Skip to main content
sharethis






โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


ที่มา : http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4433&Itemid=86


 


 




พรรษาสิริ กุหลาบ


          


"ภาพรวมการรายงานข่าวภาคใต้ของสื่อตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงใช้กรอบการรายงานที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง หรือ war journalism มากกว่าการรายงานแบบสื่อสันติภาพ หรือ peace journalism


         


เป็นถ้อยวิพากษ์บทบาทของสื่อมวลชนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอมุมมองเอาไว้อย่างคมคาย 


         


ต้องยอมรับว่า 5 ปีที่ผ่านมา บทบาทของสื่อมวลชนถูกวิจารณ์และตั้งคำถามไม่น้อยว่าเป็นการซ้ำเติมความรุนแรง หรือขยายวงของปัญหาให้ร้าวลึกมากขึ้นหรือไม่ แม้ที่ผ่านมาหลายๆ สื่อจะพยายามปรับตัว ขณะที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ทำโครงการ "โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" แต่ดูเหมือนสถานการณ์ในภาพรวมยังก้าวไม่พ้นความน่ากังวล


 


ต้องมีเลือดถึงจะเป็นข่าว?


พรรษาสิริ ขยายความว่า war journalism ไม่ได้หมายถึงการรายงานข่าวสงคราม แต่หมายถึงการรายงานข่าวที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น ด้วยการเน้นประเด็นความรุนแรง และเสนอผลที่ปรากฏจากความรุนแรง หรือ visible impact เช่น ลักษณะของการเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นระเบิด ยิง ฆ่าตัดคอ จำนวนผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ความเสียหายต่อสถานที่ อาวุธที่ใช้ หรือความถี่ของการเกิดความรุนแรงเป็นหลัก เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญในการระบุว่า ทำไมข่าวนี้จึง "เป็นข่าว


         


พรรษาสิริ มองว่า สื่อมวลชนเคยชินกับการชูประเด็นความรุนแรง เพราะความขัดแย้งหรือความรุนแรงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของข่าว และเป็นวิธีคิดของสื่อมวลชนที่ได้รับการฝึกฝนและสั่งสมกันมานานแล้ว เช่น แนวคิดเรื่อง "คุณค่าข่าว" ที่สอนกันในวิชาวารสารศาสตร์ในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในต่างประเทศ หลักการวารสารศาสตร์แบบดั้งเดิมจะบอกว่า what bleeds is the lead หรือ "อะไรที่มีเลือดตกยางออกก็จะได้เป็นข่าวลำดับต้นๆ"  


         


ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น ระเบิด การฆาตกรรม การโจมตี สื่อจะเลือกชูองค์ประกอบหรือคุณค่าข่าวด้านความขัดแย้งทางกายภาพเหล่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่โดดเด่นและเห็นชัดกว่าองค์ประกอบด้านอื่น จากนั้นจึงรายงานในรูปแบบเดียวกับการรายงานผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุ ที่ต้องบอกว่ามีคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บกี่คน ตายและบาดเจ็บอย่างไร การสืบสวนเป็นอย่างไร แล้วก็จบเพียงเท่านั้น 


         


ส่วนความรุนแรงเชิงโครงสร้างและทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นรากของปัญหา เช่น ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การถูกกดขี่ และความแตกต่างทางวัฒนธรรม เป็นสาเหตุที่ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน จึงมักถูกมองข้ามหรือสาวไปไม่ถึง และไม่ได้รับการนำเสนอบ่อยเท่ากับความรุนแรงเชิงกายภาพ


 


โครงสร้างสื่อมีปัญหา


เธอยังเห็นว่า การที่องค์กรสื่อทำงานโดยแบ่งออกเป็นโต๊ะข่าวต่างๆ แล้วไม่ประสานงานกันอย่างจริงจัง ก็ทำให้การรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งดังเช่นเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นการรายงานแบบแยกส่วน โต๊ะอาชญากรรมรายงานเพียงผลจากความรุนแรง โต๊ะการเมืองรายงานนโยบายของรัฐบาลต่อสถานการณ์ โต๊ะข่าวความมั่นคง (สายทหาร) ก็จะรายงานนโยบายและปฏิบัติการของทหาร โต๊ะสังคมอาจรายงานความเห็นของนักวิชาการ แต่ยังไม่สามารถให้ภาพที่เชื่อมโยงหรือนำไปสู่การวิเคราะห์ให้สังคมได้เห็นชัดเจนว่า เหตุการณ์ทั้งหลายเกี่ยวข้องกันอย่างไร และมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอย่างไร เป็นเหมือนภาพจิ๊กซอว์ที่เอามาปะต่อๆ กัน แต่มองอย่างไรก็ไม่เห็นเป็นเนื้อเดียวกัน


         


ดังนั้นในกรณีความขัดแย้งซึ่งมีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง โต๊ะข่าวต่างๆ ต้องประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น เพื่อให้การรายงานข่าวเป็นไปอย่างรอบด้านและให้ข้อมูลเชิงลึกและเชิงวิเคราะห์แก่สังคม


         


เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้สื่อข่าวหรือบรรณาธิการที่ทำข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้นานๆ และได้คุยกับแหล่งข่าว หรือค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่งและรอบด้าน ไม่ใช่คุยกับฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายชาวบ้าน หรือฝ่ายเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) เพียงอย่างเดียว ก็จะเข้าใจความขัดแย้งที่ซับซ้อน และพยายามจะนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายเพื่อให้สังคมช่วยกันทำความเข้าใจ แต่ถ้าเป็นผู้สื่อข่าวหรือบรรณาธิการที่ไม่ติดตามเรื่องที่เกิดขึ้น หรือคุ้นชินกับการรายงานข่าวประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงแนวเดียว เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวทหาร ก็จะมีกรอบความคิดในการรายงานเพียงแง่มุมที่ตนเองเชี่ยวชาญ 


         


ดังนั้นแทนที่จะสะท้อนความรุนแรงในระดับโครงสร้างและวัฒนธรรม ก็จะทำได้เพียงสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระดับกายภาพ และไม่มีข้อมูลที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาได้จริง


 


สื่อกระแสหลักปรับตัว...


อย่างไรก็ตาม พรรษาสิริ เห็นว่า สิ่งที่มีพัฒนาการขึ้นในรอบ 5 ปีของการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ "สื่อกระแสหลัก" ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มีความพยายามนำเสนอด้วยกรอบ "สื่อสันติภาพ" หรือ peace journalism มากขึ้น ด้วยการอธิบายปรากฏการณ์ พยายามหาสาเหตุของความขัดแย้ง รายงานผลที่ไม่ปรากฏเห็นชัด หรือ invisible impact จากเหตุการณ์ เช่น ความกระทบกระเทือนต่อชีวิตและจิตใจของคนในพื้นที่และผู้สูญเสีย ตลอดจนติดตามผลที่เกิดขึ้นแม้เหตุความรุนแรงจะผ่านมานานแล้ว ซึ่งมักไม่ค่อยถูกรายงานในข่าวที่นำเสนอในรูปแบบข่าวอาชญากรรมทั่วไป 


 


นอกจากนี้ยังมีการรายงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อให้คนนอกพื้นที่เกิดความเข้าใจและเห็นใจผู้เผชิญปัญหามากขึ้น รวมทั้งรายงานเกี่ยวกับแนวคิดการคลี่คลายความขัดแย้งจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำศาสนา ฝ่ายความมั่นคง ภาครัฐ นักวิชาการ นักรณรงค์เคลื่อนไหว เป็นต้น แต่ข่าวเหล่านี้ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับการรายงานสถานการณ์หรือเรื่องที่เกิดขึ้นรายวัน 


 


เมื่อเหตุการณ์หรือข้อมูลที่จะเสริมสร้างสันติภาพยังมีน้อยกว่าข้อมูลหรือการรายงานเหตุการณ์ที่เน้นประเด็นความรุนแรง รวมทั้งการนำเสนอภาพที่รุนแรง การใช้ถ้อยคำการให้สัมภาษณ์ หรือ soundbite ที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากกว่าสันติภาพ จึงยังไม่เพียงพอต่อการที่สังคมจะทำความเข้าใจต่อความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น และมีส่วนร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างจริงจังและเข้าใจถ่องแท้


 


วิเคราะห์ศูนย์ข่าวอิศรา


ในส่วนการทำงานของศูนย์ข่าวอิศรา พรรษาสิริ ยกวิทยานิพนธ์เรื่อง "สื่อสันติภาพในประเทศไทย: ศึกษากรณีศูนย์ข่าวอิศราของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (2549)"  ที่จัดทำโดย สุภาภรณ์ กาญจน์วีระโยธิน จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นมาอธิบาย 


 


วิทยานิพนธ์ของ สุภาภรณ์ ระบุว่า ศูนย์ข่าวอิศราเกิดจากความตั้งใจที่ดีที่จะใช้แนวคิดสื่อสันติภาพเพื่อคลี่คลายความรุนแรง แต่โครงสร้าง สถานะ และการดำเนินงานที่ยังไม่มีระบบชัดเจนของศูนย์ ทำให้การทำงานยังไปไม่ถึงเป้าหมาย จึงเสนอแนะว่า ศูนย์ข่าวอิศราควรจะมีโครงสร้างและการดำเนินงานที่เป็นระบบชัดเจน มีการประสานงานกับองค์กรสื่อทั้งในเรื่องการขอยืมตัวผู้สื่อข่าว การฝึกฝนผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ให้รู้จักกับพื้นที่ และการนำเรื่องจากศูนย์ข่าวไปใช้ จะได้มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและเป็นระบบต่อไป


 


นอกจากนี้ วิทยานิพนธ์ของสุภาภรณ์ ยังเสนอแนะว่า จุดแข็งของศูนย์ข่าวอิศราคือการผลิตสารคดีเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการรายงานข่าวเชิงสืบสวน (investigative report) ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักขาด เพราะบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวที่ผลิตงานให้ศูนย์ข่าวอิศรามีความชำนาญในพื้นที่และเข้าใจสถานการณ์ ทั้งยังไม่ถูกเร่งรัดด้วยเงื่อนเวลาในการรายงานข่าวมากนัก จึงมีเวลาและความเชี่ยวชาญที่จะผลิตงานเชิงลึกได้ เมื่อศูนย์ข่าวอิศราสามารถผลิตงานที่มีความแตกต่างและนำเสนอเนื้อหาที่ลึกกว่า ก็จะทำให้สื่อกระแสหลักเห็นความสำคัญและนำเรื่องนั้นๆ ไปนำเสนอต่อได้


 


สื่อทางเลือก...ทางออกระยะยาว


สำหรับทางออกในระยะยาว พรรษาสิริ ชี้ว่า มี 3 ประเด็น คือ การสร้างความเข้าใจให้นักวิชาชีพเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์ความขัดแย้ง การส่งเสริมสื่อที่ไม่หวังผลกำไรและสื่อทางเลือก และการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนสื่อสารมากขึ้น


 


ทั้งนี้ การสร้างความเข้าใจให้กับองค์กรสื่อและบุคลากรเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์ความขัดแย้ง ทั้งในด้านวิธีคิดและแนวปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ เธอมองว่า ความพยายามของสมาคมวิชาชีพ เช่น การจัดสานเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง การระดมสมองเพื่อผลิตคู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง และการรายงานข่าวเฉพาะทางด้านอื่นๆ รวมทั้งการฝึกทักษะในการรายงานข่าว อย่างการอบรมการทำข่าวสืบสวนสอบสวน หรือโครงการ "ปั้นนักข่าวเป็นนักเขียน" ล้วนเป็นการติดอาวุธทางทักษะและทางความคิดให้นักวิชาชีพวารสารศาสตร์ได้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจบทบาทตัวเอง และพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพให้สังคม และนำเสนออย่างมีศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้การรายงานมีความน่าสนใจ ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องเครียดหรือไกลตัวคนทั่วไปในสังคม 


 


การมีสื่อที่ไม่หวังผลกำไร เช่น ศูนย์อิศรา และทีวีสาธารณะ หรือสื่อทางเลือก เช่น เว็บไซต์ประชาไท ทำให้เรื่องที่ถูกมองว่า "ขายไม่ได้" และไม่ค่อยมีพื้นที่ในสื่อเชิงพาณิชย์ ได้มีที่ทางของตัวเองมากขึ้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ 


 


ดังนั้น สมาคมวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน ควรสนับสนุนให้สื่อเหล่านี้คงอยู่ต่อไป ขยายพื้นที่ให้กับสื่อเหล่านี้มากขึ้น และให้ความสำคัญกับสื่อเหล่านี้ เพื่อจะได้เป็นการผลักดันให้สื่อกระแสหลักเชิงพาณิชย์ทั่วไปเห็นความสำคัญกับวาระหรือประเด็นที่สื่อเหล่านี้นำเสนอด้วย


 


นอกจากนั้นยังควรหาแนวร่วมผลิตสื่อจากชุมชน เช่น การมีนักข่าวพลเมือง หรือการให้คนในพื้นที่ทั้งชาวบ้าน ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร ได้มีปากมีเสียงผ่านสื่อมวลชน หรือผลิตสื่อเอง เพราะจะได้เกิดการสื่อสารในแนวดิ่งที่คนข้างล่างผลักดันวาระขึ้นมาผ่านสื่อกระแสหลัก แทนที่จะเป็นวาระที่สื่อหรือกลุ่มชนในระดับการตัดสินใจตั้งอย่างเดียว 


 


เพราะการสื่อสารในแนวราบโดยให้ชุมชนสื่อสารกันเอง จะทำให้เกิดกระบวนการทำความเข้าใจกันเองอย่างทั่วถึง และป้องกันการเผยแพร่ข่าวลือที่เป็นผลลบต่อกระบวนการสันติภาพด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net