ข้าวผัดกะเพรา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทิวา พรหมสุภา

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ฉบับที่ 3

13 ก.พ. 2552

 

ระหว่างรอข้าวผัดกะเพราไก่เช้านี้ ดิฉันนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งทำให้ข้าวที่ลุงเจ้าของร้านวางลงตรงหน้าดูไม่น่ากินไปเสียทันตา

 

วิธีการอ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างรอข้าวของดิฉัน มักเริ่มจากการกวาดสายตาดูพาดหัวหน้าแรก แล้วจึงพลิกดูเรื่องที่สนใจ จากนั้นก็จะเปิดหนังสือทุกหน้าอีกที จากหน้าสุดท้ายมาหน้าแรก (อันนี้เป็นนิสัยส่วนตัว) เพื่อจะดูว่ามีอะไรอื่นอีกหรือไม่

 

วันนี้ หลังจากสรุปภาพหน้าแรกเสร็จ ดิฉันก็พลิกไปอ่านข่าวโรฮิงญา ซึ่งอันที่จริงก็ไม่เกี่ยวกับคนโรฮิงญามากนัก แต่เป็นเรื่องที่คนไทยบางคนกำลังโมโหโทโสกรณีคุณแองเจลีนา โจลี ทูตสันถวไมตรีของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) บังอาจมาพูดถึงเรื่อง "ผู้ลี้ภัย" โรฮิงญา ความโมโหที่ว่ามาจากเหตุดังนี้ (อันนี้พยายามสรุปเอาเอง) คือ 1) โรฮิงญานั้นไม่ใช่ผู้ลี้ภัย แต่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามากับกระบวนการค้ามนุษย์ บางสื่อพาดหัวข่าวกระทั่งว่า UNHCR มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (แต่พออ่านเนื้อในดันไม่มีรายละเอียดตรงนี้เลย..อ้าว) 2) การพูดนั้นเป็นการ "บังอาจ" อย่างยิ่ง คุณแองเจลีนาเป็นแค่ดาราฝรั่ง ไม่มีสิทธิมาก้าวก่ายเรื่องของเรา และ 3) คุณปลัดกระทรวงการต่างประเทศโมโหนักว่า UNHCR อนุญาตให้คุณแองเจลีนาเข้าค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง (เอ้อ.. อันที่จริงเป็นชาวกะเรนนี) ไปได้ยังไง

 

ดิฉันจะไม่ใช้พื้นที่นี้มาถกเถียงเรื่องโรฮิงญาตามข้อ 1) เพราะมีคนพูดถึงมากอยู่พอควรแล้ว และความหงุดหงิดใจของดิฉันในวันนี้ก็ไม่ได้มาจากกรณีโศกนาฏกรรมของชาวโรฮิงญา ทว่ามันเป็นความเบื่อหน่าย เอือมระอาต่อความเบาหวิวไร้สาระที่ซ้ำซาก

 

เมื่อไหร่เราจะเลิกทำเป็นไม่เข้าใจว่าการที่คนต่างชาติจะมาพูด ทัก ติ ติง ขอ แนะ เกี่ยวกับประเทศเรา มันไม่ได้เป็นการล่วงล้ำอธิปไตยอะไรที่ไหนเลย เราก็รู้อยู่ว่ามนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติ (ดิฉันไม่ใช้คำว่าสิทธิก็ได้ หากท่านไม่ชอบคำนี้) ที่จะแสดงความคิดเห็น คนไทยเราก็พูดถึงประเทศอื่น ด่า บ่น ตำหนิ ชื่นชม ฯลฯ กันอยู่เสมอ แล้วคุณแองเจลีนาที่เป็นผู้แทนของ UNHCR ซึ่งไม่ใช่ "องค์กรต่างประเทศ" (หมายถึงเป็นของประเทศอื่น) แต่เป็น "องค์การระหว่างประเทศ" (คือเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ ซึ่งไทยก็เป็น "หนึ่ง" ใน "สห" นั้น) ที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยตรง เธอก็ทำตามหน้าที่ของเธอ ตามที่เธอเข้าใจ คิด และเชื่อ แล้วมันจะผิดตรงไหน

 

อันที่จริง เมื่อก่อนนี้ดิฉันคิดว่า คนทำงานกระทรวงการต่างประเทศของไทยน่าจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ดีกว่าดิฉันเสียด้วยซ้ำ แต่พออ่านต่อไปถึงกรณีข้อ 3) เรื่องที่ว่าทำไม UNHCR จึงอนุญาตให้คุณแองเจลีนาเข้าค่ายผู้ลี้ภัยได้ ดิฉันก็ชักไม่แน่ใจแล้วว่า ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติและประชาคมโลก จะเข้าใจหรือไม่ว่า ประเทศที่เขากำลังต้องปกป้องชื่อเสียงนั้น มีระบบระเบียบการดำเนินการกับผู้ลี้ภัยอย่างไร และองค์การระหว่างประเทศอย่าง UN นั้น เขามีบทบาทหน้าที่อะไร กระทรวงการต่างประเทศน่าจะทราบดีไม่ใช่หรือว่า UNHCR ย่อมไม่ได้มีอำนาจใดๆ ที่จะ "อนุญาต" ให้คุณแองเจลีนา โจลีและสามีเดินทางเข้าค่ายผู้ลี้ภัยอันเป็นเขตหวงห้ามของไทยเลย คนที่มีอำนาจย่อมต้องคือรัฐไทย โดยกระทรวงมหาดไทยต่างหาก ถ้าจะไปไล่เบี้ยเอากับมหาดไทย ว่าไม่น่าจะอนุญาตให้คุณแองเจลีนาเข้าค่าย ก็ยิ่งไปกันใหญ่

 

แล้วก็อีกนั่นแหละ ดิฉันสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมค่ายผู้ลี้ภัยจึงต้องเป็นเขตแสนหวงแหน ไม่ใช่ว่าเพราะคุณแองเจลีนาเป็นฝรั่งต่างชาติดอกจึงต้องขออนุญาตเข้า แต่คนไทยธรรมดาก็ไม่มีโอกาสจะได้เข้าไปอย่างถูกต้อง หากไม่ได้ทำงานองค์กรมนุษยธรรมซึ่งก็ต้องผ่านการกลั่นกรองดิบดีและมีใบอนุญาตผ่านเข้าหรือแคมป์พาส

 

แน่ละ คำตอบที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ "เป็นเหตุผลด้านความมั่นคง" แต่ฟังแล้วก็เข้าใจยากอยู่นั่นเองว่า แล้วถ้าคนไทยเช่นดิฉันเดินเข้าไปในค่ายแล้ว มันจะทำให้ไม่มั่นคงอย่างไร เรามีอะไรต้องแอบซ่อนหรือถึงไม่ยอมให้ใครเข้าไปรู้ไปเห็น ถ้าเราปฏิบัติกับพวกเขาแสนดีตามหลักมนุษยธรรมทุกประการ ก็ไม่น่าจะเขินอายที่ใครจะได้เห็นความดีงามอันนี้ใช่หรือไม่ ถ้าผู้ลี้ภัยได้รับการดูแลสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ไม่น่าจะต้องหวาดกลัวว่าเขาจะเอาเรื่องไม่ดีไม่งามของเราไปพูด หรือถ้าหากเขาจะโกหกสร้างเรื่องขึ้นมา การจะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสก็เป็นไปได้ไม่ยากหากค่ายผู้ลี้ภัยเป็นสถานที่เปิดเผย

 

เรื่องทั้งหมดที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องเก่า แต่เป็นเรื่องซ้ำซากที่ทำให้ข้าวกะเพราไก่ของดิฉันเหลือแต่รสเผ็ดอย่างน่ารำคาญ เมื่อหันมาพลิกดูหนังสือพิมพ์ทีละหน้าจากหน้าสุดท้ายมาหน้าแรกอย่างที่ว่า ก็มาสะดุดกับคอลัมน์ตอบจดหมายที่จดหมายจากแม่สอดบ่นถึงซ่องหญิงบริการจากพม่าที่มีแมงดาเดินคุมแน่นหนา ว่าเป็นสถานที่ที่ทำให้คนไทยต้องอยู่กันอย่างหวาดกลัว (มีแรงงานต่างด้าวแล้วยังมีโสเภณีต่างด้าวอีก - เขาว่างั้น) และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ทำอะไร

 

ข้าวกะเพราเผ็ดขนาดนี้ ดิฉันคงไม่อยากจะหงุดหงิดกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำอะไรกับสถานบริการทางเพศอีก แต่กลับเศร้าใจกับการที่ผู้เขียนและตอบจดหมายนั้นมองเห็นแต่ความ "น่ากลัว" ของคนต่างชาติ โดยไม่มีสักคำเดียวที่จะแสดงความรู้สึกสลดใจกับการที่ "ผู้หญิง" ที่ไม่ใช่ไทยต้องถูกนำมาค้าเช่นนี้ การเรียกร้องให้ปิดซ่อง จึงไม่ได้เป็นเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ แต่เป็นการทำให้คนไทยอยู่อย่างสบายใจ

 

ดิฉันอ่านจดหมายฉบับนั้นทวนอีกครั้ง เพื่อจะทำความเข้าใจว่า หากซ่องนั้นมีหญิงบริการไทยแล้วจะยังน่ากลัวหรือไม่ และควรปิดหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้คำตอบ

 

เมื่อเป็นดังนี้ ดิฉันจึงต้องรีบกลืนข้าวอย่างรวดเร็วจนน้ำหูน้ำตาไหล แล้วจึงกลับเข้ามานั่งโต๊ะทำงาน เอามือผลักกองงานที่ค้างคาอยู่ออกไปไว้ข้างๆ ก่อน และง่วนพิมพ์ "บทบ่น" อยู่ในขณะนี้

 

...........

 

 

 

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency - CBNA) เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย จัดตั้งขึ้นมาโดยความร่วมมือขององค์กรที่ทำงานด้านแรงงานไทย คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ Union Network International: Thai Liaison Council (UNI-TLC) กับ องค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ (แรงงานอพยพ) และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย คือ ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน เพื่อนไร้พรมแดน และ โครงการสมานฉันท์แรงงานข้ามพรมแดน เมื่อ 2 ก.พ.52

 

กิจกรรมของศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย และนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น

 

 "มุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในประชาชนทุกกลุ่ม เราเชื่อว่า สิทธิมนุษยชน คือ จุดเริ่มต้นแห่งสันติภาพ"

 

 

 

อ่านเพิ่มเติม

CBNA ฉบับที่ 1: แนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจการเมืองไทยปี 2552 http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=15444&Key=HilightNews

 

CBNA ฉบับที่ 2: สถานการณ์การย้ายถิ่นและความก้าวหน้าของนโยบายและการจัดการประชากรข้ามชาติ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=15495&Key=HilightNews

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท