Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ถ้าเรายอมรับว่า "ข้อกล่าวหา" ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการเลี่ยงภาษี การมีผลประโยชน์ทับซ้อน และการทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่พิสูจน์ "ข้อเท็จจริง" และ “ตัดสินถูก-ผิด” ได้ด้วยกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น เราย่อมสรุปได้ว่า ข้อเสนอให้ "ประชาชนเป็นผู้ตัดสินโดยการลงคะแนนเลือกตั้ง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นข้อเสนอที่ไร้เหตุผล
 
และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจนายกรัฐมนตรียุบสภา เพื่อใช้การเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในเรื่องดังกล่าว นับแต่นั้นมา "ความไร้เหตุผล" ก็ได้กลายเป็นจุดยืนที่เด่นชัดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการต่อสู้เพื่อให้พ้นข้อกล่าวหาต่างๆ เหล่านั้น
 
จากจุดยืนดังกล่าว ได้ส่งผลต่างๆ ตามมาอย่างเป็นลูกโซ่ เช่น เกิดการทุจริตเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ พรรคไทยรักไทยถูกยุบในเวลาต่อมา และในด้านกลับกันก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์การเมืองบนท้องถนนของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พธม.) ที่มีประชาชนซึ่งไม่เห็นด้วยกับ "ความไร้เหตุผล" ดังกล่าวนั้น และเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณอาจทำผิดจริงดังที่ถูกกล่าวหาเข้าร่วมในการชุมนุมกับ พธม.เป็นจำนวนมาก
 
แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อที่จะขจัด พ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นไปจากเวทีการเมือง พธม.ยอมกระทำทุกอย่าง โดยเฉพาะการกระทำที่มีนัยเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนนำไปสู่การทำ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549"
 
ถ้าเรายอมรับว่า "การทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นสิ่งที่ผิด" เราย่อมเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พธม. ที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหารเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล แต่ "ความไร้เหตุผล" นั้นเองกลับกลายเป็นจุดยืน (อย่างหนึ่ง) ในการต่อสู้ทางการเมืองของ พธม. จึงทำให้เกิดการกระทำต่างๆ เป็นลูกโซ่ตามมา เช่น การอ้างเหตุผลปกป้องรัฐประหาร เดินสายประชาสัมพันธ์ (ทั้งในและต่างประเทศ) เพื่อให้ประชาชนยอมรับเหตุผลของการทำรัฐประหาร เรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจัดการเอาผิดและไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกร้องให้ทหารออกมาจัดการกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เป็นต้น
 
แต่ในด้านกลับกัน ก็ทำให้เกิดมวลชนเสื้อแดงต่อต้านรัฐประหาร และ พธม. ซึ่งหมายถึงการทำรัฐประหารได้ทำให้เกิดมวลชนสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมหาศาลโดยปริยาย
 
ดังนั้น การต่อสู้ทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายที่ผ่านมาจึงมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง คือ แต่ละฝ่ายต่างหาเหตุผลมาปกป้อง (หรือกลบเกลื่อน) การกระทำที่ไร้เหตุผล หรือ "ความไร้เหตุผล" ของฝ่ายตนเอง และในขณะเดียวกันความไร้เหตุผลของฝ่ายหนึ่งก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถหาเหตุผลที่มีน้ำหนักในการสร้างมวลชนหรือแนวร่วมต่างๆ ขึ้นมาต่อสู้
 
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความไร้เหตุผลของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณทำให้เหตุผลต่างๆ ที่ พธม.นำมาอ้างเพื่อให้เห็นความเลวร้ายของ "ระบอบทักษิณ" ดูมีน้ำหนัก ขณะที่ความไร้เหตุผลของ พธม.ก็ทำให้เหตุผลของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณในเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม การใช้สองมาตรฐาน การแทรกแซงและครอบงำทางการเมืองของ "อำมาตยาธิปไตย" ดูมีน้ำหนักเช่นกัน
 
และน้ำหนักของเหตุผลในแต่ละฝ่ายจึงทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อไม่รู้จุดสิ้นสุด
 
หากเราย้อนไปพิจารณา "ความไร้เหตุผล" ของทุกฝ่ายดังกล่าวมา จะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายต่างมีส่วนผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณผิดพลาดเพราะเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจและกลยุทธ์พลิกแพลงหลีกเลี่ยงการตรวจสอบความโปร่งใส
 
พธม.ผิดพลาดเพราะมีการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองจนทำให้เกิดรัฐประหาร และความผิดพลาดของทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นความผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อ "ความเป็นประชาธิปไตย" อย่างมีนัยสำคัญไม่แพ้กัน
 
แต่เมื่อพิจารณา "เหตุผล" อีกด้านของทั้งสองฝ่าย จะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายต่างมีส่วนถูกต้อง "ความถูกต้อง" ของ พธม.คือการมีเป้าหมายเพื่อขจัดนักการเมืองและการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องการ "การเมืองใหม่" ที่สะอาดโปร่งใส มีพรรคการเมือง และนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของปวงชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองของ "นายทุนพรรค" ดังที่ผ่านมา
 
ส่วน "ความถูกต้อง" ของฝ่ายเสื้อแดง คือ การปฏิเสธรัฐประหาร และการครอบงำของอำมาตยาธิปไตย ต้องการประชาธิปไตยเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม ใส่ใจคนจน คนชั้นรากหญ้าหรือประชาธิปไตยเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ
 
ประเด็นที่น่าคิด คือ ถ้า "เหตุผล" ที่สะท้อนด้านที่ถูกต้องของแต่ละฝ่ายบ่งบอกถึง "อุดมการณ์" ของแต่ละฝ่าย เราย่อมเห็นได้ว่าอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายไม่ได้ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ (ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณา "ความไร้เหตุผล" ของแต่ละฝ่าย เราก็เห็นเช่นกันว่าความผิดพลาดของแต่ละฝ่ายไม่ได้แตกต่างกันในแง่ที่เป็นการบ่อนทำลายความเป็นประชาธิปไตย)
 
แล้วอะไรคือ "ปัจจัยหลัก" ที่ทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่
 
คำตอบก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง "เอา-ไม่เอาทักษิณ" กับ "เอา-ไม่เอาสถาบัน" แต่ประเด็นซึ่งเป็นปัจจัยหลักดังกล่าวนี้นอกจากจะไม่ชัดเจนว่ามันจะเป็นสาระสำคัญอะไรต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นแล้ว ยังมองได้ว่าเป็น "เกมการเมือง" ที่แต่ละฝ่ายพยายามจะใช้มวลชนเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตนเอง และมันทำให้มวลชนเหลือง-แดง โดดเดี่ยวตนเองจากสังคมส่วนรวม ทำให้ข้ออ้างเรื่อง "เพื่อประเทศชาติและประชาชน" เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อใช้สนับสนุน "เกมชิงอำนาจทางการเมือง" ของแต่ละฝ่ายเท่านั้น
 
คำถามจึงมีว่า แทนที่เหลือง-แดง จะผูกติดอยู่กับแนวทางการต่อสู้แบบ "เอา-ไม่เอา" (ตัวบุคคลหรือสถาบัน) ดังกล่าว ทำไมไม่เน้นการนำเสนออุดมการณ์ และแนวทางที่จะทำให้อุดมการณ์เป็นจริงด้วยวิถีทางของการใช้เหตุผลและสันติวิธี
 
อย่างไรก็ตาม หากมอง "ภาพรวม" อย่างเป็นธรรม เราต้องชื่นชมการต่อสู้ของมวลชนเหลือง-แดง ในด้านที่เป็นการตรวจสอบคอร์รัปชั่น การเรียกร้องการเมืองที่สะอาดโปร่งใส และในด้านที่เป็นการปฏิเสธอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ การครอบงำของอำมาตยาธิปไตย ต้องการประชาธิปไตยเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและรัฐสวัสดิการ
 
และหากพิจารณาที่ "เหตุผล" ที่จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตาม "อุดมการณ์" ของทั้งสองฝ่าย ก็ต้องยอมรับว่ามีน้ำหนักมาก ในแง่ที่เหตุผลนั้นอาจจะสามารถตอบโจทย์ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นกับความไม่เป็นธรรมทางสังคมได้ (ในระดับหนึ่ง) และอาจเป็นการจุดประกายให้สังคมเกิดการตระหนักร่วมกันในการหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว
 
แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่เป็นปัจจัยหลักของ "ความเป็นศัตรู" หรือ “ความขัดแย้ง” อันได้แก่เหตุผลเรื่องการ "เอา-ไม่เอา" จะเห็นได้ว่าไม่มีน้ำหนักมากนักต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้โปร่งใสเป็นธรรมมากขึ้น หากแต่มีน้ำหนักอย่างมากในทางที่สนับสนุน "ความไร้เหตุผล"
 
อันเป็นจุดยืนที่สะท้อนความผิดพลาดที่สำคัญของแต่ละฝ่าย
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net