รายงาน: ผลักชาวบ้านกู้แบงค์ ขึ้นดอกเบี้ยคนจน พอช.ยังเป็นองค์กรเพื่อชุมชนอยู่หรือไม่?

อัภยุทย์ จันทรพา  

ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เป็นองค์กรของรัฐแนวใหม่ในลักษณะองค์การมหาชน ที่เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาต่างๆ โดยมีวิสัยทัศน์อยู่ที่การเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานรากด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม

 

ภายหลังการก่อตั้งในปี 2543 พอช.มีบทบาทการทำงานอย่างกว้างขวางครอบคลุมหลายเนื้องานของการพัฒนา เป็นต้นว่า การทำโครงการที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง การฟื้นฟูชุมชนและจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น   การจัดสวัสดิการชาวบ้าน รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทชุมชน 

 

อย่างไรก็ตามในระยะหลัง พอช.มักถูกองค์กรประชาชนและเครือข่ายประชาสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการทำงานว่า มุ่งเน้นในเชิงปริมาณมากกว่าจะเปิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงให้กับภาคประชาชนเพื่อสร้างสรรค์งานพัฒนาในเชิงคุณภาพ อันเป็นทิศทางที่ถูกบรรจุอยู่ในวิสัยทัศน์ของ พอช.เอง

 

ตัวอย่างอันชัดเจนของข้อวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองดังกล่าวก็คือ เรื่องราวฉาวโฉ่ของการคัดสรรคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของ พอช.ที่มีการกระทำอย่างเร่งรีบ รวบรัด และไม่เปิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางให้กับองค์กรประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่นอกโครงสร้างและกลไกการทำงานของ พอช.

 

นอกจากเรื่องการสรรหาบอร์ดที่ถูกตีแผ่จนกลายแป็นประเด็นสาธารณะแล้ว ยังมีรูปธรรมการทำงานอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า พอช.ได้ละเลยหลักการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กรประชาชน ซึ่งเป็นผู้รับผลโดยตรงจากการกำหนดนโยบายของ พอช.

 

เรื่องที่ว่าก็คือ "การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยของคนจน" จากร้อยละ 4 ไปเป็นร้อยละ 6 ต่อปี โดยการกำหนดให้ชุมชนไปกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.) แทนการกู้ยืมจากกองทุนของ พอช.

 

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนจะมีกรอบวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ต่อครอบครัว ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินและเงินกู้สร้างบ้านอย่างละครึ่ง มีระยะเวลาผ่อนชำระคืน 15 ปี โดย พอช. จะคิดดอกเบี้ยจากชุมชนในอัตราคงที่ร้อยละ 4 ต่อปี ที่ผ่านมามีการใช้เงินกองทุน พอช.ไปราว 2,300 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ชุมชนแออัดในการทำโครงการบ้านมั่นคงประมาณ 70,000 หน่วย จากจำนวนที่ พอช. ตกลงไว้กับรัฐบาล 300,000 หน่วย

 

แม้จะเหลือเป้าหมายในการทำโครงการบ้านมั่นคงกว่าอีก 200,000 หน่วย แต่ พอช. อ้างว่าเม็ดเงินของกองทุนใกล้หมดแล้ว ดังนั้นจึงมีมติบอร์ดเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ให้ชุมชนที่ยังไม่ได้ทำโครงการไปขอใช้สินเชื่อจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่ง พอช.ได้ไปทำข้อตกลงไว้กับธนาคารแล้ว โดยจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ย 4 เปอร์เซนต์ ใน 2 ปีแรก จากนั้นในปีที่ 3 ถึง ปีที่ 15 จะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น 6 เปอร์เซนต์ ต่อปี

 

การตัดสินใจของ พอช.ที่จะลอยแพชาวบ้านโดยปล่อยให้ชุมชนที่ยังไม่ได้ทำโครงการบ้านมั่นคงต้องไปเผชิญกับกระแสอัตราดอกเบี้ยตามกลไกตลาดของธนาคาร จึงเป็นการกำหนดนโยบายทางสังคมที่ขาดซึ่งความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลหลายประการ

 

ประการแรก แทนการผลักดันให้ชาวบ้านไปกู้เงินแบงค์แล้วต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พอช.ในฐานะองค์กรด้านการพัฒนาสังคม ควรต้องแสดงความเข็งขันและยืนหยัดที่จะขอเงินเพิ่มจากรัฐบาลเพื่อนำมาใส่กองทุน  รวมถึงแสวงหาความร่วมมือจากเครือข่ายภาคประชาชนในการผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็นวาระทางสังคมที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจ ทั้งนี้เพราะเงินกองทุนของ พอช.ที่ไม่พอปล่อยกู้นั้น มีสาเหตุโดยตรงมาจากนโยบายบ้านมั่นคงของภาครัฐ ที่ต้องการปรับปรุงและพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดไม่ให้อยู่ในสภาพสลัม  

 

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลกำหนดเป้าหมายปริมาณของโครงการไว้มาก รัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณในการทำโครงการเพิ่มขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลให้เงินเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท โดยการทยอยจ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท กองทุนของ พอช.ก็น่าจะมีเม็ดเงินเพียงพอที่จะหมุนเวียนสินเชื่อให้กับชุมชนที่ยังไม่ได้ทำโครงการบ้านมั่นคง

 

ประการที่สอง การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วเปลี่ยนให้ระบบธนาคารมาคอยดูแลชะตากรรมของคนจน   ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลทางตรงต่อภาวะรายจ่ายในครัวเรือนของครอบครัวผู้ใช้สินเชื่อ คาดการณ์กันว่าผู้กู้ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 100 บาท ในช่วงตั้งแต่ปีที่ 3 ถึงปีที่ 15 คำถามคือว่าแล้วไฉนประเด็นสำคัญที่กระทบต่อค่าครองชีพของผู้คนกว่า 200,000 ครอบครัวที่ยังไม่ได้ทำโครงการบ้านมั่นคง จึงขาดกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ  

 

เครือข่ายสลัม 4 ภาค องค์กรที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน ไม่เคยรับรู้ต่อการเกิดขึ้นของนโยบายนี้ ไม่มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ตามชุมชนที่ประสงค์จะทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อฟังทัศนะของชาวบ้านต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ย บอร์ด 3 คนที่เป็นตัวแทนสายชุมชนก็ไม่เห็นทุกข์ร้อนที่จะหยิบยกเรื่องนี้มาถกเถียงพูดคุยกับเครือข่ายต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า   แท้จริงแล้ว พอช.ซึ่งเป็นองค์กรแนวใหม่ของรัฐ ให้ความเคารพต่อหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือไม่เพียงใด

 

ประการที่สาม นโยบายนี้ถือเป็นนโยบายดอกเบี้ยที่สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาต่ำ เพื่อกระตุ้นธุรกิจก่อสร้างและวงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น ออกมาตรการให้ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปล่อยเงินกู้ร้อยละ 2.75 ต่อปี ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 30 ปี เพื่อให้ข้าราชการกู้ยืมไปซื้อบ้าน แต่คนจนในโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.กลับต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยถึงร้อยละ 6 เปอร์เซนต์ต่อปี ทั้งๆ ที่ชาวชุมชนได้รับความช่วยเหลือจากรัฐน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับสวัสดิการต่างๆ ที่กลุ่มข้าราชการได้รับ

นโยบายทางสังคมอันผิดพลาดดังที่กล่าว สมควรที่จะต้องได้รับการทบทวนการแก้ไขโดยเร่งด่วน

 

เครือข่ายสลัม 4 ภาคในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่มีจุดยืนปกป้องสิทธิที่อยู่อาศัยของคนยากจนในเมือง ขอเรียกร้องให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่กำกับดูแล พอช.ดำเนินการดังต่อไปนี้

 

หนึ่ง  ให้มีนโยบายให้ พอช.แก้ไขมติบอร์ดที่ให้ชุมชนไปใช้สินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ในอัตราดอกเบี้ย 6 เปอร์เซนต์ต่อปี โดยให้กลับมาใช้สินเชื่อจากกองทุน พอช. นอัตราร้อยละ 4 ต่อปี เพราะกองทุนของ พอช.ยังพอมีเงินเหลืออยู่และเมื่อนำมารวมกับเงินผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านบาทของชุมชนที่กู้ไปก่อนหน้านี้ จึงทำให้ในระหว่างนี้ พอช. ยังมีศักยภาพที่จะปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปีได้

 

สอง ให้มีนโยบายเพิ่มงบประมาณด้านสินเชื่อแก่กองทุน พอช. อีก 5,000 ล้านบาท โดยเสนอของบจากรัฐบาลปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้ พอช.มีเงินทุนหมุนเวียนที่จะปล่อยเงินกู้แก่ชุมชนที่อยู่เป้าหมายโครงการบ้านมั่นคงแต่ยังไม่ได้ทำโครงการอีกกว่า 200,000 ครอบครัวในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้เงินที่รัฐบาลอนุมัติเพิ่มปีละ 1,000 ล้านบาทนั้น ยังถือเป็นงบที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เพราะเป็นเงินที่ชุมชนกู้ไปใช้ซื้อที่ดินหรือสร้างบ้านซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มเม็ดเงินให้กับวงการธุรกิจก่อสร้าง

 

สาม ให้มีนโยบายให้ พอช.ปฏิรูปการทำงานขององค์กรให้มีธรรมมาภิบาลขึ้น และเปิดการมีส่วนร่วมให้กับเครือข่ายภาคประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่ใช่เน้นเฉพาะการทำงานกับแกนนำและชาวบ้านที่อยู่ภายใต้กลไกการจัดตั้งของ พอช.โดยการปฏิรูปควรจะเริ่มต้นจากการเริ่มกระบวนการสรรหาคณะกรรมการบริหารกันใหม่    ไม่ใช่ยอมรับบอร์ดชุดล่าสุดที่ภาคประชาสังคมกำลังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของกระบวนการคัดสรร

 

ห้วงเวลานี้จึงถือเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะยกเครื่องสถาบันอันมีรากฐานการก่อเกิดมาจากแรงขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพื่อให้ พอช. เป็นองค์กรที่มีบุคลิกเปิดเผยโปร่งใส ยอมรับความเห็นต่าง และเคารพต่อการมีส่วนร่วมของเครือข่ายประชาชนในการกำหนดนโยบายองค์กรไม่ใช่ปล่อยให้ พอช.เดินหนีห่างจากปรัชญาและวิสัยทัศน์ดั้งเดิมของตนเหมือนอย่างทุกวันนี้.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท