มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เรียกร้องกลุ่มก่อความรุนแรงในภาคใต้ยุติใช้ความรุนแรง จี้ รบ. เจรจาทุกระดับ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ การลอบสังหาร การลอบวางระเบิด ต่อผู้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นการละเมิดต่อชีวิตและยังผลความสูญเสียต่อสังคมโดยรวม และเรียกร้องให้กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงยุติการใช้ความรุนแรง จี้รัฐบาลส่งสัญญาณสันติภาพ เจรจาทุกระดับ แก้ไขรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ระบุนับเป็นความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่าได้ จากการที่ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตบาดเจ็บอย่างโหดเหี้ยมโดยการกระทำของกลุ่มที่ก่อความรุนแรงในเหตุการณ์สามจังหวัด โดยเฉพาะความสูญเสียต่อครูและบุคคลากรของรัฐที่ทำงานด้านการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552 กรณีครูสตรีของโรงเรียนบ้านละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส คือ น.ส.จริยา สุวรรณเขต อายุ 30 ปี ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง และ น.ส.ภิวัลย์ สุวรรณเขต อายุ 27 ปี น้องสาวของ น.ส.จริยา ถูกสะเก็ดระเบิดตามลำตัวหลายแห่ง ทั้งคู่อาการค่อนข้างสาหัส แพทย์ต้องส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ภายหลังมีรายงานว่าอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว และเหตุการณ์เหตุซุ่มโจมตีอย่างโหดเหี้ยมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เป็นผลให้นางอัชราพร เทพษร ครูโรงเรียนบ้านดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ซึ่งตั้งครรภ์ 8 เดือน และนางวารุณี นวกะ ครูโรงเรียนริแง อ.จะแนะ จ.นราธิวาสเสียชีวิตยังความโศกเศร้าให้ครอบครัวและส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของครูและบุคคลกรทางการศึกษาในพื้นที่ฯ อย่างมาก อีกทั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2552 นายณัฐพล จะแน อายุ 42 ปี ครูโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 6 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ก็ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามเสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปโรงเรียน โดยในรอบ 5 ปีของความรุนแรงในสามจังหวัดมีรายงานว่าครูและบุคคลกรด้านการศึกษาเสียชีวิตแล้วเป็นศพที่ 113 แล้ว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอประณามการใช้ความรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ การลอบสังหาร การลอบวางระเบิด ต่อผู้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นการละเมิดต่อชีวิตและยังผลความสูญเสียต่อสังคมโดยรวม และเรียกร้องให้กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงยุติการใช้ความรุนแรง ขอให้ยึดแนวการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้กำลังอาวุธต่อประชาชนหรือผู้ที่ปราศจากอาวุธและสร้างสันติภาพด้วยการเจรจาเพื่อนำมาซึ่งข้อเรียกร้องทางการเมือง ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

มูลนิธิฯ แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียทุกกรณี และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขและป้องกันการปฏิบัติการด้วยความรุนแรงโหดเหี้ยมต่อครูและบุคคลากรของรัฐที่ไม่ได้ติดอาวุธ

นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "รัฐบาลต้องส่งสัญญาณสันติภาพ เจรจาทุกระดับ เสริมสร้างนิติรัฐให้เข้มแข็ง รับฟังความต้องการของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยการแก้ไขปัญหารากเหง้าปัญหาความขัดแย้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้”

อย่างไรก็ดี การปรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงก็มีความสำคัญ โดยฝ่ายความมั่นคงต้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชนมามีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชุมชนซึ่งอาจเป็นแนวทางวิถีชีวิตมุสลิม คือมีการจัดทำข้อตกลงเป็นกฎกติกาขึ้นมาดูแลพฤติกรรมของคนในชุมชนมุสลิมด้วยกัน ซึ่งภาษามลายูถิ่นเรียกว่า "กฎฮูกมปาก๊ะ" โดยประสานในการปฏิบัติเพื่อให้การทำงานด้วยความปลอดภัยเชิงรุกในระดับชุมชน ดังเช่นตัวอย่างที่ริเริ่มในจังหวัดยะลา เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท