รายงาน ค่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ รักษ์ป่า สืบสานวิถีพอเพียง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดย ภาคภูมิ โปธา

 

ท่ามกลางการปฏิรูปการศึกษา ในยุคของรัฐบาล โอบามาร์ค เรื่องชุดนักเรียนฟรี ตำราเรียนฟรี และอุปกรณ์การเรียนฟรี มุ่งประเด็นด้านการลดแลกแจกแถม หลงลืมความสำคัญด้านคุณภาพการศึกษา ไม่ทราบว่าการแต่งชุดนักเรียน เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้นักเรียนมีคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร คำตอบคงอยู่ในสายลม

 

ในขณะที่การศึกษาของเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่น่ะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาที่ไม่จำกัดเฉพาะในโรงเรียน การศึกษาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ถึงแม้จะปิดภาคเรียนก็ตาม การศึกษาที่อยู่รอบๆตัว จึงได้ร่วมกันจัด ค่ายเยาวชนรักษ์ป่า สืบสานวิถีพอเพียง ระหว่างวันที่ 3 - 5 เมษายน 2552 ณ ชุมชนบ้านปางมะโอ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตตามวิถีพอเพียงของชุมชนในพื้นที่ และเพื่อถอดสรุปแนวคิดการใช้ชีวิตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ตามแนวพระราชดำริ

            

             ความเป็นมาเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่แม่นะ เมื่อปลายปี 2547 กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ ประกอบด้วย ชุมชนม้งบ้านสันป่าเกี๊ยะ ชุมชนลาหู่บ้านป่าโหล ชุมชนป่าเมี้ยง บ้านปางมะโอ บ้านแม่ซ้าย บ้านแม่แมะ บ้านปางฮ่าง  ชุมชนพื้นราบ บ้านจอมคีรี  - หย่อมบ้านยางทุ่งโป่ง บ้านห้วยโจ้ บ้านป่าบง บ้านแม่นะ   ได้รวมตัวกัน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเยาวชนเพียงไม่กี่คน เข้าเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน

               

                การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาของเครือข่ายเยาวชนฯ เน้นกระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในการจัดการฐานทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านวิถีชีวิต และภูมิปัญญาพื้นที่บ้าน ขยายฐานการเรียนรู้ไปยังกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายองค์กรชาวบ้านต่างๆ เช่น เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเหมืองฝาย เครือข่ายผู้รู้ท้องถิ่น

บนดอยสูงบริเวณสันเขาทางด้านทิศตะวันตกของลำน้ำแม่ปิง บริเวณระหว่างหุบเขา ร่องห้วยและเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน 1,000 เมตร ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านปางมะโอ ชุมชนชาวไทยพื้นราบถิ่นไทยล้านนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ชุมชนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2546 เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตของเยาวชนในครั้งนี้

กิจกรรม " เยาวชนรักษ์ป่า เรียนรู้วิถีคนกับป่า สู่ ความยั่งยืน"  เป็นกิจกรรมเดินฐานในพื้นที่สวนเมี้ยงของชุมชน ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ป่า กิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 7 ฐาน ฐานที่1 ผีปันน้ำ ฐานที่2 มหัศจรรย์แห่งป่า ฐานที่3 ป่าร้องไห้ ฐานที่4 บ้านเรา ฐานที่5 กวางน้อย ฐานที่ 6 ความประทับใจ ทุกฐานจะเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศน์สวนเมี้ยงและพื้นที่ป่า และจำลองสถานการณ์ปัญหาทรัพยากรที่เกิดขึ้น เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การพังทลายของหน้าดิน ปัญหาน้ำท่วม และสร้างมุมมองต่อความหลากหลายของระบบนิเวศน์ ตั้งแต่ใบไม้เศษชิ้นเล็กๆที่รวมตัวเป็นธาตุอาหารของดินและพืช  แมลง เป็นความสวยงามที่แฝงตัวไว้แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญและมองเห็นคุณค่า  

 

ความสำคัญของผืนป่าในฐานะแหล่งอาหารของคน แหล่งอาศัยของสัตว์ป่า เปรียบเหมือนบ้านของมนุษย์ในโลกนี้ แต่ถ้าบ้านหลังนี้ถูกทำลายแล้วจะอยู่กันอย่างไร  และกิจกรรมสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างฐานความคิดในการร่วมกันดูแลรักษาป่า คือการศึกษาพรรณไม้ท้องถิ่น ว่าแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อชุมชน คน และสัตว์ รวมทั้งความหลากหลายของระบบนิเวศน์อย่างไรบ้าง อันจะนำไปสู่การร่วมกันในการทำโครงการเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น คืนสู่ชุมชน

 

นี่คือเสี้ยวหนึ่งของการศึกษาที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่มุ่งเน้นความรู้สึกหวงแหนแผ่นดินเกิด รู้จักรากเหง้าตัวเอง ไม่หวังเพียงให้ใครมาแจกของต่างๆ เพียงแค่อยากให้สังคมได้รับรู้ว่า การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ เหมือนกับ ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวไว้ในหนังสือ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 879 ว่า

 

"มองทุกอย่างเป็นครู เธอจะมีชีวิตอยู่อย่างแสนรื่นรมย์"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท