Skip to main content
sharethis

วันนี้ (22 ก.ค.52) ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า ภูเก็ต จ.ภูเก็ต เวลา 18.00น. นางฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลง ก่อนเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า สหรัฐอเมริกากลับมาแล้ว (The US is back) เพื่อแสดงออกถึงภารความผูกพันของสหรัฐอเมริกาที่จะเสริมขยายความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้ จึงได้มาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และก็ได้เริ่มกระบวนการโดยการเซ็นต์สัญญาไมตรีและความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอาเซียน เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมีพลวัตรในฐานะหุ้นส่วนกับอาเซียน
 
สหรัฐอเมริกากลับมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาและในส่วนตัวเชื่อว่าภูมิภาคนี้มีความสำคัญต่อสันติภาพและความมั่งคั่งของโลก และเราตั้งใจที่จะมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งยวดกับหุ้นส่วนในอาเซียน ในขณะที่เราก็พบกับความท้าทายหลายอย่างอยู่ต่อหน้า จากเรื่องความมั่นคงระดับโลกและระดับภูมิภาคไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) หลังจากนี้ตนในฐานะผู้แทนสหรัฐจะเข้าไปเซ็นสัญญาไมตรีกับอาเซียน โดยสัญญานี้ได้ผนึกแน่นความสัมพันธ์ของเราว่าจะร่วมทำงานในฐานะหุ้นส่วนใกล้ชิด

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวด้วยว่า สหรัฐอเมริกาจะส่งผู้แทนทางการทูตไปประจำที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยได้เน้นย้ำกับคณะทำงานทุกคนให้ใส่ใจกับสำนักเลขาธิการอาเซียนให้มากและรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย ซึ่งรัฐบาลสหรัฐเห็นความสำคัญที่จะทำเรื่องนี้
 
นางฮิลลารีกล่าวอีกว่า พรุ่งนี้ (23 ก.ค.) จะมีการประชุมครั้งแรกระดับรัฐมนตรีระหว่างสหรัฐกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และประเทศไทย เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องน้ำ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข โดยขอย้ำว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาต้องการมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับเอเชีย และใส่ใจกับวิกฤติความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยได้ขอให้สภาคองเกรสเพิ่มเงินช่วยเหลืออีก 7 เท่า สำหรับกองทุนในเรื่องดังกล่าวเพื่อใช้ในภูมิภาคนี้ และจะเปิดตัววิทยาการใหม่ซึ่งจะรวมถึงการวิจัย การลงทุนและนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเพื่อที่จะสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าจะจัดให้มีการประชุมระดับสูงเรื่องสภาพแวดล้อมภายในอาเซียน

เมื่อทำงานร่วมกันเราก็หวังว่าจะช่วยโลก เผชิญหน้ากับปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาด อนาคตที่ถือว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียนและก็เป็นอนาคตที่สำคัญของเราด้วย

นางฮิลลารีกล่าวต่อมาว่า สมาชิก 10 ประเทศของอาเซียนมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน รวมทั้งพันธมิตรหลักของสหรัฐ 2 ชาติในนี้ (ไทย-ฟิลิปปินส์) และประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกซึ่งเพิ่งผ่านการเลือกตั้งที่สง่างาม (อินโดนีเซีย) ภูมิภาคนี้เป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐ โดยมีการลงทุนของสหรัฐอยู่ในภูมิภาคนี้มากกว่าอยู่ในจีนเสีย และที่สำคัญยังเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญ เพราะฉะนั้นอาเซียนจึงเป็นภูมิภาคแห่งความหลากหลายที่สำคัญยิ่ง ซึ่งคนประกอบไปด้วยประชากรที่แตกต่างกันทั้งเรื่องศาสนา วัฒนธรรม อะไรก็ตามที่หลากหลายในประสบการณ์ของมนุษยชาติสามารถสร้างเป็นชุมชนได้ที่นี่ เพิ่งจะสัปดาห์นี้เองที่กลุ่มอาเซียนได้ตกลงกันสร้างแนวทางของเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมคุณค่าที่เรามีอยู่ร่วมกัน และหวังอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาพม่าด้วย

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ยังกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อเหตุการณ์ระเบิดการก่อการร้ายในอินโดนีเซีย เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว โดยระบุว่า “เรายืนอยู่ข้างอินโดนีเซียในเวลาที่ยุ่งยากนี้ และขอเฉลิมฉลองต่อความสำเร็จในการเลือกตั้งและต่อความเป็นประชาธิปไตย”

นางฮิลลารี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลโอบามามีความภูมิใจที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ในทางยุทธศาสตร์กับอินโดนีเซีย และจะขยายความสัมพันธ์ในทุกๆ ด้าน ทั้งในทางการทูต การเมือง และในทางยุทธศาสตร์ โดยให้ความมั่นใจว่าจะได้ผลในทางดี นี่ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่สหรัฐต้องการที่จะก้าวไปพร้อมกับอาเซียนและสนับสนุนให้อาเซียนก้าวไปข้างหน้าด้วย

ย้ำคุยอนาคตของเกาหลีเหนือ ภายใต้เงื่อนไขต้องเลิกโครงการนิวเคลียร์

ในส่วนการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีใน 6 ชาติ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐ รัสเซีย) นางฮิลลารี กล่าวว่าจะมีการหารือเรื่องการบังคับใช้ข้อมติ 1874 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงหารือถึงมาตรการของแต่ละชาติและมาตรการโดยรวมที่ใช้ร่วมกันทั้งมาตรการด้านการเงิน การห้ามการค้าอาวุธ และการเข้าไปตรวจอาวุธและมาตรการอื่นๆ ตามข้อมติ ทั้งนี้ รัฐมนตรีคนอื่นๆ อีก 4 คน ไม่รวมสหรัฐ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย) ก็เห็นด้วยกับมาตรการที่ว่านี้ เพื่อที่จะแสดงออกถึงความปรารถนาอย่างชัดเจนว่าการขจัดนิวเคลียร์ เป็นสิ่งเดียวที่ควรจะทำสำหรับเกาหลีเหนือ

“เราไม่ได้ต้องการให้รางวัลเกาหลีเหนือเพียงเพราะว่าเขาจะกลับมาสู่โต๊ะการเจรจา หรือจะให้รางวัลกับสิ่งที่เขาสัญญาว่าจะทำแล้วยังไม่ได้ทำ สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นตั้งนานแล้ว และก็ขึ้นอยู่กับเขาเองว่าจะทำตามหรือไม่ และถ้าหากไม่ทำก็จะเผชิญหน้ากับการโดดเดี่ยวจากนานาชาติและการกดดันจากการคว่ำบาตรของโลก”

เมื่อถามถึงแผนการลดอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนืออย่างเป็นรูปธรรม นางฮิลลารี ตอบว่า สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทั้งหมดเป็นเอกภาพกันในเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการหยุดโครงการนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ดังนั้นเรามีกระบวนการในการยุติโครงการนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี เราได้พูดกับเกาหลีเหนือชัดเจนแล้ว ถ้าหากเกาหลีเหนือตัดสินใจที่จะยกเลิกโครงการ สหรัฐฯและประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ จะปรับความสัมพันธ์เข้าสู่ระดับปกติ และจะให้ความช่วยเหลือที่จะทำให้ชาวเกาหลีเหนือมีชีวิตที่ดีกว่า
 
“มันเป็นเรื่องเศร้าที่เห็นที่ประชาชนในเกาหลีเหนือ ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนในเกาหลีเหนือ คุณก็รู้ดีอยู่ว่าเขาไม่มีอะไรพอกินเลย ไม่มีโอกาสในชีวิตซึ่งเขาควรจะได้รับ เรามีจุดยืนที่ชัดเจนมาก ว่าเราต้องการที่จะพูดถึงอนาคตของเกาหลีเหนือ แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าเกาหลีเหนือต้องเลิกโครงการนิวเคลียร์”

นางฮิลลารี กล่าวด้วยว่า นโยบายของสหรัฐและอีก 5 พันธมิตรนั้น ต้องการที่จะสร้างความมั่นคงทางภูมิภาคและคิดว่าได้ดำเนินนโยบายนี้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งหวังว่าเกาหลีเหนือคงจะตอบสนองด้วยดี

ผู้สื่อข่าวถามต่อมาถึงรูปธรรมที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นอย่างไรและได้ตกลงเรื่องนี้กับอีก 4 ชาติ คือเกาหลีใต้ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่นแล้วหรือยัง บอกได้ไหมว่าแผนการนี้รวมถึงการที่เกาหลีเหนือจะส่งมอบพรูโตเนียมด้วยหรือไม่ นางฮิลลารี ตอบว่า เป้าหมายคือการให้เลิกโครงการนิวเคลียร์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ถอยหลังกลับไปหามันอีก ซึ่งเกาหลีเหนือผูกพันเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2006 แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำตาม ผลสุดท้ายเกาหลีเหนือต้องผูกพันสิ่งที่จะต้องทำและยกเลิกความสามารถทั้งหมดหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอยู่ในขณะนี้ แต่ 5 ประเทศเราไม่เพียงผูกพันกับเป้าหมายแต่จะต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น และข้อมติแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากพวกเราและได้รับการบังคับใช้จากพวกเรา

“ดิฉันคิดว่านี่เป็นจุดยืนที่เข้มแข็งที่สุดต่อเกาหลีเหนือและตอนนี้รอคอยว่าเกาหลีเหนือจะตอบสนองอย่างไร เราคาดว่าเกาหลีเหนือจะตอบสนองอย่างเป็นบวก”

เรียกร้องพม่าปล่อย “อองซาน ซูจี”

ต่อข้อซักถามกรณีของประเทศพม่า คิดว่าควรจะออกจากอาเซียนหรือไม่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า อาเซียนและประเทศในอาเซียนกำลังเดินไปในแนวทางที่เป็นบวกมากๆ การเพิ่มการเน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชนในกลุ่มอาเซียนถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งและได้รับการตอบรับที่ดีอย่างยิ่ง แต่ว่าพม่าไปในทางตรงกันข้ามกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ทั้งนี้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลพม่าและคิดว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก็ต้องการเห็นเช่นกัน เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.52) ตนได้พูดถึงความร่วมมือทางระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือเรื่องอาวุธร้ายแรง และอาจรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนำความกังวลมาสู่ภูมิภาคนี้
 
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวต่อมาว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลพม่าเริ่มต้นเปิดกว้างเพื่อเดินตามทิศทางรูปแบบการปกครองที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ เขาเป็นกัน และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ซึ่งหากเธอได้รับการปล่อยตัวก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ขยายความสัมพันธ์กับพม่า รวมทั้งการลงทุนในพม่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำพม่าเอง

“เราก็ได้เพียงหวังว่าในการเจรจาพูดคุยระหว่างประเทศอื่นๆ และผู้แทนของพม่าในที่ประชุมนี้อาจจะมีความก้าวหน้าบ้างที่จะทำให้ผู้นำพม่าเปลี่ยนแปลงทิศทาง นี่มันเป็นเรื่องความสนใจและความห่วงกังวลที่สำคัญมากของสหรัฐ แต่เราอยากจะเห็นว่ามีประจักษ์พยานอะไรบางอย่างว่าพม่าได้แสดงความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ด้วยความเคารพต่ออาเซียน ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาเซียนจะทำอย่างไรต่อพม่า เราควรใส่ใจให้ความสำคัญกับการลองพยายามที่จะชักชวนพม่า เพื่อที่จะไปให้พ้นจากการถูกโดดเดี่ยว และปฏิบัติต่อประชาชนของตัวเองให้ดีขึ้น ให้ประชาชนมีโอกาสเลือกตั้งอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนพม่าในอนาคต”


ฮิลลารีเปิดโอกาสนักสิทธิมนุษยชนสตรีของไทยเข้าพบ

ก่อนหน้านี้ ช่วงเช้าวันเดียวกัน (22 ก.ค.) นางฮิลลารีได้เปิดโอกาสให้นักสิทธิมนุษยชนสตรี ที่ทำงานในไทย 4 คน เข้าพบและพูดคุยสั้นๆ อย่างไม่เป็นทางการ ที่พระราชวังพญาไท คือ นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว. เชียงราย นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และเจ้าหน้าที่หญิงสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้เชิญ พญ.ซินเธีย หม่อง แพทย์ผู้ลี้ภัยชาวพม่า และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ โดย พญ.ซินเธียได้เดินทางมาถึงภายในงานแล้ว แต่เมื่อทราบว่า ไม่ได้เป็นการพบปะ แบบส่วนตัว แต่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน จึงปฏิเสธที่จะเข้าพบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net