Skip to main content
sharethis

(7 เม.ย.) เวลา 15.00 น. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ตามคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จัดประชุมครั้งที่ 1 / 2552 ณ ห้องประชุม อาคารควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


สืบเนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบแต่ตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ โดยให้คณะอนุกรรมการแต่ละคณะเริ่มประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.52 และที่ผ่านมามีการทยอยประชุมคณะอนุกรรมการคณะต่างๆ ไปแล้ว 4 คณะ


 


สำหรับการประชุมในวันนี้ มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานฯ และมีนายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้เป็นกรรมการและเลขานุการเข้า ซึ่งร่วมประชุม แต่ได้มอบหมายให้นายกฤษณะ พฤกษะวัน ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ ทำหน้าที่เลขานุการแทน ส่วนนายปราโมทย์ ผลภิญโญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ


 


โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 66 67 และ 85 ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน นโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา วันที่ 30 ธันวาคม 2551 และมติการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.52  


 


 


รัฐธรรมนูญ 2550


 


มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน


 


มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม


 


มาตรา 85 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้


 


(1) กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งผืนดิน ผืนน้ำ วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดมาตรฐานการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินนั้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย


 


(2) กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร


 


00000


 


นโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา


วันที่ 30 ธันวาคม 2551


 


ข้อ 4.2.1.8 คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจน และชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร


 


00000


 


การประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552


 


"นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ โดยให้ยึดหลักการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตามสภาพพื้นฐานของแต่ละปัญหาและยึดหลักนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นความสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินงานเป็นสำคัญ ดังนั้น กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบ แต่สามารถอะลุ่มอล่วยให้ดำเนินการได้ก็ให้ดำเนินการต่อไป โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบก็ให้คณะอนุกรรมการฯ ที่จะแต่งตั้งไปดำเนินการศึกษาถึง ผลดีผลเสีย และนำเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป" โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน


 


ในกรณีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กรณีราษฎรสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่อยู่อาศัย และทำกิน ในเขตสวนป่า พื้นที่ป่าไม้ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตวนอุทยาน ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานภาครัฐ และ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเครือข่ายฯเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐยุติการข่มขู่ คุกคาม ทำลายทรัพย์สิน รื้อถอน และทำลายพืชผลทางการเกษตร และการปักป้ายยึดพื้นที่ ตลอดจนให้ราษฎรทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อน


 


ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการฯเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัย และทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแจ้งส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ชะลอการดำเนินการใดๆที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป และให้คณะอนุกรรมการ ฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้นไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการ ฯ ต่อไป


 


ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้นำแนวทางที่เสนอ เป็นกรอบในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ


 


 


เรื่องเพื่อพิจารณาเร่งด่วน ในการประชุมประกอบด้วย 1) กรณีปัญหาการตัดฟันทำลายยางพาราของชาวบ้านในตระ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดจำนวน 75 คน เมื่อชาวบ้านทราบก็ได้เข้าล้อมเจ้าหน้าที่ที่หน่วยป่าไม้ในชุมชน และสุดท้ายได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันทั้งหมด 4 ข้อ พร้อมกับลงนามในบันทึกดังกล่าวของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์เกิดระหว่างช่วงวันที่ 26-28 มี.ค.52


 


ที่ประชุมมีมติให้ติดตามการแจ้งหนังสือเวียนและพิจารณาการแจ้งหนังสือเวียนถึงส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากร โดยด่วน ตามการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มี..52 ที่มีมติให้ดำเนินการแจ้งหนังสือเวียนถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ผ่อนผันให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีปกติไปพลางก่อน


 


2) กรณีการดำเนินโครงการพัฒนาป่าไม้ บ้านห้วยระหงส์ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีการขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เพื่อดำเนินการสร้างสำนักงานโครงการที่บริเวณทางเข้าบ้านห้วยระหงษ์ โดยมีการตัดไม้ธรรมชาติและแผ่วถางพื้นที่กว่า 99 ไร่ ทำให้มีการคัดค้านของชาวบ้าน ต่อมาวันที่ 31 มี.ค.52 ชาวบ้านได้เข้าร่วมประชุมกับหัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง และมีมติให้ยุติโครงการ


ที่ประชุมมีการเสนอให้ระงับโครงการไม่ให้มีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ ยกเลิกโครงการ ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง


 


3) กรณีการจับกุมราษฎรในพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาตินันทบุรี จ.น่าน เมื่อวันที่ 20 มี.ค.52 มีการจับกุมชาวบ้าน 2 ราย คือ นายศรีจันทร์ สุพรรณ และนายสม ธรรมไท ทั้งสองอาศัยอยู่ บ้านกาไส ม.8 ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันทำไม้ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไม้ท่อนหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน


 


ที่ประชุมมีมติว่า เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มี..52 เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายคดี ดังนั้นจะประสานงานสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบประสานงานการแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการชี้แจงว่าสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินทำกินชาวบ้านทำประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องในลักษณะไร่หมุนเวียน /ไร่เหล่า


 


4) กรณีการยึดพื้นที่ของชาวบ้านในพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่กกฝั่งซ้าย จ.เชียงราย มี 2 กรณี คือ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.52 ที่ ต.แม่กรณ์ จนท.ป่าอนุรักษ์ที่15 และ จนท.สวนป่าต้นน้ำดอยช้าง ได้เข้าไปสร้างความเข้าใจผิด โดยออกประกาศเสียงตามสายว่าการเรียกร้องแก้ไขปัญหาที่ดินของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จ.เชียงราย ขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องโฉนดชุมชนไม่มี กฎหมายรองรับ และขอให้ชาวบ้านระวังการถูกหลอกลวง และกรณีบ้านแควัวดำ ต.แม่ยาว วันที่ 6 เม..52 จนท.ป่าไม้พร้อมหัวหน้าอุทยานฯ ลำน้ำกก เข้าไปคุยกับผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับทำบันทึกให้ผู้ใหญ่บ้านลงลายมือชื่อเซ็นเอกสาร โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นบันทึกอะไร


 


นายสมเกียรติ ใจงาม อนุกรรมการคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานกล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสองกรณี จะเห็นได้ว่าภาครัฐเข้าไปแทรกแซงกระบวนการการดำเนินงานตามแนวทางของคณะกรรมการอำนวยการฯ โดยการกล่าวหา ข่มขู่ ขาดการส่งเสริม มุ่งใช้มาตรการปราบปราม มากกว่าการสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในท้องถิ่น


 


ที่ประชุมมีมติให้ติดตามการแจ้งหนังสือเวียน ตามคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มี..52 ที่ให้ดำเนินการแจ้งหนังสือเวียนถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่องให้ผ่อนผันให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีปกติไปพลางก่อน และพิจารณาการแจ้งหนังสือเวียนถึงส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากร โดยด่วน


 


5) กรณีการใช้กำลังข่มขู่ราษฎรที่เข้าตรวจสอบพื้นที่สัญญาเช่า อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.52


ชาวบ้านได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อสำรวจขอบเขต และสภาพการทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่สัญญาเช่าบริเวณสวนป่าของเอกชน เพื่อเตรียมการจัดทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ที่จะหมดสัญญาเช่า ต่อมาวันที่ 4 เม.ย.52 มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร กว่าร้อยคน เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ พร้อมกับใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับชาวบ้าน ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมเจรจากับผู้แทนฝ่ายราชการโดยมีนายอำเภอเข้าร่วม และมีข้อยุติร่วมกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอโทษชาวบ้าน


 


เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น มีมูลเหตุสำคัญมาจากหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ได้รับทราบ คำสั่ง มติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่มีการตกลงร่วมกันในวันที่ 11 มี.ค.52 เรื่องให้ผ่อนผันให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีปกติไปพลางก่อน ที่ประชุมจึงมีมติให้ติดตามการแจ้งหนังสือเวียน และพิจารณาการแจ้งหนังสือเวียนถึงส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากร โดยด่วน


 


ส่วนมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการฯ มีการจำแนกปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้เป็น 4 ระดับ ดังต่อไปนี้


                       


1) กรณีพื้นที่ที่มีกระบวนการสำรวจข้อมูลพื้นที่ การกำหนดขอบเขตที่ดิน และวางแผนการจัดการที่ดินแล้ว ให้มีการรับรองแผนการจัดการทรัพยากรและที่ดินขององค์กรชุมชน เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องการจัดทำโฉนดชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ประกอบด้วย 1.กรณีเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง 2.กรณีการขออออนุญาตใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติย่านยาว- เขาวง อ.พระแสง จ.สุราษฎ์ธานี 3.พื้นที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จำนวน 377 ชุมชน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน พะเยา 4.กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 5. กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และ 6.กรณีป่าสงวนแห่งชาติน้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์


 


2) กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่แล้ว ให้ดำเนินการต่อเนื่องและให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ประกอบด้วย 1.กรณีปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 2.กรณีปลูกสร้างสวนป่าต้นน้ำเซินทับที่ทำกิน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 3.กรณีสวนป่าโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 5.กรณีป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ


 


3) กรณีราษฎรที่ถูกอพยพ แล้วไม่สามารถทำกินในที่ดินเดิมได้ ให้จัดหาที่ดินทดแทนเพื่อพัฒนาเป็นโฉนดชุมชน และตั้งกองทุนจัดหาที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในรูปแบบธนาคารที่ดิน ในกรณีพื้นที่ที่ไม่สามารถจักหาที่ดินทดแทน และไม่สามารถกลับเข้าที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยเดิมได้ ประกอบด้วย 1.กรณีการอพยพราษฎรชาวบ้านห้วยโป่ง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 2.กรณีการอพยพราษฎรออกจากพื้นที่บ้านห้วยหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์


 


4) กรณีพื้นที่ที่หมดอายุสัญญาเช่า ให้ชุมชนสามารถเข้าทำประโยชน์ และอาศัยได้ตามวิถีชีวิตอันเป็นปกติ ประกอบด้วย 1.ชุมชนบ้านลำนางรอง บ้านโคกเพชร บ้านหนองเสม็ด บ้านคลองโป่ง บ้านคลองหิน และสมาชิกเครือข่ายชุมชนบ้านโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์


 


มติที่ประชุม เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด 14 ชุด 14 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมการฯ และจะมีการลงนามแต่งตั้ง โดยให้เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการดำเนินการร่างคำสั่งแต่งตั้งเพื่อนำเสนอ ประธานที่ประชุม ภายใน 2 วันนับตั้งแต่วันประชุม


 


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด นายสุวิทย์ คุณกิตติ ประธานคณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอว่า ในกรณีปัญหาต่างๆ ที่น่าจะมีข้อมูลครบถ้วนอยู่แล้วหากให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาโดยให้เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะอนุกรรมการฯ รวบรวมข้อมูลจากฝั่งราชการและฝั่งชาวบ้านเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหา หากไม่สามารถตัดสินใจได้ก็ให้ส่งต่อ คณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการอำนวยการฯ และคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไป เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว


 


ทำให้ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินที่เข้าร่วมในการประชุมต้องขอเวลานอกเพื่อประชุมหารือกันกว่า 10 นาที ก่อนที่จะได้ข้อสรุปยืนยันให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่และจัดทำแผนพัฒนาโฉนดชุมชน ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงกว่าจะได้ข้อสรุป


 


นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้ เป้าหมายของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ คือการสร้างกลักประกันความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกรในนามโฉนดชุมชน ซึ่งเครือข่ายได้มีการกลงร่วมกันกับรัฐบาลจนเกิดกลไกในการแก้ปัญหาร่วมในทุกระดับ ดังนั้นกระบวนการแก้ปัญหาทั้งหมดจึงต้องเป็นไปตามหลักการดังกล่าวหากมีข้อติดขัดในเรื่องระเบียบกฎหมาย การดำเนินการใดๆ ต้องใช้นโยบาย ปัญหาความเดือดร้อนและประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เอากฎหมายมาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเช่นในอดีต ซึ่งทำให้เรื่องต่างๆ ไม่สามารถหาข้อยุติได้


 


ด้านนายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่าการประชุมที่มีการตั้งคณะทำงานฯ ในวันนี้เหมือนเป็นสูตรสำเร็จ แต่ไม่รู้ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ว่าไว้ทั้งในเรื่องโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน หรือการคุ้มครองพื้นที่เกษตร ได้หรือไม่ และสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจคือการที่ท่านรัฐมนตรี ประธานในที่ประชุมกล่าวว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ แต่อำนาจหน้าที่ต่างๆ อยู่ที่กรมป่าไม้ ทั้งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดถือเป็นฝ่ายนโยบายสูงสุดของแต่ละจังหวัด แต่กลับไม่เกี่ยวกับพื้นที่ในเขตป่า


 


"หากนายอำเภอ ผู้ว่าฯ ในพื้นที่ยังไม่เกี่ยว แล้วนับประสาอะไรกับนาย ก. นาย ข. นาย ค. ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม" นายบุญกล่าว


 


ตรงนี้ถือเป็นการมองแบบแยกส่วนสังคม ออกจากป่า ออกจากที่ดิน แล้วยึดรวมศูนย์อำนาจ ทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยาก อีกทั้งมองได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ และการใช้ที่ดินทางการพัฒนาร่วมกับกลุ่มทุน โดยส่งเสริมสิทธิของปัจเจก ไม่เห็นความสำคัญของสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิร่วมของสังคมที่ซ้อนทับอยู่กับสิทธิของปัจเจก


 


"หากรวมศูนย์อำนาจจากข้างบน การเมืองของประชาชนจะไม่มีจริง" นายบุญแสดงความเห็น พร้อมเสริมว่า


แนวทางของเครือข่ายฯ ต้องการสร้างสิทธิชุมชนให้เป็นจริง การรวมศูนย์การออกนโยบายหรือการตัดสินใจให้อยู่ที่กรมหรือกระทรวงในส่วนกลาง ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วสั่งการตรง ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปสังคม การเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการเพื่อชีวิต เพื่อปากท้องของพวกเขาจริงๆ


 


นายบุญกล่าวด้วยว่า การปฏิรูปที่ดินไม่ใช่แค่ตีกรอบวางตารางบนที่ดิน แต่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับความรู้ การผลิต วัฒนธรรม การตลาด เรืองสิทธิ ไปจนถึงการเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งทุกส่วนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกัน เพื่อการไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น และการแก้ปัญหาที่ดิน ไม่มีทางแก้ไขได้ด้วยการส่งเสริมอำนาจเบ็ดเสร็จของหน่วยงานราชการส่วนกลางโดยที่คนเล็กคนน้อยไม่ได้เข้าไปมีสิทธิมีส่วนอย่างแท้จริง เป็นการไปรวมศูนย์อำนาจที่อธิบดีกรมในส่วนกลางเหมือนเช่นที่เคยๆ เป็นมา และในทีสุดชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่รอดของพวกเขาเอง


 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการประชุมของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในคณะต่างๆ ไปแล้ว 5 คณะ และในวันนี้ (8 เม.ย.) จะมีการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดสุดท้าย คือ คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทาง การปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน โดย นายสาทิยต์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้แทนเครือข่ายฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ อาทิ ศึกษาแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน มาตรการทางภาษี การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ


 


 


           


คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2552


ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552


เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


 


นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นรองประธาน รัฐมนตรีและ ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคประชาชน เป็นกรรมการ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่


 


1.     กำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณ ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนโยบายรัฐบาล


 


2.     อำนวยการ เร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งนี้


 


3.     แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานหรือบุคคล เพื่อช่วยเหลือ หรือปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย


 


4.     เชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและบุคคลเข้าร่วมประชุม ชี้แจงให้ข้อมูลหรือจัดส่งเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา


 


5.     ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย


 


000


 


คำสั่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


ที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552


เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ


 


นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่ง ที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รวม 6 คณะ ซึ่งหนึ่งในคณะอนุกรรมการดังกล่าว ได้แก่ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อการเกษตรกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทน ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตัวแทนภาคประชาชน เป็นอนุกรรมการ อธิบดีกรมป่าไม้กรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่


 


1. ตรวจสอบข้อเท็จจริง แก้ไขปัญหาและ/หรือเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามกรอบนโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการกำหนดภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง


 


2. เชิญผู้แทนส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหา


 


3. มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามความเห็นของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


 


4. รายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคให้คณะกรรมการฯ ทราบ ภายใน 15 วัน


 


5. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย


 


ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการฯ เริ่มดำเนินการภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net