Skip to main content
sharethis

 



ไม่ใช่แค่คนดีๆ ที่หาเช้ากินค่ำอย่างสุจริตเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกระลอกล่าสุด ที่ญี่ปุ่นทุจริตชนคนนอกกฎหมายอย่าง "ยากุซ่า" ทั้งลูกกระจ๊อกคอปกน้ำเงิน หรือผู้บริหารระดับกลางคอปกขาว ก็กลายเป็นคนตกงานไปด้วยเช่นกัน  (ที่มาภาพ: AFP)


โตเกียว (AFP) - พวกเขาเคยทำเงินจาก ธุรกิจค้ากาม, ยาเสพย์ติด และการพนัน แต่ต่อมาเมื่อได้ไปลงทุนในตลาดทุนมูลค่ามหาศาล ปัจจุบันยากูซ่าญี่ปุ่นกำลังอยู่ในภาวะหลังพิงฝาเมื่อเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ


เช่นเดียวกับธุรกิจถูกกฎหมายที่พวกเขาได้เข้าไปคุกคาม มาเฟียญี่ปุ่นก็กำลังถูกบีบรัดจากภาวะหดตัวอย่างหนักของเศรษฐกิจในรอบสิบปี กำไรหดหาย การบริหารจัดการผิดพลาดอย่างที่ไม่ควรจะเป็น


หนึ่งในผู้ประสบเคราะห์ ทาโร่ ฮิรามัตสุ (Taro Hiramatsu) ผู้ที่มีรอยสักมากมาย ได้จบอาชีพยากูซ่าเมื่อย่างถึงวัย 50 ปี 


"ยากูซาได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินคราวนี้ เพราะพวกเขาเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น" ฮิรามัตสุอดีตรองหัวหน้าแก๊งค์ยากูซ่าแห่งหนึ่งกล่าว โดยเขาถูกให้ออกจากแก๊งค์ของเขามาเมื่อปีที่แล้ว


 "สำหรับยากูซ่าในวันนี้ เงินซื้อได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใหญ่ๆ" ฮิรามัตสุ - ซึ่งใช้นามแฝง ในการสัมภาษณ์กับ AFP ครั้งนี้


 "ในอดีต ตำแหน่งที่คุณจะได้มานั้น ก็เมื่อคุณแสดงให้เห็นความกล้าหาญและเสียสละ รวมทั้งต้องพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อกลุ่มของคุณ" เขากล่าว


ทั้งนี้อาชีพของเขาต้องสะดุดลงเมื่อเงินสดขาดมือ และเขาไม่อาจจะหาเงินส่งให้แก๊งได้ถึงเดือนละ 30,000 ดอลลาร์อีกต่อไป


นอกจากนั้นพวกหัวหน้าของแก๊งค์ยากูซ่าต่างๆ ในระดับกลางราวหนึ่งในสามต้องตกงานเมื่อปีที่ผ่านมา บางคนเหลือเพียงรอยสักเครื่องหมายของยากูซาบนหน้าอก ซึ่งไม่สามารถลบออกได้


"เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่องค์กรใช้โอกาสในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาปรับลดตำแหน่งต่างๆ ในแก๊ง" เจค อาเดลสไตน์ (Jake Adelstein) อดีตผู้สื่อข่าวอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุน (Yomiuri Shimbun) และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องยากูซา


 "ไม่เคยมีใครได้ยินหรอกว่าแก๊งค์ยากูซ่ามีการปลดคนออกด้วย" อาเดลสไตน์ กล่าว


กลับไปที่ฮิรามัตสุ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก เขาใช้เวลาว่างในการเรียนคอมพิวเตอร์ และเล่นกีตาร์ เขาไม่อยากพูดถึงเรื่องราวในอดีตมากนัก


เขาเป็นพวกหัวเก่า มีรอยสักรูปซามูไรถือดาบที่แผ่นหลัง ส่วนที่แขนของเขามีรอยสักรูปดอกซากุระสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของญี่ปุ่น


ในปีที่การส่งออกทรุดและราคาหุ้นในญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกดิ่งเหว บรรษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายต่างติดเลขตัวแดง ฮิรามัตสุกล่าวกลุ่มยากูซ่าทั้งหลายจะต้องกลับไปหาแก่นแท้ดั้งเดิมของพวกเขา


"ผมคิดว่ายากูซาส่วนใหญ่กำลังครุ่นคิดว่าทิ้งค่านิยมแบบเก่าแล้วหันไปหาค่านิยมของทุนนิยมมาใช้ดีหรือไม่" ฮิรามัตสุกล่าว


"จิตวิญญาณบูชิโด ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของซามูไร หายไปหมดแล้ว และมันไม่แค่จะส่งผลเสียต่อยากูซาเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงญี่ปุ่นโดยรวมอีกด้วย"


ยากูซ่านั้นมีรากฐานสืบทอดมาจากพวกซามูไรในญี่ปุ่น แต่เริ่มออกนอกลู่นอกทางเมื่อยุคเอโดะ ในศตวรรษที่ 17 เริ่มทำผิดกฎหมายด้วยการหาเงินจากการพนัน การค้าประเวณี และการปล่อยเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง รวมทั้งการเก็บค่าคุ้มครอง


 


ทั้งนี้พวกเขาเองก็ดำเนินกิจกรรมอย่างเปิดเผย มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองและกลุ่มล็อบบี้ต่างๆ ซึ่งตำรวจเองก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพวกเขามากนัก ตราบใดที่พวกเขาทำกิจกรรมอยู่ภายในแวดวงของตนเอง และไม่ก่ออาชญากรรมบนท้องถนนมากนัก


บางครั้งที่ตำรวจต้องออกล่าสมาชิกบางคนของยากูซ่าบ้างพอเป็นพิธี แต่แก๊งค์ยากูซ่าก็ไม่ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย มีการเปิดสำนักงานหลายแห่งอย่างเปิดเผย และมีผู้ที่คลั่งไคล้พวกยากูซามากจนมีการนำเรื่องราวไปเขียนเป็นการ์ตูนและมีการจัดตั้งแฟนคลับในนิตยสารบางฉบับอีกด้วย


จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าปัจจุบันมีสมาชิกในองค์กรอาชญากรรมประมาณ 82,600 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นคนของแก๊งยามากูชิ-กูมิ (Yamaguchi-gumi) ในเมืองโกเบ (Kobe) โดยแก๊งค์นี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น "วอลมาร์ทแห่งวงการอาชญากรรม"


ทั้งนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในปี 1992 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายใหม่จัดการกับแก๊งค์อิทธิพลเหล่านี้ โดยจับกุมเหล่าหัวหน้าแก๊งค์ที่ปล่อยให้ลูกน้องทำผิดกฎหมาย


และยากูซ่าเองก็ปรับตัวไปเป็นคอปกขาว ด้วยการทำอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเงิน อาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ และการขู่เรียกเงินจากบรรษัทระดับบลูชิพในตลาดหุ้น


ผู้เชียวชาญด้านองค์กรอาชกรรม ระบุว่า พวกยากูซ่าเองก็ได้นำเงินกำไรกลับไปลงทุนในตลาดหุ้น ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจบันเทิงและสื่อ และการลงทุนในต่างประเทศ


จนเมื่อญี่ปุ่นมีการผ่อนคลายข้อกำหนดด้านการเงิน หลังจากฟองสบู่แตกในในช่วงทศวรรษ 1990 นำญี่ปุ่นสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แก๊งค์ยากูซ่าก็ได้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้าและทำธุรกิจเหมือนบริษัททั่วไป


อาเดลสไตน์กล่าวว่าปัจจุบันบางแก๊งค์คล้ายกับบรรษัทถูกกฎหมายยักษ์ใหญ่ไปแล้ว


"คนทั่วไปจะคิดว่าพวกยากูซ่าคือพวกที่ถือดาบ มีรอยสักเต็มตัวและก็นิ้วขาด" เขากล่าว "แต่ตอนนี้คุณต้องคิดใหม่ เพราะยากูซ่าสมัยใหม่คือพวกโกลด์แมน แซคที่ถือปืนดีๆ นี่เอง"


ยากูซ่ายังกำลังก้าวไปเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นรายใหญ่ที่สุด มีปริมาณเงินสดหมุนเวียนที่มากพอให้พวกเขา "ทำอะไรก็ได้ ตามที่พวกเขาต้องการ" อาเดลสไตน์กล่าว โดยเขาประเมินว่ารายได้รวมของแก๊งค์ยากูซ่าน่าจะสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์


"พวกเขาเก่งเรื่องการพนันอยู่แล้ว และตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เหมือนกับกาสิโนใหญ่ๆ เสียด้วย"


"พวกเขายังมีบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทสอบบัญชีเป็นของตัวเอง พอมีเงินเข้ามาก็เอาไปลงทุนต่อ พวกเขาชนะ"


โทโมฮิโกะ ซูซูกิ (Tomohiko Suzuki) นักเขียนและอดีตผู้สื่อข่าวของนิตยสารยากูซ่า กล่าวว่ามี 50 บริษัทแถวหน้า ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นและตลาดหุ้นแนสแดคในนิวยอร์ค


ส่วนอีกประมาณ 1,000 บริษัท ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นเฉพาะในโตเกียว ที่ทำธุรกิจตั้งแต่จัดงานศพ จัดงานแต่งงาน ทั้งนี้การบริหารจัดการของเหล่ายากูซ่า ก็มีผู้นำไปเขียนเป็นหนังสือด้านการบริหารหลายเล่มแล้ว โดยเล่มหนึ่งเขียนโดยอดีตหัวหน้าแก๊งค์ยามากูชิ-กูมิ ซึ่งติดคุกอยู่ในขณะนี้


อาเดลสไตน์เสริมว่า เหตุผลที่ทำให้พวกเขามีการบริหารจัดการที่ทรงพลังมากขนาดนี้ ก็เพราะว่าเขานั้นเปี่ยมไปด้วยความรุนแรง ล่วงละเมิดผู้อื่นอย่างรุนแรงนั่นเอง ส่วนฮิรามัตสุ ผู้ซึ่งได้เดินออกมาจากวงจรความรุนแรงนั้นกล่าว่า "ผมหวนคิดถึงวันเก่าๆ" เขากล่าว "แต่ผมก็ยังไม่ชอบใจมันด้วยเช่นกัน ผมไม่คิดว่าผมเหมาะกับการเป็นยากูซ่าประเภทใหม่นี้"


……
ที่มา
:


http://news.yahoo.com/s/afp/20090420/lf_afp/financeeconomyjapancrimeyakuza_20090420073839


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net