Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาท้องถิ่น ได้จัดเวทีสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในประเด็น “กระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม และบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการท้องถิ่น ในสถานการณ์ใหม่” ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่

นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา ได้กล่าวถึงการเข้ามาทำงานใน อบต. หลังจากก่อนหน้านั้นได้ขับเคลื่อนอยู่กับชาวบ้านมานานว่า การก้าวมาสู่อำนาจเล็กๆในระดับตำบล อำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่น ภารกิจหลักเกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวบ้าน หลายคนบอกว่าเป็นหญ้า เป็นดิน ปล่อยให้คนอื่นเหยียบย่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้องถิ่นกำลังเผชิญอยู่ มีความเกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด ระดับชาติ ที่ยังถูกครอบงำอยู่

“กรณีพื้นที่แม่ทา ได้เปรียบกว่าชุมชนอื่นๆ ทั้งด้านภูมินิเวศ เป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ห่างจาก จ.เชียงใหม่ ทำให้ชุมชนมีการทำงานในลักษณะการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น คือมีส่วนร่วมตั้งแต่การเข้าไปเป็นผู้บริหารตำบล ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจของคนกลุ่มเดียวในการเลือกตั้ง แต่มีกระบวนการ จัดเวทีชาวบ้านกลุ่มองค์กรต่างๆให้ความรู้ความเข้าใจการเลือกตั้ง เมื่อตนได้เข้ามาเป็นตัวแทนของชาวบ้าน ทำให้มีกลุ่มองค์กรที่สามารถทำงานด้านต่างๆทำงานแทนเราได้ การทำงานในพื้นที่เมื่อมีการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ ทำให้การทำงานคล่องตัว เมื่อมอบหมายให้กลุ่ม องค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นที่ดำเนินงานผ่านการหนุนเสริมจากอบต.ทั้งงบประมาณ และคน ผู้บริหารมีเวลาในการกำหนดเชิงนโยบาย ประสานงานและดึงงบประมาณมาหนุนเสริมในระดับพื้นที่ สามารถเชื่อมการทำงานกับหน่วยงานองค์กรอื่นๆ”
   
นายกนกศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ดังนั้น ต้องถามฝ่ายบริหารว่า ใจกว้างหรือไม่ คิดเพียง 4 ปี ในวาระการดำรงตำแหน่ง หรือคิดที่จะทำงานร่วมกันกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เหมือนกับที่เล่าปี่เคยกล่าวว่า “ถ้าระแวงอย่าใช้ ถ้าใช้อย่าระแวง” หรือคิดหวังแต่เพียงงบประมาณที่มีอยู่เท่านั้น ซึ่งมีอะไรที่ท้องถิ่นจะเรียนรู้อีกมาก

ด้าน นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และเลขาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่พ.ศ. 2475 มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย อำนาจที่ว่า ทั้งตุลากร บริหาร นิติบัญญัติ แต่แท้ที่จริงอำนาจนั้นถูกริบไป เป็นเวลานานกว่า 60 ปี ที่ผ่านมาอำนาจไม่เคยเป็นของประชาชน ซึ่งจริงๆแล้ว อำนาจเป็นของประชาชน อาจจะต้องเรียกว่า การคืนอำนาจให้กับประชาชน จากเดิมเคยอยู่กับอำนาจพระมหากษัตรีย์ อำนาจรัฐ ซึ่งมีกลไกข้าราชการต่างๆ ขึ้นมา ประชาชนได้เพียงแค่ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้มอบอำนาจนี้ให้ผู้แทน ผ่านการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน
   
“ในอดีตคุณค่า ทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา ที่งดงาม ปัจจุบันคุณค่าเหล่านี้เลือนหายไป ทรัพยากรถูกแย่งชิงเบียดบัง สังคม วัฒนธรรมเสื่อมทรามลง ความสุขเลือนหายไป โดยมีของใหม่เข้ามาแทน ความเจริญทางวัตถุ ความสุขแบบปัจเจก หรือเรียกว่า ความสุขเชิงเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ จนเกิดความทุกข์ขึ้นมา ภายใต้สถานการณ์ใหม่ ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ วิกฤติเหล่านี้เกิดขึ้นจากการจัดการการปกครองแบบเดิม เกิดจากกลการรวมศูนย์อำนาจตรงกลาง ณ วันนี้คนรวมศูนย์ก็จัดการไม่ได้”

นายสุมิตรชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาวันนี้ ซับซ้อนมากขึ้นจนไม่สามารถจัดการแบบเดิมๆได้ ทำให้คนท้องถิ่น ประชาชน ในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงลุกขึ้นมาเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรียกร้อง เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐไม่สามารถจัดการได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะออกกฎหมายกี่ฉบับ ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ที่ไม่สามารถจัดการได้เนื่องจากความซับซ้อนปัญหา ที่เกิดจากความหลากหลาย วัฒนธรรม ประเพณี ปัญหาภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ก็แตกต่างกัน แต่ปัญหาเหล่านี้ใครที่รู้จริง นั่นคือ ประชาชน รู้ด้วยซ้ำว่าวิธีการแก้ไขปัญหาคืออะไร ในวันนี้จึงมีการเรียกร้อง การแก้ไขปัญหาโดยชาวบ้าน หลายพื้นที่เรียกร้องการตอบสนองแต่ไม่ได้ผล กลุ่มต่างๆ จึงเกิดขึ้น ทั้งเรื่องป่าชุมชน กรจัดการน้ำ ระบบเหมืองฝาย เป็นสิ่งที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการเอง รวมตัว รวมคิด ร่วมทำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่างหากที่เป็นการแก้ปัญหาโดยประชาชน
   
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเครื่องมือที่รัฐพยายามผ่อนหนักให้เป็นเบา ลดปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่วิธีแก้ วิธีแก้อยู่ที่ชาวบ้าน เราจะไปดึงภูมิปัญญาดั้งเดิม คุณค่าดั้งเดิม ที่เคยจัดการปัญหาในชุมชนขึ้นมาจัดการตนเองได้อย่างไร เจตนารมณ์การปกครองตนเองของรัฐ ที่เข้ามาควบคุมกำกับดูแล ต้องเข้าไปหนุนเสริมสร้างบทบาทขึ้นมา แต่ทุกวันนี้ยังไม่เพียงพอ รัฐต้องไปหนุนเสริม ไม่ใช่ดึงหรือไปกีดกันออก บทบาทที่แท้จริงของ อบต.ต้องถูกเขียนโดยประชาชน ไม่ใช่โดยรัฐ ซึ่งไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นการรวมศูนย์เล็กๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น เพราะอำนาจรัฐก็ยังถูกครอบงำกำกับอยู่ สุดท้ายติดที่คำสั่ง ถามว่า ตกลงเป็นองค์กรรัฐ หรือองค์กรของประชาชน หากคิดว่า เป็นองค์กรรัฐ ก็ไม่ต่างจากการปกครองแบบเดิม ฉะนั้น บทบาท ฐานคิด บทบาท อปท.เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน กว่าจะเกิดได้ ต้องเกิดขึ้นจากความคิดเห็นของประชาชน”
   
นายสุมิตรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปัจจุบัน ประชาธิปไตย ขาดการมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยไร้สาระ จอมปลอม แต่โลกปัจจุบัน เป็นโลกไม่มีพรมแดน มีการสื่อสารถึงกันได้หมด ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนทำให้ข้อมูลไหลเข้าหากัน ทำให้เป็นภารกิจร่วมของประชาชน เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในขณะที่อาจารย์ไพสิฐ พานิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในแต่ละท้องถิ่น มีพัฒนาการไม่เหมือนกัน หลายพื้นที่บทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง หลายพื้นที่เป็นคนทำให้เกิดปัญหาในท้องถิ่นเสียเอง หลายพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มักจะขัดขวางการพัฒนาท้องถิ่น แต่ผลักไปสู่การปกครองที่ดี มีคำสั่งอะไรมาก็ทำ สุดท้าย ชุมชนทำอะไรไม่เป็น หลายพื้นที่ ยกระดับพัฒนาตนเอง ดูแลตนเองได้ และที่มาในวันนี้ เป็นบทบาทท้องถิ่น เป็นหัวขบวนนำ ที่เข้าไปจัดการดูแลพื้นที่ แต่ยังมีข้อจำกัด ในด้านตัวบุคคล หลายพื้นที่เมื่อพูดถึงท้องถิ่น อบต. แต่ไม่ได้พูดถึงบทบาทกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ อาจจะมีกลุ่มแม่บ้าน และบทบาทท้องถิ่นมีพัฒนาการที่หลากหลาย แต่แบ่งหยาบๆให้เห็นว่า ผู้นำท้องถิ่นสามารถนำพาให้เกิดการเจริญเติบโต เข้มแข็งได้หลายพื้นที่ หากดูกลุ่มพลังต่างๆในท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีวาระในการดำรงตำแหน่ง หากคิดในกรอบการเมืองแบบเดียว

“ข้อสำคัญ คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ การเปลี่ยนแปลงอำนาจ จะต้องทำไม่ให้ผูกขาดเชิงอำนาจ
โดยได้แบ่งฉากการเมืองไว้ 3 ฉากด้วยกันคือ ฉากที่หนึ่ง การปกครองของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อก่อนอาจเป็นลักษณะของผู้ใหญ่ลี แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลง จึงเป็นฉากที่สอง มีการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบของการกระจายอำนาจ อาจอยู่ในรูปแบบสุขาภิบาล หรืออำนาจส่วนอำเภอต่างๆ เข้ามา หรือสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งการคลัง โยธา ก็มีบทบาทตรงนี้ เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่น รัฐบาลท้องถิ่น มีอำนาจอิสระทุกสิ่งทุกอย่างฉากที่สามถกเถียงกันในวันนี้ ณ วันนี้มีอีกฉากขึ้นมา คือเรื่อง สภาองค์กรชุมชน ปัจจุบัน มีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน มีสถานะทางกฎหมาย มีระบบต่างๆ เข้ามาหนุนช่วยทำให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นขึ้นมา ซึ่งสามฉากนี้หากจัดการไม่ดี ไม่สามารถประสานกันได้ ต่างคนต่างทำ อาจจะทำให้ท้องถิ่น กลายเป็นที่พึ่งของผู้คนไม่ได้” อาจารย์ไพสิฐ กล่าวเน้นย้ำ

อาจารย์ไพสิฐ กล่าวอีกว่า หากบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. สามบทบาทไม่พูดภาษาเดียวกัน ร้องเพลงแบบเดียวกัน เป็นสถานการณ์ที่มีแนวโน้มไปสู่ความขัดแย้งได้ หากจะนำพาไปสู่การทำงานร่วมกัน แทนที่จะเล่นตามฉากต่างๆเหล่านี้ อาจจะต้องเริ่มด้วยการเข้าไปเปลี่ยนฉาก ทั้งผู้นำ และองค์กรต่างๆเข้ามา หากจะทำเรื่องราวเหล่านี้ ได้ การมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ อยากให้เป็นอย่างไร หรือการเขียนบทละคร แผนที่ชุมชน ชุมชนไปอยู่ตรงไหน จบอย่างไร โศกนาฏกรรม หรือมีความสุข เครื่องมือแผนชุมชนจะเป็นตัวบอก

“ประเด็นสำคัญ ทำอย่างไรให้ฉากทั้งสามฉาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน จัดให้มารวมอยู่ที่เดียวกัน ต้องใช้อำนาจทางกฎหมาย ใช้วิธีการที่ไม่ใช่บางเรื่อง ผนวกรวมเป็นฉากเดียว จึงท้าทายต่อตัวบทบาทท้องถิ่น ไม่ได้มองแต่เฉพาะพื้นที่ แต่ควรมองแบบสังคมโดยรวม ทำให้มีมิติที่ต่างไปจากเดิม” อาจารย์ไพสิฐ กล่าวในตอนท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net