Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อ่านข่าวการรัฐประหารเงียบในฮอนดูรัส ซึ่งเป็นสาธารณรัฐยากจนในภูมิภาคอเมริกากลาง และมีขนาดประมาณ 1 ใน 4 ของไทยแล้ว เสมือนได้อ่านข่าวการยึดอำนาจจากคุณทักษิณเมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549
 
ตัวละครอาจผิดกันบ้างในเนื้อนวนิยาย แต่เค้าโครงเรื่องเกือบจะเหมือนกัน นั่นคือความริษยาของผู้มีอำนาจเก่าและเศรษฐีเก่าต่อนักการเมืองได้รับอำนาจ จากประชาชน และความกลัวสูญเสียผลประโยชน์ (ส่วนตัว) ของคนเก่าๆ เหล่านี้ หากฝ่ายประชาชนมีอำนาจสูงสุดขึ้นมาจริง ไม่น่าแปลกใจที่เครือข่าย “อำมาตย์” สไตล์ฮอนดูรัสมากันพร้อมหน้า ร่วมกันปลดประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และตั้งคนของตัวขึ้นแทน คงหวังอยู่ในใจแบบอำมาตย์ไทยว่าจะมีสัจจะในหมู่โจร
 
แต่มาต่างตรงที่ว่าตัวประธานาธิบดีเขาฮึดสู้ ออกโรงเต็มที่ไม่มีการสงวนท่าทีหรือรอดูไปก่อน ไม่ต้องการประนีประนอมใดๆ กับอาชญากรในประเทศ ท่าทีอันทรงพลังได้ส่งผลให้องค์การสหประชาชาติ และมหาอำนาจระดับโลก ไปจนถึงบรรดามิตรประเทศเกิดความมั่นใจ ในที่สุดแทบทุกฝ่ายก็ออกโรงมาแสดงความสนับสนุนอย่างเปิดเผยและโดยพลัน ทำให้เกิดขั้วอำนาจคานกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและเผด็จการแบบเก่าอย่างน่าประทับใจนัก
 
มานูเอล เซลาย่า ประธานาธิบดีผู้ถูกปลดจึงยังถูกเรียกว่าประธานาธิบดีจนบัดนี้ ไม่มีใครบังอาจเรียกว่าอดีตประธานาธิบดี เพราะเขายังอยู่ในตำแหน่งครบถ้วนและยังไม่ครบวาระ
 
ตัวของนายโรเบอร์โต มิเชลเล็ตติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เขาตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแทนเสียอีก ที่หลายประเทศและหลายสำนักข่าวยังไม่ยอมเรียกว่าประธานาธิบดีอย่างเต็มปากเต็มคำ
 
ความขัดแย้งในสาธารณรัฐที่มีประชาชนราวเจ็ดล้านสองแสนคนนี้ เกิดขึ้นเมื่ออดีตนักธุรกิจป่าไม้อย่างเซลาย่าชนะเลือกตั้งจนได้เป็น ประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ.2549 ประเด็นคือเขาได้รับเลือกตั้งในนามพรรคเสรีนิยม และผู้คนเชื่อว่าเขามีแนวคิดทางการเมืองแบบขวา-กลาง (centrist right) ไม่ใช่หัวรุนแรงพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินอย่างผู้นำการเมืองหลายประเทศในภูมิภาค อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ประธานาธิบดีเซลาย่าจึงไม่ใช่ผู้นำการเมืองที่ฝ่ายอำนาจเก่า คือเศรษฐีเก่าและข้าราชการระดับสูงในฮอนดูรัสกลัวเกรงอะไร นึกว่าสี่ปีผ่านไปก็จะได้คนใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฮอนดูรัสไม่เปิดโอกาสให้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำสอง มีอะไรก็ทนๆ กันไป
 
แต่เซลาย่าก็หลอกพวกนี้ได้อย่างแนบเนียน เขารู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างถอนรากถอนโคนในระบอบประชาธิปไตย อย่างที่บางคนเรียกว่าปฏิวัตินั้น เป็นสิ่งที่บอกล่วงหน้าไม่ได้เด็ดขาด ได้อำนาจแล้วเขาจึงแสดงตัวตนอันแท้จริงออกมาสองอย่าง
 
อย่างแรกคือเขาเริ่มใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้นำชาติอื่นๆ ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่ได้ชื่อว่า “หัวรุนแรง” ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอล่า หรือประธานาธิบดีอีโว่ โมราเลสแห่งโบลิเวีย ไปจนถึงแมวเก้าชีวิต-ฟิเดล คาสโตรแห่งคิวบา และได้รับคำสรรเสริญจากบุคคลเหล่านี้มาก ในที่สุดเซเลย่าก็เริ่มเดินแนวทางสังคมนิยมมากขึ้นจนเกิดความขัดแย้งลึกๆ กับบรรดาเศรษฐีเก่าที่สนับสนุนตัวเขามาตลอด ผู้สนับสนุนเหล่านี้อ้างว่าประธานาธิบดีกำลังเปลี่ยนไปอย่างแรง ความนิยมต่อตัวเขาในกลุ่มผู้ลากมากดีและข้าราชการระดับสูงของฮอนดูรัสลดลง อย่างฮวบฮาบ แต่กับมวลชนคนยากจนแล้วความนิยมกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
อย่างที่สองคือเขาแสดงท่าทีว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานาธิบดีลงสมัครเลือกตั้งซ้ำได้ วิธีการก็ให้เป็นประชาธิปไตยแท้คือเปิดการลงประชามติทั่วประเทศว่าประชาชน เอาด้วยหรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เอาด้วยก็จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตามนั้น ฝ่ายข่าวกรองฮอนดูรัสซึ่งเป็นแขนขาของอำมาตย์ฮอนดูรัสก็แอบสำรวจล่วงหน้า แล้วก็ปรากฏผลว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเซลาย่าว่าเวลาสี่ปีและวาระ เดียวของผู้นำไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาลึกซึ้งของประเทศ
 
ไม่มีฝันร้ายใดๆ จะน่ากลัวไปมากกว่านี้อีกแล้วสำหรับชนชั้นปกครองผู้ (แอบ) มีอำนาจจริงในฮอนดูรัส ประธานาธิบดีผู้กำลังจะ “ผ่าตัด” ประเทศอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก กระทบกระเทือนทรัพย์สมบัติและอำนาจของคนที่เขา “มี “อย่างประมาณมิได้ แถมอาจเป็นประธานาธิบดีที่มีอำนาจยาวนานกว่าสี่ปีอันเป็นการแหวกกฎเกณฑ์ของผู้มีอำนาจในเรื่องสมบัติผลัดกันชมเสียอีก
 
คนเหล่านี้เริ่มใช้นาย หน้าของตนเอง “ขู่” ประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของเขาเองออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ ประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดินสายแจ้งมวล “ม้า” คือทหารในกองทัพต่างๆ ว่าตนไม่เห็นด้วยและอาจถอนความสนับสนุนจากตัวประธานาธิบดี แต่ประธานาธิบดีเซลาน่าไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะใจเย็นกับบรรดาผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญเหล่านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปากกล้าถูกปลดอย่างสายฟ้าแลบ
 
ฝ่ายอำนาจเก่าก็เดินแผนต่อโดยให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งบก เรือ อากาศตบเท้าลาออกตามตัวรัฐมนตรีผู้หลุดจากตำแหน่ง แสดงความไม่สนับสนุนประธานาธิบดีอีกต่อไป ความตึงเครียดแผ่ซ่านไปทั่วนครหลวงเตกูสิกัลปาและเลยต่อไปทั่วประเทศ ประชาชนฮอนดูรัสต่างปรับทุกข์กันว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
 
ในวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2552 ซึ่งเป็นวันลงประชามติทั่วประเทศ นรกก็แตก
 
ก่อนพระอาทิตย์จะฉายแสงสว่างในวันใหม่ ทหารที่สวมหน้ากากปิดหน้ามิดชิดจำนวนหนึ่งบุกเข้าจับตัว มานูเอล เซเลน่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฮอนดูรัสจากเตียงนอน บังคับทั้งชุดนอนให้ขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศไปทันที จุดที่เครื่องบินลงและปล่อยตัวประธานาธิบดีคือสาธารณรัฐคอสตาริกา เพื่อนบ้านในภูมิภาคอเมริกากลางที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง
 
ในฮอนดูรัสก็เร่งตั้งมิเชลเล็ตติขึ้นมากุมบังเหียนเป็นหุ่นกระบอกตัวใหม่ของ ฝ่ายอำมาตย์ รีบประกาศตามคิวว่ายกเลิกการลงประชามติ และตั้งข้อหาอาญามากมายกับประธานาธิบดีเซลาน่า ตั้งแต่ความผิดในฐานการเมืองไปจนถึงความ “พัวพัน” กับขบวนการค้ายาเสพติดจนหลายคนอ้าปากค้างด้วยความแปลกใจว่าไปได้ถึงนั่น
 
ฮอนดูรัส มีชื่อเสีย-ไม่ใช่ชื่อเสียง-ว่าเป็นทางผ่านของยาเสพติดและสารเสพติดใน ทวีปอเมริกาทั้งกลางและใต้ จนทำให้เกิดกองโจรย่อยๆ ข่มขู่ชาวบ้านทั่วไปในประเทศไม่ผิดอะไรกับโคลอมเบีย
 
พร้อมกันนั้นเอง ผู้เรียกตนเองว่าประธานาธิบดีคือมิเชลเล็ตติพยายามประกาศต่อโลกว่า “ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในฮอนดูรัส” และขอร้องให้ประชาชนกว่าเจ็ดล้านคนช่วยกันป่าวร้องไปทั่วโลก แต่ประธานาธิบดีเซลาน่าเดินเกมการทูตได้เร็วและแรงกว่า เข้าถึงผู้เล่นรายสำคัญๆ อย่างถึงลูกถึงคน
 
ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าแห่งสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าการกระทำของประธานสภาผู้แทนราษฎรฮอนดูรัส ศาลฎีกาฮอนดูรัสผู้ตัดสินใจว่าการลงประชามติขัดต่อรัฐธรรมนูญ กองทัพที่บุกจับตัวประธานาธิบดีเมื่อย่ำรุ่ง ล้วนเป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” แปลได้ว่าสหรัฐฯ จะไม่รับรองรัฐบาลใหม่และไม่ยอมรับด้วยซ้ำว่ามีรัฐบาลและประธานาธิบดีใหม่ใน ฮอนดูรัส
 
องค์การสหประชาชาติโดยมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ (United Nations General Assembly: UNGA) ประกาศเปรี้ยงว่า มานูเอล เซเลน่า คือประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฮอนดูรัสและจะต้องกลับคืนสู่ตำแหน่งโดยพลัน
 
รัฐบาลสเปนนำธงสหภาพยุโรปด้วยการไม่รับรองรัฐบาลใหม่ในฮอนดูรัส เรียกร้องให้สมาชิกอียูทุกประเทศแสดงท่าทีพร้อมเพรียงกัน และยืนกรานว่า ประธานาธิบดีมานูเอล เซเลย่า ต้องได้กลับคืนสู่ตำแหน่งและอำนาจตามเดิม
 
รัฐบาลมิตรประเทศในอเมริกากลางและใต้ไม่ต้องพูดถึง ทุกคนออกโรงยืนกรานว่าการกระทำในฮอนดูรัสคือรัฐประหาร และ “จะไม่มีวันยอมให้เหตุการณ์เลวร้ายในอดีตเกิดขึ้นได้อีก” ประโยคหลังมาจากปากคำของ ฮิวโก้ ชาเวซ โดยตรง
 
และองค์การรัฐอเมริกา (Organization of American States: OAS) ซึ่งเป็นอาเซียนของที่นั่นก็ออกเดินสายมายังกรุงเตกูสิกัลปา ยื่นคำขาดว่าคนใหม่ที่ยึดอำนาจเขามาต้องออกไปโดยทันที มิฉะนั้นการคว่ำบาตรทางการเมือง อาจถึงขั้นไล่ออกจากสมาชิกภาพ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การยุติเงินกู้และทุนพัฒนาระหว่างประเทศทุกรูปแบบก็จะตามมา นี่ธนาคารโลกก็ประกาศแล้วว่าเงินทั้งหลายที่จะไหลไปสู่ฮอนดูรัสงดก่อนทั้งหมด
 
ก็ต้องตามดูกันต่อไปจนจบเรื่องนั่นล่ะครับ จะสรุปรวบยอดแบบละตินอเมริกาหรือจะอวสานแบบไทยๆ ก็ยังไม่รู้ เพราะขณะที่เขียนอยู่นี้เหตุการณ์ก็เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ
 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าเราต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวบนหลักการแห่งสากล เราจะได้รับความนับถือจากทั่วโลกและมีพวกเสมอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net