พิเชษฐ เมาลานนท์ : บทบาทตุลาการทางด้านลบที่ญี่ปุ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ชื่อบทความเดิม : บทบาทตุลาการทางด้านลบที่ญี่ปุ่น ในคดีอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทะเลสาบ "บิวา-โขะ" [1] (Lake Biwa Lawsuit, 1988) [2]

 

พิเชษฐ เมาลานนท์

นักวิจัย "ตุลาการภิวัตน์" รับเิชิญ ณ มหาวิทยาลัย "อะเทเนโอ" (เคซอนซิตี้, เมโทรมะนิลา)

 

 

 

ภาพถ่ายทางอากาศ ทะเลสาบ "บิวา-โขะ"

(ภาพ Wikipedia)

 

 

I. บทบาทตุลาการทางด้านบวก สี่คดีใหญ่ในปัญหามลพิษ:  ญี่ปุ่นมี 4 คดีใหญ่ในปัญหามลพิษ (Big Four Pollution Diseases of Japan) ดังข้อมูลใน Wikipedia (http://en.wikipedia.org/wiki/Four_Big_Pollution_Diseases_of_Japan) ซึ่งได้แก่

 

๑.      Itai-Itai Disease Case:  คดีโรค "อิไต-อิไต" จากสารแคดเมี่ยม (ศาลตัดสิน 30 มิย. 1971)

๒.      Niigata Minamata Disease Case:  คดีโรค "มินามาตะ ที่จังหวัดนีกาตะ" จากสารปรอท (ศาลตัดสิน 29 กย. 1971)

๓.      Yokkaichi Air Pollution Case:  คดีโรคหืด "หยกคาอิจิ" จากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ (ศาลตัดสิน 24 กค. 1972) -

๔.     Minamata Disease Case:  คดีโรค "มินามาตะ ที่จังหวัดคุมาโมโตะ" จากสารปรอท (ศาลตัดสิน 20 มีค. 1973)

 

ทั้ง 4 คดีนี้ ศาลญี่ปุ่นต่างตัดสินให้เป็นคุณแก่ชาวบ้าน แทบจะตามที่ฟ้องทุกประการ แม้ว่าคดีมลพิษจากสารเคมีทั้ง 4 กรณีนี้ จะเป็นปัญหาใหม่ในโลก และเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น ด้วยผลของการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรม จนไม่สนใจในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และสุขภาพของมนุษย์

 

เนื่องจากเป็นคดีที่เกิดใหม่ ทั้งในญี่ปุ่นและในโลก กฎหมายสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นจึงย่อมล้าหลัง ไม่ทันต่อการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ และศาลญี่ปุ่นก็ยังไม่มี "เครื่องมือ" พิจารณาปัญหามลพิษใหม่ๆ เพราะทั้งวิธีพิจารณาความอาญา กับวิธีพิจารณาความแพ่ง ยังเก่าแก่ล้าสมัย ไม่ทันกับสภาพปัญหามลพิษชนิดใหม่ที่เกิดขึ้น

 

กรณีเช่นนี้ วิชากฎหมายสายสังคม (Law and Society) เรียกว่า กฎหมายเป็นฝ่าย "ตามหลัง" ปัญหาสังคม (Law follows the social change.) ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ต้องกำหนดนโยบายสาธารณะ และบัญญัติกฎหมายใหม่ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาสังคม

 

เพราะทั้งหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์กระแสเก่า ต่างสอนให้เราเข้าใจไปผิดๆ ว่า Law & Public Policy จะมีขึ้นมาได้ ก็แต่โดยฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เป็นผู้กำหนดขึ้นมาเท่านั้น

 

เราได้รับการสั่งสอนว่า ฝ่ายตุลาการไม่มีอำนาจและหน้าที่ ในการตัดสินคดีที่เป็นการวางนโยบายสาธารณะ  ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ยังชักช้าหรือยังไม่กล้าออกกฎหมาย

 

แต่ทุกวันนี้ มนุษย์ทั่วไปในโลกเริ่มเข้าใจกันแล้วว่า คำสอนเช่นนั้นมันแข็งกระด้างเกินไป เพราะในความจริง ตุลาการก็อาจตัดสินคดีวางนโยบายสาธารณะได้ ในกรณีที่เกิดมีปัญหาใหม่ๆ และยังไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับ

 

ซึ่งเราเรียกการตัดสินคดีเช่นนี้ว่า Judicial Policy Making หรือ "ตุลาการวางนโยบายสาธารณะ"

 

นอกจากนี้ ขบวนการประชาธิปไตยในภาคประชาสังคม ที่เรียกกันว่า Democratization หรือ Direct Democracy ก็มีผลทำให้ฝ่ายประชาชน เป็นผู้นำกำหนดนโยบายสังคมได้ ในหลายกรณี

 

เหตุนี้ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นจริงของสังคม (Realism) จึงยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอีกต่อไป แต่ยังขยายไปถึงฝ่ายตุลาการ (Judiciary) และขบวนการประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนด้วย (Democratization)

 

ในกรณี 4 คดีใหญ่ในเรื่องมลพิษของญี่ปุ่นนั้น ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ต่างเข้าข้างฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม

 

คือ ต่างรับรู้, ต่างเห็นพ้อง, และต่างยอมรับ กับการปล่อยมลพิษ ลงไปทั้งในแม่น้ำลำคลอง (Niigata Minamata Disease), ในทะเล (Minamata Disease และ Itai-Itai Disease), และในอากาศ (Yokkaichi Air Pollution Disease)

 

ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดพัฒนาอุตสาหรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ญี่ปุ่นจึงเผชิญกับวิกฤตการณ์ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ทั้งชักช้า และทั้งไม่กล้าออกกฎหมายมาแก้ปัญหามลพิษใหม่ๆ เหล่านี้

 

ดังนั้น จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาว่า ตุลาการญี่ปุ่นจะทำเช่นไร ในเมื่อไม่มีกฎหมาย เพราะมีหลักกฎหมายอยู่ว่า "ตุลาการจะปฏิเสธไม่ตัดสินคดี โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายไม่ได้"

 

ตุลาการญี่ปุ่นจึงได้แสดงบทบาทของผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีทั้ง 4 รายนั้น โดยไม่ยกข้ออ้างว่า (1) ยังไม่มีกฎหมาย จึงยังไม่ตัดสิน ดังที่เราได้เห็นตุลาการไทยเคยอ้าง เมื่อครั้งพิจารณาคดี "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" (2) ยังไม่มีคดีบรรทัดฐาน จึงยังไม่ตัดสิน

 

นั่นคือ 4 คดีมลพิษใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งคดีสุดท้ายศาลตัดสินไปในปี 1973

 

 

II. บทบาทตุลาการทางด้านลบ คดีทะเลสาบ "บิวา-โขะ":  ย่างถึงปี 1988 ชาวบ้านที่จังหวัดชิกะ (Shiga Prefecture) ซึ่งอยู่ใกล้นครเกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น ได้ฟ้องคดีต่อศาล กล่าวหาว่ารัฐบาลท้องถิ่นมีความรับผิดชอบ ที่ไม่ควบคุมภาวะมลพิษในทะเลสาบน้ำจืด "บิวา-โขะ"

 

แต่ครั้งนั้น ศาลญี่ปุ่นกลับตัดสินให้ชาวบ้านแพ้คดี โดยยกเหตุผลแต่เพียงว่า ยังไม่มีคดีบรรทัดฐาน (Precedent) ในปัญหาภาวะมลพิษในทะเลสาบน้ำจืด เช่นนี้มาก่อน

 

ขณะที่คนทั่วไป ทั้งในโลกและในญี่ปุ่น ต่างยกย่องสรรเสริญบทบาทของฝ่ายตุลาการในการตัดสินคดี 4 มลพิษใหญ่ในญี่ปุ่น ว่าเป็นบทบาทในเชิงบวกและก้าวหน้า ที่เรียกกันว่า Judicial Activism ขนานแท้โดยศาลญี่ปุ่น

 

แต่คนทั่วไป ทั้งในโลกและในญี่ปุ่น ก็ประณามคำตัดสินในคดีทะเลสาบ Biwako ว่าเป็นบทบาทในด้านลบและ Conservative ขนานแท้ แห่งนิติประเพณีที่ศาลญี่ปุ่น จากการที่อ้างแต่เพียงว่า "ยังไม่เคยมีคดีบรรทัดฐาน"

 

แต่ทั้งนี้ ก็ได้มีเสียงกล่าวขวัญกันทั่วโลกว่า บทบาทของตุลาการทางด้านลบนั้นเอง ก็ได้ก่อให้เกิดผลทางด้านบวกต่อสังคม เพราะภาคประชาสังคมคนญี่ปุ่น ต่างรู้กันดีว่า การจะหวังพึ่งสถาบันตุลาการ ประหนึ่งดัง "สรณะ" ในฐานะ "ที่พึ่งแหล่งสุดท้าย" (The Last Resort) เพื่อแก้ปัญหาสังคมนั้น ย่อมหวังไม่ได้เสมอไป

 

 

III. "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" คาถาสำคัญทำให้เกิดชัยชนะ แก่ประชาชนคนญี่ปุ่น:  แน่นอนว่า ประชาชนคนญี่ปุ่นย่อมผิดหวังในคำตัดสินอันทื่อๆ ของสถาบันตุลาการ ที่อ้างแต่เพียงว่า "เพราะยังไม่มีคดีบรรทัดฐานมาก่อน"

 

แต่กระนั้น ภาคประชาสังคมญี่ปุ่นก็กลับมีจิตใจฮีกเหิม ผนึกกำลังกันต่อสู้ เพื่อแก้ปัญหาภาวะมลพิษที่ทะเลสาบ Biwako จนทำให้เกิดขบวนการประชาชน (People Movement) ที่ร่วมมือกับสื่อมวลชนและนักวิชาการในญี่ปุ่น อย่างแข็งขันมากที่สุดแห่งหนึ่ง ที่คนทั่วไปในโลก ได้เคยประสบพบเห็นมา

 

และด้วยผลของบทบาทในด้านลบของฝ่ายตุลาการนั่นเอง ถ้าฝ่ายประชาชนไม่งอมืองอเท้า คอยหวังพึ่งแต่คำตัดสินของสถาบันตุลาการ และกลับทุ่มพลังรวมตัวกันต่อสู้ปัญหาสังคมแล้ว แนวทางในด้านอื่นๆ ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ในการแก้ปัญหาสังคม

 

กล่าวคือ แม้ในความเป็นจริง รัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นฝ่ายชนะคดีที่ถูกชาวบ้านฟ้อง พูดง่ายๆ ว่าฝ่ายตุลาการกลับไปเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

 

แต่ด้วยพลังอันมหาศาลของมหาชนคนญี่ปุ่น ผู้มีพละกำลังแรงดั่งพายุ รัฐบาลท้องถิ่นนั้นเองจึงเกรงว่า ปัญหาอื่นๆ จะตามมามาก ถ้าไม่ยินยอมผ่อนตามมติมหาชน

 

และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดชิกะ (Shiga Prefecture) จึงเร่งรีบเขียนเทศบัญญัติ ออกมาคุ้มครองรักษาสภาพแวดล้อมของทะเลสาบ Biwako  

 

คดีทะเลสาบน้ำจืด Biwako จึงเป็นบทเรียนที่ดีให้กับประชาชนทั่วโลกว่า ปัจจัยในการตัดสินในขั้นสุดท้ายเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Deciding Factor) ไม่ได้อยู่ข้อเท็จจริงที่ว่า ตุลาการจะ "ภิวัตน์" หรือไม่เสมอไป

 

แต่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ฝ่ายประชาสังคมจะรวมพลังกัน เข้มแข็งเพียงใดต่างหาก

 

คดีทะเลสาบ Biwako จึงเป็นบทเรียนในด้านลบให้คนไทย ในการหวังพึ่งแต่ "ตุลาการภิวัตน์"

 

แต่กลับเป็นตัวอย่างในด้านบวก ที่ดีที่สุดกรณีหนึ่ง ในการเร่งเสริมสร้างพลังประชาสังคม ให้เข้มแข็ง

 

และด้วยสายตา ในการมองปัญหาคดี Biwako Lawsuit เช่นนี้ "ทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์" จะทำการศึกษารายละเอียดของคดีนี้ มานำมาเสนอแก่คนไทยต่อไป

 

แม้ว่าโดยปกติ "ทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์" ได้ทำหน้าที่เน้นบทบาทในด้านบวกของตุลาการ แต่คดีนี้ เราจะเน้นบทบาทในด้านลบ

 

โดยต้องนำเสนอเนื้อหาใหญ่ๆ ใน 2 ส่วน คือ (1) บทบาทในด้านลบของตุลาการ (2) บทบาทในด้านบวกของพลังประชาสังคม

 

 

IV. ทะเลสาบ "บิวา-โขะ" คืออะไร ?: [3]  นี่คือทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่จังหวัดชิกะ (Shiga Prefecture) ทางตะวันตกตอนกลางของเกาะฮอนชู และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครเกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น

 

ด้วยแหล่งที่ตั้ง อันอยู่ใกล้เมืองหลวงเก่าเช่นนี้ วรรณคดีญี่ปุ่นจึงมีบทกวีที่ว่าด้วยทะเลสาบแห่งนี้ และยังมีคำบรรยายทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงการสู้รบ ณ บริเวณทะเลสาบนี้เสมอ

 

คำว่า Biwa (บิวา) เป็นชื่อของทะเลสาบ ส่วนคำว่า Ko (โขะ) แปลว่าทะเลสาบน้ำจืด

 

คนญี่ปุ่นจึงเรียกว่า Biwako ขณะที่ฝรั่งเรียกว่า Lake Biwa

 

 

V. ความกว้าง และการใช้สอย:  ทะเลสาบ Biwako มีความกว้าง 670 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่าเกาะหลายแห่งในญี่ปุ่น

 

ทะเลสาบ "บิวา-โขะ" เกิดจากลำธาร 400 สายได้ส่งน้ำไหลเข้าไปสู่พื้นที่ลุ่ม โดยไหลมาจากภูเขาโดยรอบทะเลสาบนี้ จึงก่อให้เกิดเป็นทะเลสาบน้ำจืดขึ้น ก่อนที่จะไหลไปสู่แม่น้ำเซตะ (Seta River) ออกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกที่อ่าวโอซากา (Osaka Bay)

 

น้ำที่ไหลไปสู่ทะเลสาบนี้ มาจากหิมะละลาย กับฝนในฤดูใบไม้ผลิ กับฝนจากใต้ฝุ่นในฤดูใบไม้ร่วง

 

ทะเลสาบจึงมีน้ำขึ้นเต็มที่ 2 ครั้งต่อปี

 

ทะเลสาบ "บิวา-โขะ" คืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ของนครใหญ่ๆ ใกล้กรุงเกียวโต และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมทอผ้าขนาดใหญ่ทั่วไป ในบริเวณนั้น

 

ประชาชนคนญี่ปุ่นราว 15 ล้านคนอาศัยน้ำจากทะเลสาบ Biwako เป็นน้ำดื่ม และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด อีกทั้งยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพาะไข่มุก

 

ทะเลสาบ "บิวา-โขะ" มีชายหาดที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง และคนญี่ปุ่นนิยมเดินทาง ไปตากอากาศกัน

 

 

VI. ประวัติศาสตร์ทะเลสาบ "บิวา-โขะ":  นี่คือหนึ่งในทะเลสาบน้ำจืด ที่เก่าแก่ที่สุด 20 แห่งของโลก เพราะเป็นโครงสร้างมาแต่เดิมของพื้นผิวโลก (Tectonic Origin) จึงมีอายุยืนยาว มาราว 4 ล้านปี จึงก่อให้เกิดระบบนิเวศขึ้นมา ทั่วบริเวณทะเลสาบนี้

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ว่า มีสิ่งมีชีวิต 1,100 ชนิดอาศัยอยู่ในทะเลสาบนี้ รวมทั้งสัตว์น้ำ 58 ชนิดที่มีอาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่นี้ (Endemic Species) ดังนั้น จึงหมายความว่า เป็นสัตว์ 58 ชนิดที่ไม่อาจพบได้ในที่อื่นๆ ในโลก

 

นอกจากนี้ "บิวา-โขะ" ยังเป็นที่อาศัยของนกเป็ดน้ำ (Water Birds) ซึ่งนับรวมได้ 5,000 ชนิดที่บินมาอาศัยที่นี่ ทุกๆ ปี

 

อย่างไรก็ดี ระบบนิเวศของ "บิวา-โขะ" ได้ถูกทำลายลงไปมากในปีหลังๆ ทั้งนี้ เนื่องจากคนปล่อยปลาที่นำมาจากต่างประเทศลงไปในนั้น เช่น ปลา Black Bass ที่มีคนปล่อยลงไปเพื่อใช้ในกีฬาตกปลา และปลา Bluegill ที่จักรพรรดิญี่ปุ่นปล่อยลงในทะเลสาบ โดยตั้งพระทัยให้เป็นอาหารของปลาอื่นๆ แต่ปรากฏผลว่า กลับไปกัดกินปลาอื่นๆ ลงไปเสียมาก

 

 

VII. กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่ทะเลสาบ "บิวา-โขะ": 

 

๑.      Legislation to Prevent Eutrophication (กฎหมายป้องกันการเพิ่มของสารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส) - - นี่คือกฎหมายที่ญี่ปุ่นบัญญัติขึ้นมาเมื่อปี 1981 และเริ่มใช้บังคับเมื่อ 1 กค. 1982 วันนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า "วันพิทักษ์รักษาทะเลสาบบิวา-โขะ" (Lake Biwa Day) กฎหมายนี้มีบทบัญญัติจำกัดระดับมาตรฐานไนโตรเจนและฟอสฟอรัส จากอุตสาหกรรมรอบทะเลสาบ และจากน้ำเสียจากชุมชนชาวบ้าน โดยเฉพาะจากผงซักฟอก ซึ่งก่อให้เกิดสารฟอสฟอรัส

 

๒.      The Ramsar Treatry (สนธิสัญญาแรมซาร์) - - UNESCO ได้กำหนดให้ทะเลสาบ "บิวา-โขะ" เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำ ภายใต้ Ramsar Wetland Convention (1983) เพื่อคุ้มครองการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำ

 

๓.      Shiga Ordinance for the Conservation of Reed Vegetation Zones (เทศบัญญัติจังหวัดชิกะเพื่อการอนุรักษ์ "ต้นอ้อ-ต้นกก" ณ พื้นที่รอบทะเลสาบ) - - ต้นอ้อ-ต้นกก คือพืชที่ขึ้นรอบทะเลสาบแห่งนี้ ที่ก่อให้เกิดทิวทัศน์งดงาม และฟอกน้ำให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ทำให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของนกเป็ดน้ำ กับปลานานาชนิด

 

เดิมทีเคยมีต้นอ้อ-ต้นกก อยู่เป็นอันมากที่ทะเลสาบนี้ แต่ในระยะหลัง รัฐบาลท้องถิ่นทำการสำรวจได้พบว่า พืชเหล่านี้มีจำนวนลดลงเกือบครึ่ง เพราะสิ่งปลูกสร้างของคน ณ บริเวณรอบทะเลสาบ

 

กฎกระทรวงฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความคุ้มครอง, การปลูกขึ้นทดแทน, และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่มีพืชน้ำเหล่านี้

 

กฎกระทรวงฉบับนี้ เริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อปี 1992 อันเป็นผลมาจากการต่อสู้ของชาวบ้านและภาคประชาสังคม หลังจากที่ฝ่ายชาวบ้านแพ้คดีที่ศาล เมื่อปี 1988

 

 

 





[1]  "ทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์" เริ่มสนใจศึกษาปัญหาคดี Lake Biwa Lawsuit เนื่องจากศิษย์เก่าทุน API ใน 5 ชาติ ต่างร่วมกันตั้ง Regional Committee ขึ้นมาทำการศึกษาปัญหาสังคมร่วมกันของภูมิภาคเอเซีย โดยเน้นปัญหามลพิษ และจะลงพื้นที่ไปศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งบทเรียนจากทะเลสาบน้ำจืด Biwako ในญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม 2009 นี้

 

"ทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์" ซึ่งสมาชิกทั้ง 3 คน ต่างได้ทุนวิจัย API จึงเริ่มศึกษาปัญหาทะเลสาบ "บิวา-โขะ" โดยเน้นประเด็นที่ว่า ตุลาการญี่ปุ่นมีบทบาทเช่นไร ในด้านลบ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะตัวอย่างด้านลบจากต่างประเทศ ก็อาจให้บทเรียนแก่ไทยได้ดี เท่ากับตัวอย่างในด้านบวกเช่นกัน

 

ทุนวิจัย API (Asian Public Intellectuals) คือโครงการหนึ่งของมูลนิธิญี่ปุ่น (Nippon Foundation) ที่ส่งเสริมคนเอเซียให้ทำงานวิจัย เพื่อใช้แก้ปัญหาสังคมในเอเชีย ซึ่งขณะนี้ จำกัดขอบเขตอยู่ที่ 5 ชาติ ได้แก่ ไทย, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, อินโดนิเซีย, และมาเลเซีย

 

อนึ่ง กรุณารับทราบว่า ณ วันศุกร์ที่ 20 มีค. 2009 ข้อเขียนนี้ คือบทความที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ในขั้นก่อร่างทางความคิด และการเขียนในร่างแรก ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่อย่างใด

 


[2]  ผู้สนใจในปัญหา Lake Biwa Lawsuit อาจศึกษาข้อมูลได้จาก Joanne Bauer (Ed.), Forging Environmentalism:  Justice, Livelihood, and Contested Environments, New York: M. E. Sharpe, 2006 ซึ่งเป็นหนังสือค่อนข้างใหม่ในด้าน "ค่านิยม" (Values) ของคน 4 ชาติ ว่าเห็นเช่นไร ในเรื่องความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ได้แก่คนจีน, คนญี่ปุ่น, คนอินเดีย, และคนอเมริกัน


[3]  เนื้อหาตั้งแต่ข้อนี้ไป ได้มาจาก Wikipedia, "Lake Biwa," http://en.wikipedia.org/wiki/Lake_Biwa (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กพ. 09)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท