Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ประชุมการพิสูจน์ทราบตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกับผู้แทนจากกองทัพเรือ กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร กรมประมง กรมศิลปากร และภาคเอกชน เพื่อหารือการปฏิบัติงานพิสูจน์ทราบตู้คอนเทนเนอร์ ที่อ่าวแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เป็นประธานในที่ประชุม

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เปิดเผยว่า ทีมงานกำหนดจุดที่จะดำน้ำเพื่อพิสูจน์ทราบตู้คอนเทนเนอร์ ในพื้นที่ 3 จุด คือ 1. อ่าวแสมสาร 2. ตู้คอนเทนเนอร์ใต้เกาะจวงระยะทาง 60 ไมล์ทะเล หรือจุดตู้คอนเทนเนอร์ที่มีคนล่ำลือว่าเห็นผี และ 3. ตู้คอนเทนเนอร์อื่นๆ ที่ยังรอดีเอสไอรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้ชี้แจงอุปสรรคในการออกเรือช่วงมรสุม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทีมนักประดาน้ำ ทำให้ที่ประชุมมีมติเลื่อนการพิสูจน์ตู้คอนเทนเนอร์ออกไปเป็นเดือน ต.ค. โดยในระหว่างนี้ทีมนักประดาน้ำกองทัพเรือจะได้ฝึกฝนวิธีการใช้งานเครื่องตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสี จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ แถลงผลการประชุมว่า ภารกิจใหญ่คือการส่งเรือ 4 ลำ พร้อมคณะสื่อมวลชนและคณะทำงานชุดใหญ่ไปสำรวจทราบตู้คอนเทนเนอร์ในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อให้หมดหน้ามรสุม ส่วนภารกิจรองที่จะเริ่มงานในสัปดาห์หน้า คือการจัดส่งทีมงานชุดเล็ก ซึ่งรับผิดชอบโดยนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร่วมกับกองทัพเรือ เป็นทีมงานสำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อสำรวจให้ชัดเจนว่าไม่มีอันตรายต่อทีมงานชุดใหญ่ ทั้งนี้จะมีการนำกล้องบันทึกภาพใต้น้ำลงไปสำรวจบริเวณช่องของตู้คอนเทนเนอร์ที่ผุกร่อนเพื่อสำรวจสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ ในส่วนของดีเอสไอจะรับผิดชอบการรวบรวมข้อมูลสิ่งที่เป็นอันตรายเพิ่มเติมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและกรมประมง

“ที่ประชุมวันนี้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสิ่งที่อาจจะอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ทำให้การกำหนดนโยบายเปลี่ยนไป โดยตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษได้ให้ข้อมูลว่า มีอนุสัญญากรุงบรัสเซล ในการที่จะประสานกับหน่วยงานอื่น ทำให้เราได้ทราบว่าสิ่งที่อยู่ในตู้นั้นอาจจะเป็นอะไรได้บ้าง เกี่ยวกับตู้ฯ ว่ามีความเป็นไปได้อะไรบ้าง แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราต้องเตรียมคือเกี่ยวกับสารอันตราย ดังนั้นจึงมีการปรับแผนการดำเนินการเล็กน้อย คือ 1. พิสูจน์ทราบไว้ก่อนว่ามีสารอันตรายหรือไม่ และ 2. เนื่องจากเป็นช่วงมีมรสุม ดังนั้นยุทธการใหญ่เต็มทีมที่จะไปพิสูจน์ตู้ คาดว่าจะมีข้อขัดข้องเนื่องจากเรือที่จะออกแต่ละลำมีค่าใช้จ่าย และไม่สามารถประเมินว่าจะออกติดๆ กันได้หรือไม่

วันนี้โดยสรุปในเบื้องต้น ดีเอสไอในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากทางกระทรวงฯ ก็จะไปทำการรวบรวมข้อมูลของการนำสิ่งที่เป็นอันตรายเข้ามา มีอะไรบ้าง จุดอ่อนซึ่งยังมีข้อขัดข้องทางกฎหมาย เช่น เมื่อมีการบังคับให้ออกไปแล้ว ยังไม่ได้ทราบว่ามีการเอาออกไปจริงหรือจะรู้ได้อย่างไรว่าเอาออกไปจริงหรือเปล่า อันนี้ดีเอสไอจะเอาไปประสานกับหน่วยต่างๆ อาจจะมีทั้งกรมท่าเรือ และกรมศุลกากร ส่วนที่ 2 การเตรียมการเพื่อพิสูจน์ทราบสิ่งที่เป็นอันตราย เพื่อเตรียมการพิสูจน์ใหญ่ หน่วยงานใหญ่คงจะเป็นกรมควบคุมมลพิษซึ่งจะมีหน่วยที่ช่วยตรวจพิสูจน์คือกรมประมงและกองทัพเรือ แต่ทีมที่จะลงไปตรวจเป็นทีมนักดำน้ำมี 2 ทีม คือ ของ ดร.ธรณ์ กับทีมทหารเรือ คาดว่าจะไม่ต้องรอทีมใหญ่ แต่จะขอรับการสนับสนุนเรือ จากกองทัพเรือที่แสมสาร จัดทีมเล็กลงไป เก็บตัวอย่างมาพิสูจน์ ส่วนภาพใหญ่ คงต้องรออีกสักครั้งหนึ่ง ตามเงื่อนไขเรื่องอากาศ คำว่าเลื่อนไปก่อน อยู่บนพื้นฐานว่าเราไม่ทราบความแน่นอนของอากาศ ประกอบกับต้นทุนในการออกเรือแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ภารกิจสมบูรณ์มันสูงมาก จึงควรใช้จ่ายงบประมาณให้มีคุณค่ามากที่สุด” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวและว่า แม้ภาระกิจใหญ่จะเลื่อนออกไปแต่จะไม่ชะลอภารกิจรอง และจะหารือว่าจะสำรวจสิ่งอันตรายในอาทิตย์หน้าได้หรือไม่

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อไปว่า นายธรณ์ ได้ไปพบกับนักดำน้ำมาแล้ว ซึ่งยืนยันว่าตู้มีรูจริง ดังนั้นคราวหน้าที่นายธรณ์ จะดำน้ำไปเก็บตัวอย่าง ตนจะขอให้นายดรล์ รัตนทัศนัย ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพใต้น้ำ นำกล้องไปด้วยเลย เผื่อว่าจะได้เก็บภาพว่ามีอะไรอยู่ข้างในบ้าง

ด้านตัวแทนจากกองทัพเรือ กล่าวว่า ทางกองทัพเรือรับผิดชอบด้านการสนับสนุนการปฏิบัติการทางทะเล โดยจัดเรือ 4 ลำ เป็นเรือที่มีขีดความสามารถในการค้นหาหรือตรวจสอบวัตถุใต้น้ำ ประกอบด้วยเรือหลวงบางระจัน เรือหลวงพฤหัสบดี และเรือที่เป็นฐานสำหรับนักประดาน้ำ คือเรือมันนอก ส่วนการปฏิบัติการช่วงนี้ต้องคำนึงถึงมรสุม หากออกปฏิบัติช่วงคลื่นลมแรงอาจจะทำให้การปฏิบัติการมีประสิทธิภาพต่ำ ไม่คุ้มงบประมาณ จึงอาจจะต้องมีการปรับแต่ช่วงแรก

ด้าน น.ส.ธีราพร วิริวุฒิกร ผอ.ส่วนของเสียอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ รับไปเช็คข้อมูลตามอนุสัญญากรุงบรัสเซล ในเรื่องการทิ้งสารพิษในทะเล ว่ามีสารพิษใดบ้าง และข้อมูลเรื่องการลักลอบนำเข้าและส่งออกของประเทศไทย ซึ่งมีการบังคับให้ชิปปิ้งส่งออกไป เราจะประสานข้อมูลจากดีเอสไอ และกรมศุลกากรเพื่อเช็คตู้คอนเทนเนอร์เพื่อดูของเสียนั้นๆ ดูเรื่องสารเคมีด้วย รวมทั้งเรื่องการสนับสนุนกรมประมงเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำในการวิเคราะห์สารต่างๆ

น.ส.ธีราพร กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่ไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญากรุงบรัสเซล ในปี 2541 ซึ่งสามารถตรวจสอบการลักลอบนำของเสียอันตรายเข้าประเทศได้ ได้พบกรณีถึง 7-8 กรณีที่ลักลอบนำของเสียอันตรายเข้าประเทศ เช่น แบตเตอรี่เก่า ซากรถยนต์ ยางรถยนต์ 5 ตู้ จากประเทศอังกฤษ โดยพบค้างอยู่ที่โกดังจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเดือนธันวาคม 2544 ระหว่างนั้นได้เข้าไปดูพร้อมกับกรมศุลกากร จากนั้นได้ติดต่อประเทศอังกฤษให้นำออกไป ในเดือนก.พ. 2546 ทั้งนี้ ไม่ได้บันทึกรายละเอียดของบริษัท แต่ได้บันทึกหมายเลขตู้ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนหลังกับกรมศุลกากรได้ นอกจากนั้นยังมีกรณี วัตถุจากประเทศญี่ปุ่น ปี 2545 เป็นจอคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว 2 ตู้ ซึ่งเราบังคับให้คนที่นำเข้าเอากลับไปกำจัดในประเทศ และมีกรณีตู้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่นำเศษเม็ดพลาสติกเข้ามา แต่ไม่ทราบจำนวนตู้เพราะกรมศุลกากรได้รื้อของออกจากตู้ใส่โกดัง อย่างไรก็ตาม มีการนำกลับออกไปในเดือน มิ.ย. 2547

น.ส.ธีราพร กล่าวต่อไปว่า ยังมีอีกกรณีที่พบขยะแผงอิเลคทรอนิคเป็นแผงวงจรเครื่องพิมพ์เกมส์ น้ำหนัก 46 ตัน ซึ่งตอนแรกกรมศุลกากร จะแทงจำหน่ายขายทอดตลาด แต่เราเห็นว่าชิปปิ้งควรนำส่งกลับ ทั้งนี้กรมศุลกากรยังไม่ได้แจ้งว่ามีการนำส่งกลับประเทศปลายทางแล้วหรือไม่

ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ได้แสดงความห่วงใยว่า ขยะอิเลคทรอนิคที่เข้ามานั้น จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ เพราะเกรงว่าอาจจะมีการลักลอบนำไปประกอบเป็นวัตถุในการก่อการร้ายภาคใต้ได้

ขณะที่ตัวแทนจากกรมศุลกากร กล่าวว่า เมื่อกรมศุลกากรตรวจพบวัตถุอันตรายดังกล่าวแล้วก็จะผลักดันโดยให้ตัวแทนที่รับผิดชอบนำกลับออกไป ถ้ามีการกระทำผิด เช่นนำตู้ไปทิ้งก็จะถูกดำเนินคดี แต่ปัญหาคือยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ประเทศปลายทางต้องแจ้งกลับมาที่เราว่าตู้นั้นได้กลับไปถึงประเทศปลายทางหรือไม่

ผู้แทนจากกรมศุลกากร กล่าวด้วยว่า ส่วนใหญ่เคมีภัณฑ์อันตรายเป็นเศษวัสดุอุตสาหกรรมซึ่งมีพิษจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ส่งมาโดยระบุว่า เป็นของใช้ทั่วไป หรือใส่ถังเหล็ก ถังพลาสติก แต่ไม่ค่อยมีสารกัมมันตะรังสี อย่างไรก็ตาม เคมีภัณฑ์เหล่านี้ ต้องใช้ต้นทุนสูงในการทำลาย จึงมักมีการลักลอบส่งเข้ามายังประเทศที่พัฒนาด้อยกว่า และจ้างบริษัทภายในประเทศเอาไว้รับของโดยตรง กรมศุลกากรจึงมีหน้าที่ตรวจสอบว่าภายในตู้มีของประเภทใดบ้าง ส่วนเรื่องตู้ที่อยู่ใต้น้ำนั้น จะต้องตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง

ด้านนายธรณ์ กล่าวว่า หากควบคุมมลพิษ สามารถตรวจสอบกับต่างประเทศ ตามอนุสัญญาบรัสเซล ได้ว่ามีสารเคมีประเภทใดที่เคยมีการลักลอบขนส่งเข้ามาก็จะเป็นการดี และอยากให้กรมศุลกากรและกรมควบคุมมลพิษตรวจสอบย้อนหลัง 25 ปี

ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ทางดีเอสไอยินดีตรวจสอบอย่างเต็มที่ว่าวัตถุในตู้คืออะไร หากน้ำไม่มีอันตรายก็น่าจะลงไปสำรวจ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง แต่เป็นฐานความผิดที่กำหนดโทษเป็นโทษปรับ จำคุก ก็จะมีอายุความ 10-15 ปี หากวัตถุมีอายุเกิน 20 ปี แล้วมีการลงทุนไปสำรวจ โดยที่การดำเนินคดีผูกโยงกับเรื่องอายุความ ก็ขอเรียนในที่ประชุมเพื่อประเมินการตัดสินใจ เพราะอาจพ้นวิสัยเรื่องอายุความ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net