Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอบางสะพาน ร่วมกันยื่นหนังสือร้องเรียนที่ ศูนย์ประสานงานชุมชนและรับเรื่องร้องเรียนของบริษัทในเครือสหวริยา  ให้ชี้แจงเรื่องข้อสงสัย-ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 8 ข้อภายใน 15 วัน

 

 
กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดและเครือข่าย ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนที่ศูนย์ประสานงานชุมชนและรับเรื่องร้องเรียนของบริษัทในเครือสหวริยาอย่างเป็นทางการ เมื่อ 9 ก.ค.
 
9 กรกฎาคม 2552 เวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอบางสะพาน ร่วมกันยื่นหนังสือร้องเรียนที่ ศูนย์ประสานงานชุมชนและรับเรื่องร้องเรียนของบริษัทในเครือสหวริยา
 
นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่า “ผมว่านี่คงเป็นครั้งแรกที่ศูนย์ประสานงานชุมชนและรับเรื่องร้องเรียนของบริษัทในเครือสหวิริยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจริงอย่างเป็นทางการ หลังจากเพิ่งนึกได้ว่าควรมีการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อที่จะเป็นการพยายามแสดงถึงความจริงใจและเป็นห่วงเป็นใยกับชาวบ้านโดยรอบที่จะได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่กว่า 20 ปี โดยเปิดศูนย์แห่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2551ที่ผ่านมาซึ่งก็เป็นเวลาไม่ถึง 1 ปีด้วยซ้ำหากเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่พื้นที่อำเภอบางสะพานมีอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี และสำหรับในวันนี้ผมซึ่งก็เป็นราษฎรของอำเภอบางสะพานอย่างเต็มขั้น และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ ขอเป็นตัวแทนชาวบ้านอำเภอบางสะพานในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่างๆ จำนวน 8 ข้อ ดังรายละเอียดตามจดหมายยื่นที่แนบมาด้วย และขอให้ทางผู้จัดการศูนย์ฯตอบข้อร้องเรียนและข้อสงสัยของชาวบางสะพานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วันนับแต่วันที่รับหนังสือ (9 ก.ค. 52)”
 
“และจากการร้องเรียนในครั้งนี้ก็จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บางสะพานถือเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า คำชี้แจงของบริษัทที่จะต้องชี้แจงเรื่องร้องเรียน ทั้ง 8 ข้อ แก่ชาวบ้านภายใน 15 วันนั้น มีความจริงจัง และจริงใจในคำตอบและคำอธิบายต่างๆขนาดไหน และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานชุมชนและรับเรื่องร้องเรียนนั้นมีประโยชน์อย่างแท้จริง และเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงการจัดตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อสร้างเครดิต หรือสร้างภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้สังคมภายนอกเห็นเท่านั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการล่ารางวัล ISO ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆหรือเปล่า ซึ่งหากศูนย์ฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ตามชื่อศูนย์ฯจริง ตัวแทนบริษัทในเครือสหวิริยาก็ควรมีความจริงใจในการชี้แจงกรณีต่างๆ ที่ชาวบ้านร้องเรียน และสามารถให้ประชาชนตรวจสอบการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆของบริษัทในเครือสหวิริยาได้ แต่เท่าที่ทราบมาหากมีการตรวจสอบการดำเนินการจากบริษัทในเครือสหวิริยา ผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับมักเป็นคดีความต่างๆแทน
 
ดังกรณีตัวอย่างที่มีการร้องเรียนคือ เรื่องการใช้กฎหมายในการเข้าจัดการกับชาวบ้านที่ต้องการทราบว่าน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานมีปริมาณสารปนเปื้อน หรือมลพิษที่เป็นอันตรายทั้งต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆและสิ่งแวดล้อมโดยรอบหรือไม่ โดยการไปเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งที่ออกมาจากโรงงาน แต่ผลตอบรับคือโดนคดีในข้อหาลักทรัพย์มูลค่า 25 บาท ซึ่งก็อยากถามว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่จริงใจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ของบริษัทในเครือสหวิริยาใช่หรือไม่” นางจินตนา แก้วขาว กล่าว
 
ด้านนายปกรณ์ ปุริมอติกานต์ รองประธานคณะกรรมการศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เครือสหวิริยา เปิดเผยกับ นสพ.ทันหุ้น เมื่อ 10 ก.ค. ว่ามีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงและกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูดประมาณ 120 คน นำโดย นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และนายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เดินทางมาที่ศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และศูนย์ประสานงานและรับเรื่องร้องเรียน เครือสหวิริยา หมู่ 4 บ้านท่าขาม ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยยื่นหนังสือขอให้ผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเครือสหวิริยา ตอบข้อกังวลใจจำนวน 8 ข้อ ภายใน 15 วัน
 
นายปกรณ์เห็นว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้เข้ามานำเสนอประเด็นที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงงานและโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งต่อจากนี้ทางเครือสหวิริยาจะเร่งทำความเข้าใจและตอบหนังสือกลับไปยังกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งอยากเห็นภาพการพูดคุยด้วยสันติวิธีเช่นนี้ไปตลอด และต้องการพัฒนาให้ไปสู่เวทีของการรับฟังความคิดเห็นที่มีหน่วยงานภาครัฐ เครือสหวิริยา และกลุ่มชาวบ้าน เข้ามาร่วมกันตรวจสอบโรงงาน
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางเครือสหวิริยาได้มีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านมาโดยตลอดทั้งในการประชุมหมู่บ้าน และการลงไปพูดคุย โดยศูนย์ฯ สิ่งแวดล้อม และทีมมวลชนสัมพันธ์ แต่ก็ยอมรับว่ายังมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังคงขาดความเข้าใจ ซึ่งทางเครือสหวิริยาจะได้เร่งตอบข้อสงสัยและทำความเข้าใจที่ดีต่อไปเพื่อร่วมแก้ไขด้วยกันนายปกรณ์กล่าว
 
 
 
 
 
 
ภาพที่แนบมาด้วยในแถลงการณ์
 
ต. แม่รำพึง อ. บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์
 
                                                            วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
 
เรื่อง      ขอให้ผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในเครือสหวิริยาตอบข้อข้องใจของ
ชาวบ้านที่มีส่วนได้เสียโดยรอบโครงการโรงถลุงเหล็กภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ยื่นหนังสือ
เรียน      ผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในเครือสหวิริยา
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย รูปคราบเขม่าในทะเลที่นักท่องเที่ยวเก็บภาพได้จากบริเวณหน้าท่าเรือน้ำลึก
 
            ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวแม่รำพึง ประชาชนในพื้นที่ย่อมรู้ดีว่ามีมาช้านานเนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่เอื้อและเหมาะสมแก่การดำรงชีพของสัตว์ชนิดต่างๆ คือ มีทั้งอาหาร และบ้านที่เหมาะสมนั่นคือ มีเขาแม่รำพึงเป็นส่วนที่กันกระแสลมแรง ทำให้กระแสน้ำมีความเหมาะสมแก่สัตว์วัยอ่อนที่ยังไม่มีความแข็งแรง ส่วนอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก ซึ่งก็คือ แพลงตอน ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากป่าพรุแม่รำพึง โดยมีการลำเลียงอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนนี้มาตามลำคลองแม่รำพึงและออกสู่ทะเลที่อ่าวแม่รำพึงนั่นเอง จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญที่อ่าวแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด แม้ว่าในปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์จะลดน้อยถอยลงไปบ้าง เนื่องมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำให้เกิดในพื้นที่อำเภอบางสะพานซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพรั่งพร้อมและสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก แต่กระนั้นก็ยังถือว่าอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในอำเภอบางสะพาน ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีมลพิษไม่มากนักเนื่องจากใช้น้ำมันเตา ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพและมลพิษไม่มากนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริงในอำเภอบางสะพานโดยเฉพาะหลังจากที่มีการเปลี่ยนคุณภาพของน้ำมันเตาให้มีคุณภาพต่ำลงเนื่องจากเป็นการลดต้นทุนก็ตาม เช่น ประชาชนกว่าร้อยละ 80 ต้องซื้อน้ำเพื่อการบริโภค อาชีพวางอวนกุ้งแชบ๊วยล่มสลาย(จากการมีท่าเรือและทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ) อาชีพเลี้ยงปลาในกระชังในคลองแม่รำพึงสูญสิ้นเนื่องจากสภาพน้ำในคลองไม่เหมาะที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่มีความอ่อนไหวอีกต่อไป
            โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการพบฉลามวาฬว่ายเข้ามาหากินบริเวณชาวฝั่งทะเลด้านหาดหนองมงคล, หาดดอนสำราญจนถึงหาดแถบท่ามะนาวนั้น ทางกรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด (บริษัทในเครือฯ) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทางสื่อสิ่งพิมพ์ว่า การพบฉลามวาฬถือว่าทะเลที่อ่าวแม่รำพึงมีความสมบูรณ์ดีแม้มีอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี และมั่นใจว่าหากมีการก่อสร้างท่าเรือส่วนต่อขยาย รวมถึงโรงถลุงเหล็กก็จะไม่มีผลกระทบเช่นเดียวกัน
            จากข่าวที่ทางนายสมศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์นั้นพวกเราชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่รำพึง อ. บางสะพาน
จึงขอเรียนถาม ท่านผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในเครือสหวิริยา ให้ตอบข้อสงสัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั้งที่มีอยู่และที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นใหม่แก่ชาวบ้านเป็นข้อๆดังต่อไปนี้
 
1.         เรื่องการบุกรุกที่สาธารณะทั้งของโรงงานในเครือฯที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นบริเวณ ท่าเรือ , บริเวณ
หนองนกกระเรียน, หนองสาคร ฯลฯ และที่ตั้งโรงถลุงเหล็ก(ป่าพรุแม่รำพึง)           
2.         ถนนเส้นท่าเรือที่ตัดเข้ามาที่โรงงานในเครือฯ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของปัญหาน้ำท่วมที่บาง-
สะพาน จะมีการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไรทั้งที่มีการแนะนำการแก้ปัญหานี้มาหลายปีแล้ว
3.         ให้เปิดเผยข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงของโรงงานเดิม และโรงถลุงเหล็กรวมถึงสารเคมีต่างๆที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต และจำนวนปล่องควันและปล่องไฟที่จะต้องมีในโรงถลุงเหล็ก
4.         กองเครื่องจักรเก่าบริเวณบ้านท่าขาม และวนอุทยาน คือเครื่องจักรไฮเทคโนโลยีของโรงถลุงเหล็กใช่หรือไม่ และถ้าไม่ใช่เครื่องจักรเหล่านั้นมีไว้เพื่อทำอะไร
5.         เหตุใดจึงมีพนักงานในกลุ่มเหล็กบางสะพาน (นายสักรินทร์ สังข์แดง) มาเป็นแกนนำในการคัดค้านการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำป่าพรุแม่รำพึง ทั้งที่บริษัทในเครือฯ มักมีการโฆษณาตลอดเวลาว่าต้องการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการขึ้นทะเบียนป่าพรุแม่รำพึงให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาตินั้น ถือเป็นการดูแลและรักษาแก้มลิงธรรมชาติและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างยั่งยืนและเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
6.         เหตุใดบริษัทในเครือฯจึงมักใช้กฎหมายในการจัดการประชาชนที่ต้องการตรวจสอบโรงงานในเรื่องมลพิษ ดังในกรณีที่มีชาวบ้านนำน้ำทิ้งจากโรงงานของบริษัทในเครือฯเพื่อไปให้นักวิชาการตรวจสอบคุณภาพน้ำทางบริษัทฯก็มีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่ชาวบ้านทันทีในข้อหาลักทรัพย์ แบบนี้ถือว่าบริษัทในเครือฯมีธรรมาภิบาลหรือไม่เพราะหนึ่งในหลักธรรมาภิบาลคือ โปร่งใส ตรวจสอบได้
7.         ชาวบ้านต้องการคำอธิบายเรื่องคราบเขม่าที่นักท่องเที่ยวที่ลงเรือจะไปเกาะทะลุบังเอิญถ่ายภาพเก็บไว้ได้บริเวณหน้าท่าเรือน้ำลึกของบริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด
8.         ตามที่นายสมศักดิ์ (กก.ผจก.บริษัทท่าเรือประจวบ) กล่าวว่าจะมีการจัดตั้ง “เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก” ชาวบ้านอยากทราบถึงวิธีการในการจัดตั้ง, เป้าหมายของเครือข่ายฯดังกล่าว และบุคคลใดที่มีสิทธิรับเลือกเป็นเครือข่ายฯดังกล่าว
            ซึ่งในความเป็นจริงทางบริษัทในเครือไม่มีความจำเป็นในการจัดตั้งเครือข่ายดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันทางกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้เป็นสมาชิกของ “เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล” ซึ่งขึ้นกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาตั้งแต่ต้นปี 2552 แล้ว
 
            และพวกเราในนามของชาวบ้านอำเภอบางสะพานขอเรียนท่านผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการและ
ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในเครือสหวิริยา ว่า การใช้เม็ดเงินหว่านลงในพื้นที่อำเภอบางสะพานไม่ว่าจะเป็น
ในทางใดไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของบางสะพานได้ แต่ความจริงใจ ความซื่อสัตย์และการ
ยอมรับความจริงว่าพื้นที่อ.บางสะพานไม่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำรวมถึงอุตสาหกรรม
เหล็กต่อเนื่อง คือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขัดแย้งในชุมชนได้อย่างแท้จริง  
 
            จึงเรียนมาเพื่อให้ทางผู้บริหารศูนย์ฯตอบข้อสงสัยทุกข้อเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน นับ
แต่วันได้รับหนังสือ
 
ขอแสดงความนับถือ
ตัวแทนชาวบ้านอำเภอบางสะพาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net