ยอดขายวิทยุกระฉูด ชาวบ้านแห่ฟังข่าวออง ซาน ซูจี - พม่าจับกุมผู้ประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐ

มีรายงานว่า ยอดขายวิทยุในเมืองกะเลเมียว และ เมืองทามู ภาคสะกาย ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของพม่า พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวบ้านพากันซื้อวิทยุเพื่อฟังข่าวการพิจารณาคดีนางออง ซาน ซูจี ด้านเจ้าหน้าที่พม่าจับครอบครัวชาวพม่ารายหนึ่งหลังยืนประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงย่างกุ้ง

ยอดขายวิทยุกระฉูด ชาวบ้านแห่ฟังข่าวซูจี
มีรายงานว่า ยอดขายวิทยุในเมืองกะเลเมียว และ เมืองทามู ภาคสะกาย ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของพม่า พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวบ้านพากันซื้อวิทยุเพื่อฟังข่าวการพิจารณานางซูจี

เจ้าของร้านขายวิทยุแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยขายวิทยุได้แค่เดือนละ 3 เครื่องเท่านั้น แต่ปัจจุบันขายได้ถึงวันละประมาณ 5 เครื่อง เนื่องจากประชาชนต้องการติดตามข่าวการพิจารณาคดีนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีจากสำนักข่าวต่างประเทศ อย่างเช่น สำนักข่าว BBC สำนักข่าวThe Voice of America (VOA) และสำนักข่าว Radio Free Asia's (RFA) มากกว่ารับฟังจากสื่อของรัฐบาลพม่า

ผู้หญิงคนหนึ่งในพื้นที่เปิดเผยว่า “ฉันยอมขายไก่เพื่อนำเงินไปซื้อวิทยุราคาเครื่องละ 8,000 จั๊ต (258 บาท) ขณะเดียวกัน ฉันซื้อหนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่ามาอ่านทุกวันแต่ก็ไม่ได้เชื่อข้อมูลในนั้น ตรงกันข้าม ฉันกลับเชื่อในสิ่งที่สำนักข่าวVOA สำนักข่าวBBC และสำนักข่าว RFA รายงานมากกว่า ฉันติดตามข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศเหล่านี้ที่ออกอากาศเป็นประจำเวลา 18.00 น.”

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ผู้หญิงในพม่าจำนวนมากต่างวิตกกังวลกับสถานการณ์ของนางซูจีในขณะนี้ ผู้หญิงหลายคนต่างร่วมสวดมนต์ทั้งเช้าและเย็น เพื่อให้นางซูจีได้รับการปล่อยตัวในเร็ววัน

“ฉันวิตกกังวลเรื่องของนางซูจีมาก และฉันได้แต่สวดมนต์ให้เธอมีสุขภาพแข็งแรง และได้รับชัยชนะจากการพิจารณาคดีในครั้งนี้ เพราะนั่นหมายถึงรัฐบาลพม่าจะไม่สามารถทำสิ่งเลวร้ายกับนางซูจีได้อีก” หญิงคนหนึ่งกล่าว

มีรายงานว่า ประชาชนในรัฐชินเองก็ให้ความสนเกี่ยวกับข่าวการไต่สวนนางซูจีอยู่ไม่น้อย ชาวบ้านบางส่วนเดินทางไปยังรัฐมิโซรัม ฝั่งอินเดียเพื่อหาซื้อเครื่องรับวิทยุเช่นเดียวกัน

ชาวบ้านคนหนึ่งในรัฐชินกล่าวว่า “เราอยู่ในเขตชนบท วิทยุจึงเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรารับรู้ข่าวสารได้ แต่ก็จำเป็นต้องซ่อนวิทยุเมื่อมีทหารพม่าเข้ามาในพื้นที่ของเรา แต่เราก็พบว่า แม้แต่ครูในโรงเรียนก็หมุนหาคลื่นสถานีข่าวต่างประเทศอย่างสำนักข่าว BBC สำนักข่าว VOA และสำนักข่าว RFA เช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลพม่าสั่งห้ามประชาชนในประเทศรับฟังข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง สำนักข่าว BBC สำนักข่าว VOA และสำนักข่าวRFA แต่กลับมีรายงานว่า ครอบครัวของทหารพม่าบางส่วนก็แอบติดตามข่าวสารจากสำนักข่าวต่างประเทศเหล่านี้อย่างลับๆ เช่นเดียวกัน (ที่มา/สำนักข่าว Khonumthung 3 มิ.ย.52)
 

ทางการพม่าจับกุมผู้ประท้วงหน้าสถานทูตอเมริกา
ชาวบ้านในเมืองบาฮาน เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.00 ของวันที่ 4 มิถุนายนทางการพม่าได้จับกุมครอบครัวชาวพม่าครอบครัวหนึ่ง หลังยืนประท้วงรัฐบาลพม่าหน้าสถานทูตอเมริกันในกรุงย่างกุ้ง

ครอบครัวดังกล่าวมีทั้งหมด 5 คน เป็นเด็กจำนวน 3 คน โดยทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมหลังยืนประท้วงหน้าสถานทูตอเมริกาเป็นเวลา 15 นาที พร้อมชูป้ายที่เขียนข้อความว่า “พ่อของพวกเราถูกจับอย่างไม่ยุติธรรม ปล่อยพ่อของเราเดี๋ยวนี้!”

หลายคนเชื่อว่า ครอบครัวนี้อาจเป็นญาติหรือเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวคนใดคนหนึ่งที่ถูกทางการพม่าจับกุมตัวในข้อหาเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้านี้

ขณะที่การพิจารณาคดีนางอองซาน ซูจีจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 5 มิถุนายนเวลา 15.00 น. โดยทางการพม่ายอมให้พยานของนางซูจีจำนวน 3 คนเข้าให้การในชั้นศาลได้อีกครั้งตามคำขอ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทางการพม่าได้ตัดสิทธิ์พยานทั้งสามปาก เนื่องจากต้องการเร่งรัดปิดการพิจารณาให้เสร็จสิ้นเร็วขึ้น (Irrawaddy, DVB 4 มิ.ย.52)
 

นักเรียนในรัฐมอญลาออกกลางคันเพิ่มขึ้น
ผลพวงจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และสภาพครอบครัวที่ยากจน ส่งผลให้นักเรียนในรัฐมอญลาออกกลางคันเพื่อหางานทำมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปีการศึกษา 2552 – 2553 จำนวนนักเรียนในโรงเรียนหลายแห่งในรัฐมอญลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้พบว่า ตัวเลขนักเรียนในชั้น 7 ถึงชั้น 10 ในโรงเรียนหลายแห่งในรัฐมอญลดลงจากปีที่แล้วถึง 10 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนที่ลาออกส่วนใหญ่มีมีฐานะยากจนและแบกรับค่าใช้จ่ายที่ทางโรงเรียนเรียกเก็บไม่ไหว ถึงแม้รัฐบาลพม่าจะประกาศให้นักเรียนเรียนฟรีก็ตาม

เจ้าหน้าที่จากโรงเรียนแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า “มีนักเรียนลดลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ถึงแม้ทางโรงเรียนจะไม่เรียบเก็บค่าใช้จ่ายมากนักก็ตาม ขณะที่เมื่อปีที่แล้วเรามีนักเรียนจำนวน 940 คนในชั้น 10 แต่ปีนี้เหลือ เพียง 800 คนเท่านั้น”

เช่นเดียวกับครูชั้นประถมคนหนึ่งจากเมืองตานพยูซยัดเปิดเผยว่านักเรียนในโรงเรียนของเธอลดลงกว่าครึ่ง

ด้านผู้ปกครองคนหนึ่งในเมืองมุดง กล่าวว่า “ลูกชายของฉันกำลังจะขึ้นชั้น 7 ในปีนี้ แต่ฉันไม่สามารถส่งเสียให้เขาเรียนจบได้ ฉันจำใจต้องบอกให้เขาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยทำนา ลูกๆ ของเพื่อนฉันก็ต้องออกจากโรงเรียนไปหางานทำในประเทศไทยเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ในปี 2550 รัฐบาลพม่ามีความพยายามที่จะให้โรงเรียนทำการสอนพิเศษให้กับนักเรียนในระดับชั้นประถมโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากนักเรียนได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการสร้างอาคารเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น นอกจากนี้นักเรียนยังต้องซื้อหนังสือเรียนจากทางโรงเรียน จึงทำให้พ่อแม่บางส่วนไม่สามารถหาแบกรับภาระดังกล่าวและทำให้นักเรียนบางส่วนจำใจลาออกจากโรงเรียนทั้งที่ยังเรียนไม่จบ (ที่มา/IMNA 3 มิ.ย.52)

ที่มา: รวบรวมโดย ศูนย์ข่าวสาละวิน www.salweennews.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท