จับพม่านับร้อยขณะชมคอนเสิร์ตการกุศล

เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา แรงงานพม่ากว่า 400 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมระหว่างชมการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องดังจากพม่าที่จัดขึ้นในกรุงเทพเพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเด็กกำพร้าในพม่า

 

ทั้งนี้ มีแรงงานชาวพม่ามากกว่า 1,000 คนเข้าชมการแสดงของวง Iron Cross วงดนตรีแนวร็อกที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพม่า โดยขณะที่วงดนตรีแสดงไปได้ไม่ถึง 4 เพลง เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจบัตรประจำตัว เป็นเหตุให้แรงงานกว่า 400 คนที่ไม่มีหลักฐานแสดงตนถูกจับกุมและนำตัวขึ้นรถบรรทุก 4 คัน ขณะที่มีรายงานว่า แรงงานผิดกฎหมายทั้งหมดจะถูกส่งกลับพม่าทันที

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้วงดนตรียุติการแสดงคอนเสิร์ตหลังพบว่าสมาชิกในวงดนตรีถือวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากทางการไทยให้จัดแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว สร้างความผิดหวังให้กับแฟนเพลงชาวพม่าที่มารอชมการแสดงและเสียเงินค่าบัตรเข้าชมราคาใบละ 400 บาท (ที่มา/Irrawaddy, DVB)

 

 

ซูจีติดหนึ่งในร้อยผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าและหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ของสหรัฐให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกอันดับที่ 25 จาก 100 คน โดยวัดจากคะแนนโหวต

 

ทั้งนี้ นางซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ได้รับเสียงโหวต 306,684 เสียง ตามหลังนายบารัค โอบามา ประธานธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุดของสหรัฐที่ได้อันดับ 16 ไม่มากนัก ซึ่งนายโอบามาได้รับเสียงโหวต 335,732 เสียง ส่วนอันดับที่ 26 ตกเป็นของนายอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียที่ได้รับเสียงโหวต 302,874 เสียง

 

นอกจากนางซูจีแล้ว ยังมีสตรีท่านอื่นๆ ที่ติดอันดับเช่นกัน ซึ่งได้แก่ นางแนนซี เปโลซี โฆษกทำเนียบขาว ที่อยู่ในอันดับที่ 27 จากคะแนนโหวต 254,785 เสียง และนางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอยู่อันดับที่ 36 ได้รับเสียงโหวต 243,496 เสียง

 

อย่างไรก็ตามนิตยสารไทม์ระบุว่า ต้องขอบคุณเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ที่ทำให้ประชาชนทั่วโลกหันมาสนใจและรับฟังเสียงของนางซูจีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทั้งนี้ นางซูจี นักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ถูกรัฐบาลทหารพม่ากักขังในบ้านพักเป็นเวลากว่า 20 ปี เธอพยายามผลักดันให้สหประชาชาติจัดการกับรัฐบาลพม่าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนของตัวเอง

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2547 นางซูจีเคยได้รับรับรางวัลวีรบุรุษแห่งเอเชีย (Asia"s Asia Hero) ของนิตยสารไทม์ด้วยเช่นกัน โดยได้รับเสียงโหวต 37,617 เสียง จากคะแนนโหวตทั้งหมด 93,022 เสียง คิดเป็น 40.4 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้นางซูจียังได้รับความนิยมจากนักท่องอินเทอร์เน็ตและบล็อกเกอร์ รวมถึงสมาชิกเว็บไซต์www.facebook.com โดยนางซูจีมีแฟนคลับจากเว็บไซต์ดังกล่าวถึง 31,000 คน

 

โซยะ พาน ผู้ประสานงานองค์กรรณรงค์เรื่องพม่าแห่งสหราชอาณาจักร(Burma Campaign UK) กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า เว็บไซต์www.facebook.com เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนกลุ่มใหม่จากทั่วโลกรู้จักอองซาน ซูจีและ

รู้สถานการณ์ในพม่ามากขึ้น

 

"รัฐบาลพม่ากักขังนางซูจีเพื่อต้องการทำให้โลกลืมเธอ แต่นี่คือสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่า ไม่ประสบความสำเร็จ" โซยะ พานกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา นางซูจีถูกกักขังในบ้านพักรวมแล้ว 13 ปี โดยเธอถูกจับและถูกปล่อยตัวหลายครั้ง ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีที่เธอเป็นหัวหน้าได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2533 แต่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากำลังจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า แทนการยอบรับให้พรรคเอ็นแอลดีในฐานะที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 2533 เข้ามาบริหารประเทศ(Irrawaddy 31 มี.ค.52)

 

 

อินเทอร์เน็ตอืดกระทบธุรกิจในพม่า

นับตั้งแต่วันที่ 21 เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าต้องประสบกับปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตในพม่าช้าลงอย่างมาก ส่งผลให้นักธุรกิจและอุตสาหกรรมการสื่อสารเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

 

ก่อนหน้านั้น บริษัท เมียนม่าร์เทเลพอร์ท จำกัด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพม่าได้แจ้งล่วงหน้าว่า ช่วงวันที่ 21 - 25 มีนาคม จะมีการซ่อมบำรุงสายเคเบิลใยแก้วซึ่งจะทำให้อินเทอร์เน็ตล่าช้าในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อมาบริษัทดังกล่าวประกาศว่า อินเทอร์เน็ตจะช้าลงไปจนถึงวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้

 

นักข่าวในกรุงย่างกุ้งคนหนึ่งกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตที่ล่าช้าส่งผลกระทบรุนแรงต่อบริษัทนำเข้าและส่งออกของพม่า ธุรกิจการท่องเที่ยว และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กีฬาที่ต้องหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต

 

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนไม่เชื่อว่าที่อินเทอร์เน็ตล่าช้า อาจไม่เป็นเพราะการปรับปรุงระบบตามที่กล่าวอ้าง แต่อาจเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของทางการพม่ามากกว่า ซึ่งตอนนี้บางเว็บไซต์อย่าง www.gmail.com ไม่สามารถเข้าได้โดยทางการพม่าอาจจะบล็อกบางเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อรัฐและตรวจสอบอีเมล์ที่ทางการสงสัยอยู่ก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบอินเทอร์เน็ตในพม่ามีความเร็วต่ำมาก

 

และมีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามข้อมูลของThe World Factbook ของ CIA ระบุว่า มีประชาชนในพม่าใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 70,000 คนในปี 2550 และอินเทอร์เน็ตโฮสต์เพียง 108 แห่งในปี 2551 ที่ผ่านมา ขณะที่ไทยมีอินเทอร์เน็ตโฮสต์กว่า 1.1 ล้านแห่ง และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยจำนวนกว่า 13.4 ล้านคนในปี 2550

 

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งในพม่าเปิดเผยว่า ทางการพม่าพยายามที่จะบล็อกเว็บไซต์ข่าวพม่านอกประเทศ เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์เกี่ยวกับทุนการศึกษาและเว็บบล็อกต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ ตามร้านอินเทอร์เน็ตทั่วไปในพม่าจะมีป้ายเตือนว่า หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าเว็บไซต์ที่ทางการพม่าแบนไว้นั้นถือว่าเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย

 

หลังจากเหตุการณ์ประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายนปี 2550 เป็นต้นมา ทางการพม่าได้ปิดระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากในช่วงที่มีการประท้วง มีประชาชนบางส่วนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและภาพที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมทางอินเทอร์เน็ต

 

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontiers (RSF)) ระบุว่า รัฐบาลพม่าต้องการจำกัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประชาชนในประเทศและนอกประเทศ และต้องการป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านทางเว็บไซต์ www.youtube.com www.dailymotion.com และ www.flickr.com

 

เช่นเดียวกับเมื่อปลายปีที่แล้ว ทางการพม่าจำคุกนายเนย์ โพน บล็อกเกอร์ หนุ่มเป็นเวลา 20 ปี รวมถึงนายซากานาร์ ซึ่งเป็นทั้งนักแสดงตลกชื่อดังของพม่าและบล็อกเกอร์ก็ถูกทางการพม่าจำคุกเป็นเวลา 59 ปีในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกสู่นอกประเทศและเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลพม่า

 

ขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (CPJ) ในนิวยอร์กได้ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจด้านความมั่นคงของพม่าได้รับการฝึกอบรมการเซ็นเซอร์และตรวจสอบผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศจีน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านความมั่นคงของพม่ายังได้รับการอบรมในด้านการเฝ้าสังเกตการณ์นักข่าวและบล็อกเกอร์ทางออนไลน์ รวมถึงการโจมตีเว็บไซต์ข่าวพม่านอกประเทศและกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลพม่านอกประเทศด้วยเช่นกัน

 

ก่อนหน้านี้ Information Warfare Monitor ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยชาวแคนาดาเองได้ออกมาร้องเรียนว่า เครือข่ายสายลับไซเบอร์ที่มีเซิฟเวอร์อยู่ในประเทศจีนกำลังละเมิดกฎหมาย โดยการลักลอบเข้าไปดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์กว่า 1,295 เครื่องใน 103 ประเทศ ในจำนวนนั้นเป็นคอมพิวเตอร์ของรัฐมนตรีต่างประเทศและนักการทูตจากประเทศต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่ทำงานในนามขององค์ดาไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของชาวทิเบตด้วย (Irrawaddy 30 มีนาคม 52)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท