รายงาน "สถาบันอิศรา" : ธนาคารอิสลามในโรงเรียน





ชื่อรายงานเดิม : ธนาคารอิสลามในโรงเรียน...ต้องรู้จักออมก่อนใช้ ไม่ใช่เหลือใช้แล้วค่อยออม



 






อะหมัด รามันห์สิริวงศ์
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา

...................................................................

 

 

 

          อัลกุรอานโองการหนึ่งกล่าวไว้ว่า "อัลลอฮฺทรงอนุมัติการค้าขายและทรงห้ามการดอกเบี้ย ผู้ใดรับข้อตักเตือนจากพระผู้อภิบาลของเขาแล้วเขางด (จากกิจการดอกเบี้ย) ดังนั้นสำหรับเขาคือสิ่งที่รับมาแล้วแต่ก่อนและกิจการของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ ผู้ใดที่กลับไป (กินดอกเบี้ยอีก) ดังนั้นเขาคือสหายของนรก พวกเขาเป็นอยู่ในนั้นตลอดไป"

 

          "และอันใดที่สูเจ้าจ่ายเป็นส่วนเกินก็คือดอกเบี้ย เพื่อมันจะได้เพิ่มแก่ทรัพย์สินของมนุษย์ ดังนั้นมันไม่เพิ่มในทรรศนะของอัลลอฮฺ แต่อันใดที่สูเจ้าจ่ายเป็นซากาต (เงินบริจาค) โดยสูเจ้าหวังในความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺ ฉะนั้นพวกเขาคือผู้ได้รับ (การตอบแทน) ทวีคูณ" 

 

          โองการนี้ระบุอย่างชัดแจ้งถึงบทลงโทษสำหรับผู้ที่ยังดื้อดึงกินดอกเบี้ย อันเป็นสิ่งที่มุสลิมไม่พึงกระทำ และนี่เองคือความจำเป็นของการมี "ธนาคารอิสลาม" เพื่อดำเนินธุรกรรมทางการเงินอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา

 

0 0 0

 

          ประเทศไทยมีการจัดตั้ง "ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย" เป็นธนาคารเฉพาะกิจที่ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยมีคณะกรรมการธนาคารดูแลควบคุมด้านการบริหารจัดการ และมีคณะที่ปรึกษาด้านศาสนาคอยดูแลและควบคุมให้การบริการทางการเงินแก่ลูกค้าอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา กล่าวคือธนาคารจะไม่ดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ไม่สนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไร การผูกขาด ผิดศีลธรรม และอบายมุข

 

          ปัจจุบันธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีทั้งหมด 26 สาขา กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สำหรับใน จ.ปัตตานี มีธนาคารอิสลาม 2 สาขา คือสาขาปัตตานี และสาขาจะบังติกอ

 

          อย่างไรก็ดี นั่นเป็นธนาคารระดับชาติที่มีระบบการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการจัดตั้ง "ธนาคารอิสลามในโรงเรียน" ด้วยเช่นกัน และโรงเรียนคุรุชนพัฒนา ต.เปาะเส้ง อ.เมือง จ.ยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 ก็เป็นโรงเรียนแห่งแรกในดินแดนด้ามขวานที่ก่อตั้งธนาคารอิสลามขึ้นในโรงเรียน 

 

          ธนาคารอิสลามของโรงเรียนคุรุชนพัฒนาปฏิบัติตามหลักการขั้นพื้นฐานของการเป็น "ธนาคารอิสลาม" ทุกประการ กล่าวคือยืนอยู่บนหลักการหุ้นส่วนร่วมกัน ทั้งระบบธนาคาร ผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน ผู้ลงทุน และผู้กู้ยืม ทั้งหมดจะร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนเพื่อประกอบการผลิตทางเศรษฐกิจ เมื่อมีรายได้จากการประกอบการหลังหักค่าใช้จ่าย ธนาคารก็จะนำมาแบ่งให้แก่หุ้นส่วนอย่างยุติธรรม 

 

          นายสุวรรณ อุมาสะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคุรุชนพัฒนา เล่าให้ฟังว่า การจัดตั้งธนาคารอิสลามในโรงเรียนนั้น จุดประกายความคิดจากครูที่มองว่าในแต่ละวันเด็กนักเรียนนำเงินมาใช้จ่ายที่โรงเรียนโดยเฉลี่ยแล้วคนละไม่น้อยกว่า 10 บาท โรงเรียนมีเด็กนักเรียน 480 คน ดังนั้นในแต่ละวันจะมีเงินของเด็กๆ หมุนเวียนอยู่ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ในจำนวนเงิน 5,000 บาทนี้ เด็กๆ ต่างใช้จ่ายเงินโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า เด็กจะซื้อของอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทำให้เงินหายไปโดยไม่มีการเก็บออม สัปดาห์หนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท

 

          "จากการศึกษาสภาพปัญหา ทำให้คณะครูมีแนวคิดส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักการเก็บออม และมีวินัยการใช้เงิน ให้เด็กรู้จักวางแผนการใช้เงิน และให้ตระหนักเรื่องการออมก่อนใช้ ไม่ใช่เหลือใช้แล้วถึงมาออม ตรงนี้ทางโรงเรียนมองว่าเป็นสิ่งสำคัญ คือเมื่อใดก็ตามที่เด็กมีการวางแผนการใช้เงิน โดยวางแผนฝากเงินหรือออมเงินไว้ก่อน จากนั้นจึงนำเงินที่เหลือไปใช้ หากใช้ไม่หมดก็กลับมาออมอีกครั้ง จะทำให้ลดการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่ายได้มาก และเป็นที่มาของธนาคารอิสลามคุรุชนพัฒนา" 

 

          ผอ.สุวรรณ บอกว่า โรงเรียนคุรุชนพัฒนาเปิดดำเนินการธนาคารอิสลามในโรงเรียนมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2551 ปัจจุบันมีเงินฝากจำนวน 60,000 บาท เงินจำนวนนี้เด็กๆ สามารถถอนส่วนของตัวเองออกไปใช้จ่ายตามความจำเป็นได้ในบางเรื่อง จะได้ไม่ต้องไปขอผู้ปกครอง และเราคาดหวังว่าในอนาคตเมื่อเด็กๆ ทุกคนรู้จักการออมเงินแล้ว อาจจะมีบางกลุ่มสนใจรวมตัวกันมากู้เงินของธนาคารครุชนพัฒนาไปลงทุนในกิจการเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขายขนมที่โรงเรียน ในชุมชน หรือที่โรงเรียนตาดีกา 

 

          "กลุ่มที่สนใจสามารถเสนอโครงการเข้ามาได้ผ่านทางคณะกรรมการของโรงเรียน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี มีแนวโน้มเรียกเงินทุนกลับคืนมาได้ ก็จะอนุมัติเงินกู้ให้ไป กลุ่มนักเรียนเหล่านั้นก็จะมีเงินไปประกอบกิจการ และส่งเงินกลับมายังธนาคารตามสัญญา เมื่อมีผลกำไรก็จะได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลง คือธนาคารรับ 30% กลุ่มผู้กู้ 70% โดยใน 30% ที่ธนาคารได้รับ จะนำไปจัดสรรให้กับสมาชิกของธนาคารอีกต่อหนึ่งตามหลักการธนาคารอิสลาม"

 

          นอกจากนี้ ธนาคารคุรุชนพัฒนายังมีแผนเปิดให้ชุมชนนำเงินมาฝาก เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการออมเงินให้กับชุมชน และเมื่อถึงขั้นตอนนั้นทางโรงเรียนจะบริการชุมชนด้วยการสำรวจความต้องการของชุมชนว่าต้องการสินค้าอะไรที่จำเป็นพื้นฐานในครัวเรือนบ้าง จากนั้นโรงเรียนก็จะไปจัดหามาให้ เป็นการทำการค้าในระบบอิสลามที่ไม่แสวงผลกำไรมากเกินไป ไม่มีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

          "เราหวังว่าเมื่อนักเรียนเรียนจบไปแล้วจะมีเงินติดตัวไปด้วย เพื่อเป็นทุนสำหรับศึกษาต่อในอนาคต และหากเด็กไม่ได้ศึกษาต่อ ก็จะสามารถนำเงินไปลงทุนเปิดกิจการส่วนตัวได้ ฉะนั้นธนาคารอิสลามโรงเรียนคุรุชนพัฒนาจึงเป็นธนาคารที่มุ่งสร้างวินัยการออม สนับสนุนให้เด็กรู้จักวางแผนการใช้เงิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็กๆ และชุมชน" ผอ.สุวรรณ ระบุ

 

          จริงๆ การเปิดธนาคารอิสลามในโรงเรียนก็เป็นนวัตกรรมที่น่าทึ่งอยู่แล้ว แต่หลายคนอาจจะต้องตะลึงยิ่งกว่าเมื่อทราบว่าผู้จัดการธนาคารเป็นเพียงเด็กนักเรียนชั้น ม.2 แถมยังใช้คำนำหน้านามว่า "เด็กหญิง" อยู่เลย

 

          ด.ญ.ซัยเต๊าะ บากา ผู้จัดการธนาคารอิสลามคุรุชนพัฒนา บอกว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนๆ และครูอาจารย์ให้มาดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคาร ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด 

 

          "การได้มาทำงานตรงนี้ นอกจากจะทำให้รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบ โปร่งใส และเสียสละแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนให้ตัวเองรู้จักการใช้เงิน เห็นคุณค่าของเงิน โดยให้ความสำคัญกับการออม และมีวินัยในการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อีกด้วย" เด็กหญิงกล่าว

 

          การดำเนินงานของธนาคารอิสลามโรงเรียนคุรุชนพัฒนา สอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กำลังทำโครงการโรงเรียนธนาคารต้นแบบในระบบอิสลามอย่างพอดิบพอดี 

 

          นายสุรพงศ์ ศิริลิมป์ ผู้อำนวยการกองธุรกิจกองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. กล่าวว่า การทำโรงเรียนธนาคารในระบบอิสลามตรงกับนโยบายของ ธ.ก.ส. โดยปัจจุบันมีโรงเรียนธนาคารต้นแบบอยู่ที่โรงเรียนหนองจอกวิทยานุสรณ์ กรุงเทพฯ มีบัญชีอยู่ประมาณ 900 กว่าบัญชี มีเงินออมของเด็กประมาณ 700,000 บาท เร็วๆ นี้จะเปิดอีก 2 ที่คือ จ.กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ 

 

          "การดำเนินงานจะเป็นรูปแบบของการรวบรวมเงินจากการออมในธนาคารโรงเรียน แล้วนำไปฝากต่อใน ธ.ก.ส.ในระบบอิสลาม ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการในระบบการเงินอิสลาม โดยให้โรงเรียนธนาคารสามารถไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้มียอดฝากเงินเพิ่มขึ้นได้" 

 

          "ปัจจุบัน ธ.ก.ส.เปิดธนาคารในระบบอิสลามไปแล้วกว่า 94 สาขาใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าโรงเรียนใดที่มีนักเรียนมุสลิมเป็นส่วนใหญ่มีความพร้อมในเรื่องสถานที่ และครูอาจารย์พร้อมที่จะสละเวลาให้กับนักเรียน สามารถติดต่อขอทำโครงการได้ที่ ธ.ก.ส. โดยธนาคารจะสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานให้ พร้อมจัดส่งวิทยากรไปให้ความรู้ด้วย" นายสุรพงศ์ กล่าว

 

          ทั้งหมดเป็นพัฒนาการของธนาคารอิสลามที่หยั่งรากลึกถึงในสถานศึกษา กับหลักคิดธรรมดาๆ แต่น่าสนใจและเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดยามนี้จริงๆ ว่า...."รู้จักออมก่อนใช้ ไม่ใช่เหลือใช้แล้วค่อยออม"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท