Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุภัตรา ภูมิประภาส" เขียนด้วยความคิดถึง "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" .. "มีเดียมอนิเตอร์" และ "นักวิชาการสื่อสารมวลชน"

 

คิดถึง "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ"

คิดถึง "มีเดียมอนิเตอร์"

คิดถึง "นักวิชาการสื่อสารมวลชน"

 

ในสถานการณ์อึมครึมของข่าวการปลด "บก.เสื้อแดงฯ" ข่าวนักการเมืองไม่พอใจการ์ตูนล้อการเมืองจนต้องร้องเรียนสภาการหนังสือพิมพ์ รวมถึงสถานการณ์การวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอข่าวแบบเลือกข้างของสื่อกระแสหลักต่างๆ ชวนให้ผู้เขียนต้องย้อนไปอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" ที่ออกมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2551 โดย"คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์คุกคามสื่อในขณะนั้นไว้ว่า

 

"...ในช่วงหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงท่าทีกดดันสื่อมวลชนที่มีจุดยืนแตกต่างจากกลุ่มการเมืองในฝั่งรัฐบาล ทำให้สื่อมวลชนเกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง และขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระ บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายก็จะลดหรือละเลยบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลและการเป็นกระจกสะท้อนความคิดความต้องการของสาธารณชนลงไป และให้ความสำคัญกับการทำสื่อเพื่อเอาตัวรอดทางธุรกิจเป็นหลัก สังคมประชาธิปไตยไทยอาจจะเดินเข้าสู่ความตกต่ำและเกิดวิกฤติศรัทธาและความชอบธรรมทางการเมืองได้"

 

"สาธารณชนย่อมมีความคาดหวังต่อรัฐบาลประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลเผด็จการ ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลประชาธิปไตยก็มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้สาธารณชน ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และสื่อมวลชนได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าจะสามารถทำหน้าที่ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับรัฐบาลได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ยึดหลักวิชาการและวิชาชีพของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ ได้มากกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่ด้อยกว่ารัฐบาลเผด็จการ" (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=11487&Key=HilightNews )

 

สถานการณ์ที่ฝ่ายเสื้อแดง และอีกหลายฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวของสื่อยังชวนให้ผู้เขียนคิดถึงกลุ่ม "มีเดียมอนิเตอร์" ที่เคยติดตามนับจำนวน ทำสถิติความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาอย่างแข็งขัน

 

ในสถานการณ์เช่นนี้  "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" และ "มีเดียมอนิเตอร์" รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน หายไปไหนกัน? 

 

นับตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ขึ้นบริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้งแตกขั้วทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และการเลือกข้างที่ชัดเจนมากขึ้นของสื่อสารมวลชนทุกแขนงนั้น  ทั้ง"คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" และ "มีเดียมอนิเตอร์" รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกลับหายเงียบไปไม่ออกมาทำหน้าที่ตักเตือน ตรวจสอบการแทรกแซงสื่อของรัฐบาลและการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนเช่นที่เคยทำในรัฐบาลที่ผ่านมา

 

สมาชิกของกลุ่ม "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" และกรรมการของมีเดียมอนิเตอร์บางคนไปปรากฎชื่ออยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆที่เป็นกลไกของรัฐ รวมทั้งในคณะกรรมการนโยบายของทีวีไทย ทีวีสาธารณะที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการเป็นกระบอกเสียงของรัฐฯในสถานการ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งล่าสุด

 

เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์สั่งปิดสื่อทุกประเภทของฝ่ายเสื้อแดง ทั้งสถานีเคเบิลทีวี ดี-สเตชั่น สถานีวิทยุชุมชน และเวบไซด์   "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" และ "มีเดียมอนิเตอร์" ที่เคยห่วงใยสถานการณ์การคุกคามสื่อในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา หายเงียบไปแบบปิดหู ปิดตา ปิดปาก

 

"คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" และ "มีเดียมอนิเตอร์" รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่เคยแสดงความห่วงใยกับการผลิตซ้ำภาพความรุนแรงเมื่อสถานีเอ็นบีทีนำภาพที่กลุ่มนักรบศรีวิชัยพร้อมอาวุธบุกรุกสถานีฯมาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก  แต่ "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" และ "มีเดียมอนิเตอร์" รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กลับปิดหู ปิดตา ปิดปาก กับการที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และทีวีไทย ทีวีสาธารณะนำภาพความรุนแรงที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกรุกสถานที่ประชุมอาเซียน ซัมมิทที่พัทยา และเหตุการณ์รุมทุบขบวนรถนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย มาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกมากครั้งยิ่งกว่า

 

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รายการ "ความจริงวันนี้" ในช่วงรัฐบาลชุดที่ผ่านมาว่าเป็นการใช้สื่อของรัฐสร้างความแตกแยกในสังคม แต่ "นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกลับ ปิดหู ปิดตา ปิดปาก กับรายการ "ลงเอย...อย่างไร" ที่กำลังออกอากาศเพื่อความแตกแยกยิ่งขึ้นอยู่ขณะนี้

 

ด้วยเห็นว่า "คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ" และ "มีเดียมอนิเตอร์" รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ปิดหู ปิดตา ปิดปาก เว้นวรรคการทำหน้าที่กันมานานเกินควร

 

จึงเขียนถึง ด้วยความคิดถึงจริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net