บทบาทของภาครัฐ ท้องถิ่นและภาคประชาชน ในการแก้ไขวิกฤติหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ตอนที่ 1

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552 คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ จัดการเสวนาวิชาการหัวข้อ "บทบาทของภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาชน ในการแก้ไขวิกฤติหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่" ที่ห้องประชุมใหญ่ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

 

โดยในเวลา 9.45 น. มีการปาฐกถา เรื่อง "ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนจากปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่" โดย ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่

 

ดร.ดวงจันทร์ กล่าวว่า การพูดเรื่องปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่การพูดเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการพูดเรื่องอากาศที่เป็นสิ่งค้ำจุนชีวิต เพราะเราหายใจไปทุกวินาที เป็นสิ่งที่เราขาดไมได้แม้แต่วินาทีเดียว จำเป็นต้องให้ความสำคัญ

 

มลพิษทางอากาศกับปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันหยุด เพราะปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิชาการ แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม และไม่ใช้คำว่า "ปัญหาหมอกควัน" เนื่องจากปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่มีตามฤดูแค่ 4 เดือน เป็นช่วงฤดูกาล แต่เชียงใหม่มีปัญหามลพิษทางอากาศทั้งปี

 

สิ่งที่พูดถึงกันตอนนี้คือ เชียงใหม่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่า 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งมีเล็กกว่าขนาดเส้นผมจนมองไม่เห็น แต่ว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในอากาศนั้น แม้แต่ในช่วงที่ไม่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่ฝุ่นละอองที่นักวิชาการตรวจพบมีความเป็นพิษแม้แต่ในฤดูฝน แม้ระดับจะไม่สูงแต่ก็เป็นพิษ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญทั้งปี ไม่ใช่ให้ความสำคัญแค่ช่วงหมอกควันและแล้ง เพียงแต่ฤดูแล้งปัญหามลพิษทางอากาศเข้าขั้นวิกฤตเพราะมองเห็นมลพิษด้วยตาเปล่า

 

ในปี 2550 มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM10 ที่ 382 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษไม่ให้เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยากเรียนว่าเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อน เชียงใหม่มีการสะสมมลพิษทางอากาศบริเวณขอบฟ้า ถ้าฝนไม่ตกมันก็จะสะสมไปเรื่อยๆ เราจึงเห็นท้องฟ้าเชียงใหม่มีสีเทาหรือสีน้ำตาล ถ้าเราใช้ดอยสุเทพเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ ในยามที่อากาศดี ไม่มีปัญหาหมอกควัน เราจะเห็นดอยสุเทพชัดเจน แต่วันใดมีมลพิษทางอากาศจะมองไม่เห็นดอยสุเทพ มีทัศนวิสัยไม่ดี แสดงว่าวันนั้นมีการเผา และเกิดมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก

 

นอกจากนี้ ภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียม ที่ถ่ายภาพสะท้อนความร้อนของผิวดิน (Hot Spot) จากการเผา จะพบว่าปัญหาการเผาไม่ได้เกิดในเชียงใหม่พื้นที่เดียว เกิดทั้งในจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่สามารถให้เพื่อนบ้านแก้อย่างเดียวได้ เพราะการเผาเกิดในบ้านเราทุกวัน แม้แต่ในวันที่เกิดภาวะวิกฤตก็ยังมีการเผาตลอดเวลา

 

สาเหตุของหมอกควัน มาจากการเผาทุกประเภท เผาใบไม้ กิ่งไม้ การเผาในไร่นา สมัยที่ดิฉันเด็กๆ เราไม่ต้องเผาเพราะชาวนาทำนาปีละหน แต่ปัจจุบันมีการทำเกษตรเข้มข้น จากที่คุยกับเกษตรกรเขาบอกว่า เขาต้องทำนาหลายครั้ง การฟันตัดมันทำให้เกิดตอซังข้าวที่สูง จึงเกิดการเผา

 

นอกจากนี้การเก็งกำไรที่ดินทำให้เกิดที่ดินรกร้างว่างเปล่า ถ้าเจ้าของบ้านที่มีที่ดินติดกับที่รกร้าง ก็กลัวไฟไหม้บ้านตัวเอง ก็ชิงเผาไว้ก่อน การกำจัดขยะในครัวเรือนด้วยการเผา เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้จัดเก็บขยะ

 

วิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลง การใช้ปราสาทเผาศพที่สร้างด้วยโฟม โดยแต่เดิมนั้นทางเหนือผู้ที่จะเผาศพพร้อมปราสาท ได้แก่ เจ้า พระผู้ใหญ่ และคนที่อายุเกิน 80 โดยคนที่อายุเกิน 80 สามารถใช้ปราสาทเผาศพได้เพราะอายุเกินพระพุทธเจ้า แต่ตอนนี้เป็นการค้าก็ใช้กันทุกคน มีการจุดพลุให้เกิดควันสีต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ประเพณีที่ควรสืบทอด มีเมรุเผาศพที่ไม่ได้มาตรฐาน แม้แต่เมรุของเทศบาล

 

นอกจากนี้ก็การปล่อยโคมไฟ สมัยก่อนมีแต่โคนลอย แต่เดี๋ยวนี้ก็ปล่อยกันเป็นงานอดิเรก กินขันโตกก็ปล่อย ประชุมอะไรก็ปล่อย แล้วการจุดพลุเฉลิมฉลอง มีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งที่ จ.ลำพูน แจ้งว่าเพิ่งมีการประชุมหน่วยงานไป แล้วจุดพลุเฉลิมฉลอง ปรากฏว่าเกิดฝุ่นละอองขนาดใหญ่สูงขึ้นจริงๆ ในวันรุ่งขึ้น และการก่อสร้างทุกประเภทก็ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดใหญ่

 

สิ่งที่ไม่ได้พูดกันมากคือ การเผาไหม้ในเครื่องยนต์ ก็มีส่วนสำคัญ เรามักโทษการเผาในที่โล่ง แต่การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ทำให้เกิดมลพิษชั้นต้นที่พัฒนาเป็นมลพิษชั้นสองได้

 

เมื่อปี 2550 วันที่อากาศวิกฤตสุดคือวันที่ 13 มีนาคม มีการผลักดันและขอให้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติในวันที่ 19 หลังจากห้ามเผาทุกชนิด ค่าฝุ่นละอองก็ลดลงอย่างรวดเร็ว แสดงว่าการเผามีผลต่อปัญหาหมอกควันในพื้นที่จริงๆ การใช้มาตรการห้ามเผาทุกประเภทซึ่งทำให้ค่าฝุ่นละอองลดลงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกรงกระทบการท่องเที่ยวจึงยกเลิกในวันที่ 22 มีนาคม วันรุ่งขึ้นค่ามลพิษทางอากาศก็เพิ่มขึ้น แสดงว่าการเผาในพื้นที่ก็มีผลด้วย

 

เมื่อศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ในช่วงมกราคม ถึงเมษายน โดยเฉพาะเดือนเมษายน เป็นช่วงที่เราประสบปัญหาวิกฤตทุกปี ตั้งแต่ฝนหยุดตกตั้งแต่พฤศจิกายนมันเกิดการสะสมมลพิษทุกปี เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองแอ่งกระทะ ในช่วงที่ค่ามลพิษต่ำไม่ได้แปลว่าอากาศดี

 

ค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM10 ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นค่าที่กรมควบคุมมลพิษของประเทศไทยประกาศ แต่ค่าที่สหภาพยุโรป (EU) หรือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศไม่ให้ค่า PM10 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง แสดงว่าในช่วงที่เราคิดว่าอากาศดี จริงๆ แล้วมันบั่นทอนสุขภาพเรา โดยที่เราไม่วิตก ยังใช้ชีวิตปกติ

 

ซึ่งขณะนี้นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังผลักดันให้ลดค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษลง เพราะค่ามลพิษในเชียงใหม่ยังเกินกว่าค่ามาตรฐานของ EU และ WHO หลายเท่ามาก และแต่ละปีก็มีค่าเกินมาตรฐานนี้หลายวัน

 

ที่ต้องห่วงใยเรื่องนี้ เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กทำร้ายระบบทางเดินหายใจ ค่าฝุ่นขนาดใหญ่ที่เกิดจากการก่อสร้าง และพื้นผิวจราจร มันเข้ามาในร่างกาย โพรกจมูกมีขนจมูก เมื่อเกิดระคายเคืองก็มีสร้างเมือกและเกิดจาม ก็กันไม่ให้ฝุ่นขนาดใหญ่เข้าไปในระบบทางเดินหายใจส่วนใน แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กหายใจเข้าไปแล้วไม่ออกมา มันจะติดในปอดและถุงลม และจากการตรวจสุขภาพประจำปีของดิฉัน แพทย์ตรวจพบว่าปอดของดิฉันมัว และไม่ได้เป็นคนเดียว แต่ บุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายท่านก็พบอาการนี้ และท่านที่ร่วมประชุมในทีนี้หากไปตรวจก็อาจพบเช่นกัน

 

เรากำลังพบว่าช่วงที่อากาศมีปัญหานี้ มีผู้เสียชีวิตจากปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบเยอะมาก และเชิงการแพทย์บอกว่าถ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กหลุดเข้าไปในหลอดเลือด จะทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดอุดตัน และหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

ผลการศึกษาของ นพ.พงษ์เทพ วิวัฒนเดช พบว่าคนที่หายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไป อีก 2 วันจะเกิดอาการเจ็บคอ อาการนี้สัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่วัดได้ และจะมีชีพจรเต้นเร็วขึ้นในช่วง 1 วันหลังจากที่มีการหายใจเอาอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไป โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ หัวใจทำงานหนักก็คงแย่ แม้แต่เราที่ปกติก็รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วปกติ นพ.พงษ์เทพ ยังค้นพบอีกว่า อาการเท้าบวมก็สัมพันธ์กับอากาศด้วยด้วย เพราะคนที่เป็นโรคหัวใจจะเท้าบวม เท้าบวมก็สัมพันธ์กับค่ามลพิษในอากาศ

 

สิ่งที่เราห่วงใยคือ สถิติผู้ป่วยมะเร็งปอดในเชียงใหม่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2545 ประชากร 100,000 คน มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 27.7 ราย และในปี 2548 จำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด เพิ่มเป็น 58 รายต่อประชากร 100,000 คน โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภีบอกว่ามีผู้ป่วยมะเร็งปอดมารักษาตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน แสดงว่าในรอบ 365 วัน จะมีผู้ป่วยอีก 365 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะเราเป็นเมืองท่องเที่ยว

 

จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าถ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กมีการเพิ่มขึ้น 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น

 

ในปี พ.ศ. 2550 มีผู้การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลเชียงใหม่รามให้ข้อมูลว่าปกติในเดือนเมษายนไม่เคยมีผู้ป่วยเต็ม แต่ในปี พ.ศ. 2550 นั้นมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเต็มทุกห้อง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ แล้วที่เราเป็นห่วงก็คือเด็กของเรา ซึ่งถ้าปอดของเขาได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กเด็กๆ ก็จะทำให้ปอดจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลต่อความสามารถในการหายใจและความสามารถในการทำกิจกรรมก็จะไม่เหมือนคนปกติ

 

จากการทำวิจัย 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก แสบตา น้ำมูกไหล หายใจไม่ออก อีกทั้งมีผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่าจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจของจังหวัดเชียงใหม่นั้นสูงกว่าค่ามาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับโลก สถิติของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดของจังหวัดเชียงใหม่สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ และสูงที่สุดในกลุ่มเมืองใหญ่ จะเป็นรองเพียงจังหวัดลำปางที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

ในช่วงที่มีปัญหาหมอกควันนั้นไลเคน หรือที่เรียกว่าขี้ไคลคู่ ตาย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งโดยการที่ไลเคนตายแสดงว่าอากาศมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต พื้นที่โล่งไลเคนตายเยอะกว่าพื้นที่ๆ มีต้นไม้ อาจแสดงว่าต้นไม้ดูดซับควัน

 

สำหรับมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องยนต์นั้นสามารถพัฒนาระดับความรุนแรงให้สูงขึ้นได้เมื่อเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับอากาศและตัวทำละลายในอากาศ จนเกิดอนุภาคขนาดเล็กเพิ่มขึ้น

 

หลายท่านอาจถามว่ากรุงเทพฯ มีรถยนต์เยอะกว่าเราทำไมปัญหาเราหนักกว่า นั่นเพราะกรุงเทพมีลมบกลมทะเล ถึงแม้เชียงใหม่มีลมภูเขาแต่ก็ถูกปิดกั้นด้วยอาคารสูง ภูเขาลงภูเขา อีกทั้งมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นซึ่งเราไม่ได้ความสำคัญในมลพิษจากส่วนนี้ เพราะเราเน้นส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว อีกทั้งในช่วงเวลาที่มีคนเดินทางมาเชียงใหม่เป็นจำนวนมากอย่างงานรับปริญญา หรืองานราชพฤกษ์ก็จะมีฝุ่นละอองขนาดเล็กจะสูงขึ้นทุกครั้ง ทำให้มลพิษทางอากาศสูงมากกว่าค่าปกติ ผลเสียที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2550 นั้นได้ลามมาถึงในปีนี้คือการที่มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจมากขึ้น นอกจากนี้มีคนสังเกตว่าน้ำในแม่น้ำ หรือในบึงมีฝ้าน้ำมัน แสดงว่าการเผาไหม้ของป่าถูกจุดด้วยน้ำมันซึ่งเกิดจากฝีมือคน เพราะป่าเราไม่ใช่ป่าสนอย่างในต่างประเทศที่ความร้อนถึงจุดหนึ่งจะเกิดไฟป่าขึ้นเองได้ หรือว่าฟ้าผ่าจนทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้ ซึ่งควันจากการเผาป่านั้นย่อมจะส่งผลต่อทัศนวิสัยในการบิน รวมถึงทำให้แสงแดดลดลงส่งผลต่อการทำเกษตรทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนผลกระทบการท่องเที่ยวเราไม่ต้องพูดถึง ที่เราห่วงคือสุขภาพของพวกเรา ในอนาคตคน เชียงใหม่ต้องแบกออกซิเจนไว้หายใจตลอดเวลาหรือ

 

ดิฉันได้ศึกษาว่าทำไมคนชอบเผา ซึ่งก็พบว่าหลักสูตรของเมืองไทย หนังสือเรียนอย่างน้อย 12 เล่มบอกว่าการเผาเป็นการกำจัดขยะที่ถูกวิธี เพราะฉะนั้นคนที่เผาจึงไม่ได้คิดว่าทำเรื่องผิด ก็ได้มีการเสนอให้มีการแก้เนื้อหาแต่ก็ไม่ได้ผล อีกส่วนหนึ่งคือการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทุกแห่ง ไม่จัดเก็บใบไม้ กิ่งไม้ บางแห่งไม่จัดเก็บขยะด้วย ทำให้ชาวบ้านต้องกำจัดเอง ไม่มีระบบขนส่งขยะที่ดี เวลามีปัญหาขยะหลายท่านบอกเผาสิจะได้หาย แต่เราไม่ทราบถึงผลที่เกิดขึ้นจากการเผา ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ไม่ค่อยเชื่อมักบอกว่าเผามาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว

 

การเผาทุกชนิดสัมพันธ์กับปัญหาโรคร้อน มันทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งอยู่ในบรรยากาศ 200 ปี บรรพบุรุษที่เผาทำให้เราเกิดปัญหาโลกร้อนแล้ว ทั้งนี้ก๊าซเรือนกระจกไม่ได้มีแต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น ก๊าซมีเทนที่กักเก็บความร้อนก็เป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน น้ำมันจากพืชทำให้เกิดไนตรัสออกไซด์กักเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 200 เท่า ซึ่งการเผานั้นส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนเอาไว้ในชั้นบรรยากาศไม่สามารถสะท้อนออกไปไม่ได้ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำเปลี่ยน ความเป็นกรดด่างน้ำทะเลเปลี่ยน และทำให้อากาศแปรปรวน ฝนตกหนักผิดปกติ เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นสภาพที่ใกล้ตัวเรามากเลย เราเกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกที่ผิดปกติ มันมีปรากฏการณ์นี้หลายร้อยปี ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ได้

 

ทั้งนี้การที่น้ำแข็งละลายลงสู่ทะเลทำให้สามารถเก็บความร้อนได้มากขึ้น ทำให้เกิดพายุที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาเกิดพายุหมุนในอ่าวไทยแล้วทั้งๆ ที่ไม่เคยเกิด หรือพายุหมุนนาร์กีสใกล้เชียงใหม่มาก หากมองในแผนที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถรับมือกับมันได้หรือไม่หากเกิดภัยพิบัติระดับนี้ เราต้องคิดให้ดีเพราะความสูญเสียมากมายประเมินค่าไม่ได้ ทั้งชีวิต ที่อยู่อาศัย ผลผลิตทางการเกษตร

 

การเผาไหม้ในชีวิตประจำวันของเราได้ทำให้คนที่อยู่บนที่สูงที่อาศัยหิมะละลายทำน้ำจืด เริ่มขาดน้ำแล้ว

มีนักวิทยาศาสตร์เตือนแล้วว่าเรามีเวลา 10 ปีในการแก้ไขโดยจะต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenience Truth ซึ่งบอกไว้ว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก่อน 2555 จะสายไม่ทันการณ์ ถ้าถึงจุดวิกฤตเราจะแก้ไขอะไรไม่ได้ ธรรมชาติจะปรับเอง น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม ภัยแล้ง โดยตอนนี้กระทบประเทศไทยแล้ว ซึ่งหมุดเขตกรุงเทพมหานครถูกรุกไปแล้ว 1 กิโลเมตร และประเทศไทยจะประสบสภาพฝนแล้งแน่นอน นอกจากนี้ยังจะทำให้โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นได้ง่าย โดยในตอนนี้ได้มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ฉะนั้นมนุษย์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งหมอกควันที่เราพูดถึงนั้นไม่ควรจะพูดถึงแค่ 90 วันอันตรายเท่านั้นแต่ต้องพูดถึงทั้งปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท