Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย นักปรัชญาชายขอบ



 


1. คุณูปการของ "เหลือง - แดง"


            หากเราตั้งคำถามว่าการต่อสู้ของพลังมวลชน "เสื้อเหลือง" กับ "เสื้อแดง" ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรในสังคมไทย คำตอบอาจเป็นไปได้ในหลายมุมมอง (ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้หลายมุมมองเช่นเดียวกัน) และแม้ว่าคำตอบที่เป็น "ความเปลี่ยนแปลงขั้นสุดท้าย" หรือความเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายของแต่ละฝ่าย ("ล้มระบอบทักษิณ-สร้างการเมืองใหม่" ตามเป้าหมายของเสื้อเหลือง "ล้มอำมาตยาธิปไตย -ได้ประชาธิปไตยเต็มใบ" ตามเป้าหมายของเสื้อแดง) จะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่พลังมวลชนของทั้งสองฝ่ายได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนี้.-


1.1  กลุ่มคนเสื้อเหลืองได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างพลังมวลชนที่มีเป้าหมายร่วมกันอย่างแน่วแน่นั้นเป็นไปได้จริง และทำให้การเมืองบนท้องถนนมีพลังกดดันการเมืองภาคนักการเมือง และกลุ่มอำนาจอื่นๆ เช่น ทหาร องคมนตรี ตุลาการ สื่อมวลชนให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ตนต้องการได้ในระดับหนึ่ง และกลุ่มคนเสื้อแดงก็กำลังสร้างการเมืองบนท้องถนนในทำนองเดียวกัน เพียงแต่มีเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกัน


1.2   คุณูปการของกลุ่มคนเสื้อเหลืองคือการเปิดโปงให้สังคมเห็นธาตุแท้และอันตรายของ "ทุนนิยมสามานย์" หรือที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ"  ซึ่งหมายถึงพฤติการณ์ของกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองที่ใช้เงินซื้อพรรคการเมืองและนักการเมืองและซื้อเสียงเพื่อเข้ามายึดอำนาจรัฐ เป็นเผด็จการรัฐสภา และใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องภายใต้นโยบาย โครงการ วิธีบริหารจัดการ และการแทรกแซงวุฒิสภา องค์กรอิสระ สื่อมวลชน ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงที่มีจุดยืนอยู่บน "ความทับซ้อนกัน" ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของชาติ


1.3   คุณูปการของกลุ่มคนเสื้อแดงคือ การเปิดโปงให้เห็นธาตุแท้และอันตรายของ "อำมาตยาธิปไตย" ซึ่งหมายถึงเครือข่ายข้าราชการที่เกาะเยี่ยวยึดโยงกันภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยมอุปถัมภ์นิยม และเครือข่ายเหล่านี้เข้ามาแทรกแซงอำนาจรัฐเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งการแทรกแซงโดยตรง เช่น การทำรัฐประหาร หรือแทรกแซงโดยอ้อม เช่น การอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล การแต่งตั้งโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพหรือข้าราชการระดับสูง เป็นต้น


ธาตุแท้และอันตรายของ "ทุนนิยมสามานย์" และ "อำมาตยาธิปไตย" มีงานทางวิชาการนำเสนอมาพอสมควรแล้ว แต่ยังเป็นที่รับรู้เฉพาะในแวดวงผู้สนใจปัญหาบ้านเมืองในเชิงลึกเท่านั้น การออกมาตะโกนดังๆของกลุ่มคนเสื้อเหลือง - เสื้อแดง ทำให้สังคมมองเห็นภาพและรายละเอียดของ "สองอันตราย" นี้ได้ชัดเจนขึ้น


2. ปมปัญหาของ "เหลือง-แดง"


            2.1 ปมปัญหาของ "เสื้อเหลือง" คือ แม้จะเปิดโปง "ทุนนิยมสามานย์" แต่ก็เกาะเกี่ยวสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับ "อำมาตยาธิปไตย" หรือมีภาพลักษณ์เป็นแนวร่วมกับอำมาตยาธิปไตย การเมืองใหม่ที่เสื้อเหลืองเสนอก็ค่อนไปทางการส่งเสริมความเข้มแข็งของอำมาตยาธิปไตย และสิทธิประโยชน์ของคนชั้นกลาง ประชาธิปไตยในมือของอำมาตย์และคนชั้นกลาง หรือประชาธิปไตยภายใต้อิทธิพลของ "กลุ่มทุนเก่า" ที่คอรัปชันอย่างไร้การตรวจสอบ และไม่เก่งในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่จำต้องเคลื่อนไปตามระบบตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ จึงไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ และไม่ใช่ประชาธิปไตยที่จะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้จริง


            2.2 ปมปัญหาของ "เสื้อแดง"   คือ แม้จะเปิดโปงให้สังคมเห็นธาตุแท้และอันตรายของ "อำมาตยาธิปไตย" แต่ก็เกาะเกี่ยวสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับ "ระบอบทักษิณ" หรือมีภาพลักษณ์เป็นแนวร่วมกับทักษิณ การเรียกร้องให้ล้มอำมาตยาธิปไตย เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยเต็มใบพร้อมกับให้ "นิรโทษกรรม" ทักษิณ หรือให้ทักษิณคืนสู่อำนาจนั้น ไม่น่าจะทำให้ได้ประชาธิปไตยที่จะสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้จริง แต่จะเป็นประชาธิปไตยภายใต้อุ้งมือของ "กลุ่มทุนใหม่" ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองที่ยึดกุมอำนาจรัฐ


3. ทางเลือกของ "เหลือง-แดง" ไม่อาจเป็นทางเลือกของสังคมไทย


            ไม่ว่าจะเป็น "การเมืองใหม่+อำมาตยาธิปไตย" หรือ "ประชาธิปไตย+ทุนิยมสามานย์" ก็ตาม ล้วนแต่ไม่ควรจะเป็นทางเลือกของสังคมไทย พูดอย่างถึงที่สุดแม้แต่จะเป็นทางเลือกเฉพาะของกลุ่มคนเสื้อเหลือง-แดงเท่านั้น ก็ไม่ควรจะเป็น เพราะมันเป็นทางเลือกที่เป็นความขัดแย้งไม่สิ้นสุด และจะฉุดสังคมลงสู่ "นรกของความขัดแย้ง" ที่เผาไหม้ความสงบสุขและผลาญเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วให้ย่อยยับเร็วขึ้น


4. ทางเลือกของสังคมไทย


            ทางเลือกของสังคมไทย คือ "ประชาธิปไตยที่พ้นไปจากอำมาตยาธิปไตยและทุนนิยมสามานย์"  หรือประชาธิปไตยที่สลายชนชั้นทางสังคมและชนชั้นทางเศรษฐกิจ หรือประชาธิปไตยที่สามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง เป็น "ประชาธิปไตยที่กินได้" โดยสามารถลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้จริง


5. แนวทางสร้างทางเลือกของสังคมไทย


            5.1 ที่จริงกลุ่มคนสีเหลืองกับกลุ่มคนสีแดงต่างก็เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" แต่ประชาธิปไตยของคนสีเหลืองอิงแอบอยู่กับอำมาตยาธิปไตย และประชาธิปไตยของคนสีแดงอิงแอบอยู่กับทุนนิยมสามานย์ ถ้าคนสีเหลืองกับคนสีแดงตัดสิ่งที่พวกตนอิงแอบออกไป แล้วต่างชู "ธงประชาธิปไตย" จริงๆ (เอา "ธงสถาบัน" กับ "ธงทักษิณ" ลง) เชื่อว่าคนทั้งสองฝ่ายจะหันหน้ามาคุยกันได้ หาแนวทางหรือข้อยุติที่ยอมรับร่วมกันได้ และการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายอาจทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้


            5.2  นักวิชาการ สื่อมวลชน คนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่เสื้อเหลือง-แดง ชู "ธงสถาบัน" กับ "ธงทักษิณ" สร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง ควรออกมาส่งเสียงปฏิเสธแนวทางการต่อสู้เอาชนะคะคานของทั้งสองฝ่าย และร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตยที่พ้นไปจากอำมาตยาธิปไตยและทุนนิยมสามานย์ผ่าน "เวทีปฏิรูปการเมือง" รอบใหม่


            5.3 ต้องให้ทุกฝ่ายเข้าสู่การพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณ ฝ่ายเสื้อเหลือง-แดง ที่ละเมิดกฎหมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิด แม้กระทั่งคณะผู้ก่อรัฐประหารก็ควรถูกสังคมประณาม ควรสร้างกฎหมายและความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชนที่มีพลังป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารเกิดขึ้นได้อีก


            5.4 สังคมต้องร่วมกันสร้าง "ระบบที่ดี" ที่เป็นประชาธิปไตยสากลผ่านการปฏิรูปการเมือง และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยึดความถูกต้องตามระบบมากกว่ายึดตัวบุคคล หรือหวังพึ่งตัวบุคคลประเภท "อัศวินม้าขาว" ที่จะมา "เนรมิต" ความเจริญให้ (ดังที่ "ทักษิณ" พยายามโอ้อวดตัวเองว่าเป็น "คนเก่ง"  และ "เปรม" พยายามโอ้อวดหรือการันตีคนนั้นคนนี้ว่าเป็น "คนดี") เพราะระบบที่ดีจะทำให้สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ดีอย่างยั่งยืน


6. บทสรุป


            ทางเลือกของคนเสื้อเหลือง-แดง ที่ฝ่ายหนึ่งอิงแอบอำมาตยาธิปไตยและอีกฝ่ายอิงแอบทุนนิยมสามานย์ หรือฝ่ายหนึ่งชู "ธงสถาบัน" ฝ่ายหนึ่งชู "ธงทักษิณ" นั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่จะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ นอกจากนั้นยังเป็นทางเลือกที่สร้างความขัดแย้งแตกแยกไม่สิ้นสุด สังคมไทยควรสร้างทางเลือกที่พ้นไปจากอิทธิพลของอำมาตยาธิปไตยและทุนนิยมสามานย์ ผ่านการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่เพื่อให้ได้ "ระบบที่ดี" ที่เป็นประชาธิปไตยสากล และสร้างวัฒนธรรมการใช้ระบบที่ดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net