Skip to main content
sharethis

วานนี้ (1 เม.ย.52) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.ที่ห้องประชุมอาคารรัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สารธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ ในคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ครั้งที่ 1 โดยมีนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีอธิบดีกรมที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ ร่วมประชุมกับตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ


 


สืบเนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ครั้งที่ 1/2552 ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบการแต่ตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 13 ประเด็นที่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ยื่นข้อเรียกร้องผ่านนายถาวร โดยให้คณะอนุกรรมการเริ่มประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.52


 


นายปราโมทย์  ผลภิญโญ  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประชุมครั้งแรกของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สารธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ และเป็นคณะกรรมการคณะแรก จากทั้ง 6 คณะ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพิจารณากรอบแนวทางการแก้ปัญหา โดยอาศัยหลักการตามรัฐธรรมนูญ 50 ในมาตรา 66 67 และ 85 ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และสิทธิเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน


 


นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับ นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 51 ในเรื่องการจัด หาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ใน ที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร และการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ครั้งแรกทีมีมติร่วมกันว่าการแก้ปัญหาจะยึดปัญหาของแต่ละกรณีและนโยบายดังกล่าวของรัฐเป็นหลัก


 


ในการประชุมได้มีมาตรการแก้ปัญหาใน 3 ส่วนคือที่สารธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และเหมืองแร่ โดยเริ่มต้นจาก ให้มีคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่กรณีปัญหานั้นๆ เป็นประธาน เจ้าพนักงานที่ดิน นายอำเภอในท้องถิ่น ทำงานในระยะเวลา 30 วัน แล้วให้เสนอข้อเท็จจริงพร้อมแนวทางแก้ปัญหากับคณะอนุกรรมการ


 


สำหรับกรณีเร่งด่วนขณะนี้มี 2 กรณีคือ กรณีโรงโม่หิน ใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้มีการทำรายงานการละเมิดสิทธิ ในเรื่องระบบนิเวศน์ และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคณะกรรมการสิทธิ์ฯ แล้ว ได้ให้คณะทำงานตรวจสอบประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการสิทธิ์ฯ และตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะลงไปดูพื้นที่ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ และกรณีที่ 2 ปัญหาที่ดินเอกชนรกร้างที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าไปทำกินและได้เริ่มต้นทำการปฏิรูปที่ดินแล้ว ให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิถือครองภายใน 15 วัน โดยอธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้ดำเนินการ


 


ทั้งนี้คาดว่า คณะอนุกรรมการฯ จะมีการนัดหมายการประชุมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อติดตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่ละกรณี ภายหลังจากเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์


 


"การดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่นำสู่เป้าหมาย ซึ่งธงของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ คือการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน" นายปราโมทย์ กล่าวในตอนท้าย


 


อนึ่ง ในวันเดียวกันภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ซึ่งประสบปัญหา กลุ่มนายทุนสวนปาล์มน้ำมันถือครองที่ดินแปลงใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในจ.กระบี่และ จ.สุราษฎร์ธานีได้เข้ายื่นหนังสือและรายงานปัญหาในพื้นที่ ต่อนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทางกระทรวงมหาดไทยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ดูแลไม่ให้เกิดสถานการณ์ข่มขู่คุกคามประชาชนที่เข้าไปทำกินอยู่ในพื้นที่สวนปาล์มดังกล่าว


 


นายสุรพล สงฆ์รักษ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ให้มีการผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติ และให้แจ้งส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องชะลอ การดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุขนั้น ไม่ได้มีผลกับในพื้นที่ เพราะยังพบว่ามีการขมขู่คุกคามที่หนักขึ้น


 


นายสุรพลกล่าวว่า ในพื้นที่มีกลุ่มคนพกพาอาวุธเพ่นพ่านในพื้นที่ที่เกิดกรณีความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งเสียงต่อการถูกทำร้าย ทำให้ชาวบ้านเป็นกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำรอยขึ้นหลังจากได้เกิดเหตุที่มีชาวบ้านถูกยิงในพื้นที่สวนปาล์ม ในช่วงที่ทางเครือข่ายได้เข้ามาชุมนุมอยู่บริเวณทำเนียบเมื่อวันที่ 4-12 มี.ค.ที่ผ่านมา


 


"กลับไป สถานการณ์ไม่ดีขึ้นเลย การเจรจากับนายก ในพื้นที่ไม่สนใจใยดี เท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจรัฐส่วนกลาง ซึ่งคิดว่าเป็นเพราะเห็นว่ารัฐบาลง่อนแง่นจากเรื่องปัญหาการเมืองในส่วนกลางทำให้ไม่มีเวลาเอาใจใส่ปัญหาในพื้นที่ห่างไกล จึงเกิดการเหิมเกริมของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่" นายนายสุรพลแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้น


 


ในส่วนการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานฯ และมีเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เป็นกรรมาการและเลขานุการซึ่งจัดประชุมในวันนี้ (2 เม.ย.) นายสุรพลกล่าวว่า จะมีการผลักดันให้ประชาชนที่เข้าไปจัดการทำกินในพื้นที่ สปก.ที่บริษัทเอกชนครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่ต้องรอกระบวนการตามระเบียบราชการ


 


ในขณะนี้ที่ดินดังกล่าวอยู่ระหว่างการฟ้องร้องขับไล่ให้บริษัทเอกชนออกจากพื้นที่ สปก.แต่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าวใช้ระยะเวลายาวนานหากมีการสู้คดียืดเยื้อถึงชั้นฎีกา อีกทั้งบริษัทเอกชนสามารถขอคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราวทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ได้ ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่จะนำมาปฏิรูปให้เกษตรกร


 


อีกข้อเสนอหนึ่ง หากการผลักดันดังกล่าวไม่ได้ผลก็ต้องขอให้มีการจดสรรที่ดิน สปก.อื่นเพื่อให้ชุมชนได้มีพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ยังชีพได้ อย่างไรก็ตามข้อเสนอต่างๆ ต้องมีการนำไปพูดคุยอีกครั้งในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกันของการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ฯ นัดแรก จะมีการประชุมนัดแรกของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสินเชื่อของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานฯ และตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคเข้าร่วมด้วย


 


ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ประกอบด้วยเครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรภาคใต้ และเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด รวมทั้งประชนในกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดิน พิชัยภูเบนทร์ จ.อุตรดิตถ์ และกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม


 


 


 


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้ยื่นข้อเรียกร้อง


ผ่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม)


โดยได้เสนอปัญหาความเดือดร้อน 13 ประเด็น คือ


-------------------------------------------------


 


(1) ผ่อนผันให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นดินตามวิถีอันปกติสุข และให้มีมาตรการสนับสนุนและคุ้มครองพื้นที่ตั้งชุมชนใหม่ในเขต สปก.และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่หมดอายุการอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่แปลงใหญ่


 


(2)  ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐยุติการขมขู่ คุกคาม ทำลายทรัพย์สิน รื้อถอนและทำลายพืชผลทางการเกษตร และการปักป้ายยึดพื้นที่โดยเด็ดขาด


 


(3) ในระหว่างกระบวนการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ให้ยุติการจับกุม ระงับการส่งฟ้อง และการยุติการดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง รวมทั้งถอนการบังคับคดีทางแพ่งแก่สมาชิกเครือข่าย จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ


 


(4) ให้ชาวบ้านได้รับสิทธิอันชอบธรรมในโครงการการพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น


 


(5) ให้เคารพสิทธิการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่สวนตนเองที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในที่ดิน และต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสงเคราะห์สวนยาง สิทธิในการประกันราคาผลผลิต และสิทธิอื่นเช่น ราษฎรทั่วไป


 


(6) คดีที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวน หรือชั้นอัยการ ให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ชะลอการฟ้องคดีไว้ก่อน หากอยู่ในชั้นศาลให้รัฐทำคำแถลงเพื่อเสนอต่อศาลว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีที่อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาทางนโยบาย หรือขอให้ศาลรอการพิจารณาหรือรอการตัดสินคดีไว้ โดยการจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายแล้วเสร็จ


 


(7) คดีที่ได้มีคำพิพากษาตัดสินแล้ว และอยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือระหว่างฎีกา ให้รัฐทำคำแถลงเพื่อเสนอต่อศาลว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีที่อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาทางนโยบายให้ชะลอการพิพากษาคดีไว้ จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายแล้วเสร็จหรือให้ประสานงานและแจ้งกับประธานศาลฎีกาว่า คดีเหล่านี้เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาทางนโยบาย ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาและขอให้รอลงอาญาไว้


 


(8) ให้ส่งมอบที่ดินในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและอุตรดิตถ์ ให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อให้ชาวบ้านดำเนินการเช่าซื้อต่อไป


 


(9) ให้เคารพสิทธิในการรวมกลุ่มและการชุมนุม และต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม โดยเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และใช้บรรทัดฐานทางด้านสิทธิมนุษยชนในการแก้ไขปัญหา


 


(10) ให้ชะลอการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 38 แห่ง ที่คาดว่าจะมีการทับซ้อนกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน


 


(11) ให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎกระทรวงเพื่อผ่อนปรนการปลูกสร้างอาคารของบ้านเรือนใน "โครงการบ้านมั่งคง" ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2552


 


(12) ให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นจำนวน 5,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินให้เปล่าที่ทยอยให้แก่ พอช.ปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับชาวชุมชนแออัด


 


(13) ในเรื่องนโยบายการแทรกแซงราคาข้าวโพด ให้รัฐบาลเร่งเปิดรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์


 


 


 


 


คณะอนุกรรมการฯ  6 คณะ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ


จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ  


วันที่ 11 มี.ค.52


 


1) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สารธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และมีอธิบดีกรมที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ


 


2) คณะ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานฯ และมีอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นกรรมการและเลขานุการ


 


3) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานฯ และมีเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เป็นกรรมาการและเลขานุการ


 


4) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสินเชื่อของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานฯ และมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ


 


5) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินราชพัสดุของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ และมีอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ


 


6) คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทาง การปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน โดย นายสาทิยต์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้แทนเครือข่ายฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมี อำนาจหน้าที่ อาทิ ศึกษาแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน มาตรการทางภาษี การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ


 


ทั้ง นี้ คณะอนุกรรมการทั้ง 6 ชุด มีอำนาจหน้าที่ อาทิ ตรวจสอบข้อเท็จจริง แก้ไขปัญหาและ/หรือเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละส่วนงาน ตามกรอบนโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการกำหนดภายใน 90 วัน โดยให้คณะอนุกรรมการเริ่มประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง


 


รวม ถึงเชิญผู้แทนส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงให้ข้อมูลรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหา และมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามความเห็นของเครือ ข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และรายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหา อุปสรรค ให้คณะกรรมการฯ ทราบ ทุก15 วัน ฯลฯ


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net