ เราต้องยอมรับความจริงว่านายกฯ 2 คนเลยก็ได้ ทั้งคุณอภิสิทธิ์ทั้งคุณทักษิณในวิกฤติแบบนี้ก็ฝ่าข้ามยากมาก ต้องชี้ให้เขาเห็นว่ามันไม่ได้แก้ปัญหา มันควรจะมีทางเลือกใหม่ๆ ที่ดี ถ้าเราสามารถบ่มเพาะและก็เขย่าให้สังคมเห็นความสำคัญตรงนี้ได้ สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่ใช่เผือกร้อน ไม่ใช่ระเบิดเวลาทางการเมือง แต่อาจจะกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน หรือกลายเป็นเวทีหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองสมานฉันท์ได้ในที่สุด เพราะผมคิดว่าลึกๆ แล้วถ้าไปถามคนที่เป็นเสื้อแดงด้วยความสุจริตใจที่ไม่อยู่บนฐานประโยชน์ ผมว่าเขาก็เห็นว่าปัญหาการเมืองไทยมันเป็นการเมืองเก่า มันเละเทะ ผมคิดว่าก็มีบางคนที่คิดไม่ต่างจากเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองก็คิดไม่ต่างจากเสื้อแดงหรอก แต่เราต้องค้นหาให้เจอ ต้องมีเวที มีเวทีที่ปลอดจากความหวาดระแวงและทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งมาชี้นำมาบงการ อันนี้แน่นอนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ว่าถ้าไม่เริ่มเลยก็จะปล่อยไปแบบนี้ก็ไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลก็ต้องกล้าริเริ่มที่จะให้มีเวทีแบบนี้"


สอนน้องเสื้อแดง
อย่าทำลายตัวเอง


แต่เหมือนขั้นตอนยังไม่จบ คือพันธมิตรฯ ได้ระเบิดอารมณ์ความรู้สึกไปแล้ว ต่อไปก็ต้องเป็นช่วงที่เสื้อแดงระเบิดอารมณ์บ้าง ก่อนที่สองฝ่ายจะมานั่งคุยกัน
"
ผมไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายไปขนาดนั้นว่ามันเป็นการย้อนศร หรือพันธมิตรฯ ทำได้เขาก็ทำได้ หรือเป็นการเอาคืนอะไรแบบนั้น ผมคิดว่ากลไกรัฐหลังจากยุคคุณทักษิณที่ผ่านมามันเป็นกลไกของทีใครทีมัน เราต้องยอมรับ ตอน คมช.ก็ชัดเจนว่าเป็นรัฐบาลที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายคุณทักษิณ คุณทักษิณก็แย่งอำนาจกลับคืนแล้วมาเป็นรัฐบาลนอมินี ตั้งรัฐบาลนอมินีได้ 2 ชุดก็ถูกต้าน แต่ประชาธิปัตย์จะบอกว่าเป็นรัฐบาลของพันธมิตรฯ ผมว่าถ้าดูโครงสร้างดูเนื้อในของประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่แน่นอนมันก็ไม่ใช่อะไรที่จะไปคุยกับคุณทักษิณได้ง่าย เพราะยืนอยู่คนละฝั่งกัน ผมคิดว่าประชาธิปัตย์เองอยู่ในสถานะที่แบกภาระมากกว่ารัฐบาลนอมินี 2 รัฐบาลที่ผ่าน และหนักกว่ารัฐบาล พล..สุรยุทธ์ เพราะกำลังจะบอกว่าผมเป็นนายกฯ ให้กับคนไทยทุกคนไม่ว่าจะเลือกผมหรือไม่ก็ตาม เมื่อ speech เป็นแบบนี้ เมื่อความมุ่งมั่นของนายกเป็นแบบนี้ แน่นอนว่าการวางระยะห่างกับพันธมิตรฯ ก็เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังถูกไล่ล่าจากเสื้อแดง ผมจึงคิดว่ามันไม่ง่าย"

"
เพียงแต่จะรับมืออย่างไรกับความขัดแย้งในขณะนี้ ซึ่งบางคนก็บอกว่าต้องเด็ดขาด ต้องใช้ตำรวจจัดการ ซึ่งก็ต้องคิดว่ามันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ได้จริงหรือเปล่า ผมคิดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม จะใช้กลไกใช้การเยียวยารูปแบบใดก็ตาม มันต้องใช้เวลาและใช้ความทุ่มเทมหาศาล ซึ่งก็ยอมรับว่าผมยังไม่ตกผลึกและก็ยังนึกไม่ออก นึกถึง กอส.ก็ยังไม่น่าจะใช่ เพราะหลายคนใน กอส.ช่วง 2-3 ปีมานี้ก็ถูกปอกเปลือกเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะนักสันติวิธีที่เคยเป็นเจ้าภาพ เวลาพูดถึงความขัดแย้งเราจะนึกถึงนักสันติวิธีไม่กี่คนในประเทศ สถานการณ์ตอนนี้มันไปไกลกว่าการบอกให้ถอยคนละก้าว การบอกให้หันหน้ามาคุยกันแล้ว แต่เราจะทำให้มีเวทีที่ทะเลาะกันอย่างสันติวิธีและเป็นเหตุเป็นผลได้อย่างไร ตรงนี้ต่างหาก แน่นอนมันอาจจะไม่ได้แก้ทั้งหมดหรอก เพราะถึงที่สุดแล้วเรื่องของคุณทักษิณก็ต้องให้ศาลจัดการ ซึ่งก็มีคนบางกลุ่มที่อย่างไรก็เชื่อว่าคุณทักษิณถูกและถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า มันมีความเชื่อแบบนี้อยู่ที่อย่างไรเขาก็ไม่เปลี่ยน ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีข้อมูล แต่เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ผมถึงบอกว่ามันเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกมากๆ ตั้งแต่เรามีความขัดแย้งในบ้านนี้เมืองนี้มา จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่การเริ่มต้นที่ดีและกล้ามันต้องออกแบบแล้วตั้งแต่วันนี้ ซึ่งอาจจะเห็นผลในอีกปีสองปี ก็ต้องเริ่มต้น ไม่อย่างนั้นความขัดแย้งนี้จะขยายตัว และการย้อนศรหรือความคิดแบบเอาคืนจะรุนแรง และจุดติดเร็วมาก มันเริ่มต้นที่ลำปาง จากที่ทำเนียบฯ ที่กรุงเทพฯ ไม่กี่จุดแล้วขยายกลายเป็นแฟชั่นไป"

มันไม่ใช่ย้อนศรเสียทีเดียว พันธมิตรฯ ชุมนุม 193 วัน หล่อหลอมจนเป็นปึกแผ่น เสื้อแดงก็จะเริ่มต้นจากอารมณ์เช่นกัน แล้วค่อยๆ ผ่านกระบวนการรวมเป็นกลุ่มก้อนไปแสวงหาการเมืองใหม่บ้าง
"
ผมยังคิดว่ายากมาก สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมากทีเดียว ผมยังคิดว่าเสื้อแดงจะระดมคนได้ไม่มากเหมือนในอดีต เหมือนสมัย คมช. หรือสมัยเผชิญหน้า เพราะหนึ่ง เสื้อแดงกำลังหลักคือปีกเนวิน ในอีสานก็ทำงานยากขึ้น 3 แกนนำความจริงวันนี้ไปที่บุรีรัมย์ก็เห็นชัดเจน มีการเตรียมการในหลายๆ พื้นที่เพื่อที่จะเบรกเสื้อแดงด้วยกัน สอง อารมณ์ของสังคม การเปลี่ยนสีจากเหลืองไปแดงเลยมันไม่ง่ายที่สังคมจะรู้สึกว่าเสื้อเหลืองทำได้เสื้อแดงก็ทำได้ คนอาจจะรู้สึกว่าเฮ้ยเสื้อเหลืองมันหยุดแล้ว เสื้อแดงก็ควรให้โอกาสรัฐบาล ถ้าเราย้อนไปดูการขยับตัวของพันธมิตรฯ รู้ทั้งรู้ว่ารัฐบาลสมัครเป็นรัฐบาลนอมินี ให้เวลาอยู่ตั้ง 4 เดือน 25 ..เราถึงลงถนน และลงถนนนี่ถูกไล่ตีก็เลยถอยไม่ได้ เพราะยิ่งถอยยิ่งถูกตี ก็สู้ ผมจึงคิดว่าเป็นไปได้ยากมากที่การเปิดเกมรบของเสื้อแดงในขณะนี้ที่ใช้วิธีปาไข่ลามไปทั่วเป็นแฟชั่น มันจะเป็นบวกกับเขา เว้นแต่เสื้อแดงจะไม่สนใจว่าชอบธรรมไม่ชอบธรรม ขอแค่ขัดแข้งขัดขารัฐบาลนี้ แต่ถ้าวันหนึ่งรัฐบาลตั้งหลักได้ และเปลี่ยนจากรับเป็นรุก อาจจะต้องใช้ตำรวจ ใช้กลไกปกครองนายอำเภอ ผู้ว่าฯ มันก็ไม่แน่นะ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร ประชาธิปัตย์ก็คงคิดแผนนี้อยู่ และขณะเดียวกันก็มีแนวร่วมเสื้อแดงเดิมอยู่ในรัฐบาลนี้เต็มไปหมด ผมก็คิดว่าอาจจะทำให้เงื่อนไขในการจัดการเสื้อแดงของประชาธิปัตย์สูงมาก สาม ก็คืออารมณ์ของคนมันเป็นอารมณ์ที่ในช่วงปลายของพันธมิตรฯ ช่วง 3-4 เดือนสุดท้าย เราก็เผชิญกับแรงต้านของสังคมหรือพลังเงียบสูงมาก พลังของคนที่บอกว่าความขัดแย้งแบบนี้ไม่ใช่คำตอบ ข้อเสนอของพันธมิตรฯ ก็ไม่ใช่ทางออก มันถูกตีกลับสูงมาก โพลล์หลายสำนักสำรวจอาทิตย์ต่ออาทิตย์ จะเห็นว่ามวลชนของเสื้อแดงก็ลดลง พันธมิตรฯ ก็ลดลง ขณะที่พลังเงียบสูงขึ้นๆ และนาทีนี้พลังเงียบก็ยังสูง พลังที่รู้สึกว่าเสื้อแดงหยุดนะ เสื้อเหลืองอย่าเพิ่งนะ พลังแบบนี้จะสูงขึ้น และสุดท้ายเสื้อแดงก็จะเผชิญหน้ากับสังคมไม่ใช่เผชิญหน้ากับรัฐบาล โดยเฉพาะบรรดาพลังเงียบ พลังเงียบถ้าไม่มีการบริหารจัดการมันก็เงียบฉี่ แต่มันอาจจะเป็นพลังที่ถึงจุดหนึ่งก็จะแสดงออก ระเบิดออกมาบ้างว่า เฮ้ยมึงหยุดเสียที พอแล้วนะพวกมึงน่ะ กูก็เจ้าของประเทศนะ อาจจะโห่ไล่ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง เราก็ไม่รู้ ผมว่าถ้าอุณหภูมิมันถึงขนาดนั้น ฉะนั้นเงื่อนไขของเสื้อแดงที่จะลอกเลียนแบบพันธมิตรฯ ง่ายๆ โดยไม่สนใจบริบทของสังคมหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมากทีเดียว ไม่ใช่มากธรรมดา อย่างน้อยเปลี่ยนขั้วทางการเมืองไปแล้ว มันไม่ง่ายแล้ว ขนาดในยุคที่เสื้อแดงมีอำนาจรัฐการระดมมวลชนในปริมาณมากๆ ยังทำได้น้อยกว่าพันธมิตรฯ โดยเฉพาะถ้าวัดเรื่องความยืดเยื้อ ผมว่ายาก"

แต่ตอนนี้อารมณ์โกรธเขารุนแรงกว่า
"
อารมณ์โกรธแรงกว่า ใช่ และเขาอาจจะไม่ต้องใช้คนเป็นหมื่นเป็นแสน แค่ห้าพันแล้วกล้าและบุกลุย อันนี้น่ากลัว"

เงื่อนไขต่างกันเพราะรัฐบาลพลังประชาชนมาจากการเลือกตั้ง พวกคุณต้องรอ แต่นี่คนเสื้อแดงเขารู้สึกว่ามันปล้นกันนี่หว่า ปล้น ส.. ยุบพรรคแล้วชิงตัว อารมณ์มันปะทุแรงกว่า แต่กระแสสังคมไม่ยอมรับ
"
ผมคิดว่าเสื้อแดงกำลังเผชิญหน้ากับสังคมมากกว่าเผชิญหน้ากับรัฐบาล ฉะนั้นถ้าเขาทำความเข้าใจกับสังคมได้ แน่นอนความชอบธรรมก็จะสูงขึ้น ถ้าเขาอธิบายไม่ได้เลย สุดท้ายจะเหี่ยวลง และรัฐบาลก็ไปทำอะไรเขาไม่ได้ เพียงแต่อาจจะต้องตามพวกฮาร์ดคอร์ พวกที่เล่นแรง พวกที่ทุบรถปาหินปาไข่ ผมว่าขบวนการเหล่านี้จะสูงขึ้น จากไข่เป็นหินเป็นอิฐ ซึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น มันก็ต้องใช้กฎหมายมาจัดการ ในพันธมิตรฯ เหมือนกันถ้ามีปาหินมีพกปืน วันนี้ที่ผมรับผิดชอบคดีพันธมิตรฯ ผมบอกเลยคดีพกปืนผมมีเงื่อนไขในการช่วยประกันตัว มีเงื่อนไขในการช่วยคดี เจออีกผมไม่เอาแล้ว ที่ช่วยเพราะเห็นแก่สู้กันมา เรามีเงื่อนไขตลอด ก่อนจะหาเงินไปประกันตัวก่อนจะหาทนายความให้ ตอนคุณพกปืนผมไม่เห็นรู้เรื่อง เอาหนังสติ๊กยิงใครผมไม่เห็นรู้เรื่อง พอโดนจับมาหาเรา ก็ใช้จังหวะแบบนี้ในการแนะนำว่าเฮ้ยมันไม่ได้นะเคลื่อนไหวแบบนี้ ดังนั้นผมคิดว่าถ้ามันเลยเถิดไปถึงจุดนั้นก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมายที่ต้องจัดการ"

เสื้อแดงเขาก็ได้คะแนนสงสารจากสังคมบางส่วน คะแนนผู้ว่าฯ กทม.อาจจะตีตื้นขึ้นมา
"
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะเป็นตัวชี้ตัวหนึ่ง 3 วันสุดท้ายคุณแซมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเสื้อแดง กล้าประกาศชัดว่าถ้ารู้สึกเจ็บ รู้สึกเห็นใจ รู้สึกสงสาร ความหมายคือสงสารคุณทักษิณให้เลือกผมนะ มันก็จะเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งเหมือนกัน แต่จะแพ้ชนะอย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงว่าฐานทางการเมืองของไทยรักไทยเดิมหรือคนรักทักษิณ แม้จะหายไปบ้างแต่ว่ายังมีปริมาณที่เขย่าบ้านนี้เมืองนี้ได้สบายเลย ผมเชื่ออย่างนั้น อยู่ที่ว่าเขาจะเล่นเกมไหน ตอนนี้วิเคราะห์ไม่ออก มองไม่ขาดเหมือนกันว่าคุณทักษิณกำลังจะเล่นอะไร กำลังจะรบรอบใหม่ จะรบในเงื่อนไขที่ตัวเองไม่ได้กุมอำนาจเอง อันนี้น่าสนใจ ซึ่งก็ต้องคอยดูไป"

แต่มันไม่ใช่ทักษิณคนเดียว การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ชอบธรรม คนรู้ว่ามีที่มาจากการยุบพรรค แล้วก็ทหารเข้าไปมีส่วน
"
แต่ธรรมชาติของคนที่มีความรู้สึกแบบนี้แล้วออกมาเคลื่อนไหว ผมว่ามันหายากมากในบ้านนี้เมืองนี้ อาจจะมีแต่ไม่มีผล ไม่พอที่จะเขย่ารัฐบาลได้ ถ้าไม่ถูกปลุกจากอารมณ์คนที่สงสารคุณทักษิณ รักคุณทักษิณสุดจิตสุดใจ ลำพังอารมณ์ที่รู้สึกว่าเฮ้ยไม่ชอบธรรมนะ นี่มันไป hijack เขามา มันคือปฏิวัติซ่อนรูป อารมณ์แบบนี้ไม่ถึงขั้นออกมา กระทั่งสมัยทักษิณที่เรารู้สึกว่าแทรกแซงองค์กรอิสระ ฉีกรัฐธรรมนูญ มันเป็นการรัฐประหารเงียบ คนวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงนั้น หนังสือพิมพ์พาดหัวหลายฉบับ คนยังไม่ออก ออกมาก็วูบวาบ หรือถ้าออกมาแล้วถึงจุดหนึ่ง ถ้าเขาเห็นว่าเสื้อแดงที่ไม่ได้มาจากฐานแบบนี้ ฐานความคิดที่เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ ซึ่งต้องเคารพกัน ผมคิดว่าเราต้องฟังเขา แต่คนกลุ่มนี้พอถึงจุดหนึ่งเมื่อเข้าร่วมกับเสื้อแดงหนักๆ โดยยุทธวิธีมันแรงไป มันล้ำเส้นไป มันเน้นวิธีรุนแรง ผมคิดว่าเขาจะพอ"

ก็อาจเปรียบเทียบได้ที่สนามหลวงวันนั้นมีคน 3-4 หมื่น แต่ไปที่หน้ารัฐสภาเหลือน้อย
"
เขาไม่เอาด้วยกับวิธีการ ผมถึงบอกว่าเสื้อแดงสายเหยี่ยว สายที่ยั่วยุปลุกปั่น กลุ่มนี้สุดท้ายจะทำลายแนวร่วมตัวเอง ผมกับพันธมิตรฯ ก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้ พอเราบุกเข้าทำเนียบฯ หลายส่วนบอกว่าขอ 3 วันนะ ถ้า 3 วันไม่ออกฉันกลับบ้าน ก็มีจริง ไปยึดสุวรรณภูมิ ไปชุมนุมที่ดอนเมือง หลายคนที่เคยอยู่มา 170 วัน 180 วัน ถึงวันสุดท้ายถอยก็มี ไม่น้อยทีเดียว และก็รับไม่ได้ที่เราไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ"

แสดงว่ายอมรับว่าเราฮาร์ดคอร์
"
ฮาร์ดคอร์มันเสี่ยง มันอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย แต่ถ้าวันนั้น 2 ..ถ้าตุลาการภิวัตน์ ถ้าศาลไม่อ่านคดียุบพรรค พันธมิตรฯ ก็ลงยาก และยังไม่คิดเลยว่าจะต้องไปอยู่สุวรรณภูมิถึง 7 วัน ไม่มีใครคิดหรอกเพราะเรารู้ว่ามันเสียหายแน่ แต่เมื่อเสี่ยงไปขนาดนั้นแล้วไม่มีอะไรจะเสียแล้ว และก็รู้สึกว่ารัฐบาลนี้อยู่เราก็หนัก เพราะฉะนั้นก็ต้องแลกกัน ดังนั้นผมคิดว่าฮาร์ดคอร์ที่เสื้อแดงเอามาใช้ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการขยายทั้งปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นเปิดฉากในวันเลือกนายกฯ ภาพที่ออกไปแกนนำด้วยซ้ำที่มาแถลงข่าวตอนบ่ายๆ ว่าไม่เกี่ยวไม่ได้สั่งการ และหลังๆ ก็เห็นชัดว่าหมอเหวง หมอสันต์ หายไปไหน อ.ประทีปหายไปไหน ถ้าย้อนไปช่วง คมช.นี่แน่นมาก เหลือแต่ อ.จรัล ก็น่าคิด สมยศก็ไม่ค่อยแอคชั่นแล้ว อาจจะรู้สึกว่ายุทธวิธีในการเคลื่อนไหวเกินเลย"



คนลืมอดีตได้

ที่พูดเหมือนยอมรับว่า การยึดสนามบินทำให้เสียฐานพลังเงียบและถูกปฏิเสธอย่างรุนแรง
"
ผมไม่ปฏิเสธ ผมสัมผัสด้วยตัวเอง โทรศัพท์คนที่เคยเป็นแนวร่วมรับไม่ได้ก็มีเยอะ คือได้แนวร่วมใหม่ๆ ไม่เท่ากับการสูญเสียมวลชนเดิม เพราะเราต้องยอมรับว่าเสียหายมาก แต่เรื่องสนามบินดอนเมืองกับสุวรรณภูมิไม่อยู่ในแผนการเคลื่อนไหว จุดพลิกผันอยู่ที่หน้าสภาฯ วันที่ 24 ที่จะม้วนเดียวจบ นัด 23 แล้ววันที่ 24 หกโมงเช้าเคลื่อนไปถึงสภาฯ ข่าวกระแสสุ้มเสียงของผู้คนบอกว่าชกลม เป็นไงล่ะ เขาย้ายที่ประชุม นี่หรือม้วนเดียวจบ แกนนำบางส่วนบอกถอยกลับไปที่ตั้งก่อน แกนนำบางส่วนไม่ได้มวลชนกลับบ้านแน่ ถูกไล่แน่ อารมณ์คนมันสูงมากว่ามาครั้งนี้ต้องจบ 3 วัน 5 วันก็ขอให้กลับบ้านแล้วจบแบบชนะ การตัดสินใจไปดอนเมืองจึงเกิดขึ้นที่นั่น ผมยืนยันว่าเกิดขึ้นที่นั่น และการตัดสินใจไปสุวรรณภูมิก็เกิดขึ้นที่ดอนเมือง ผมจะไม่ขอพูดรายละเอียดมาก แต่ขอเรียนว่าไม่มีในแผนเลย เดิมทีชุดความคิดเรื่องปิดสนามบินสุวรรณภูมิมีคนเสนอหลังวันที่ 7 .. เพื่อตอบโต้รัฐบาลที่ปราบปรามประชาชน มีคนมาเสนอจริงๆ แต่แกนนำไม่เอา"

มันเหมือนตกกระไดพลอยโจนหรือเปล่า พอมีชุดหนึ่งเข้าไปยึดเลยต้องไปหมด
"
จริงๆ รู้ตลอดว่าใครไปไม่ไป แต่อารมณ์มันไปก่อนแล้ว มันยากที่จะบอกว่าไม่เอา เพราะเราหนักกันมากกับช่วง 7 .. มีชุดความคิดหนึ่งว่าต้องลุย บชน. ต้องลุย สตช. ต้องบุกพรรคพลังประชาชน เผาก็คือเผา ยิงก็คือยิง มันมีความรู้สึกขนาดนั้น เพราะความสูญเสียแรงมาก แขนขาขาด เลือดสาดกระเด็น เราคิดกันถึงว่าใครล่ะจะกล้าปราศรัยบนเวทีคืนวันที่ 8 ว่าต้องอหิงสา แค่นี้ก็เครียดแล้วเพราะอารมณ์คนพร้อมจะทำสงคราม ตอนนั้นเราหนักกันมากที่จะต้องบริหารจัดการอารมณ์ผู้คน พอมายุทธการม้วนเดียวจบ บทเรียนของอารมณ์ค้างของผู้คนจาก 7 .. เราก็คิดว่ายุทธการม้วนเดียวจบ เราก็ต้องปล่อยเขาเหมือนกัน และผมคิดว่าตอนนั้นอารมณ์ 5 แกนนำก็ไม่ได้น้อยไปกว่ามวลชนสักเท่าไหร่ เพราะมีการสูญเสียน้องโบคนที่ 2 ที่ระเบิดลงเร็วกว่าปกติ ปกติตี 3 ตี 4 คืนนั้นเที่ยงคืนกว่า ผมลงจากเวที 15 นาที อารมณ์นั้นมันหลุดแล้ว ระเบิดลูกนั้นลงกลางหน้าเวที เป็นจุดที่ขาประจำมา แม่ยกแม่ยายทั้งนั้นอยู่ตรงนั้น บาดเจ็บ 50-60 คน ผู้หญิง 80 เปอร์เซ็นต์ เช้าขึ้นแกนนำเรียกมาประชุมก็กลายมาเป็นยุทธการม้วนเดียวจบ นั่นเป็นจุดที่เราอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว ชุมนุมปราศจากอาวุธแล้วถูกฆ่าทุกวัน มันไม่ได้แล้ว กลไกรัฐปล่อยให้ทำงานต่อไปไม่ได้แล้ว คืนที่ไปดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ผมรู้เลยว่ามีจำนวนหนึ่งที่มวลชนพกพาอาวุธ และผมเชื่อว่าถ้ามีการสลายการชุมนุมบาดเจ็บล้มตายมหาศาล จะเป็นเหมือนสงครามฝ่ายเหนือ-ฝ่ายใต้ในอเมริกา และผมคุยโทรศัพท์กับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ บอกเลยว่าผมจะไม่สามารถคุมมวลชนถ้าตำรวจเข้าไปลุย และผมยืนยันว่าการตอบโต้จะสูงกว่าที่คาด"

ที่ถามไม่ได้ซักเรื่องถูกผิด เพราะเราเห็นต่างกันไม่อยากถก แต่ถามเพราะมันมีผลต่อการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต พันธมิตรฯ จะเคลื่อนได้ลำบากใช่ไหม
"
ผมว่าเป็นปัญหาหนึ่งและเป็นปัญหาใหญ่พอสมควร แต่ผมเชื่อว่าถ้าเรา set up โจทย์และก็การบ้านให้ เห็นว่าพันธมิตรฯ เสนอตัวเป็นส่วนหนึ่งที่จะขอทำเรื่องนี้ ขอมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาบ้านเมืองแบบนี้ ผมเชื่อว่าถ้าเรา set ประเด็น อธิบายให้เขาเห็นความจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องการเมืองใหม่ ผมเชื่อว่าจะได้แนวร่วมกลับคืนมา แต่ต้องเป็นการเมืองที่ทำให้เขาเห็นว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไร มันไม่ใช่ไปสนองจริตของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่เป็นผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ ผมว่าเขาจะกลับมา และการที่ 5 แกนนำได้พิสูจน์ แกนนำรุ่น 1 รุ่น 2 ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้เลย ก็ชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือสู้เพื่ออะไรบางอย่าง ก็ต้องมองด้านที่จะเป็นต้นทุนพอที่จะทำงานต่อได้ แต่แน่นอนความอดทนอดกลั้นก็ต้องสูงมากกว่าเดิม"

พลังเงียบที่อุ้มประชาธิปัตย์ตอนนี้ไม่ต้องการความวุ่นวาย ใช่ไหมว่าจะทำให้พันธมิตรฯ วิจารณ์ ตรวจสอบรัฐบาลยาก แล้วอีกด้านหนึ่งพันธมิตรฯ ก็เป็นแนวร่วมกับประชาธิปัตย์
"
ต้องยอมรับก่อนว่ายังไม่ได้คุยกันเลยกับรัฐบาล ไม่มีการคุยกันในทางยุทธศาสตร์ แต่ในเชิงความสัมพันธ์ส่วนตัวที่รู้จัก ก็พูดคุยพบปะกันในร้านเหล้า ในงานแต่ง ก็มีบ้าง แต่ผมยังเชื่ออยู่ว่ามันไม่ง่ายหรอกถ้าเราจะปักธงว่าเราจะไล่รัฐบาล ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ได้เรื่อง เราต้องยอมรับว่าพลังเงียบที่ว่าเหมือนกับให้โอกาสรัฐบาล แม้จะเป็นพลังเงียบที่เคยร่วมกับพันธมิตรฯ ก็ตาม รู้สึกว่าปล่อยรัฐบาลไปก่อน ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลประชาภิวัตน์ ไม่รู้จะใช้เงื่อนไขอะไรแล้ว มันได้แค่นี้ มันมีแรงต้านอยู่ส่วนหนึ่ง"

"
สอง ต้องยอมรับว่ามวลชนของประชาธิปัตย์โดยพื้นฐานเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ มากทีเดียว อาจจะถึงขั้นครึ่งต่อครึ่งด้วยซ้ำ เป็นสมาชิกพรรคเลยก็ว่าได้ ผมก็สัมผัสเยอะ และก็มีการหนุนจากคนของประชาธิปัตย์บางส่วน มันก็มีบ้าง เหมือนเพื่อไทย พลังประชาชน เขาก็หนุนเสื้อแดง ธรรมดา อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้การตัดสินใจชักธงรบกับประชาธิปัตย์ไม่ง่าย จนกว่าประชาธิปัตย์ไปไม่ไหวจริงๆ และก็พบว่าดุลอำนาจในรัฐบาลร่วมที่มีประชาธิปัตย์เป็นหัว สุดท้าย momentum มันอยู่ที่ไหน ตรงนั้นผมเชื่อว่าพลังเงียบจะออกมา และคนที่เคยเป็นพวกประชาธิปัตย์ก็จะเข้าร่วมกับเรา เพราะรู้สึกว่าต้องขจัด มันอยู่ที่การวางดุลกำลังในพรรคร่วมรัฐบาลว่าความชั่วร้ายมันจะปรากฏ momentum มันจะสวิงไปอีกด้านไหม ถ้าไปฝั่งเนวินคนจะเห็นว่านี่หรือการเมืองใหม่ ประชาธิปัตย์ยอมอุ้มโจรหรือ ผมว่าตรงนั้นแรงสวิงจากประชาธิปัตย์ด้วยกันเองจะสูงด้วยซ้ำ"

"
แต่แน่นอนว่าพันธมิตรฯ ไม่มีการไปปักธงว่าจะต้องไล่ ต้อง 3 เดือน ไม่มีธงเรื่องนี้ เป็นการดีด้วยซ้ำว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้จะปรึกษาหารือกับเรา หรือขอความเห็นเรา เรื่องไหนที่หนุนได้ผมว่าก็ทำ การเมืองใหม่ถ้าจะ set คปป.2 ขึ้นมา ทำเวทีคู่ขนานกันไป แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมว่ามันก็น่าจะไปได้"

ไม่ได้เรียกร้องว่าพันธมิตรฯ ต้องม็อบไล่ประชาธิปัตย์  แต่การตรวจสอบรัฐบาลที่ว่าจะทำ พอกระแสเป็นอย่างนี้ มันทำได้ยาก แล้วการยึดสนามบิน มันทำให้เสียเครดิตที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์
"
ผมไม่คิดว่ามันลดหรือมันเพิ่มอะไรนะ ผมคิดว่าวันนี้เราต้องยอมรับว่าพันธมิตรฯ มีมวลชนที่แน่นอน เป่านกหวีดแล้วมา อาจจะไม่เป็นแสน แต่มันสะเทือนรัฐบาล แต่อยู่ที่ว่าเราจะเป่ามาเพื่ออะไรต่างหาก ถ้าเราอธิบายสังคมได้และก็มีความชอบธรรม ในสถานการณ์ที่มีความชอบธรรมผมว่าคนลืมอดีตได้ ถ้าวันนี้คิดจะทำดี ความเลวร้ายในอดีตเราจะถูกลืม วันนี้ในสายตาหลายคนยังบอกเนวินฮีโร่ ให้อภัยได้ ลืมไปแล้วว่าเนวินทำอะไรบ้างสมัยเป็นขุนพลทักษิณ ในพันธมิตรฯ เองยังมี เฮ้ย-อย่าไปด่าเขามากไม่มีเนวินก็ไม่มีอภิสิทธิ์ ฉะนั้น ผมคิดว่ามันอยู่ที่พันธมิตรฯ จะ action อะไรมากกว่า ถ้าเราเริ่มต้นจากโจทย์การเมืองใหม่ แล้ว set up ความคิดให้ชัดว่าแท่งมันคืออะไร ก้อนมันคืออะไร ผมว่าเราจะได้แนวร่วมกลับมา คนใหม่ๆ ที่ไม่เคยมา สีแดงก็ไม่ไป สีเหลืองก็ไม่ไป เมื่อถูกกระตุกด้วยการเมืองใหม่แล้วรู้สึกว่ามันใช่ว่ะ ผมว่าเขาก็จะมา"

อีกด้านหนึ่งพันธมิตรฯ ก็จะต้องสนับสนุนประชาธิปัตย์เพื่อทำลายล้างฝ่ายทักษิณ  และเพื่อให้การดำเนินคดีตัวเองเบาลงด้วย สังคมจะจับตามองอย่างนี้
"
แน่นอนเขาจับตามอง แต่จนวันนี้ไม่ได้ขยับอะไรเลย วันนี้มีแต่หมายๆ มา ทวงค่าไฟ 2.7 ล้านที่ทำเนียบฯ คดีทยอยมาทุกวัน และยังไม่มีส่งสัญญาณมาจากรัฐบาลว่าจะช่วยเรื่องคดี 5 แกนนำก็ไม่ได้ไปเรียกร้อง ก็ยืนยันว่าพร้อมสู้คดี เรามีกองทุนสู้คดีมีทีมทนาย ผมยังคิดว่ามันก็ไม่แฟร์เลยถ้าเราจะไปเจรจากับรัฐบาลเพื่อเคลียร์เรื่องคดี ในขณะที่เราก็จะยืมมือรัฐบาลจัดการคุณทักษิณด้วยการใช้กลไกกฎหมายเล่นงาน ถ้าเราเรียกร้องคุณทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเคารพกระบวนการยุติธรรม พันธมิตรฯ ก็ควรเป็นแบบอย่าง แต่อันนี้คนละเงื่อนไขกับข้อหากบฏ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเกินไปและเราก็ใช้สิทธิตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อหา อุทธรณ์หมายจับ"

แต่การยึดสนามบินเขาก็อาจตั้งข้อหากบฏได้ ก็ต้องไปสู้กันในศาล
"
ก็ขึ้นศาลสู้อีก ผมไม่ซีเรียสเรื่องนี้ มันโดนมาหมดแล้ว ข้อหากบฏ ทั้งปืนทั้งระเบิด มุมหนึ่งมันก็ชินชากับแรงตอบโต้จากฝ่ายโน้นแล้ว แค่อยากเห็นว่ารัฐบาลทำอะไรสักทีให้บ้านเมืองสงบ ผมรู้สึกแค่นี้ อยากดูกึ๋นนายกฯ อยากดูกึ๋นรัฐบาล"

ที่บอกว่าไม่ได้เจรจากันเลย แต่เป็นไปได้ไหมว่าจะเกี้ยเซี้ยกันโดยธรรมชาติ เพราะประชาธิปัตย์ก็ต้องคิดว่าถ้าปล่อยให้ตั้งคดีเล่นงานพันธมิตรฯ แรงก็จะไม่มีแนวร่วม
"
ตอนนี้ยังไม่เห็นนะ ก็รู้แต่ว่าคดีมันมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ออกหมายเรียกเรื่องการท่าฯ ฟ้องวันละ 200 ล้าน ก็ไม่เห็นทิศทางว่าเขาจะถอย วันนี้ทำเนียบฯ ก็แจ้งความค่าเสียหาย 18 ล้าน โอเค.ถ้าสภาพการณ์มันเป็นแบบนั้น เกี้ยเซี้ยกันโดยธรรมชาติ โดยเงื่อนไขที่เป็นไปตามนี้ ถามว่าเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้แหละ ก็อยู่ที่รัฐบาลจะเลือกแบบไหน ถ้าทำเป็นปัญหามันก็น้อย ถ้าทำไม่เป็นมันก็เป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายโน้นลุกขึ้น ก็ยอมรับว่าคุณอภิสิทธิ์อาจจะนอนหลับยากกว่าเป็นผู้นำฝ่ายค้าน มันไม่ง่าย มันอยู่ที่รัฐบาลแล้วล่ะ เมื่อได้อำนาจตรงนี้จะจัดการโจทย์นี้อย่างไร แต่พันธมิตรฯ ก็ไม่เคยไปเจรจารัฐบาลเรื่องนี้ และผมคิดว่าถ้าพันธมิตรฯ ไปเจรจายื่นหมูยื่นแมวเรื่องคดีมันก็ไม่งาม ไม่งามกับเราด้วยที่ต้องสู้ต่อและเรียกร้องให้คุณทักษิณเคารพกระบวนการยุติธรรม"

ถ้าประชาธิปัตย์อยู่ได้นาน สิ่งที่จะทำให้เขาอยู่ได้นานคือการยึดครองพลังเงียบ แล้วปล่อยให้ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงตกเวทีไปเอง
"
ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะผมก็แปลกใจว่าทำไมคุณอภิสิทธิ์ไม่พูดถึงคนตายจากการเมืองที่ล้มเหลวเลย ไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองหรือสีแดง ทั้งๆ ที่การเมืองที่ล้มเหลว คำอธิบายที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือคนตายคนเจ็บ คุณอภิสิทธิ์ไม่ได้พูดเลย ลึกๆ คุณอภิสิทธิ์อาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ โดดเดี่ยวเสื้อเหลืองเสื้อแดง ไปขัดแย้งกันนอกพื้นที่อำนาจรัฐ หรือจะยืมมือเสื้อเหลืองเผชิญหน้าเสื้อแดงหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่ถ้าสมมติฐานว่าเขาจะไปจับสีขาวหรือพลังเงียบ ผมว่ามันไม่ง่าย เพราะธรรมชาติการเมืองไทยเราบอกว่าพลังเงียบเป็นพลังชี้ขาด มันก็ไม่ใช่เสมอไป พลังเงียบต้องถูกกระตุ้นด้วยเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งถึงจะมี action ออกมา ถ้าเป็นพลังเงียบในสถานการณ์ที่ให้ความเห็นผ่านโพลล์ ในขณะที่เสื้อเหลืองเสื้อแดงมี action มีปฏิบัติการ ผมว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด ถ้าใช้วิธีไปแตะมือกับพลังเงียบแล้วโดดเดี่ยว 2 สี และอาจจะโดนตีกลับจากสีเหลืองสีแดงด้วยซ้ำไป"

เขาอาจจะค่อยๆ สลายด้วยกระบวนการทางสังคม
"
ถ้าสังคมยอมรับแล้วประเทศเดินไปได้ เงื่อนไขที่เสื้อเหลืองจะอยู่ก็ไม่จำเป็นแล้ว มันเกิดขึ้น-หายไป เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตอนนั้นอาจจะพัฒนาเป็นอย่างอื่นก็ได้ อาจจะเป็นชื่ออื่นก็ได้ เป็นงานแบบอื่นแล้วก็ได้ ดีด้วยซ้ำที่เสื้อเหลืองหายเสื้อแดงหาย แล้วประเทศไปได้ ความขัดแย้งลดลง เว้นแต่มันถูกทำให้สลายแต่ไม่รู้ใครได้ประโยชน์ หรือชนชั้นมีอำนาจซูเอี๋ยกัน อันนี้ถือว่าเราถูกหลอกทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ตรงนี้ต่างหากที่น่ากลัว ถ้ามันถูกทำให้หายไปแต่คนกลุ่มเล็กๆ ได้ประโยชน์ สู้ให้ขัดแย้งกันแบบนี้ดีกว่า แต่ต้องเป็นความขัดแย้งที่ถูกออกแบบให้สร้างสรรค์ขึ้น"



ไม่ทักษิณก็อำมาตยา

ถ้ามองในภาพรวมของการต่อสู้ พันธมิตรฯ เป็นแถวหน้าคนชั้นกลาง การเมืองใหม่ที่เรียกร้องคือการจัดสรรอำนาจให้คนชั้นกลาง แต่ตอนนี้มันกลายเป็นการเมืองเก่าที่กุมอำนาจโดยนักการเมืองอนุรักษนิยม ภายใต้อำมาตยาธิปไตยด้วย เหมือนการเมืองใหม่มันจะเป็นไปไม่ได้แล้ว จะอธิบายสภาพที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
"
ผมว่าไม่แปลก และเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้นที่อำมาตยาธิปไตยต้องดิ้นเพื่อความอยู่รอด ต่อให้เราไม่ปฏิรูปการเมืองก็ตาม เขาก็ยังมีพื้นที่อยู่ ปฏิรูป 2540 ผมก็ยังเห็นว่าปีกอำนาจนิยมหรือปีกอำมาตยาธิปไตยชิงพื้นที่ได้มากกว่าเราด้วยซ้ำ แรกๆ ก็ดูเหมือนถูกถ่ายโอนส่งผ่านไปถึงภาคประชาสังคม แต่สุดท้ายมันก็ถูกดึงกลับไปสู่จุดเดิม ผมคิดว่าอำมาตยาธิปไตยก็ต้องดิ้นเพื่อความอยู่รอดเพื่อรักษาพื้นที่อำนาจตัวเอง แต่มันคุ้มกันถ้าวันนี้ประชาชนรู้ทันแล้วตื่นขึ้นมา ผมถึงบอกตอนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ฝ่ายไม่รับเพราะเป็นดอกผลของอำมาตยาธิปไตย ผมบอกเฮ้ยไม่น่ากลัวเลย ดึงออกมาที่แจ้ง สู้กัน สู้กับประชาชน สู้กับคนยากคนจนในที่แจ้ง ให้รู้ว่าพวกมึงซุ่มซ่อนอยู่ข้างหลังมานาน ออกมาเล่นกันเลย วันนี้ไม่ใช่มีอำนาจแล้วชี้ถูกชี้ผิดได้ ผมว่าไม่ใช่แล้ว คนเรียนรู้เร็วมาก แม้แต่ในพันธมิตรฯ มันมีการเรียนรู้ที่สูงมาก ชนชั้นกลางที่เคยเห็นแก่ตัวและก็มองอะไรไม่ไกลไปกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง พบว่ามันไม่ใช่แล้ว ผมจึงคิดว่ามันไม่ได้บอกว่าออกแบบรัฐธรรมนูญดีกว่า 2550, 2540 แล้วประเทศจะไปได้ ผมไม่เชื่อหรอก เพราะความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในสังคมมันอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ มันวัดดุลกำลังกันตลอด รัฐธรรมนูญเป็นแค่เครื่องมือ ซึ่งอาจจะใช้การไม่ได้เลยก็ได้ แต่อำนาจที่เป็นจริงมันทำงานกันอยู่ทุกฝ่าย อยู่ที่ว่าภาคประชาชนที่ตื่นตัวแล้วจะเกาะกุมสร้างอำนาจต่อรองอย่างมีพลังได้อย่างไร"

การต่อสู้ครั้งนี้ชนชั้นกลางออกแรง  แต่สุดท้ายมันเข้าปากอำมาตยาธิปไตยเหมือนเดิม เขาลอยตัวได้ มั่นคงขึ้นด้วย แล้วคนที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาสู้อำมาตยาธิปไตยวันนี้กลายเป็นพวกเสื้อแดง
"
ผมคิดต่าง ผมคิดว่าอำมาตยาธิปไตย หรือแม้กระทั่งชุดความคิดที่วิเคราะห์ว่าพันธมิตรฯ เป็นเครื่องมือของอำนาจเก่า และทำให้อำนาจเก่ามั่นคง ถ้าจะบอกว่าการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเป็นการประนีประนอมกันของอำนาจเก่า ของอำนาจส่วนบนที่ร้าวลึกกันในช่วงหนึ่ง และกลับมาคืนดีหรือเกี้ยเซี้ยกัน ผมว่าก็เฉพาะช่วงหนึ่ง และยิ่งถ้ารัฐบาลนี้แก้ปัญหาไม่ได้ พวกคุณนั่นแหละจะโดนแรงโต้จากประชาชนจากชนชั้นกลางด้วยซ้ำว่าพอซะทีพวกคุณ อยู่ข้างหลังความขัดแย้งตลอด หากินฉวยโอกาสกับความสูญเสีย สงครามกลางเมือง ดังนั้นมันไม่ง่ายแล้วละที่เขาจะคิดเฉพาะขยายอาณาบริเวณของตัวเอง เพราะด้านหนึ่งไปไกลมากชาวบ้านเขาตื่นตัว มันอยู่ที่ว่าพันธมิตรฯ จะต้องจริงใจและใส่ใจกับการลุกขึ้นสู้ของประชาชนครั้งนี้ให้ได้ ตรงนี้เป็นงานสำคัญเลยที่ 2552 ทั้งปีเลยต้องคิดเรื่องนี้ให้ได้"

ถ้าประชาธิปัตย์ล้ม อำมาตยาธิปไตยก็ดิ้น แต่ถ้าอยู่ 3 ปีเราจะเห็นระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มั่นคงไปอีกนาน
"
ถ้าอำนาจส่วนบนหรืออำมาตยาธิปไตยที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนขั้วไม่ปรับตัว ผมว่ารัฐบาลนี้ก็อยู่ไม่ได้ เขาต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว แต่ปรับเพื่ออะไร ปรับโดยเอาผลประโยชน์เอาอำนาจของตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมว่ามันไม่หมูแล้วละ มันไปไม่ได้โดยกลไกทางสังคม มันไม่ตอบโจทย์ปัญหาของชาติบ้านเมืองแล้วละ เพราะวันนี้เรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านสูงมาก มันฉุดไม่อยู่ มันสู้มาก่อนมีพันธมิตรฯ ด้วยซ้ำ ถ้าชาวบ้านเห็นว่าการเมืองนิ่งแต่คนกลุ่มเดียวได้ประโยชน์ ในขณะที่พวกเขาอดอยากปากกัดตีนถีบเหมือนเดิม ผมว่าอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ผมเชื่อว่า 3 ปีก็เป็น 3 ปีที่กระอักเลือด"

พันธมิตรฯ ต้องการส่วนแบ่งอำนาจของคนชั้นกลาง แต่ถ้าเป็นอย่างนี้เท่ากับไม่ได้อะไรเลย หรือได้น้อยมาก ถ้ายังอยู่อย่างนี้ต่อไปล่ะ
"
ไม่ถึง 3 ปีแน่ อย่างมากก็ 1 ปี ผมยังคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ฉลาดและเข้าใจ การเมืองที่ล้มเหลวที่คุณอภิสิทธิ์พูดไม่มีบริบท ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่ถ้าเราอ่านบทสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ที่สะสมมา 1 ทศวรรษ ผมว่าเขาเข้าใจว่าการเมืองแบบเก่ามันไปไม่ได้โดยตัวมันเอง ระบบรัฐสภาแบบนี้มีขีดจำกัด คุณอภิสิทธิ์ถึงไม่ค่อยพูดว่าเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ขณะที่คุณชวนพูดเต็มปากเต็มคำ เพราะคุณอภิสิทธิ์เห็นขีดจำกัดระบบรัฐสภาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราจับความคิดคุณอภิสิทธิ์ เราก็จะเริ่มเห็น ทันทีที่คุณอภิสิทธิ์ไปพบสมาคมหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ วันรุ่งขึ้นไปพบเอ็นจีโอ ผู้นำแรงงาน มานั่งดีเบตด้วยตัวเอง มันมีท่าทีของการรับฟัง ตรงนี้จะช่วยรัฐบาลได้ อยู่ที่ว่านายกฯ มีอำนาจตัดสินใจที่เป็นของตัวเองแค่ไหน หรือเป็นแค่หุ่นเชิดของอำนาจบางอย่างที่รายล้อมอยู่ ก็เป็นเรื่องที่คุณอภิสิทธิ์ต้องพิสูจน์ถึงภาวะผู้นำ"

"
แน่นอนมันอาจจะดูเหมือนสังคมให้โอกาส คนอาจจะรู้สึกว่านายกฯ มีท่วงทำนองสุภาพ ตื่นตัวกับปัญหาและเป็นคนรุ่นใหม่ แต่มันไม่พอหรอก การเร่งสร้างภาวะผู้นำ การเร่งตัดสินใจ คำพูดที่สวยหรูถ้าทำไม่ได้เลยก็จะถูกจับโกหกได้ ผมว่าคุณอภิสิทธิ์จะโดนหนักกว่าคุณสมัครและคุณสมชายด้วยซ้ำ และแรงสวิงจะไม่มีแค่ตัวคุณอภิสิทธิ์ จะไปที่ระบบรัฐสภา สุดท้ายตอนนั้นอาจพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติกันอีกรอบก็ได้ เพราะบางคนก็คิดว่าการเมืองใหม่จะมาตอนนั้น ตอนที่คุณอภิสิทธิ์ล้มคว่ำ เกิดรัฐบาลแห่งชาติ-รัฐบาลประชาภิวัตน์ก็แล้วแต่ บางส่วนของพันธมิตรฯ ก็วิเคราะห์แบบนี้ ซึ่งอาจจะไม่เกินปี"

วันนี้มันเป็นระบอบที่อำมาตยาธิปไตยเข้ามาควบคุมและมั่นคง รูปแบบโครงสร้างเป็นเหมือนก่อน 2540 คำถามคือจะยอมรับระบอบแบบนี้หรือ
"
ผมว่าการมองปัญหาของการเมืองไทยอาจจะไม่ได้ต่างกันหรอก ของเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง โดยเฉพาะของแกนนำทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่มีคุณทักษิณเข้ามาคั่นกลางความขัดแย้ง มันมีความคิดเหมือนกัน บางชุดที่พอจะร่วมกันได้แล้วนำพาบ้านเมืองไปข้างหน้าได้ แยกออกด้วยสีเสื้อเท่านั้นเอง แต่ปัญหาคือเวลาเราพูดถึงการต่อกรกับอำมาตยาธิปไตย หรือว่าการสู้กับชนชั้นนำ ผมคิดว่าชนชั้นล่างก็มีปัญหาตลอด ไม่เคยเป็นเอกภาพ ภาคประชาชนก็ไม่เคยเป็นเอกภาพพอที่จะรับมือกับอีกฝ่ายได้ ครั้งนี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่"

"
แต่วันนี้ที่ผมเห็นก็คือพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งเป็นชนชั้นกลาง ที่ตื่นตัวมาร่วมกันเรา และมากกว่าปี 2549 มาก ผมก็เคยถูกเรียกร้องจากพรรคพวกเหมือนกันว่า เราต้องให้ชนชั้นกลางเข้าใจคนจน แน่นอนผมไม่เถียง แต่ก็ถามกลับว่าทำไมคนจนไม่ยอมเข้าใจชนชั้นกลาง คุณก็ต้องเรียนรู้และศึกษาชนชั้นกลางบ้าง ผมว่าการเมืองใหม่มันจะเป็นเวทีของการทำงานร่วมกันของชนชั้นกลางและคนจนจริงๆ แล้วมันไม่ได้ถูกขีดคั่นด้วยนิยามชนชั้นแบบเก่าเหมือนในอดีต ฉะนั้น ผมคิดว่าเราจะมีเวทีเชื่อมร้อยพลัง 2 ส่วนนี้ได้อย่างไร ผมเห็นว่า ครป.เคยทำ เคยพยายามจะดึงชนชั้นกลางเข้ามาเรียนรู้มาเป็นแนวร่วมการต่อสู้ของภาคประชาชน แต่มันก็มีขีดจำกัดอยู่ เพราะสถานการณ์เป็นตัวกำหนดด้วย บางเรื่องเขารู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเขา แต่เวทีของพันธมิตรฯ ประเด็นที่ผมเห็นชัดที่ถูกจุดโดยกรรมกรเรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ วันนี้มันเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าคัดค้านการขายรัฐวิสาหกิจ จากเดิมที่เคยเป็นประเด็นของสหภาพฯ เป็นประเด็นของเอ็นจีโอ สลัม 4 ภาค รณรงค์น้ำไฟไม่ใช่สินค้า สุดท้ายกลายเป็นประเด็นร่วมในเวทีพันธมิตรฯ ไปเลย นี่ถือว่าเป็นความสำเร็จด้านหนึ่ง"

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วันนี้พันธมิตรฯ เตะหมูเข้าปากอำมาตยาธิปไตยไปแล้ว และพวกเสื้อแดงเป็นฝ่ายมารบกับอำมาตยาแทน
"
ในเวทีพันธมิตรฯ ก็พูดถึงทหารมากนะ ทั้งกึ่งเรียกร้องกึ่งวิจารณ์ หรือแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตย ในพันธมิตรฯ ช่วง 2-3 เดือน หลังมีการพูดถึงบทบาทของอำนาจส่วนนี้ อาจจะไม่ได้ปราศรัยบนเวที แต่ในมวลชนคุยกัน และคุยกันมากกว่าปี 2549 คุยกันในเชิงวิพากษ์ด้วย แต่ว่าประเด็นของเรามันถูกออกแบบในเรื่องการปกป้องสถาบัน แน่นอนก็ถูกมัดเป็นพวกอำมาตยาธิปไตยโดยพฤตินัย แต่ว่าเพื่ออะไร ถ้ามองให้สุดขั้วก็ต้องบอกว่ายังไงมันก็ดีกว่าทักษิณ คนจำนวนไม่น้อยในพันธมิตรฯ คิดแบบนี้ ยังไงก็ดีกว่าระบอบทักษิณ ทำไมจะไม่ร่วมกับฝ่าย royalist เพื่อจัดการกับระบอบทักษิณ ขณะที่ฝ่ายโน้นสุดท้ายบอกว่าคือการเอาทักษิณกลับมา"

"
ตรงนี้ผมยอมรับว่าเขากล้าพอที่จะบอกว่าอำมาตยาธิปไตยเป็นปัญหา แต่เสียดายที่สุดท้ายเขาบอกว่าไม่มีอะไรดีกว่าทักษิณ ผมถึงบอกว่าผมเองขณะที่วิจารณ์เสื้อแดง ผมก็มีขีดจำกัดในการเสนออะไรที่ก้าวหน้า ต้องยอมรับ เว้นแต่ว่าเราไม่สนใจเสื้อ เราอยู่ใน ครป.อย่างเดียว จะพูดอะไรได้มากกว่าเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองก็ได้ แต่คำถามคือในความขัดแย้งของ 2 ขั้ว 2 ฝ่าย ขั้วที่ 3 มันไม่ทำงาน ขั้วที่เราเรียกว่าพลังเงียบ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ไม่สังกัดข้าง ไม่ทำงาน มันไม่ก่องานก่อรูป และทางที่ 3 ที่ว่ากันมันไม่เห็น ตรงนี้เองที่น่าเสียดายที่ความขัดแย้งครั้งทักษิณไม่ทักษิณ อำมาตยาธิปไตยไม่อำมาตยาธิปไตย"

เมื่อไม่ทักษิณมันก็ตกไปเป็นอำมาตยาธิปไตยไปแล้ว จากนี้จะไปยังไง
"
โดยวิวัฒนาการมันก็ต้องคลี่คลายโดยตัวมันเอง เพราะผมเชื่อว่าประชาชนเรียนรู้ ต่อให้อำมาตยาธิปไตยกลับมาหรือมีอิทธิพลต่อประชาธิปัตย์ก็ตาม มันก็ไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้วละ มันจะไม่เหมือนก่อน 2540"



ไม่จำเป็นต้องถอยกลับ


"จำเป็นหรือเปล่าต้องถอยกลับไป ผมคิดว่าวันนี้เราก็ต้องเรียกร้องพรรคพวกบ้างเหมือนกันว่าวันนี้โจทย์ของพันธมิตรฯ คือการเมืองใหม่ เรามาแชร์กันได้ไหม เรามาช่วยกัน ถ้าเราใจกว้างพอที่จะมองข้ามความขัดแย้งหรือวิวาทะที่ผ่านมา.....ผมเชื่อว่าถ้าเราชูประเด็นเรื่องการเมืองใหม่ เราจะมีแนวร่วม เราจะได้แนวร่วมกลับมา ที่เคยไม่คบเราแล้วไม่สังฆกรรมเราแล้วอาจจะกลับใจ"

ตอนหนึ่งสุริยะใสพูดถึง "แนวร่วม" หมายถึงนักวิชาการ NGO ที่เคยไล่ทักษิณแล้วถอยไปเป็นฝ่าย 2 ไม่เอา

"ช่วงที่เราชุมนุม 193 วัน ถึงขนาดมีการพูดในที่ประชุมแกนนำด้วยซ้ำไปว่า ไม่ใช่จังหวะที่ต้องมาทำงานแนวร่วม มันเป็นสงคราม เรามีกำลังกันเท่านี้ก็รบกันเท่านี้ ถ้าเราแพ้ ทหารเราตาย บาดเจ็บอ่อนแรงเราก็กลับบ้าน ยอมเป็นเชลย เท่านั้นเอง นี่พูดในที่ประชุม และผมก็เอาชุดความคิดนี้ไปอธิบายกับแนวร่วม ผมไม่มีเวลาหรอกที่จะไปคุยกับนักวิชาการกลุ่มนี้ ไปแลกเปลี่ยนกลุ่มนั้น เพราะบางคนก็หวังดีจริง แต่บางคนก็ตั้งแง่หาเรื่องด่าหาเรื่องล่อก็มี แต่ภาพตอนนั้นเราวันต่อวันจริงๆ ไม่มีเวลาไปคิดสร้างเวทีคู่ขนานหรือไปเปิดฟลอร์ข้างนอก รักษาบทบาทแนวร่วม เพิ่มแนวร่วม มันยากมากๆ เราเลยพยายามปลุกและสร้างความเชื่อมั่นในมวลชนเท่าที่มีว่าเราต้องเกาะเกี่ยวกัน แพ้ด้วยกันชนะด้วยกัน"

ในเมื่อพันธมิตรฯ สุดโต่งไปแล้ว จะกลับมาทำงานแนวร่วมมันเป็นไปได้ง่ายหรือ
"เงื่อนไขมันเปลี่ยนไป มันต่างจาก 19 .. ตอนนั้นประเด็นขมวดอยู่แค่เรื่องมาตรา 7 เรื่องบัตรเชิญให้ทหารมารัฐประหาร นั่นเป็นข้อกล่าวหา แต่การที่เราเปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล..สุรยุทธ์อย่างตรงไปตรงมา มันก็สะท้อนจุดยืนเราระดับหนึ่งว่าไม่ได้มีผลประโยชน์กับรัฐบาลขิงแก่อะไรเลย เพียงแต่เราให้โอกาสเขา เมื่อมันไม่ใช่ เขาไม่ได้มาแก้ปัญหาประเทศชาติเลย มานั่งทับปัญหา เราก็วิพากษ์วิจารณ์ โจทย์หลายเวทีเริ่มพูดกัน มันก็ไปได้ระดับหนึ่ง แต่พอหลังคุณสมัครมานอมินีคุณสมชาย มาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีก เป็นโจทย์คามาตั้งแต่รัฐบาลคุณสมัคร มันไม่ใช่เรื่องมาตรา 7 แล้ว ฉะนั้นความเชื่อของ 5 แกนนำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คือยุทธศาสตร์ในการฟอกผิดคุณทักษิณ ซึ่งบางส่วนมองไม่เห็น อย่าง อ.นิธิก็บอกว่าผีทักษิณไม่มีอะไรแล้ว ทักษิณตายแล้ว ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ใช่ ทักษิณไม่ได้ตายเลย ทักษิณไม่หยุดด้วย ทักษิณจะสู้และน่ากลัวกว่าเดิม ซึ่งก็จริงอย่างที่เราคิด รัฐบาลสมัครทำงานก็ชัดว่าฟอกผิดคุณทักษิณ"

"ฉะนั้นการตัดสินใจเดินถนนครั้งนี้ แน่นอนว่าด้านหนึ่งคงหักกับแนวร่วมเดิมๆ หักกับพันธมิตรฯ เดิมๆ ที่เคยร่วมต่อสู้กับเราปี 2549 ที่อาจจะเคยติดเรื่องมาตรา 7 ติดเรื่องรัฐประหาร และก็หงุดหงิดทะเลาะเบาะแว้งกันไปบ้าง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีบรรยากาศการพูดคุยกันในภาคประชาชน"

"แต่พอลงถนนครั้งนี้ ผมรู้เลยว่าการระดมแนวร่วมจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจะลดน้อยถอยลงกว่าปี2549 เพราะปี 2549 ผมเป็นคนเชิญด้วยตัวเอง พอ 25 ..2551 ก่อนชุมนุมผมแทบจะไม่ต้องยกหู เพราะผมรู้ว่าใครเสียอารมณ์แล้ว ใครไม่เอาแล้ว ไม่ต้องเชิญ โทร.ไปก็ต้องถูกด่ากลับมา ผมรู้เลย รอมาเองดีกว่า ฉะนั้นแทบจะไม่ได้คุยกับหมู่มิตรเลย ช่วงตัดสินใจฟื้นพันธมิตรฯ ภาค 2 ก็ยอมรับว่าองค์กรภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอที่เคยเข้าร่วมก่อตั้งพันธมิตรฯ หลายส่วนก็ถอย แต่กำลังหลักๆ ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง พลังเงียบ เป็นแฟนคลับASTV นอกจากยังอยู่แล้วมันเพิ่มขึ้น"

"ถามกลับว่าแล้วจะกลับไปฟื้นได้อย่างไร ผมก็ต้องตอบตัวเองก่อนว่าจำเป็นหรือเปล่าต้องถอยกลับไป ผมคิดว่าวันนี้เราก็ต้องเรียกร้องพรรคพวกบ้างเหมือนกัน ว่าวันนี้โจทย์ของพันธมิตรฯ คือการเมืองใหม่ เรามาแชร์กันได้ไหม เรามาช่วยกัน ถ้าเราใจกว้างพอที่จะมองข้ามความขัดแย้งหรือวิวาทะที่ผ่านมา เมื่อเราคิดว่ามันไปไม่รอดแล้วบ้านเมือง พันธมิตรฯ คิดว่าต้องการเมืองใหม่ และผมคิดว่าหลายประเด็นก็ไม่ได้ต่างจากที่ภาคประชาชนคิดรณรงค์กันมา เรื่องทรัพยากร การมีส่วนร่วม กระจายอำนาจ มันก็คล้ายๆ กันอยู่ ในสมุดปกขาว ช่วงที่เราจัดเวทีกว่า 10 ครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ระดมเรื่องการเมืองใหม่ เชิญไปทุกกลุ่ม กลุ่มองค์กรภาคประชาชน องค์กรเกษตรแรงงาน เอ็นจีโอ นักธุรกิจ ที่ไม่ยอมไปชุมนุมและไม่ขึ้นเวที แต่เลือกจะมาเวทีสัมมนาการเมืองใหม่ในทำเนียบฯ ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ถ้าเราชูประเด็นเรื่องการเมืองใหม่เราจะมีแนวร่วม เราจะได้แนวร่วมกลับมา ที่เคยไม่คบเราแล้วไม่สังฆกรรมเราแล้วอาจจะกลับใจ"

"แต่ถ้าเขาไม่มาก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาจะไปทำในบริบทไหนในพื้นที่ไหน แล้วประเด็นมันคล้ายกัน ผมว่าดีเสียอีก ไม่จำเป็นต้องมาผูกห้อยในหัวเดียวกัน มันหนุนกันโดยธรรมชาติ"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net