Skip to main content
sharethis

วันนี้ (22 ก.ค.52) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 “โฉนดชุมชน ทางออกของสังคมไทย” ระบุถึงการชุมนุมเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล ในการตัดสินใจยกเลิกสวนป่าคอนสาร ของชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ปลูกสวนยูคาลิปตัสทับพื้นที่ทำกินชาวบ้าน โดยถือโอกาสนี้ เพื่อชี้แจงเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของชาวบ้านผู้เดือดร้อน รวมทั้งการแก้ปัญหาด้วย “โฉนดชุมชน” ต่อสังคม

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 52 กลุ่มชาวบ้านกรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร กว่า 150 ครอบครัว ได้เข้าปักหลักชุมนุมตรวจสอบในพื้นที่ในบริเวณสวนป่าคอนสาร ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ในเขต ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยมีการแผ้วถางต้นไม้เล็กๆ และปลูกสร้างที่พักชั่วคราว เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าต้องการที่จะเข้ามาจัดการที่ดินทำกินดั้งเดิมของตนเอง หลังจากถูกอพยพ ขับไล่ออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เพื่อนำพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 4,401 ไร่ มาปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519

แถลงการณ์ระบุว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านดังกล่าวมีเจตนารมณ์สูงสุดของ คือ การจัดการที่ดินของประชาชน คนยากคนจน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” พร้อมอธิบายว่า โฉนดชุมชน คือรูปแบบการบริหารจัดการที่ดิน โดยใช้ปัจจัยทางสังคมเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว นอกจากนี้ การปฏิรูปที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชน ยังสามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาท และความขัดแย้งในการจัดการที่ดินระหว่างภาครัฐกับประชาชน

อีกทั้ง การจัดการที่ดินดังกล่าวจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ การพัฒนากฎระเบียบ การจัดตั้งกองทุนที่ดิน และแผนการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งมีนัยสะท้อนถึงการคุ้มครองพื้นที่และการพัฒนาระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มุ่งแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของเกษตรกรเป็นสำคัญ

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การผลักดันแนวทางการปฏิรูปที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนได้รับการยอมรับ โดยรัฐบาลได้บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 30 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา อีกทั้ง มีกระบวนการพัฒนาและผลักดันโฉนดชุมชนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการด้วย

นอกจากนั้น ในวันเดียวกัน องค์กรขบวนชุมชนจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดชัยภูมิ และองค์กรประชาธิปไตยจังหวัดชัยภูมิ ออกแถลงการณ์ “ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยภูมิ ฉบับที่ 1 สนับสนุนชุมชนตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ทวงผืนดินและสิทธิชุมชนกลับคืนสู่ชุมชน” โดยระบุว่า การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดั้งเดิมด้วยวิธีการจัดสิทธิในที่ดินโดยชุมชน ของชาวชุมชน ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จะเป็นจุดเริ่มหนึ่งของการกระจายสิทธิในที่ดินอย่างเป็นธรรมแก่คนไทยทุกคน รวมถึงการรักษาพื้นที่ทางการเกษตรไว้ ถือเป็นการปฏิรูปที่ดินทั้งในเรื่องสิทธิและการทำการผลิต

ทั้งนี้ ในกรณีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร มีการออกแถลงการณ์สนับสนุนจากเครือข่ายอื่นๆ ด้วย อาทิ แถลงการณ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 20 ก.ค.52 “เกษตรกรตำบลทุ่งพระมีความชอบธรรมที่จะมีที่ดินเพื่อทำการผลิต” และแถลงการณ์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้เดือดร้อนในกรณีดังกล่าว โดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.) ภาคอีสาน เครือข่ายทรัพยากร และแวดล้อมภาคอีสาน

00000

ประวัติการต่อสู้กับการยืนยัน “อ.อ.ป.ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินของราษฎร”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ติดตามกรณีปัญหาและมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎร กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และที่ประชุมคณะทำงานมีมติเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2548 ว่า “อ.อ.ป.ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินของราษฎรจริง และให้นำที่ดินดังกล่าวมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรผู้เดือดร้อน” ต่อไป
 
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีรายงานผลการละเมิดสิทธิในวันที่ 28 ธ.ค.2550 ว่า “การกระทำของกรมป่าไม้และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งที่ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนสวนป่าคอนสาร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของผู้ร้อง ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง”

คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมาตรการแก้ไขปัญหาคือ “ให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร ตามมติคณะทำงานระดับพื้นที่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนี้ แล้วให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ดินที่ยั่งยืนแก่ผู้ร้อง” ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีความเห็นและมติเห็นชอบตามอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2550 ด้วย
 
จากนั้น วันที่ 29 ธ.ค.2551 มีการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ เพื่อพิจารณาเรื่องปัญหาสวนป่าคอนสาร ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และในระหว่างการดำเนินการให้ได้ข้อยุติ โดยให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ก่อน บนเนื้อที่ 1,500 ไร่

00000
 

 

 
 
แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 7
“โฉนดชุมชน ทางออกของสังคมไทย”
 
            ภายหลังจากการชุมนุมเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกสวนป่าคอนสาร ของชาวบ้านผู้เดือดร้อน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา นั้น เจตนารมณ์สูงสุดของการเคลื่อนไหวดังกล่าวคือ การจัดการที่ดินของประชาชน คนยากคนจน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” นั่นเอง
            ในการนี้ เพื่อให้เกิดความรับรู้ เข้าใจอย่างเป็นเอกภาพร่วมกันของคำว่า “โฉนดชุมชน” จึงขอถือโอกาสนี้ ทำความเข้าใจนิยาม ความหมาย และผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการโฉนดชุมชนของเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ คนจนเมือง ดังนี้
            โฉนดชุมชน คือรูปแบบการบริหารจัดการที่ดิน โดยใช้ปัจจัยทางสังคมเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทั้งในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกร ชุมชน สหกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองและทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าว และหากมองอย่างเป็นประวัติศาสตร์ จะพบว่าการบริหารจัดการที่ดินของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ที่ใช้ทุน หรือเงิน เป็นกลไกหลัก ในการจัดการ ทำให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงที่ดินได้เป็นจำนวนมาก และเกษตรกร คนยากจน ไม่มีที่ทำกิน หรือมีไม่เพียงพอ ดังสถิติที่มีการสำรวจของหน่วยงานราชการ และนักวิชาการจำนวนมาก
            นอกจากนี้ การปฏิรูปที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชน ยังสามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาท และความขัดแย้งในการจัดการที่ดินระหว่างภาครัฐกับประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างที่ดินรัฐ กับที่ทำกินของประชาชน ดังจะเห็นได้จาก ปัญหาข้อพิพาทที่ดินในเขตป่าทั่วประเทศ
            การจัดการที่ดินของชาวบ้าน ในรูปแบบโฉนดชุมชน จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ การพัฒนากฎระเบียบ การจัดตั้งกองทุนที่ดิน และแผนการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งมีนัยสะท้อนถึงการคุ้มครองพื้นที่และการพัฒนาระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มุ่งแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของเกษตรกรเป็นสำคัญ
            อนึ่ง การผลักดันแนวทางการปฏิรูปที่ดินของชุมชน ในรูปแบบ”โฉนดชุมชน” ได้รับการยอมรับในทางนโยบาย โดยรัฐบาลได้บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา อีกทั้ง มีกระบวนการพัฒนาและผลักดันโฉนดชุมชน ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการด้วย
            ในวาระที่ชาวบ้านกรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร ได้เข้าพื้นที่ เพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล เพื่อยกเลิกสวนป่าคอนสาร และจะนำที่ดินมาดำเนินการในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” จึงขอถือโอกาสนี้ เพื่อชี้แจงเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ของชาวบ้านผู้เดือดร้อน ต่อสังคม และท่านผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายด้วย
 
สมานฉันท์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
22 กรกฎาคม 2552
 
 
00000
 
 
แถลงการณ์ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยภูมิ ฉบับที่ 1
สนับสนุนชุมชนตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ทวงผืนดินและสิทธิชุมชนกลับคืนสู่ชุมชน
 
กว่า 33 ปีที่ชุมชนเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยอำนาจการจัดการโดยหน่วยงานของรัฐอย่างขาดการมมีส่วนร่วม ละเมิดสิทธิชุมชน ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ อ้างกับสังคมในการเพิ่มพื้นที่ป่า แท้ที่จริงหวังผลเพียงเงินตราที่ได้จากการขายเนื้อไม้และคาร์บอนเครดิต จากไม้ยูคาซึ่งเป็นไม้ที่ดูดกลืน แร่ธาตุทรัพยากรในดินอย่างมาก และคนที่ได้รับผลประโยชน์ไม่ใช่คนในท้องถิ่น ให้ความสำคัญคนและชุมชนน้อยกว่าเงินตรา
            โดยหลักแห่งผืนดินไม่อาจเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง มีเพียงสิทธิจากการใช้ประโยชน์คือการปลูกสร้างทำกินอย่างสมดุล และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 ชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่นของตนเอง อีกทั่งระบบสิทธิในที่ดินในรูปโฉนดชุมชน เป็นสิทธิเชิงซ้อน สิทธิรวมหมู่ ที่ดินเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง เป็นแนวทางที่จะทำให้ชุมชนทั่วประเทศสามารถรักษาพื้นที่ทางการเกษตร ไว้เพื่อทำการผลิตหล่อเลี้ยงชุมชนและสังคมไว้ได้
            การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดั้งเดิมของตนด้วยวิธีการจัดสิทธิในที่ดินโดยชุมชน ของชาวชุมชนตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จะเป็นจุดเริ่มหนึ่งของกระบวนกระจายสิทธิในที่ดินอย่างเป็นธรรมแก่คนไทยทุกคน รวมถึงการรักษาพื้นที่ทางการเกษตรไว้แม้เพียงส่วนน้อยนิด ก็จะเป็นชุมชนต้นกล้าอีกชุมชนหนึ่งปฏิรูปที่ดินทั้งในเรื่องสิทธิและการทำการผลิตโดยน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำประโยชน์ในที่ดินอย่างยั่งยืนต่อไป
            องค์กรขบวนชุมชนจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดชัยภูมิ และองค์กรประชาธิปไตยจังหวัดชัยภูมิ เห็นด้วยขอให้กำลังใจพี่น้องชาวชุมชนตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสารจังหวัดชัยภูมิ ในการปกป้องที่ดินจากการขับไล่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในครั้งนี้
 
 
22 กรกฎาคม 2552
ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยภูมิ
 
 
00000
 
 
แถลงการณ์
 
หลังจาก มีการประชุมคณะกรรมแก้ไขปัญหาที่ดินสวนป่าคอนสาร คณะกรรมระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย นายอำเภอ เป็นประธาน กำนันผู้ใหญ่บ้าน และส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งทางอุตสาหกรรมป่าไม้ สวนป่าคอนสาร มีมติเห็นชอบ ให้มีการแก้ไขปัญหาที่สวนป่าคอนสาร ทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน
ตลอดทั้งเวทีในระดับพื้นที่ตำบลทุ่งพระ จากการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ ที่ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งพระ สภาองค์กรชุมชน มีมติเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาที่ดิน แล้วนำที่ดินมาให้เกษตรกรผู้เดือดร้อนจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชน การคืนสิทธิให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินในพื้นที่ที่เป็นปัญหากรณีพิพาท
เพื่อให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากสวนป่าทับที่ดินทำกิน กป.อพช.ภาคอีสาน ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพี่น้องผู้เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และยั่งยืนของเกษตรกร
                                                                       
กป.อพช.ภาคอีสาน
เครือข่ายทรัพยากร และแวดล้อมภาคอีสาน
 
 
00000
 
 
แถลงการณ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ฉบับที่ 1      
เกษตรกรตำบลทุ่งพระมีความชอบธรรมที่จะมีที่ดินเพื่อทำการผลิต
 
            เราในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นกลุ่มของเกษตรกรภาคใต้จำนวน 22 กลุ่มในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง และกระบี่ เห็นด้วยและขอสนับสนุนสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)ในตำบลทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิในการปกป้องที่ดินจากการขับไล่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และเตรียมจัดการพื้นที่ดังกล่าวในรูปของโฉนดชุมชน
            ผู้ที่มีความชอบธรรมที่สุดที่จะอาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินในการทำการเกษตรคือเกษตรกร สังคมใดที่เป็นธรรมจึงต้องมีระบบกลไกปกป้องและจัดสรรที่ดินอย่างเพียงพอให้เกษตรกร ในปัจจุบันหลักการนี้ได้รับการยอมรับอย่างชัดเจนดังที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ล่าสุดได้ปรากฏอยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องโฉนดชุมชน
            สำหรับกรณีการต่อสู้ของพี่น้องตำบลทุ่งพระยิ่งมีความชอบธรรมมากขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ข้อตกลงร่วมกันของ คปท.กับรัฐบาลที่จะจัดทำโฉนดชุมชน นอกจากนี้การพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาก็ล้วนยืนยันถึงความชอบธรรมของพี่น้องตำบลทุ่งพระ ได้แก่ 1) มติวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ของคณะทำงานร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เห็นว่า อ.อ.ป.ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ชาวบ้าน จึงให้นำที่ดินมาดำเนินการปฏิรูปให้แก่ชาวบ้าน 2) รายงานผลของคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่าของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2550 ว่าชาวบ้านได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อน จึงให้รัฐบาลยกเลิกสวนป่าคอนสาร และให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนตามแผนการจัดการของชาวบ้าน 3) มติการประชุมของประชาคมตำบลทุ่งพระเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และในระหว่างดำเนินการให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในที่ดินได้
            การต่อสู้ของพี่น้องผู้เดือดร้อนตำบลทุ่งพระจึงเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลว่ายุติธรรมต่อเกษตรกรเพียงใด หรือรัฐบาลจะเลือกรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานเหลือบริ้นเสือนอนกินอย่าง อ.อ.ป.
            สกต.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้เดือดร้อน โดยดำเนินการตามแนวทาง “โฉนดชุมชน” ในการนี้ระหว่างการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติขอให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่นำร่องเพื่อจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน และขอให้นำพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่ไม่มีการถือครองทำประโยชน์มาก่อนมาให้ชุมชนจัดการในรูปของป่าชุมชน
            สกต.ซึ่งเป็นเกษตรกรเช่นกัน เราสำนึกถึงความเดือดร้อนที่พี่น้องประสบอยู่ พวกเราจึงขอให้กำลังใจและความร่วมมือในการยืนหยัดต่อสู้กับพี่น้องตำบลท่าพระ เราเชื่อว่าด้วยแนวทางดังกล่าวจะทำให้ปัญหาเดือดร้อนของพี่น้องที่ยืดเยื้อมากว่าสามสิบปีได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน.
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
20 กรกฎาคม 2552
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net