Skip to main content
sharethis

 


กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเซลายา ถือรูปเขาขณะชุมนุมหน้าสถานฑูตสหรัฐฯ ในกรุงเตกูซิกาลปา เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา
(AFP/Elmer Martinez)

 


เซียวมารา คาสโตร เดอ เซลายา ภรรยาของมานูเอล เซลายา โอบกอดผู้ชุมนุมคนหนึ่งขณะเดินขบวน ในวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา
(AP Photo/Esteban Felix)

 

ฮิลลารีหนุน ปธน.คอสตาริกา เป็นคนกลางเจรจาความขัดแย้งระหว่างผู้นำฮอนดูรัส
หลังจากที่วานนี้ (7 ก.ค.) มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีของฮอนดูรัสผู้ถูกทำรัฐประหารได้เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าพบกับฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ทางด้านฮิลลารี่ ก็ได้ออกมาประกาศให้ออสการ์ อาเรียส (Oscar Arias) ประธานาธิบดีของประเทศคอสตาริกา และผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างเซลายา กับมิเชลเลตตี ผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสภาฯ หลังการรัฐประหาร

นางคลินตันบอกว่า เธอหวังว่าการเจรจาที่มีประธานาธิบดีอาเรียสร่วมเป็นตัวกลางสังเกตการณ์ด้วยนั้น อาจช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยและระเบียบตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ที่จะทำให้ประชาชนชาวฮอนดูรัสมองเห็นการฟื้นฟูของประชาธิปไตยและจะมีสันติเกิดขึ้นในอนาคต

เธอยังแสดงความเห็นด้วยว่า สำหรับเซลายาแล้ว การยอมเปิดเจรจาโดยมีตัวกลางเช่นนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการกลับไปเผชิญหน้ากลุ่มผู้ต่อต้านเขาในคณะรัฐบาลด้วยตนเอง เช่นที่เขาทำเมือช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยทั้งมิเชลเลตตี และเซลายา ต่างก็ตกลงที่จะให้ประธานาธิบดีคอสตาริกา ทำหน้าที่เป็นตคนกลางในการเจรจา

เซลายาบอกว่า เขารู้สึกยินดีกับการมอบหมายให้อาเรียสทำหน้าที่คนกลาง บอกว่าเขายอมรับในวาทศิลป์ของ "ศาสตราจารย์อาเรียส" และเสริมด้วยว่า "นี่แสดงให้เห็นว่าทางประชาคมโลกยังคงสนับสนุนประชาธิปไตยในฮอนดูรัส"

ส่วนมิเชลเลตตี ก็ออกมากล่าวผ่านรายการวิทยุของ HRN ว่า อาเรียสเป็นบุคคลผู้มีความน่าเชื่อถือมากในสายตาชาวโลก และกล่าวอีกว่าเขาพร้อมให้มีการเจรจา

โดยมิเชลเลตตียังบอกอีกว่าเขาจะส่งตัวแทนเจรจาไปยังคอสตาริกาโดยเร็วที่สุด ซึ่งกลับจากคำกล่าวเดิมของเขาเมื่อหลายวันก่อนหน้านี้ที่บอกว่า "จะไม่มีการเจรจาไกล่เกลี่ย จนกว่าประเทศจะกลับสู่สภาพปกติ" เขากล่าวต่อด้วยว่า การที่ยอมให้มีการเจรจาไม่ได้หมายความว่าจะยอมให้เซลายากลับประเทศ และระบุในการแถลงข่าวว่า การดำเนินการเจรจาโดยมีอาเรียสเป็นคนกลางในครั้งนี้จะต้อง "เริ่มจากการสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า จะไม่มีการเจรจาเรื่องการกลับประเทศของเซลายา"

ทางด้านตัวออสการ์ อาเรียส ก็ออกมาเปิดเผยว่าคู่ขัดแย้งสองรายนี้จะมาเจรจากันที่บ้านของเขาในซาน โฮเซ วันพฤหัส (9 มิ.ย.) นี้ โดยอาเรียสยังบอกอีกว่า ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายมีความตั้งใจจะดำเนินการเจรจา

ทางศาลสูงของฮอนดูรัสออกมาระบุในวันที่ 7 ก.ค. ว่า มีความเป็นไปได้สำหรับการนิรโทษกรรมทางการเมืองของเซลายา และมีประกาศออกมาอีกว่าสนามบินที่ถูกปิดไปเมื่อวันอาทิตย์ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมาจะเปิดทำการอีกครั้งในวันพุธ (8 มิ.ย.) นี้ อย่างไรก็ตามประกาศเคอร์ฟิวในประเทศจะยังคงมีต่อไป

ขณะที่คณะกรรมการระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) ออกมาประณามรัฐบาลชั่วคราวฮอนดูรัสเรื่อง "การใช้กำลังเกินจำเป็น" ในการสลายการชุมนุม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสองรายจากการปะทะกันที่สนามบินเมื่อวันอาทิตย์ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา
 


ออสการ์ อาเรียส ประธานาธิบดีคอสตาริก้า ขณะแถลงข่าวในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา
(REUTERS/Stringer (COSTA RICA POLITICS HEADSHOT) )

 

คนกลางการเจรจาในครั้งนี้ คือ ปธน. ผู้เคยแก้รัฐธรรมนูญจนทำให้ตนเองลงสมัครเลือกตั้งได้อีกสมัย
ออสการ์ อาเรียส เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของคอสตาริกา ซึ่งได้รับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2006 โดยถือเป็นการดำรงตำแหน่งครั้งที่สอง สำหรับเขา ซึ่งในครั้งแรกเขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคอสตาริกาผ่านทางการเลือกตั้ง ตั้งแต่เมื่อปี 1986 จนหมดวาระในปี 1990

ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1980s เป็นช่วงที่แถบอเมริกากลางได้รับอิทธิพลจากสงครามเย็น และมีความขัดแย้งทางการทหารกับกลุ่มกบฏเกิดขึ้นตามประเทศต่าง ๆ ในอเมริกากลางโดยเฉพาะประเทศกัวเตมาลา โดยการที่อาเรียสมีส่วนในการเซ็นสัญญา เอสควิปุลาส ที่สอง (Esquipulas II Accord) ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1987 ซึ่งเอสควิปุลาสเป็นสนธิสัญญาที่นำชื่อมาจากเมืองหนึ่งของกัวเตมาลา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประนีประนอมกันในชาติ ยุติความขัดแย้ง ส่งเสริมประชาธิปไตย การเลือกตั้งอิสระ ยกเลิกการสนับสนุนกองกำลังนอกประจำการ เจรจาให้มีการควบคุมอาวุธ และให้การช่วยเหลือผู้อพยพ

โดยสนธิสัญญาดังกล่าวถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธเนื่องจาก ไม่ยอมรับรัฐบาลซานดินนิสตา (Sandinista) ของนิคารากัวที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันถึงแม้สนธิสัญญานี้จะส่งผลให้สงครามกลางเมืองตามประเทศในอเมริกากลางช่วงนั้นสงบลง แต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มรัฐบาลและกบฏฝ่ายซ้ายของประเทศเหล่านี้ขาดการสนับสนุน และอาจเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สงครามกลางเมืองสงบ

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับออสการ์ อาเรียส อีกเรื่องหนึ่งคือการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่สองของเขา ซึ่งรัฐธรรมนูญของคอสตาริกา ก่อนหน้านี้มีการระบุไม่อนุญาตให้อดีตประธานาธิบดีที่ลงจากตำแหน่งไปแล้วเข้าลงสมัครเลือกตั้งได้อีกครั้ง ซึ่งอาเรียสได้ยื่นมติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญกับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว ซึ่งถูกปฏิเสธกลับมาในครั้งแรก

ต่อมาอาเรียสจึงได้ใช้ความสัมพันธ์ทางการเมืองในการเปลี่ยนมติของคณะตุลาการ ทำให้มีมติส่วนใหญ่เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีที่ลงจากตำแหน่งไปแล้วสามารถเข้าสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้ง และในปี 2004 ตามความคาดหมายคืออาเรียสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัดพรรคเดิมคือ PLN (Partido Liberación Nacional) จนสามารถเอาชนะ ออตตอน โซลิส จากพรรค PAC (Partido Acción Ciudadana) อย่างเฉียดฉิวด้วยคะแนนร้อยละ 40.92 ต่อ ร้อยละ 39.80 จากคะแนนเสียงทั้งหมด

 

...................................................................................................

 

 

ที่มา แปลและเรียงเรียงจาก

Nobel laureate to mediate Honduras talks, Sophie Nicholson, AFP, 08-07-2009
 
 
 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก (เข้าดูเมื่อวันที่ 08-07-2009)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net