Skip to main content
sharethis

21 ก.พ. 51 เมื่อเวลา 11.15 น. การประชุมกลุ่มย่อย "การส่งเสริมสิทธิของชนพื้นเมืองในอาเซียน" ในการประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน ระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ.51


 



--------------------------------------------------


 


วาฮีอูนิงรัม จาก FORUM ASIA กล่าวถึงการก่อตั้งประชาคมอาเซียนว่า มีเป้าหมายเพื่อกระตุนความเติมโตทาง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และส่งเสริมสันติภาพความมั่นคงที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักการให้ความเคารพกับการมีส่วนร่วม มีอธิปไตย การพึ่งตนเอง นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่แทรกแซงการทำงานภายในประเทศ 


 



ในส่วนภาคประชาชน ประชาคมอาเซียนปรับเปลี่ยนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ด้วยความเข้าใจ มีแผนปฏิบัติการร่วมกันโดยบรรจุเรื่องสิทธิชนพื้นเมืองเข้าไปด้วย และมีการโปรโมทว่าจะก้าวไปสู่การเป็นชุมชนที่ดูแลกันและกัน ดูแลสนับสนุนทั้งในส่วนวัฒนธรรมภาษา ตรงจุดนี้น่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้นำในอาเซียนต้องรับฟังข้อเสนอและปัญหาของชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากนี้ยังมีช่องทางอื่นๆ ในการผลักดันเชิงนโยบาย เช่น ในส่วนเลขาธิการอาเซียนที่จะเป็นช่องทางที่จะผลักดันประเด็นสู่เวทีโลก นอกจากนี้ยังมีในส่วนเลขาธิการระดับประเทศของอาเซียน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียน เป็นต้น


 



ทั้งนี้ อาเซียนเองมีการจัดตั้งคณะกรรมการ CPR เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างกลุ่มผู้นำอาเซียนและประชาชน แต่การที่หน่วยงานนี้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ เกรงว่าจะเป็นอุปสรรค์ในช่องสารสื่อสารข้อมูลเข้าสู่อาเซียน อีกทั้งบทบาทของรัฐในหน้าที่ต่างๆ ของอาเซียน เพื่อการสร้างพิมพ์เขียวเรื่องสิทธิชนพื้นเมืองตรงนี้ มีความหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับคนพื้นเมืองหากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม และมีความกังวลคือการสร้างมาตรฐานมนุษยชนของอาเซียนเองนั้น อาจต่ำกว่ามาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล


 



ส่วน โฮเซ่ โมลินตาส จาก EMRIP กล่าวถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมืองของสหประชาชาติว่า เป็นคำประกาศ ที่ระบุถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ มีกลไกเหมือนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่กำหนดกลไกที่จะปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อย เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐต้องปฏิบัติ แต่ในหลายครั้งรัฐมักไม่เห็นความสำคัญ และมีข้อถกเถียงที่ว่าทำไมต้องปกป้องคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ 


 



ทั้งนี้ ในข้อถกเถียงดังกล่าวต้องไม่มองเพียงในระดับปัจเจกบุคคล แต่ควรพูดถึงในระดับชุมชน โดยในส่วนของชนพื้นเมืองควรเข้าร่วมในการผลักดัน เพื่อให้มีการพูดคุยถึงสิทธิชนพื้นเมือง กำหนดเป็นนโยบาย และนำมาใช้ปฏิบัติ ซึ่งที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องสิทธิที่ระบุอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ



โมลินตาส กล่าวต่อมาว่า กรอบการปฏิบัติระหว่างประเทศเพื่อการรับรองสิทธิของชนเผ่าและการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของกรอบตรงนี้เป็นสิ่งที่ควรต้องมีการดำเนินการ ติดตามดูว่าจะปฏิบัติตามคำประกาศได้จริงในแต่ละประเทศมีการดำเนินการแค่ไหน ต้องมีการติดตามต่อไป 


 



จันทรา รอย (UNDP) จากบังกลาเทศ กล่าวว่าการทำงานของสหประชาชาติในเรื่องสิทธิชนพื้นเมือง เน้นให้เกิดการเจรจาต่อรอง โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ทั้งที่การทำงานที่ผ่านมาพบว่าชนพื้นเมืองในเอเชียมีจำนวนมาก ซึ่งในกรอบข้อมูลของของสหประชาชาติที่ทำงานเกี่ยวกับชนพื้นเมืองนั้น มีความพยายามทำงานร่วมกับชนพื้นเมือง พร้อมกับการทำงานร่วมกับรัฐ และในส่วนของเยาวชน ที่ผ่านมามีการผลักดันการประชุมระดับอาเซียนที่แต่ละภาคส่วนเข้ามาร่วมทำปฏิญญาสิทธิชนพื้นเมือง 



รอยกล่าวเพิ่มเติมในเรื่องชนพื้นเมืองที่ถูกให้ความหมายว่าเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ว่าเป็นเพียงแค่การใช้คำ พร้อมแสดงความเห็นว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของจำนวน ทุกคนต้องยืนยันเรื่องการใช้สิทธิของตัวเอง


 



บุญยง โชติชัยพิบูล ชาวเมี่ยน ซึ่งทำงานให้การศึกษาชนพื้นเมืองในประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภาคเหนือของไทยว่า มีปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในภาคเหนือชนพื้นเมืองส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่ป่า ซึ่งมีปัญหาการแบ่งสรรทรัพยากรระหว่างทุน รัฐ และชนพื้นเมือง อีกปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงวิธีชีวิตจากเพื่อยังชีพเป็นเกษตรเพื่อการค้า และการถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ


 



บุญยง กล่าวต่อมาว่า ประชากรชนพื้นเมืองในภาคเหนือกว่า 1 ล้านคน มีประมาณครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย มีปัญหาการเหยียดชาติพันธุ์ มีการอพยพโยกย้ายที่อยู่เพื่อการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาด้านสุขภาพอย่างการแพร่กระจายของโรคเอดส์ การไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่งในส่วนรัฐบาลเองก็ไม่ได้คำนึงถึงหลักสูตรการศึกษาที่รองรับวัฒนธรรมของชุมชน ปัญหากับเยาวชนที่ไม่ให้ความสนใจในวัฒนธรรมของตัวเอง และปัญหาในเรื่องการท่องเที่ยวที่รุกเข้าสู่ชุมชน


 



ด้าน เดเนียล คอลลิงเก (OHCER) ที่ปรึกษาสหประชาชาติกล่าวถึงกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียนว่า หากหวังผลการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ปฏิบัติได้จริง ซึ่งวันนี้ถึงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ก่อนมีการบรรจุและนำมาปฏิบัติจริงควรร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน นอกจากนี้ภาคประชาสังคมควรไปตรวจสอบว่าใครเป็นตัวแทนของกลุ่มชนพื้นเมืองในกลไกลเหล่านี้ แม้จะถูกกำหนดโดยรัฐบาลแต่อย่างไรก็ตามควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวแทนของกลุ่มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไก


 



"คนที่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการ ตัวแทนในระดับภูมิภาค หรือผู้แทนแต่ละประเทศมีหน้าที่เข้าไปผลักดันทิศทางของคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้" คอลลิงเก กล่าว


 



คอลลิงเก ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนถึง อาร์เจนตินา ปี 2522 ผลักดันกลไกสิทธิของตนเอง โดยรวมคนกว่า 5,000 คน ที่จะได้มาพูดถึงความต้องการของตนเอง จากอดีตที่ถูกละเมินสิทธิอย่างมากจากฝ่ายการเมือง อย่างการลอบสังหาร ซ้อมทารุณ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านสิทธิ


 



นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงคาดหวังต่อกลไกเรื่องการคุ้มครองสิทธิว่า ควรมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์มนุษยชน เก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น โรงเรียน หรือโรงพยาบาล หรือเอาข้อมูลของรัฐออกมา เพื่อนำไปทำงานต่อในระดับประเทศ และยกระดับให้ข้อมูลมีความสำคัญขึ้นมา ซึ่งส่วนนี้จะส่วนสำคัญในการตรวจสอบกระบวนการสิทธิมนุษยชนในอาเซียน


 



การร้องเรียนเรื่องการถูกละเมิดสิทธิจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิมนุษยชนในอาเซียน รวมกับกลไกลพิเศษที่จะมาสร้างการประสานงานในระดับประเทศเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลครอบคลุมทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และในประเทศเอง นอกจากนี้การทำรายงานพิเศษ การตรวจสอบพิเศษจะสามารถใช้เป็นช่องทางเพื่อการผลักดันปัญหาได้ 


 


ด้านตัวแทนเครือข่ายชนพื้นเมืองในประเทศอินโด (AIPP) กล่าวถึงข้อเสนอว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 29-30 ต.ค.50 ในประเทศไทยซึ่งมีตัวแทนชนเผ่าเข้าร่วมราว 30 คน ก่อนหน้านี้การประชุมได้มีการศึกษากลไกลสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้กลไกลถูกนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยมีข้อเสนอ อาทิ จัดทำอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมือง และทำให้กฎหมายภายในสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความคุ้มครองและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยให้การศึกษา ทำการเผยแพร่ข้อมูลด้านสิทธิเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และก่อตั้งกลไกที่เป็นอิสระในการแก้ไขปัญหาสิทธิระหว่างประเทศ


 



ในส่วนโครงสร้างให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการให้ความคุ้มครองพิเศษสิทธิชนพื้นเมือง โดยตั้งเกณฑ์ของอนุกรรมการโดยเปิดโอกาสให้ชนพื้นเมืองเข้ามาทำหน้าที่ ส่วนระเบียบการควรสร้างมาตรฐานโดยเปิดเวทีรวมความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ เพื่อจัดทำรายงานของแต่ละประเทศ และเผยแพร่รายงานสู่สาธารณะ



มีกระบวนการในการติดตามการละเมิดสิทธิ ซึ่งจะเป็นผลในการกำหนดมาตรฐานของกระบวนการสิทธิมนุษยชน และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานสิทธิอื่นๆ ในระดับสากลและภูมิภาค ให้การยอมรับและปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนต่างๆ เป็นต้น


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net