ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย คณะกรรมการสิทธิฯ ชุด "เสน่ห์ จามริก" พ้นจากตำแหน่งแล้ว

19 .. 52 - มติชนออนไลน์ รายงานว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 830/2551 วินิจฉัยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ชุดที่มีนายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน และมีกรรมการอื่นเหลืออยู่รวม 8 คน(จากเดิมที่มีอยู่ 11 คน) พ้นจากตำแหน่งแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 ทำให้ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมส 2550) ดังนั้นในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ตำแหน่ง กสม.จึงยังคงว่างอยู่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ดังนั้น เลขาธิการ กสม.และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง(ประธานวุฒิสภา) ต้องดำเนินการสรรหาและเลือก กสม.ชุดใหม่ต่อไปเนื่องจาก พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยังมีผลบังคับใช้อยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยดังกล่าวเนื่องจากนายพงศ์ วัฒนา เจริญมายุ และนายวิษณู จุ้ยบ้าง ซึ่งผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ได้ยื่นฟ้องประธาน กสม.ที่ 1 เลขาธิการ กสม.ที่ 2 และคณะกรรมการเตรียมการสรรรหาและเลือก กสม.ที่ 3 ว่า ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไม่ยอมดำเนินการสรรหา กสม.ชุดใหม่แทน กสม.ชุดเดิมที่หมดวาระแล้ว ทั้งๆที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ กสม.ให้เร่งรัดดำเนินการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกลับนิ่งเฉย

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดมีสาระสำคัญคือ

กสม.ที่มีนายเสน่ห์ จามริก เป็นประธานได้รับแต่งตั้งเป็น กสม.ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป ซึ่ง กสม.ชุดดังกล่าวนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระในวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 และต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 ซึ่งทำให้ตำแหน่งดังกล่าวนั้นว่างลงก่อนวันประกาศใชรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ดังนั้น ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550(24 สิงหาคม 2550) ตำแหน่ง กสม.จึงคงว่างอยู่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว การที่คณะกรรมการชุดนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อ รอให้ กสม.ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เท่านั้น แต่ไม่อยู่ในฐานะผู้ดำรงผู้ตำแหน่ง กสม.

เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง กสม.อยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คณะกรรมการชุดนี้จึงไม่อาจดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้ง กสม.ตามบทบัญญัติมาตรา 299 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550ได้

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเมื่อตำแหน่ง กสม.ว่างลง จำต้องดำเนินการสรรหาและเลือก กสม.ชุดใหม่หรือไม่

โดยที่ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ(มาตรา 10 วรรคสาม) บัญญัติว่า เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อสิ้นสุดวาระของ กรรมการชุดเดิม ให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการชุดใหม่ก่อนครบวาระของกรรมการชุดเดิมเป็น ระยะเวลา 60 วัน จึงเห็นได้ว่า กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการสรรหาและเลือก กสม.ชุดใหม่ก่อนครบวาระของ กสม.ชุดเดิมเป็นระยะเวลา 60 วัน เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่องและให้ได้ กสม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในทันทีที่คณะกรรมการชุดเดิมครบวาระ ซึ่งต้องดำเนินการก่อนครบวาระของ กสม.ชุดเดิมเป็นระยะเวลา 60 วัน จึงถึงกำหนดเวลาที่ต้องดำเนินการ ก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550

ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการ สรรหาและเลือก กสม.ตชุดใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯเพื่อให้ได้ กสม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในทันทีที่คณะกรรมการชุดเดิมครบวาระ ซึ่งหากมีการดำเนินการดังกล่าวนี้ให้ครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาจะมีการสรรหาและเลือก กสม.ขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ก็ตาม แต่ กสม.ชุดที่ได้รับการแต่งตั้งแทนคณะกรรมการชุดที่ครบวาระในวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 นั้น ย่อมได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฯ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจึงสามารถเข้ารับการสรรหาและรับการสรรหาและรับการแต่ง ตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กสม.ชุดแรกตามบทบัญญัติขอรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้โดยไม่อยู่ในบังคับที่ต้อง ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระ

อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า เมื่อ กสม.ชุดที่มีนายเสน่ห์ เป็นประธานกรรมการได้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 แล้ว ไม่ได้มีการแต่งตั้ง กสม.ชุดใหม่แทนชุดที่พ้นจากตำแหน่ง และแม้เลขาธิการ กสม.จะได้มีคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ 28/2550 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการสรรหาและเลือก กสม.ก็ตาม

แต่คณะกรรมการเตรียมการสรรหาก็มิได้ดำเนินการให้การ สรรหาและเลือกกสม.ชุดใหม่เสร็จสิ้นไป กลับหยุดำเนินการปล่อยให้ระยะเวลาผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์นับแต่วันที่ กสม.ชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งถึงวันที่รัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้บังคับเป็นระยะเวลากว่า 40 วัน

แม้รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 จะได้บัญญัติจำนวน กสม. คณะกรรมการสรรหา รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาและเลือก กสม.ต่างไปจากที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ พ.ศ. 2542 ก็ตาม แต่มีผลเพียงทำให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวในส่วนที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่มีผลใช้ บังคับเท่านั้น โดยให้ใช้บังคับตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแทน และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ย่อมมีผลใช้บังคับในทันทีนับแต่มีการ ประกาศใช้ โดยไม่จำต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯก่อน

ส่วนบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯที่มิได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป และเมื่อรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติถึงกรณีที่ตำแหน่ง กสม.ที่ว่างอยู่ในขณะประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่า ต้องดำเนินการเช่นไร และมิได้กำหนดตัวเจ้าหน้าที่ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาฯไว้เป็น อย่างอื่น อีกทั้ง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่โดยยังมิได้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ดังนั้น บทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่และผู้รับผิดชอบที่ต้องดำเนินการสรรหาและเลือก กสม.ชุดใหม่จึงยังคงมีผลบังคับใช้อยู่  ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ยังคงต้องดำเนินการสรรหาและเลือก กสม.ชุดใหม่ต่อไป โดยต้องดำเนินการสรรหาและเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

อย่างไรก็ตามศาลปกครองเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิ์ที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

แหล่งข่าวจากศาลปกครองเปิดเผยว่า คดีนี้แม้ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่คำวินิจฉัยในคำสั่งได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่า กสม.ชุดนายเสน่หืพ้นจากตำแหน่งและไม่มีสิทธิอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมี การแก้ไข พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษชนฯฉบับใหม่ตามที่ กสม.ชุดนายเน่ห์อ้าง  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือเลขาธิการ กสมงปละประธานวุฒิสภาต้องดำเนินการสรรหา กสม.ชุดใหม่ต่อไป ถ้า ผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำคำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับนี้แจ้งให้ให้เลขาธิการ กสม.และประธานวุฒิสภาทราบแล้วยังไม่ดำเนินการอีก สามารถร้องเรียนหรือฟ้องว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้

ปัจจุบัน  กสม.มีอยู่ 8 คนได้แก่ นายเสน่ห์ จามริก ประธาน กสม.  คุณหญิงอัมพร มีศุข ,น.พ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี,นายสุรสีห์ โกศลนาวิน,  นางสุนี ไชยรส ,น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง,นายสุทิน นพเกตุ, น.สงอาภร วงษ์สังข์ 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท