''มาตรการแก้ปัญหาลำไยของรัฐยังไม่เอื้อเกษตรกรรายย่อย'' สัมภาษณ์ ประนอม เชิมชัยภูมิ

ประนอม เชิมชัยภูมิ แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จาก จ.เชียงราย กล่าวเกริ่นนำกับประชาธรรมว่า ''เรื่องราคาผลผลิตลำไยถามว่ามันเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสภาพัฒนาการเมืองหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่าเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะว่าการยกระดับสำนึกของชาวบ้านในสำนึกทางการเมือง จะต้องยกระดับผ่านปรากฏการณ์ทางด้านปัญหา ส่วนนี้จะทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรนั้นปัญหาอยู่ที่กลไก การจัดการของรัฐ ไม่ได้เป็นปัญหาที่ไหนเลย กลไกการจัดการของรัฐต่างหากที่จัดการไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของปัญหา อย่างเช่นว่าเกษตรกรขายผลผลิตในราคาต่ำและขาดทุนนั้น แต่ว่ารัฐกลับเอาเงินไปช่วยพ่อค้า ไปชดเชยค่าขนส่งให้พ่อค้า ชดเชยดอกเบี้ยให้พ่อค้า แทนที่จะเอาเงินมาชดเชยตรงๆ ชดเชยราคาต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรตรงๆ แต่ว่าไม่ทำ ซึ่งในส่วนนี้แสดงว่ามีปัญหาแล้ว''

มาตรการของรัฐในการแก้ปัญหาลำไยปีนี้

คือว่าปีนี้ชัดๆ คือ คชก.(คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร)แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่าคณะกรรมการบริหารผลไม้ แล้วคณะกรรมการชุดนี้ก็แต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมา ประชุมกันเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารลำไยในพื้นที่
8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยคชก.จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้

งบประมาณแบ่งออกเป็น
2 ส่วน ก็คืองบกู้ยืม และงบจ่ายขาด ในส่วนของงบกู้ยืมนั้น ถ้าหากกรณีที่มีกลุ่มพ่อค้า หรือว่าองค์กรของเกษตรกรอยากที่จะจัดการลำไย หรือว่าค้าขายลำไยภายในประเทศ อันนี้มีเงินจ่ายขาดให้โดยการชดเชยค่าเดินทางกิโลเมตรละ 2 บาท แล้วในขณะเดียวกันถ้าหากว่าเกษตรกร หรือว่าเอกชนอยากจะอบลำไยเนื้อสีทอง อันนี้เขามีเงินให้กู้ดอกร้อยละ 1 บาทต่อปี โดยการกู้ผ่านสหกรณ์จังหวัด กรมส่งเสริมสหกรณ์ อันนี้เป็นส่วนภายในประเทศ

การทำลำไยอบเนื้อสีทอง หากเกษตรกรกลุ่มไหนอยากจะเข้ามากู้ยืมเงินในส่วนนี้นั้น จะต้องรับซื้อลำไยจากเกษตรกร ขนาดเอเอราคากิโลกรัม ไม่ต่ำกว่า
18 บาท รวมถึงลำไยช่อ หรือลำไยสดทั่วไป อันนี้คือ 18 บาท

มาตรการต่อไปคือการให้เงินกู้สำหรับเอกชนแล้วก็กลุ่มองค์กรเกษตรกรที่อยากจะรับซื้อลำไยร่วงจากเกษตรกร เพื่อมาอบเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ส่งออกต่างประเทศ อันนี้กลุ่มเกษตรกร หรือว่าเอกชนสามารถที่จะดำเนินการได้
2 วิธีการ 1.กู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐโดยตรงที่รัฐรับรอง มี 3 สถาบันการเงินก็คือ กรุงไทย SMEs bank และสุดท้ายก็คือ ธกส. ไปกู้มาแล้ว เขาเขียนเอาไว้ว่าในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ในธนาคารเหล่านี้คุณจะกู้มาเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ตาม รัฐบาลจะชดเชยให้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 สมมติว่าไปกู ธกส.ร้อยละ 6 รัฐบาลจะช่วย 5 เราก็จ่ายเพียงแค่ 1 เท่านั้น
  
อีกช่องหนึ่งคือหากกลุ่มเกษตรกร (เกษตรกร สหกรณ์ องค์กรตามพ.ร.บ.เกษตรกร)วงเล็บเอาไว้ว่าเกษตรกรเท่านั้นไม่อนุญาตให้เอกชน อยากจะทำเอง ให้ไปกู้เงินที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ร้อยละบาท เพื่อที่จะทำการส่งลำไยอบแห้งออกนอก โดยรัฐบาลบอกว่าถ้าหากคนเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องรับซื้อลำไยจากเกษตรกรขนาดเอเอในราคาไม่ต่ำกว่า 12 บาท ขนาดเอราคาไมต่ำกว่า 8 บาทและบี 4 บาท ตามขนาด

คราวนี้ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า กรณีลำไยสดที่จะขายกันในประเทศนั้น มันมีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยมาก เช่นในพื้นที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มีผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นเอกชนเพียง 1 รายเท่านั้น เขามีวิธีการคือจะรวบรวมจากญาติพี่น้องไปส่งตรงให้กับสายส่งของเขาที่ตลาดสี่มุมเมือง ประมาณไม่กี่หมื่นกิโลกรัม แล้วเขาก็กลับมามาขอเงินค่าชดเชยกิโลเมตรละ 2 บาท

ซึ่งโดยตามปกติ พ่อค้าลำไยจากภาคเหนือที่จะส่งลำไยเข้ากรุงเทพนั้น เขาจะต้องมีสายส่งเอง ปกติพ่อค้าลำไยเขาก็ทำอยู่แล้ว ทีนี้พอรัฐบาลประกาศว่าจะชดเชยค่าลำไยให้กิโลเมตรละ
2 บาท พ่อค้าลำไยก็ทำเลย  ทำเองเลย ถามว่าทำไมมีพ่อค้าลำไยทำคนเดียว เพราะว่าเมื่อเขามาซื้อลำไยเอาไปจากพี่น้องเกษตรกร หรือว่าจากพี่น้องของเขาแล้ว เขารู้ว่าจะเอาไปส่งที่ไหน มีที่เอาไปขายเสร็จ

ถามว่าพี่ประนอมสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้หรือเปล่าในฐานะนายประนอม ก็ได้! แต่ถามว่าถ้าหากพี่ประนอมมาซื้อลำไยแล้วจะเอาไปขายที่ไหนซึ่งมันไม่มีตลาด มันก็เลยมีผู้เข้าร่วมโครงการรายเดียว ซึ่งเราอธิบายได้ว่ามาตรการนี้ล้มเหลว ไม่มีคนสนใจ เพราะว่าพอเข้าร่วมโครงการแล้วไม่มีตลาด มันไม่ใช่เพียงว่าเอาไปส่งให้ อบต. แล้ว อบต. เอาไปขายก็จบซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น

ส่วนกรณีของกลุ่มเกษตรนั้น เข้าใจว่าพวกสหกรณ์อาจจะเข้าร่วมโครงการ เพราะว่าเขามีที่กู้ร้อยละบาท และในกรณีของกลุ่มสหกรณ์นั้น ถ้าหากเป็นคำสั่งของสหกรณ์การเกษตรนั้นเขาก็ต้องทำ เพราะว่าเขาไม่ขาดทุน เหตุผลหนึ่งเขากู้เงินดอกเบี้ยต่ำ แล้วก็ได้ค่าเดินทางชดเชยขนส่ง เขาเพียงเอาไปทิ้งไว้ที่สหกรณ์จังหวัดต่างๆ แล้วก็ให้พวกสหกรณ์อำเภอเอาไปกระจายก็ได้
 
ดูแล้วก็เหมือนไม่มีมาตรการอะไรที่ความช่วยเหลือจะส่งไปถึงเกษตรกรรายย่อยเลย

ไม่ถึงเลย ไม่มีอะไรถึงมือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาตรงๆ มันผ่านมาแล้วเหมือนกับไอติมผ่านการดูดมาเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ซากมา ซึ่งอันนี้ก็ไม่แตกต่างกับมาตรการอันอื่นๆ อย่างของราคาข้าวก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจึงต้องออกมาประท้วงกัน
 
ถ้าหากเปรียบเทียบมาตรการนี้ กับมาตรการในปีที่ผ่านๆมาเป็นอย่างไรบ้าง

พอๆ กัน แต่ว่าที่มันเป็นปัญหาหนักที่สุดในปีนี้ คือราคาของผลผลิตต่ำกว่าราคาปีที่ผ่านมามาก คือปีนี้ที่เชียงรายผลผลิตติดมาก(ลูกดก) แต่ว่าปีที่ผ่านมาไม่ติด ปีนี้เริ่มประกาศราคาในวันที่
1 กรกฎาคม ร้านที่อยู่แถวบ้านผมนั้น วันที่ 1 ประกาศราคาตามขนาด(เอเอ,เอ,และบี)คือ 12 บาท 8 บาท และ 4 บาท คงราคาอยู่ประมาณ 4-5 วันจากนั้นราคาเกรดดีที่สุดลดลงมาเหลือ 11 บาท อีกวันต่อมาเหลือ 10 บาท  ต่อไปก็เป็น 9 บาท จนมาถึงปัจจุบันนี้ ถามว่าเขาเอากลไกอะไรมากำหนดราคา ซึ่งมันไม่มีหลักประกันอะไรเลย ราคาลำไยต้องลงๆ เพราะว่าลำไยมันยังไม่เข้าโกดังเลย บ้านผมยังไม่ได้เก็บลำไยซึ่งจะเริ่มเก็บประมาณปลายเดือนนี้
 
เขาใช้อนาคตตลาดกำหนด

ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าที่แน่ๆ พอโกดังนี้เขาไม่เข้าร่วมกับโครงการของรัฐ เขารู้ว่าเกษตรกรแถบ อ.แม่สรวยนั้นยังไงก็ต้องเอามาขายให้เขา เพราะว่ามีคนเข้าร่วมในโครงการรัฐเพียงรายเดียวเท่านั้น และเป็นรายที่มีปริมาณไม่มาก ดังนั้นผลผลิตก็ต้องเหลือ เพราะฉะนั้นฉันก็จะซื้อในราคาที่ฉันพอใจ ปัญหาอีกอย่างก็คือไม่มีพ่อค้าคนอื่นที่จะไปตั้งร้านแข่งกับเขา
 
ย้อนไปถึงโครงการรับจำนำลำไยในฤดูกาลที่ผ่านมาที่มันล้มเหลวเพราะว่าสาเหตุใด

ปีที่แล้วล้มเหลวเพราะว่ามันโกง ยกตัวอย่างที่ อ.แม่สรวย มีโควตาเข้ามาประมาณ
7 หมื่นกิโลกรัม ประกาศโควตาออกมาตอนบ่ายไป พอไปถามสถานที่รับซื้อรับจำนำตามโควตาตอนเช้าของอีกวันหนึ่ง เขาก็บอกว่าโควตาเต็มแล้ว หมายความว่าก็มีคนกำหนดโควตาเหล่านั้นเอาไว้แล้ว ซึ่งเป็นการโกงกันชัดๆ
 
แล้วมาตรการไหนที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้จริงๆ 

มาตรการรับจำนำก็คิดว่าเป็นปัญหาหมดนั่นแหละ ซึ่งผมมีข้อเสนอดังนี้คือว่ากลไกของรัฐโดยเฉพาะ คชก.นั้น ถามว่ามีคนของเกษตรกรอยู่บ้างหรือเปล่า ก็มีแต่เพียงเกษตรกรรายใหญ่ที่เป็นคนกำหนดราคา

ถ้าหากจะให้ดีผมขอเสนอแบบนี้คือ อันแรกถ้าหากมีสภาเกษตรก็ดีแต่ถ้าหากไม่มีในส่วนของกลไก คชก.นั้นเกษตรกรต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนกลไกหรือว่าโครงสร้าง เพราะว่ากลไกนี้เป็นกลไกหลักในการกำหนดราคา แล้วที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตไม่เคยได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงจากเกษตรกรเลย ข้อมูลจากพวกข้าราชการซึ่งเขาก็เอาข้อมูลเก่ามาบ้าง จากพ่อค้ามาบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่แตกต่างก็คือว่าเขาวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตน้อยกว่าต้นทุนจริงของเกษตรกร ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ
 
แล้ววิธีการไหนที่แก้ปัญหาของเกษตรกรได้ถึงราก

คิดว่าต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของเกษตรกร ถ้าหากคิดว่าต้องการมีเงินจากการเกษตรบ้างจากการเกษตร ซึ่งไม่ใช่รวย คือต้องเปลี่ยน
1. ต้องลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้ ถ้าหากคุณจะเลี้ยงหมูคุณต้องค้นคว้าสูตรอาหารหมูเองซึ่งไม่ยาก แต่ที่ผ่านมาสิ่งที่เกษตรกรคุ้นเคยคือความสะดวกสบาย ไปซื้อปุ๋ยมาเป็นลูกๆ ซึ่งง่าย แทนที่จะทำการผลิตเอง
2. ระยะเวลาในการทำการผลิต เกษตรกรต้องมีเวลามากขึ้น ที่ผ่านมาเกษตรกรเร่งรีบจนเกินไปจึงมีการลงทุนเยอะ มีการไปจ้างแรงงานมา ปกติถ้าหากเป็นนาแบบเดิมพื้นที่ 5 ไร่ใช้เวลาปลูกประมาณ 2 วันสำหรับ 3 คน เพราะว่าเขาไม่ได้เร่งรีบ ทุกวันนี้เขาใช้คนประมาณ 7-8 คน ปลูกครึ่งวัน เวลาที่เหลือเขาไปทำอย่างอื่น เร่งทำเพื่อขายๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีแบบนี้
3. รัฐต้องมาสนับสนุนในเรื่องการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่นโรงงานแปรรูป โรงงานอบ ไม่ใช่เพียง แต่เทคโนโลยี รัฐต้องสนับสนุนรวมไปถึงเจ้าพนักงาน หรือคนงานที่มีความรู้ความสามารถจ้างมาดูแลเกษตรกร

มันคือการเปลี่ยนถึงรากเหง้า ซึ่งอาจจะยาก เพราะว่าทุกวันนี้สิ่งที่เกษตรกรคุ้นเคยมากที่สุดคือการผลิตเพื่อกำไร จึงลงทุนไปมหาศาล รากเหง้าความคิดแบบเดิมๆมันเปลี่ยนไปแล้วสำหรับเกษตรกรไทย
 
แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร

สังคมไทยก็เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรม ก็กลายเป็นสังคมที่มีกรรมาชีพมากขึ้น ผู้ที่ไร้ปัจจัยการผลิตมากขึ้น ก็จะนำไปสู่เรื่องของการเรียกร้องเรื่องสวัสดิการสังคม หรือว่าเรื่องอะไรต่างๆ มากขึ้น ซึ่งระบบอุตสาหกรรมที่โลกใหม่กำลังจะเป็นก็ดูเหมือนว่ามันไม่เอื้อ หรือว่าไม่มีพื้นที่ให้กับแรงงานจากภาคการเกษตรเข้าไปได้ มันไม่เอื้ออยู่แล้ว สำหรับอุตสาหกรรมภายใต้โลกของทุนนิยม แต่ว่าอุตสาหกรรมของโลกที่เราหวัง ที่เราปรารถนา มันเป็นอุตสาหกรรมของมวลชนที่มวลชนเป็นเจ้าของ ถ้าหากเป็นจริงได้มันจะเอื้อ แต่ว่าถ้าหากเป็นอุตสาหกรรมของเอกชนนั้น ความสัมพันธ์ทางการผลิตก็จะเป็นแบบเจ้าของโรงงานกับคนงาน ถ้าอุตสาหกรรมมวลชนก็จะเป็นแบบเจ้าของโรงงานและเจ้าของการผลิตร่วมกัน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท