Skip to main content
sharethis
บวรศักดิ์ บรรยายที่ FCCT เสนอการปฏิรูปไม่ใช่แค่ปรองดองทางการเมือง-ให้นักการเมืองพ้นผิด แต่ต้องปฏิรูปประเทศทุกด้านให้มี “ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงทรัพยากร มีรัฐสวัสดิการเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพิงประชานิยมของนักการเมือง ยันประชาธิปไตยไทยไม่ถอยหลัง

 

20.00 น. วานนี้ (22 ก.ค.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) มีการเสวนาหัวข้อ “เสถียรภาพทางการเมืองและเส้นทางปฏิรูปประเทศไทย” (Political stability and the path of reform in Thailand) โดยมีวิทยากรคือ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และ ม.ล.ณัฐกร เทวกุล นักจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ และนักวิจารณ์การเมือง ร่วมเสวนา
 
โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ เสนอบทอภิปรายเป็นคนแรกในหัวข้อ ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเพิ่มการจัดสรรความมั่งคั่งในสังคมอย่างยุติธรรม (Reforming Thailand for more equitable allocation of wealth in the society) โดยช่วงหนึ่ง ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคกรเมืองไทยต้องปรับตัวและแข่งขันบนหลักการใหม่คือยึดนโยบาย โดยพรรคไทยรักไทยเลือกใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียง ทำให้กลายเป็นพรรคการเมืองไทยพรรคแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีเสียงข้างมากในสภา ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งทำให้เสียงข้างมากซึ่งเป็นคนจนเริ่มเชื่อในอำนาจการเลือกตั้งของตน ในปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่นโยบายประชานิยมถูกวิจารณ์ว่าทำให้คนจนต้องพึ่งพาหรือเสพย์ติดผลประโยชน์และสิ่งที่รัฐบาลมอบให้
 
รัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องการให้ไทยมีรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ แต่สิ่งที่ไม่น่าพอใจของรัฐธรรมนูญคือการให้ความสำคัญกับเรื่องระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุล องค์กรอิสระ และองค์กรตรวจสอบจากประชาสังคม ซึ่งจะช่วยป้องกันรัฐบาลไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและสร้างหลักประกันเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ
 
ไม่ใช่เรื่องลึกลับที่รัฐบาลไทยรักไทยที่นำโดยทักษิณ ประกอบด้วยผู้ที่ร่ำรวย บางคนก็รวยสุดๆ และคุ้นเคยกับธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่นานหลังจากที่มีอำนาจตั้งรัฐบาล นโยบายของรัฐบาลก็ไปเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขา มีคำที่เรียกว่า “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” โครงการส่วนใหญ่ถูกป้อนให้กับเส้นสายทางการเมือง นักธุรกิจหลายคนเข้าสู่การเป็นนักการเมือง ส่วนเพื่อนฝูงและครอบครัวก็ร่ำรวยขึ้น เพื่อหลักเลี่ยงการตรวจสอบพวกเขาจะใช้นอมินีเป็นตัวแทนถือครองทรัพย์สินของพวกเขา ทั้งหมดแล้ว คนรวยกลายเป็นคนรวยมากขึ้น ส่วนคนจนก็พอใจกับสิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ ขณะที่ชนชั้นกลางถูกกีดกันออกจากผลประโยชน์ที่มาจากนโยบายของรัฐบาล
 
ขณะที่ภาคสาธารณะล้มเหลวในการควบคุมรัฐบาลที่พวกเขาเลือกตั้งมา ภาคประขาสังคมอ่อนแอและไม่สามารถสร้างการถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาล โดยกลไกตรวจสอบ-ถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือและความอิสระของกลไกดังกล่าวถูกตั้งคำถาม ขณะที่รัฐบาลพยายามแทรกแซงขั้นตอนการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระเหล่านั้น แม้แต่สื่อก็คุ้นชินกับการเงียบเสียง และถูกขู่ว่าจะถอนโฆษณาจากธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีเส้นสายกับรัฐบาล
 
ฝ่ายค้านทักษิณมีแรงกดดันอย่างแท้จริงเมื่อมีการขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่จ่ายภาษีมูลค่า 73,000 ล้านบาทของครอบครัวทักษิณในเดือนมกราคม 2549 ผู้ประท้วงทักษิณบนท้องถนนเติบโตและเข้าใกล้กับการเสี่ยงต่อเหตุรุนแรง ต่อมามีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งดูเหมือนจะชดเชยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ และเปลี่ยนโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองโดยให้ระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุลที่เข้มแข็งมาก่อนรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ และมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550
 
แต่ความตึงเครียดทางการเมืองยังคงอยู่ พรรคพลังประชาชน สิ่งที่เหลือจากพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบจากข้อหาโกงการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดมากขึ้นและขัดแย้งมากขึ้น ปรากฏการณ์ “เสื้อเหลือง” ปะทะ “เสื้อแดง” ถูกหมายไว้ในพื้นที่การเมืองว่ามีกลุ่มสองกลุ่มที่จัดการประท้วงรัฐบาลแทบจะรายวัน ซึ่งนำไปสู่การปะทะในเดือนตุลาคม 2551 และเดือนเมษายน 2552 แม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะสงบลงแล้ว แต่นี่อาจเป็นช่วงเวลาก่อนที่ความขัดแย้งจะลุกโชนขึ้นอีกครั้ง
 
ในช่วงท้าย ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอจากสถานการณ์ทางการเมืองอันยากลำบากนี้ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องการไม่ใช่แค่การปฏิรูปการเมืองเพื่อการสลายความขัดแย้งทางการเมือง หาระบบการเมืองที่ทุกกลุ่มยอมรับได้ ที่ข้อหนึ่งก็คือผู้ได้รับเลือกตั้งต้องได้ยินเสียงและสามารถควบคุมคนที่พวกเขาเลือกตั้งมา และต่อต้านการยักย้ายผลประโยชน์เข้าส่วนตัว
 
แต่ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ครอบคลุมการแก้ไขโครงสร้างอยุติธรรมที่ฝั่งแน่นในสังคมไทย ซึ่งสิ่งนี้เองที่ขัดขวางคนส่วนใหญ่จากการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติและความมั่งคั่ง รวมถึงได้ทำให้ระบบอุปถัมภ์คงอยู่ การปฏิรูปนี้เองจะทำให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพานักการเมือง ไม่ต้องพึ่งนโยบายทางเศรษฐกิจแบบประชานิยมของนักการเมืองที่โน้มเอียงไปสู่ความสุรุ่ยสุร่าย มีนโยบายทางเงินที่ไม่ยั่งยืนที่ใช้เงินในอนาคตซึ่งไม่แน่นอน ไม่มีการคิดผลกระทบในอนาคต สิ่งเหล่านี้ต้องรวมอยู่ในความพยายามที่จะปรับปรุงความตระหนักของประชาชนให้รู้ว่าสิทธิในการลงคะแนนของพวกเขาต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและความสามารถในการตรวจสอบควบคุมผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของพวกเขา
 
การปฏิรูปการเมืองจากการคาดการณ์ของรัฐบาลที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรมีวาระที่ครอบคลุมมากกว่ากระบวนการที่หารือกันโดยรัฐสภา การคลี่คลายปัญหาร่วมกับนักการเมืองและระบบการเลือกตั้งมีความสำคัญ เช่น ข้อเสนอให้แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. วุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง การให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองพ้นผิด พรรคการเมืองควรถูกยุบ และสิทธิของคณะกรรมการการเลือกตั้งในถอนสิทธินักการเมืองหากมีสมาชิกพรรคทุจริตการเลือกตั้ง แต่ควรตระหนักว่าเป้าหมายที่ต้องการของความปรองดองแห่งชาตินั้น ควรขยายไปสู่เรื่องปรับโครงสร้างด้านทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และขยายกระบวนการปฏิรูปนี้ไปสู่สาธารณะด้วย
 
ศ.ดร.บวรศักดิ์ ยังมีข้อเสนอว่า ประการแรก รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้องควรมีข้อกำหนดให้คนจนเข้าถึงทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยไม่ต้องรอคอยสิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ ทุกรัฐบาลควรถูกบังคับให้จัดสรรการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาทักษะ และทำให้เขามีอำนาจในการมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ป่าไม้ และแหล่งน้ำ รัฐบาลควรมีหลักประกันให้กับความสามารถของประชาชนที่จะได้รับกำไรจากเศรษฐกิจระบบตลาด ด้วยการสนับสนุนความรู้หรือวิธีการด้านการขนส่งและการตลาด รัฐบาลควรสนับสนุนให้คนจนมีอำนาจต่อรองด้วยการตั้งสหกรณ์ องค์กรชาวนา และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
 
รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิรูปให้มีการเก็บภาษีก้าวหน้า เพื่อสนับสนุนสวัสดิการที่ครอบคลุมสำหรับประชาชนทุกคน และพึ่งพาการยืมเงินจากภาษีที่เป็นไปได้ที่ควรพิจารณาคือการเก็บภาษีมรดก และภาษีก้าวหน้า ขณะที่ความมั่งคั่งซึ่งกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อย ควรถูกกระจายผ่านมาตรการบังคับทางกฎหมายที่จะป้องกันการผูกขาดทรัพยากรโดยเครือบริษัทขนาดใหญ่
 
ผลจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะก่อให้เกิดสถาบันของ “รัฐสวัสดิการ” และลดการใช้นโยบายประชานิยมของพรรคใดๆ ก็ตามเพื่อเอาชนะกันในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านหรือความขัดแย้ง
 
ประการที่สอง ก่อนจะกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางการเมืองที่จำเป็นเพื่อปรับระบบการบริหารราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิสัมพันธ์ต่อราชการส่วนกลาง ฝ่ายบริหารในท้องถิ่น ชุมชน ภาคธุรกิจ และประชาสังคมนั้น ท่ามกลางกลุ่มคนเหล่านี้ ความรับผิดชอบในการบริหารกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทรัพยากรท้องถิ่นต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ฝ่ายบริหารในท้องถิ่น อาจมีการอนุญาตให้ท้องถิ่นสามารถให้บริการทางสังคมได้ ถ้าพวกเขาปรับปรุงจนทำได้ดีกว่าราชการส่วนกลาง พร้อมกันนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับนักการเมืองควรถูกพิจารณาเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น ควรปรับปรุงระบบการให้และการควบคุมเงินบริจาคสำหรับพรรคการเมือง
 
ประการที่สาม ภายใต้ระบบสองสภา สภาผู้แทนราษฎรควรเป็นตัวหลักสำคัญของการอยู่รอดของรัฐบาล และสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ควรปลดปล่อยรัฐสภาจากการมีผู้นำอำนาจนิยมในพรรค ส.ส.ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ควรมีโอกาสติดต่อโดยตรงกับผู้ลงคะแนนเพื่อลดบทบาทของหัวคะแนน
 
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ควรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ จากหมู่บ้าน เทศบาล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับชาติ และปลูกฝัง “จิตสาธารณะ” ผ่านการศึกษาของพลเมือง โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทหลัก ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่หลัก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” หรือการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ สาธารณชนควรตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าในระบอบประชาธิปไตยที่สร้างให้มีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน สิ่งนี้จะทำให้พวกเขามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันและสามารถควบคุมตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ มาตรฐานทางสังคมและกฎหมายควรสร้างหลักประกันให้การชุมนุมที่เป็นไปอย่างสันติ
 
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวสรุปว่า ประเทศไทยไม่มีการถอยหลังของประชาธิปไตย แต่กำลังมีการปฏิรูปทางการเมือง สิ่งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศอย่างครอบคลุม ซึ่งมีความจำเป็นต้องสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ประเทศไทยจำเป็นต้องคิดมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่จำเป็นต้องยึดหลักการที่ว่าจะทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานและทำอย่างไรให้มีการผลิตและกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนหลากหลายภาคส่วนในสังคม สิ่งนี้จะช่วยประเทศให้เอาชนะภาพลักษณ์ของการชุมนุมเหลืองแดง และเอาชนะความกังวลว่าจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งมุมมองของกลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บวรศักดิ์ เสนอทางรอดประเทศ ปฏิรูปสังคมการเมืองครั้งใหญ่, กรุงเทพธุรกิจ, 25 ก.พ. 52

 

หมายเหตุ: ติดตามการอภิปรายของจาตุรนต์ ฉายแสง และ ม.ล.ณัฐกร เทวกุล ในวันพรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net