Skip to main content
sharethis

รำลึก 40 วันอัลฟุรกอนคืบออกหมายจับผู้ต้องหา ภาคประชาชนขอให้รัฐเร่งคดีและทบทวนการทำงานภาครัฐ ชี้กฎหมายต้องมีมาตรฐานและกรอบที่ชัดเจน

 

คลิปรำลึก 40 วันเหตุการณ์มัสยิดอัลฟุรกอน ที่มา: คุณ tksalvia ใน youtube.com
 
เวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม 2552 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ถนนพิชิตบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มีการจัดงานรำลึก 40 วัน เหยื่อความรุนแรง ที่มัสยิดอันฟุรกอน ไอปาแย อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายอับดุลรอซัค อาลี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีเปิด
 
ในเวทีมีการอภิปรายในหัวข้อ นโยบายการเมืองนำการทหาร และกระบวนการยุติธรรม เป็นแนวทางแก้ไข ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จริงหรือ? ซึ่งมีนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการ กองบัญชาการพลเรือน ตำรวจ ทหาร (ผบ.พตท.) นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส ร่วมอภิปราย และ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ดำเนินการอภิปราย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 800 – 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิงและเด็ก
 
นายอับดุลรอซัค กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงาน เพื่อสร้างความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่สังคมทั่วไป ทั้งกระตุ้นให้ภาครัฐได้เร่งแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งการรวบรวมเงินบริจาคช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อความรุนแรงที่มัสยิดอัลฟุรกอน และเป็นเงินกองทุนประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม
 
พล.ท.กสิกร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว 1 คน ซึ่งในการออกหมายจับครั้งนี้มีหลักฐานที่ชัดเจนที่สามารถยืนยันได้ และคาดว่าในเร็วๆ นี้ สามารถจับตัวได้ เพื่อนำตัวมายืนยันกับพี่น้องประชาชนต่อไป
พล.ท.กสิกร กล่าวว่าเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดูแลพี่น้องผู้บริสุทธิ์ทั้งหมด ให้ได้รับความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ถูกข่มขู่ ได้มีการศึกษาที่ดี กลุ่มโจรเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เพราะเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ไม่ถึงหมื่นคน เรื่องใหญ่คือการดูแลพี่น้องประชาชน เช่นเรื่องสุขภาพที่มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปดูแล การส่งเสริมอาชีพ
 
นายอนุกูล กล่าวว่า หลายคดีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษ นั้นเพราะกฎหมายมีข้อบกพร่อง แต่ไม่ได้แปลความว่าจะเรียกร้องให้ยกเลือกกฎหมายดังกล่าว  ซึ่งเมื่อเกิดเหตุแล้วก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยการออกกฎหมาย ที่มีหลักการ มาตรฐาน ในการดำเนินคดี มีกรอบที่ชัดเจน และในเรื่องกระบวนการยุติธรรมต้องมีมาตรฐานในการดำเนินคดี อีกทั้งกระบวนการสืบสวนสอบสวนต้องชัด การที่มีกฎหมายที่เท่าเทียมกันก็จะนำไปสู่การเมืองนำการทหารได้
 
“การเมืองนำการทหาร และกระบวนการยุติธรรมใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ต้องการที่จะทำการเมืองแบบไหน การเมืองที่มีโครงสร้างข้างบนกำหนดลงข้างล่างหรือการเมืองที่ข้างล่างมีสิทธิที่จัดการกันเองได้” นายอนุกูล กล่าว
 
เวลาประมาณ 13.30 น. ในวันเดียวกัน มีการอภิปรายเรื่อง บทบาทของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ในแนวทางสันติ เพื่อนำไปสู่สันติภาพในภาคใต้ โดยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ศูนย์ทนายความมุสลิม นราธิวาส นายอิบรอฮิม ยานยา รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ นายอับดุลเราะห์มาน มอลอ ผู้แทน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นางแยนะ สะแลแม ผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมอภิปราย และมีตูแวดานียา มือรีงิง   ผู้ดำเนินการอภิปราย
 
รายงานข่าวจากพื้นที่บ้านไอปาแยว่า เมื่อวันศุกร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2552 รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้ใหญ่บ้าน ได้เข้าไปสั่งห้ามประชาชนเข้าร่วมงานรำลึก 40 วัน เหยื่อความรุนแรง ที่มัสยิดอันฟุรกอน ไอปาแย และเมื่อถึงวันงานประชาชนไม่กล้าที่จะออกมานอกหมู่บ้าน เพื่อร่วมงานดังกล่าว
 
ในวันเดียวกันนั้นเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลทบทวนการทำงานและเร่งรัดหาผู้กระทำความผิด กรณีการลอบสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่มัสยิดอัลฟุรกอน หมู่บ้าน ไอปาแย ในเนื้อหาได้เรียกร้อง 1.ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระฯที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนจากภาคประชาชน ดำเนินการสืบสวนและสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อนำผู้กระทำผิดหรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการฆาตกรรมหมู่ครั้งนี้ มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วน 2. ขอให้รัฐบาลปฏิรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงทบทวนและประเมินการใช้ พรก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ซึ่งเป็นการออกพิเศษที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากเกนไป จนเป็นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และ 3. ขอให้รัฐบาลรีบดำเนินการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
 
ในการจัดงานและร่วมลงนามในการแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ กว่า 20 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมจันทร์เสี้ยว การแพทย์และสาธารณะสุข ศูนย์ทนายความมุสลิม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สน.จชต.) เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล์ เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ ศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการสื่อสันติภาพเพื่อสดความรุนแรง เครือข่ายวิทยุชุมชนมุสลิมยะลา เครือขายสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (คสตส.) สมาคมมุสลิมจังหวัดปัตตานี สมาคมอิสลามจังหวัดนราธิวาส สถาบันอัสสลาม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และเครือข่ายชุมชนศรัทธา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net