Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความจาก "ประวิตร โรจนพฤกษ์" ว่าด้วยคำถามที่เสื้อแดงต้องตอบให้ได้ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป

 
ประวิตร โรจนพฤกษ์


หนึ่งเดือนผ่านไปหลังเหตุการณ์เมษาเลือด ถือได้ว่า แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในการเผยแพร่บทเรียนของตัวเองให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจแก่สาธารณชนในวงกว้าง นอกจากการออกมาให้สัมภาษณ์เพียงไม่กี่ครั้งของแกนนำบางคน
 
คำถามสำคัญที่คนเสื้อแดงต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนการเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งต่อไปก็คือ จะทำอย่างไรให้การต่อสู้ของพวกเขาเป็นไปอย่างสงบ ดำเนินไปอย่างเป็นประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการชุมนุมด้วย และสิ่งที่ยากยิ่งกว่านั้นคือ การพัฒนาให้การต่อสู้ของพวกเขา ก้าวพ้นไปกว่าคำว่า “สู้เพื่อทักษิณ” และเปลี่ยนไปเป็น “สู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง” 
 
หากคนเสื้อแดงต้องการพัฒนาขบวนการของพวกเขาให้เป็นขบวนการเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง พวกเขาจะต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ เลิกมีมุมมองอย่างสุดขั้วและตื้นเขิน อย่างการมองว่า เหล่าชนชั้นศักดินา ทหาร และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็น “ศัตรู” และ “ปีศาจ" เพราะถึงแม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาต้องเลวอย่างสัมบูรณ์ และคนเสื้อแดงเองที่ต่อต้านเผด็จการ ก็ไม่ใช่จะดีประเสริฐเช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่สีขาวกับดำ
 
นอกจากนี้ การมีมุมมองต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองว่าเป็น “ศัตรู” ก็ยังทำให้เกิดความคิดที่ตามมาว่า ไม่ว่าคนเสื้อแดงจะนำวิธีการใดมาจัดการกับปีศาจตนนี้ ก็ถือว่าไม่ผิดและสามารถนำมาใช้ได้ทั้งสิ้น นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะความหลากหลายทางความคิดเป็นของคู่กันกับระบอบประชาธิปไตย แค่การคิดต่างกัน ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้มนุษย์เกลียดชังกัน และถึงขั้นลุกขึ้นมาฆ่าแกงกัน 
 
จริงอยู่ที่ในการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา ชาวเสื้อแดงผู้มาชุมนุมส่วนใหญ่ดำเนินการชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ แต่นั่นคงไม่เพียงพอสำหรับวิถีแห่งสันติวิธี
 
การชุมนุมโดยดำเนินตามสันติวิธีจะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อผู้ชุมนุมมีจิตใจสงบและมีทัศนคติที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งที่ผ่านมาคือ การปราศรัยที่โจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงตลอดเวลา เวทีคนเสื้อแดงจึงกลายเป็นเพียงเวทีแห่งความเกลียดชังทางการเมืองเท่านั้น

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงนั้น ทัศนคติที่พึงมีสำหรับผู้ที่ต้องการยึดถือสันติวิธีคือ เราต้องไม่มองผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองว่าเป็นศัตรู และมองอย่างอาฆาตเกลียดชัง จนถึงขั้นเห็นว่าเขาสมควรตาย หรือไม่เป็นไรถ้าเขาจะตายไปซะ เพียงเพราะว่ามีความเห็นทางการเมืองที่ต่างออกไป

ถึงแม้ว่าสันติวิธีท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้จะเกิดได้ยาก แต่ถึงแค่ความพยายามที่จะทำให้เกิดสันติก็เป็นสิ่งที่มีค่ามากแล้ว เพราะมันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการต่อสู้ทางการเมือง ที่มีความสงบ เป็นอารยะมากขึ้น
 
ในประเทศเกาหลีใต้นั้น การประท้วงที่รุนแรงได้ทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิในการชุมนุมประท้วง ส่วนในประเทศไทย การชุมนุมของคนเสื้อแดงและพันธมิตรฯ ก็ได้ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกำลังพิจารณาจะนำมาตรการที่ลิดรอนสิทธิการชุมนุมมาใช้เช่นกัน และถ้ามีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิในการชุมนุมออกมาบังคับใช้แล้วละก็ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมิใช่แค่คนเสื้อแดง หรือคนเสื้อเหลืองเท่านั้น แต่กระทบถึงทุกๆ คนที่คิดจะทำการชุมนุมประท้วง
 
คำถามข้อถัดมาที่คนเสื้อแดงควรตอบตัวเองให้ได้คือ พวกเขาจะทำอย่างไร ให้การชุมนุมครั้งต่อไปมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
 
ในการชุมนุมเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น แกนนำ นปช.ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการนำชุมนุมอย่างเป็นประชาธิปไตย แกนนำมักตัดสินใจเรื่องต่างๆ กันตามลำพังเท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลย และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ การตัดสินใจบางอย่างอาจมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรงเพียงคนเดียว นี่จึงเป็นการนำการชุมนุมที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย เพราะมีแต่การสั่งการแบบบนลงล่างเพียงอย่างเดียว

การชุมนุมที่มีแต่คำสั่งจากบนลงล่างดังกล่าว ได้ทำให้คนส่วนล่างซึ่งนำด้วยคนขับแท็กซี่จำนวนหนึ่ง นำคนไปล้อมปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อย่างไรก็ดี พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่มีวิธีการสื่อสารที่ดีกับแกนนำ นปช. จนทำให้ผู้ชุมนุมบางคนในบริเวณนั้นบอกกับผู้เขียนว่า แกนนำ นปช.ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย 
 
ในการชุมนุมที่ผ่านมาไม่นาน ผู้ร่วมชุมุนมคนหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า คนเสื้อแดงมักชอบที่จะแสดงความเห็นและแสดงออกอย่างรุนแรง แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยที่พวกเขาหวนหา แต่ถึงอย่างนั้น คนเสื้อแดงซึ่งประกอบไปด้วยชนชั้นล่างและผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นผู้ที่เราน่าจะฝากความหวังไว้ให้มากกว่าคนชั้นกลางผู้ซึ่งไม่เคยจดจำบทเรียนที่เขาได้รับจากการสนับสนุนเผด็จการ สังคมจึงควรจะอดทนรอความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากคนเสื้อแดงผู้มีการศึกษาน้อยกว่าชนชั้นกลางผู้สนับสนุนเผด็จการเหล่านี้ 
 
แต่ในที่สุดแล้ว แม้ว่าคนเสื้อแดงจะสามารถตอบคำถามทั้งสองข้อได้ คนเสื้อแดงก็ยังต้องพบกับปัญหาข้อสำคัญนั่นคือ ทักษิณ! 
 
การโค่นล้มทักษิณโดยการรัฐประหารในปี 2549 ได้ปลุกให้คนจนชนชั้นผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรจำนวนมาก รวมถึงชนชั้นกลางผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารจำนวนหนึ่ง ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านเหล่าศักดินาและอำมาตย์ในวันนี้ อย่างไรก็ตาม หากแกนนำ นปช.ยังปล่อยให้การใช้ความรุนแรงคงอยู่ต่อไป โดยไม่คิดแก้ไขแล้ว ความหวังที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากความตื่นตัวดังกล่าวก็คงจะลอยไปกับสายลม
 
ถ้าหากคนเสื้อแดงยังไม่สามารถที่จะจัดการกับประเด็นทักษิณให้ขาวสะอาดได้แล้ว มันคงยากที่จะคาดหวังให้มีคนมาสนับสนุนเคนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นอีก การจะทำเช่นนี้ได้ ต้องเริ่มจากการยอมรับก่อนว่า ทักษิณได้เคยทำความผิดไว้ ทั้งในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหลังจากนั้น แต่การยอมรับว่าทักษิณเคยทำความผิดก็ไม่ได้แปลว่าเรื่องทุกอย่างจะจบ หากแต่มันเป็นก้าวแรกในการพิสูจน์ให้เห็นว่า คนเสื้อแดงมีความตั้งใจที่จะก้าวให้พ้นไปกว่าคำว่า "ม็อบเพื่อทักษิณ"
 
จะดีหรือไม่ ถ้าหากคนเสื้อแดงได้หลุดจาก "ม็อบเพื่อทักษิณ" ซึ่งทำให้คนเสื้อแดงถูกตราหน้าว่าเป็นการชุมนุมที่ถูกบงการและจ้างโดยทักษิณให้มาก่อความรุนแรง  
 
และสำหรับผู้ที่เรียกตนเองว่า "หัวก้าวหน้า" พวกเขามักให้เหตุผลในการสนับสนุนคนเสื้อแดงว่า เมื่อเทียบทักษิณกับเหล่าศักดินาชนชั้นสูงแล้ว ทักษิณถือได้ว่ามีความชั่วร้ายน้อยกว่า
 
พันธมิตรฯ ก็ใช้หลักคิดเช่นเดียวกับพวกเขาเช่นกัน หากแต่เป็นไปในทางตรงกันข้าม ซึ่งการคิดของพันธมิตรฯ ก็ได้ทำให้พวกเขาเห็นดีเห็นชอบไปกับการทำรัฐประหารในปี 2549
 
แต่ในที่สุดแล้ว เช่นเดียวกับที่ของฟรีนั้นไม่มีในโลก ทักษิณก็ไม่เคยให้เงินสนับสนุนใครฟรีๆ เช่นกัน
 
 
หมายเหตุ:
บทความของประวิตร โรจนพฤกษ์ เผนแพร่ครั้งแรกใน The Nation
แปลเรียบเรียงโดย ทวีพร คุ้มเมธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net