ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: ประวัติศาสตร์และความหลากหลายชายแดนใต้ : ใครจะเป็นผู้ชำระและเยียวยา!?

องอาจ เดชา: เรียบเรียง/รายงาน


 

 

"ประชาไท" หยิบประเด็นจากการประชุมวิชาการ "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ซึ่งจัดโดย โครงการจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2551 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่นั้น ออกมานำเสนออีกครั้ง หลังจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงคุกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 22 ธ.ค. 2551 มีการสัมมนาถึงประเด็นหัวข้อ "ประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม" ดำเนินรายการโดย อาจารย์อลิสา หะสะเมาะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีอาจารย์แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นายมะรอนิง  สาและ ตัวแทนชาวบ้านบ้านโต๊ะ จ.ปัตตานี และนางสาวลม้าย มานะการ ผู้แทนภาคประชาสังคม 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นวิทยากรร่วมอภิปราย

 

 

วิเคราะห์งานวรรณกรรม ผ่านอดีต-ปัจจุบัน

บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อาจารย์แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้หยิบเอางานการศึกษาค้นคว้าและการทบทวนวรรณกรรมมาวิเคราะห์ถึง "อดีต-ปัจจุบัน และความหลากหลายทางวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งว่ากันว่า มีงานวรรณกรรมที่เขียนถึงปัตตานีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ที่ผ่านมามีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

 

อาจารย์แพรบอกว่า เหตุการณ์ไม่สงบในดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีประวัติศาสตร์เป็นทั้งเหตุและผลของปัจจุบัน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยมีอุดมคติของรัฐชาติกำกับที่ได้บ่มเพาะความเกลียดให้คนอื่นอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะกรณีของพม่าที่กลายเป็นศัตรูของชาติไทย นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ลักษณะนี้ยังไม่สะท้อนความหลากหลายของท้องถิ่น

 

งานวรรณกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี ที่อาจารย์แพรได้รวบรวมนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

1.ประวัติศาสตร์ชาติประวัติศาสตร์ไทย 2.ประวัติศาสตร์รายาแห่งปาตานีดารุสลาม หรือประวัติศาสตร์ของคนปัตตานี 3.ประวัติศาสตร์บาดแผล ความทรงจำที่ไม่อาจลืม 4.ตำนานท้องถิ่น ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 5.ประวัติศาสตร์กำปง ประวัติศาสตร์ของเรา

 

อาจารย์แพร พูดถึง "ประวัติศาสตร์ชาติประวัติศาสตร์ไทย" ว่า ประวัติศาสตร์ชาติประเภทนี้ เป็นลักษณะพงศาวดารตั้งแต่อยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ โดยส่วนใหญ่จะเขียนว่า คนปัตตานีเป็นคนที่โหดร้าย เช่นบอกว่าปัตตานีไปแย่งชิงบัลลังก์ในอยุธยา หรือพงศาวดารในรัชกาลที่ 1 ระบุว่า ปัตตานีมีความพยาบาทต่อคนกรุงเทพฯหรือมีแขกเป็นกบฏ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐส่วนกลางต้องการจะปราบกบฏโดยแยกปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง หรือฉบับที่กรมพระชาดำรงราชานุภาพเขียนว่า ปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา

 

ในขณะที่ "ประวัติศาสตร์รายาแห่งปาตานีดารุสลาม" ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของคนปัตตานี ก็จะเขียนถึงช่วงสงครามรายากูนิงโดยบอกว่า สยามในแง่เป็นผู้รุกราน ฆ่าคนตาย และบอกว่าปัตตานีเป็นนักรบที่รักดินแดนจนคนสยามไม่สามารถรุกรานจนชนะได้ หรือประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมาลายูปัตตานี ที่เขียนโดย "อิบราฮิม สุกรี" ก็พูดถึงคนปัตตานีเป็นคนรักชาติรักแผ่นดิน เช่นเดียวกัน

 

นักวิชาการจากมหาวิทยาศิลปากรท่านนี้ ยังกล่าวอีกว่า "ประวัติศาสตร์บาดแผลที่คนปัตตานีไม่เคยลืม" นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นรัฐนิยม เช่น เรื่องขบวนการปลดแอกสาธารณรัฐปัตตานีที่เขียนโดย "เสียงนิสิต"  ซึ่งบรรยายถึงการกระทำของรัฐที่มีต่อคนในพื้นที่จนเป็นรอยแผลแห่งวัฒนธรรม รวมถึงเรื่องเล่าว่ารัฐไม่ให้ผู้หญิงคลุมฮิญาบเข้าไปในที่ต่างๆ ถึงกับมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ไปดึงออก หรือเอาหมวกของคนมุสลิมออกไปเตะเป็นตระกร้อ ตลอดจนเรื่องเล่าที่เป็นบาดแผลของนโยบายการพัฒนา เช่น พื้นที่ยางที่ปลูก ก็ไม่ให้คนมุสลิมเข้าไปในพื้นที่ หรือการทำประมง ซึ่งถือเป็นรอยแผลของการเข้าถึงทรัพยากรของคนในท้องถิ่น

 

และเมื่อพูดถึง "ตำนานท้องถิ่น"  อาจารย์แพร กล่าวว่า ตำนานท้องถิ่นที่สำคัญคือ มีการพูดถึงเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับความนับถือมากในบรรดาคนจีนภาคใต้ทั้งหมด รวมทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียด้วย ซึ่งเดินทางมาตามหาพี่ชาย พี่ชายไม่ยอมกลับเพราะติดสร้างมัสยิดกรือเซะ ทำให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเสียชีวิต ก่อนตายก็ได้สาปแช่งเอาไว้ ซึ่งเมื่อดูตำนานนี้ว่าใครไปเขียน ก็พบว่าเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่คนในพื้นที่หรือศาลเจ้าเองกลับเขียนว่า เจ้าแม่มาช่วยปราบกบฏที่เมืองปัตตานีจนตัวตาย ถ้าเล่าแบบแรก สะท้อนว่าจีนกับมุสลิมสัมพันธ์กันไม่ได้ แต่แบบที่สองสัมพันธ์กันดีคือมาช่วยรบ ซึ่งความจริงแล้วทั้งสองชาติพันธุ์มีการปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะเห็นว่าคนในพื้นที่เป็นจำนวนมากที่หน้าตาเป็นคนจีนแต่เป็นมุสลิมคลุมผม

 

ในตอนท้าย อาจารย์แพร ได้พูดถึง "ประวัติศาสตร์กำปง หรือประวัติศาสตร์หมู่บ้าน" ว่า ประวัติศาสตร์กำปง คือประวัติศาสตร์ระดับหมู่บ้าน ซึ่งในที่นี้ได้ยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น หมู่บ้านฮูมอลานัส จ.นราธิวาส คนที่ตั้งรกรากมาจากโกตาบาลู ประเทศมาเลเซีย คนที่นี่มักจะไปแต่งงานกับคนมาเลเซีย คำบอกเล่าแบบนี้มันสะท้อนว่าทำไมคนที่นี้ถึงไปอยู่ที่โน่น ซึ่งความจริงก็คือ เขาเป็นเครือญาติกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดกันอยู่เสมอว่า คนที่นี่ดูเหมือนรักประเทศมาเลเซียมากกว่า

 

แต่ถ้ารู้ถึงประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านนี้แล้วก็จะเข้าใจว่า ทำไมหมู่บ้านพิเทนซึ่งคนก่อตั้งหมู่บ้านนี้คือควานช้าง 7 คนที่เป็นชาวจาม เป็นทหารอาสาสมัยอยุธยาเพื่อมาตีปัตตานี คนเหล่านี้มีหน้าที่ดูแลช้างศึก แต่ทำช้างหาย พี่น้องทั้งหมดจึงตามหาช้าง แต่ปรากฏว่าหาไม่เจอและกลัวความผิดเลยตั้งรกรากอยู่ที่นี่ พี่น้องคนโตชื่อพิเรนแต่เพี้ยนมาเรื่อยๆเป็นพิเทน ดังนั้น ประวัติศาสตร์หมู่บ้านนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ปัตตานีมีคนเชื้อชาติอื่นผสมด้วย เช่น จาม

 

หรือกรณีบ้านเปาะเส้ง ซึ่งคนตั้งรกรากเป็นคนจีน มีคนหนึ่งชื่อ "เส้ง" ที่อัธยาศัยดีมาก ชอบต้อนรับขับสู้ เวลาถามว่าไปไหน ก็บอกว่าไปบ้านพ่อเส้ง คนมาลายูเรียกพ่อว่า เปาะ ซึ่งก็จะเห็นว่าคนในปัตตานีอยู่กันอย่างไร อย่างกรณีงานประเพณีเทกระจาดที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จะเห็นว่ามีคนมุสลิมก็ไปรับของเทกระจาดที่ศาลเจ้าด้วย จะเห็นว่าคนเหล่านี้ก็มีการให้ซึ่งกันและกัน แม้จะไม่ได้ให้ตรงๆแต่เป็นการให้ผ่านประเพณีก็ตาม

 

อาจารย์แพร ได้สรุปในตอนท้ายว่า ประวัติศาสตร์ทั้ง 5 แบบ มันสะท้อนภาพสำคัญของคนในสังคม ถ้าเป็น "ประวัติศาสตร์รายาแห่งปาตานีดารุสลาม" และ "ประวัติศาสตร์บาดแผลที่คนปัตตานีไม่เคยลืม" จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แนวตั้งระหว่างรัฐกับชุมชน และความสัมพันธ์แนวนอนที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นนำด้วยกัน และระหว่างประชาชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสะท้อนความหลากหลายอย่างที่เป็นอยู่ จึงควรที่จะมีการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการชำระ โดยที่เนื้อหานี้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในแบบแผนการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่   

 

อาจารย์แพรได้เล่าให้ฟังว่า ได้เขียนเรื่องราวที่นำเสนอในวันนี้ให้กับศูนย์อำนวยการบริหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.)  แต่ในส่วนของประวัติศาสตร์กลับถูกตัดออก โดยรัฐบอกว่า ประวัติศาสตร์ต้องมีแบบเดียว ในขณะที่ส่วนประวัติศาสตร์บาดแผลให้ราชการมุสลิมอ่านก็บอกว่า เขามีมากกว่านี้ ส่วนคนพุทธบอกว่าเขียนทำไม?

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์แพรไม่ได้เสนอว่าประวัติศาสตร์ปัตตานีไม่เป็นชาตินิยม ประวัติศาสตร์แบบนี้ก็เป็นชาตินิยมเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องการเสนอ คือความหลากหลายของประวัติศาสตร์มากกว่า

 

 

มองชีวิตในสังคมหลากชาติพันธุ์ของคนชายแดนใต้

ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งที่ทำให้มันรุนแรง แต่เราทุกส่วนทำให้มันรุนแรง

นางสาวลม้าย มานะการ ผู้แทนภาคประชาสังคม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของคนในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่เรื่องทรัพยากรจนกระทั่งงานเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยบอกว่า ในช่วงแรกจับงานศึกษาเรื่องโครงการพัฒนาของรัฐที่คิดสร้างเขื่อน และมีประชากรได้รับผลกระทบในเรื่องสัตว์น้ำ ส่วนการทำงานกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้น ความจริงปัญหาด้านนี้ไม่แตกต่างจากที่อื่น แต่ที่นี่มีความรุนแรงเป็นพิเศษ ที่ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งที่ทำให้มันรุนแรง หากเราทุกส่วนทำให้มันรุนแรง

 

"สภาสุลอ ยอมรับว่า เบื้องหลังของเหตุการณ์นั้น เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ที่ต้องการก่อความรุนแรงจากเยาวชนที่เบี่ยงเบนจากคำสอนศาสนาและไปก่อการร้าย เนื่องจากมีลูกศิษย์หลายคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งคนที่ทำธุรกิจมืดที่ได้รับประโยชน์ที่มหาศาล และราชการที่เคยเรียนรู้หรือรู้จักชาวบ้าน ตลอดจนปัญหาที่ผู้บริหารในพื้นที่ไม่สนใจปากท้องชาวบ้าน แต่ที่เหตุการณ์ถูกกระหน่ำทำให้มันรุนแรงมากขึ้น คือคนข้างนอกที่ซ้ำเติมให้ดูน่ากลัว"

 

ผู้แทนภาคประชาสังคม 3 จังหวัดชายแดนใต้ บอกย้ำว่า ปัญหาที่เรียกว่าหนักสุด คือ วิธีคิดของรัฐไทยที่มีสมมติฐานอยู่บนแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนเป็นหลัก ดังนั้น การทำงานต้องเน้นให้มีสภาชูรอ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เพราะมีปัญหามากมายในพื้นที่ต้องมองหลายมิติและความคิดจากคนหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การทำงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

 

"การทำงานในช่วงแรกที่ผ่านมาไม่สนใจเรื่องชาติพันธุ์ เพราะตนเองไม่เข้าใจมากนัก เพิ่งมาเรียนรู้ภายหลังที่พูดว่าเป็นปัญหาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งตนเองก็ไม่แน่ใจว่าในภาษามาลายูนั้นมีคำเหล่านี้หรือไม่ ในขณะที่ชาวบ้านเองมองเรื่องความมั่นคงที่มีฐานจากการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งต่างจากรัฐมอง..."

 

นางสาวลม้าย ยังได้สะท้อนให้ฟังถึงการที่ตนเองเป็นคนพุทธที่ทำงานร่วมกับคนมุสลิมว่า  สิ่งเหล่านี้ได้เรียนรู้ตั้งแต่มาเรียนหนังสือในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จึงทำให้คิดว่าตนเองเป็นผลผลิตจากที่นั่น และได้ทำกิจกรรมและได้รับความรู้จากชาวบ้าน หรือการได้กินอาหารทะเลจากชาวบ้าน พอเรียนจบก็คิดทำงานในพื้นที่ทั้งๆ ที่ไม่รู้ภาษายาวีเลย มีความรู้ภาษานี้แค่ไม่ให้อดตายเท่านั้น จึงเริ่มต้นทำงานกับเด็กและทรัพยากร สถานการณ์ทรัพยากรที่นี่ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่อวนรุนเข้ามาอยู่ในเขต 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เราพบว่าก่อนหน้านี้ไม่มีเทคโนโลยีที่เจริญ ชาวบ้านก็อยู่กันได้ จำได้ว่ามีปลากระบอกที่ว่ายติดเข้ามาในเรือ แต่ตอนหลังทำงานมา 15 ปีพบว่าทรัพยากรหมดไป

 

"การทำงานที่ผ่านมาทำให้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและเรียนรู้ภาษาของเขาเรื่อยมา นอกจากนี้ยังทำงานเกี่ยวกับลุ่มน้ำที่แม่น้ำสายบุรี ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่เป็นคนพุทธ สิ่งที่เห็นคือมันไม่มีความแตกต่าง ส่วนเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณลม้ายทำงานด้านประชาสังคมที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนในวงกว้างมากกว่าช่วงทำงานด้านทรัพยากร เช่น งานด้านการศึกษาปาเนาะ และสภาสุลอ ทำให้เห็นว่าคนในพื้นที่ถูกทำร้ายมาก จึงคิดเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อนเข้าไปเยี่ยมเยียนคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ตอนแรกถือว่าเป็นช่วงที่ปวดใจมาก เพราะได้รับฟังเรื่องที่คนพุทธมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนมุสลิม จึงบอกกลุ่มเพื่อนที่ทำงานร่วมกันว่าจะไม่สร้างอคติให้เกิดขึ้น แม้ว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธและมุสลิมเริ่มมีปัญหาเรื่อยมาเพราะพี่น้องทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสีย"

 

นางสาวลม้าย บอกในตอนท้ายว่า ปัจจุบันมีแนวคิดที่จะทำงานอย่างอื่นเพิ่มเติมที่มากกว่าการเยี่ยมเยียน เช่น พบว่าที่บ้านโคนโนรี จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง และมีคนที่หมู่บ้านนี้ตายที่มัสยิดกรือเซะ 4 คน แต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย ซึ่งบริเวณนั้นจะพบว่ามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธและมุสลิมคือมีมัสยิดและวัดช้างไห้อยู่ด้วยกัน ตรงนี้จึงเป็นที่แรกที่เข้าไปทำงานโดยสร้างชุมชนบำบัด ต่อมาทำให้เกิดการขยายวงในการช่วยเหลือ และได้ขยายเพิ่มอีกเป็น 13 พื้นที่เพื่อให้คนพุทธมุสลิมทำงานร่วมกัน แม้ว่าจะมีบางคนบอกว่า ทำงานนี้ก็ได้แต่ต่างคนต่างทำดีกว่า ซึ่งไม่อยากฝืนความรู้สึกของพวกเขา เพราะคนพุทธเองก็น่าสงสารเพราะถือเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่

 

 

อ่าวปัตตานี ไม่ใช่แค่เป็นที่ที่มีน้ำ ปลา หรือกุ้ง

แต่มีสถานที่ เรื่องเล่า และตำนานมากมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ด้าน มะรอนิง สาและ ตัวแทนชาวบ้านบ้านโต๊ะ จาก จ.ปัตตานี ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในฐานะนักวิจัยท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง เสียงสะท้อนชาวประมง เพื่อที่จะบอกว่าวัฒนธรรมชายแดนใต้ไม่ได้ต่างจากที่อื่น และได้ทำให้เขาได้รู้จักคำใหม่ๆ เช่น อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ หรือพหุวัฒนธรรม เป็นต้น

 

"บางครั้งตนเองรู้สึกว่าตัวเองเป็นใครหรือมาจากที่ไหน ใครๆ อาจจะมองว่ามาจากรัฐเคดาร์ ประเทศมาเลเซีย หรือเป็นแขกปาทานก็ได้ การทำงานวิจัยครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการศึกษาความเป็นมาของตนเองที่แต่ก่อนเคยกรีดยาง ทำนา อยู่บนเขา แต่ได้แต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับคนที่เป็นชาวเล ซึ่งต้องปรับปรับเปลี่ยนตนเองมากมายด้วยความยากลำบากในช่วงแรก เพราะคำพูดก็ต่างกัน รวมถึงวิถีชีวิตในด้านอื่นๆ เช่น ถึงกับเคยเดินตกเรือ เป็นต้น"

 

คุณมะรอนิง กล่าวว่า จากการทำงานที่ตากใบซึ่งเป็นพื้นที่การค้าชายแดน พบว่าไม่ได้มีมลายูอาศัยอยู่ชาติพันธุ์เดียว แต่ยังมีจาม กำปงจาม จีน ปาทาน พุทธและกะลิง ซึ่งทุกคนไม่เหมือนกัน เช่น ปาทานชำนาญเรื่องขายผ้าที่เดินทางมาจากเส้นทางเรือตากใบ ซึ่งลูกหลานเขาก็รับช่วงกิจการต่อและพัฒนาการทำการค้าจนกระทั่งส่งไปขายที่มาเลเซีย ขณะจามเป็นมุสลิมจากที่ได้รับผลกระทบจากประเทศเขมรได้ร่องเรือขายผ้าคุลมผมมายังบริเวณนี้ กลุ่มนี้เองก็มีความสัมพันธ์กับมาเลเซียมากในอดีต ซึ่งในขณะนั้นคนเหล่านี้เดินทางมาเมืองไทยแค่ทางผ่านแต่จะไปตั้งรกรากที่มาเลเซียมากกว่า

 

"จะเห็นว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีความหลากหลายของกลุ่มคนเป็นอย่างมาก และในแต่ละกลุ่มก็มีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป เช่น ปาทานขายผ้าเขาต้องได้รับอนุญาตจากไทยในการขาย ซึ่งถูกกำหนดให้ขายได้อย่างมากแค่ 50 ผืน จึงทำให้เขามีลีลาในการใช้ชีวิตในเรื่องการขายสินค้าค่อนข้างมาก อาจมองได้ว่าเขาขายของเถื่อน แต่ก็ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน เพราะการค้าของเถื่อนหรือหนีภาษีนั้นส่วนใหญ่เป็นสินค้าในชีวิตประจำวันอย่างน้ำมัน เป็นต้น ส่วนจีนก็มีความสัมพันธ์กับชาวบ้านมลายูในแง่ดีที่ดี อาจจะมีการพูดกันว่าคนจีนเอาเปรียบคือมากวาดซื้อที่ดินในพื้นที่ แต่เขาก็มีความรู้สึกดีๆต่อชาวบ้าน คือสร้างมูลนิธิช่วยเหลือคนจนโดยไม่ได้แบ่งแยกจีน ไทย มุสลิม คือดูว่าใครจนก็ช่วยหมด ซึ่งในอดีตก็มีการเล่าถึงเรื่องราวคล้ายๆกันแบบนี้ อย่างในอ่าวปัตตานีมีคนจีน 3 คนที่มาตั้งรกรากและให้ความช่วยเหลือมลายู ยอมให้คนเหล่านี้สร้างบ้านในพื้นที่ของเขาโดยไม่ต้องซื้อ และอยู่นานแค่ไหนก็ได้ หรือจะจ่ายค่าเช่าเท่าไรก็ได้เช่นกัน แต่ปลาที่คนมุสลิมหามาได้ก็ต้องขายให้เขา จะเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ก็ไม่ใช่ แต่เป็นลักษณะที่เรียกว่า "อาเวาะ" คือ "คนของเรา" ที่มีการพึ่งพาอาศัยกัน เช่น วันนี้ออกทะเลไม่ได้ เพราะลมแรง ก็ไปขอยืมเงินคนที่แพปลา 500 บาท เขาก็ให้หยิบยืมกัน"

 

นายมะรอนิง กล่าวย้ำว่า อ่าวปัตตานี ไม่ใช่แค่เป็นที่ที่มีน้ำ ปลา หรือกุ้ง แต่ความจริงมีสถานที่ เรื่องเล่า และตำนานมากมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยเฉพาะ ทำให้ตัวเขาเองต้องศึกษาเรื่องราวเหล่านี้เพื่อให้ลูกหลานได้รู้จักบ้านตัวเองมากขึ้น เพราะที่คำสอนที่ผ่านมาไม่บรรจุเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้เลย

 

นายมะรอนิง ยังได้เล่าถึงสถานการณ์ที่คนไทยมักไปทำงานที่ร้านต้มยำกุ้งที่ประเทศมาเลเซียด้วยว่า สมัยก่อนคนจากรัฐเคดาร์ก็มาทำงานที่เมืองไทย แต่ติดปัญหาที่รัฐไทยเริ่มไม่อนุญาตให้คนเหล่านี้เข้าประเทศ จึงมีแต่คนไทยไปทำงานที่ร้านต้มยำกุ้ง จะเห็นว่าคนไทยเอาเงินมาเลเซียได้เป็นพันๆล้าน โดยเฉพาะคนวัยรุ่นหนุ่มสาว เพราะพวกอยู่บ้านก็ไม่ได้ ทรัพยากรทางทะเลมันหมดแล้ว ถ้ารัฐบาลไทยจริงใจก็ควรที่จะออกใบอนุญาตเพื่อให้การทำงานถูกต้องตามกฎหมาย

 

ในตอนท้าย นายมะรอนิง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องราวที่รัฐกระทำกับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ว่าตนได้พบเห็นด้วยตนเองในช่วงสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความพยายามที่จะเอาพระพุทธรูปเข้าไปในโรงเรียนที่เป็นมุสลิม ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่ไม่เคารพในหลักศาสนาอิสลาม เช่นในเขตโรงงานอุตสาหกรรมในปัตตานี ชาวบ้านถูกห้ามไม่ให้ใส่ผ้าคลุมผม เพราะกลัวว่าจะเกะกะในการทำงาน ซึ่งคนก็ต้องยอมทำตามเพราะเป็นปากท้องแม้ว่าเป็นการทำลายศาสนา แม้ว่าทางโรงงานจะยอมให้มีการละหมาดแล้วก็ตาม

 

 

 

อ่านข้อมูลประกอบ

 





 

การวิเคราะห์ภาพรวมและข้อเสนอแนะโครงการวิจัยการพัฒนาชุมชนในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

โดย อาจารย์อาลิสา หะสะเมาะ

 

 

 

อาจารย์อาลิสา หะสะเมาะ จากมหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ ได้นำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อ "การวิเคราะห์ภาพรวมโครงการพัฒนาในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารโลก ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้กรอบการทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) คือพิจารณาเงื่อนไขหลัก 3 ประการ คือ เงือนไขเชิงบุคคล เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง และเงื่อนไขเชิงวัฒนธรรม พร้อมกับพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม และปัจจัยต่างๆที่นำไปสู่การพัฒนาได้อย่างไรบ้างโดยเลือกพื้นที่ 3 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด รวมแล้วเป็น 9 พื้นที่การศึกษา ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

 

1. จังหวัดยะลา

1.1 บ้านตรือปา ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง

1.2 บ้านกุนุงจนอง ต.เบตง อ.เบตง

1.3. หมู่ 1 บ้านกือเม็ง ต.อาซ่อง อ.รามัน 

 

2. ปัตตานี

2.1.หมู่ 3 ต.พ่อมิ่ง อ.ปานาเระ

2.2 หมู่ 3 บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์

2.3 บ้านปาตาบาระ ม. 1 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี 

 

3. นราธิวาส

1.ชุมชนกาแลตาแป ต.บางนาค อ.เมือง

2. ม. 1 บ้านเกาะสะท้อน และม. 2 บ้านปูยู ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ

3. ม. 1 ต.โคกเคียน อ.เมือง  

 

โดยอาจารย์อาลิสาได้อธิบายเหตุผลถึงการเลือกหมู่บ้านเป็นพื้นที่การศึกษาไว้พอสังเขป เช่น บ้านพ่อมิ่งน่าสนใจตรงที่ผู้หญิงของหมู่บ้านไปรับจ้างทำนาที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซียในช่วงฤดูฝน เพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำนาแถวตรง ส่วนบ้านหมู่ 1 ของต.โคกเคียนนั้นมีความหลากหลายทางทรัพยากรมากในขณะที่บ้านกะแลตาแปมีอาณาเขตติดกับทะเล จากการศึกษานั้น พบว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดทุกหมู่บ้าน บางบ้านไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเลย เช่นบ้านปาตาบาระ ที่อ.สายบุรี บ้านโคกเคียน และบ้านกุนุงจนอง จ.เบตง ขณะที่บางหมู่บ้านแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย คือมีกลุ่มหลายชาติพันธุ์ในพื้นที่เดียว เช่น บ้านกุนุงจนอง

 

จากผลการศึกษาพบว่า ใน 9 พื้นที่การศึกษา มีพื้นที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรง คือบ้านโคนโนรี คือมีคนเสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ และหลังจากนั้นถูกตีตราว่าเป็น "หมู่บ้านโจร" เด็กของคนในหมู่บ้านก็ถูกเรียกว่าเป็น "ลูกโจร" ส่วนพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงแต่ไม่มีคนเสียชีวิต เช่น ห้วยกระทิง อ.กรงปีนัง หรือที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น การปฏิสัมพันธ์ของคนหายไปใน 2 พื้นที่ทั้งที่ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวทั้งในแง่ลบและแง่บวก 

 

ผลกระทบแง่ลบ

งบประมาณไม่ลงไป เช่นโครงการ "พนม" และโครงการหมู่บ้านสันติ เพราะเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของการคิดและทำงานแบบทหาร คือถ้าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่สีแดงจะไม่มีโครงการพัฒนาเข้าไปในชุมชนแห่งนั้น

 

เกิดความหวาดระแวงในชุมชน ในขณะที่ชาวบ้านเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดช่องว่าง อย่างพื้นที่ตลาดที่มีคนต่างศาสนาหรือวัฒนธรรมมาขายของ พอเกิดเหตุการณ์ทำให้คนพุทธในพื้นที่อื่นไม่กล้ามาขายของในพื้นที่ความรุนแรงอีกต่อไป ซึ่งเป็นผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม หรือการกดดันเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวคนที่ต้องสงสัย

 

ผู้หญิงเปลี่ยนเป็นผู้นำครอบครัวจากการสูญเสียผู้ชายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวและหารายได้หลัก ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ผู้หญิงไม่รู้เรื่องอะไรมากนอกจากการเป็นแม่บ้าน แต่หลังจากเหตุการณ์ต้องทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น กรีดยาง เลี้ยงวัว และลูกก็ดื้อมากขึ้น เพราะลูกมักจะเชื่อพ่อมากกว่า บางครอบครัวมีหนี้สินมากขึ้นจากกู้ยืมมาใช้ในการศึกษาของบุตร

 

ผลกระทบแง่บวก

คนในชุมชนเข้าหาวัดมากขึ้น และคนชุมชนเองก็หันหน้าเข้าหากันมากขึ้นเช่นกัน เพราะพื้นที่มันเงียบเนื่องจากกิจกรรมในช่วงเวลากลางคืนเป็นอันตรายและล่อแหลม สมาชิกในครอบครัวจึงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้สรุปถึงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ก่อความไม่สงบได้ เนื่องจาก เหตุผล 4 ประการ คนก่อเหตุเสียชีวิตทันทีในเหตุการณ์หรืออันเนื่องมาจากการวิสามัญฆาตกรรม

การนิยามคนไม่ก่อสงบจากรัฐและชุมชนต่างกัน เช่น กรณีครูเปาะสู มาแวดิสา ที่บ้านกือเม็ง อ.รามัญ ที่มุมมองจากชาวบ้านเป็นคนที่ได้ยอมรับนับถือ แต่รัฐกลับมองว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เป็นต้น

ตัวบุคคลดังกล่าวถูกจับกุมและยากที่จะเข้าถึงเพื่อพูดคุยแนวร่วมก็เข้าไม่ถึงเพราะอาจจะอยู่ที่ระหว่างการสอบสอนของกระบวนการยุติธรรม ครอบครัวก็ไม่ทราบถึงการตายของคนเหล่านี้ บางทีรู้แต่เพียงว่าออกไปแสวงบุญ ทราบอีกทีก็เป็นข่าวเสี่ยชีวิตแล้ว

 

เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง พบว่าการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้หญิง โดยเฉพาะกรณีของบ้านควนโนรี จนกลายเป็น collective memory ได้ อย่างกรณีที่หญิงคนหนึ่งที่รัฐใช้ความรุนแรง เขาก็บอกว่าเหตุการณ์แบบนี้ใช้สันติวิธีได้ นอกจากนี้คำว่า "มุสลิม" กลายเป็น collective identity ของคนในพื้นที่ไป ส่วนปัจจัยวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา พบว่า บางหมู่บ้านประเด็นเรื่องภาษานั้นแสดงถึงการยึดโยงกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์รุ่นเก่าๆ อย่างหมู่บ้านกือเม็ง แต่รัฐใช้ว่า "กาเม็ง" ซึ่งแปลว่ามีแพะเป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านบอกว่าบ้านเขาใช้คำว่า "กือเม็ง" ที่แปลว่าผู้หญิงที่มีบรรดาศักดิ์และมีความสามารถ สวย ผมยาว ซึ่งจะเห็นว่าการใช้ภาษาของรับได้ทำให้ชาวบ้านอึดอัดคับข้องใจ

 

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้พยายามเอาข้อเสนอแนะของชาวบ้านมานำเสนอ ประเด็นหลักคือโครงการพัฒนาควรมีการศึกษาและเข้าใจวัฒนธรรมชุมชนอย่างละเอียดและลึกซึ้ง งบพัฒนาควรมีความต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปีและควรมีการประเมินผล

 

 

 

ที่มาข้อมูล : เวทีการประชุมวิชาการ "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ซึ่งจัดโดย โครงการจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท