Skip to main content
sharethis

ถอดปาฐกถาจากนายกอภิสิทธิ์ ผลักดันสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

 
ผ่านไปอีกหนึ่งงานใหญ่ที่จัดขึ้นในจังหวัดสงขลา เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา คือการประชุมสมัชชาสวัสดิการชุมชนแห่งชาติ ที่จัดโดยสถาบันองค์การสวัสดิการ (องค์กรมหาชน) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ ที่มีตัวแทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศกว่า 5,200 คน เข้าร่วม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2552 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
 
เป็นงานใหญ่ะระดับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งไฮไลต์ของงานอยู่ที่การนำเสนอรายงานภาพรวมของสวัสดินการชุมชนโดย ครูชบ ยอดแก้ว ที่ปรึกษาสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา กับการมอบนโยบายในการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ที่พร้อมประกาศการผลักดันสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
เรื่องสวัสดิการนั้น เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ผมต้องการให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศ ความไฝ่ฝันของผมคืออยากให้คนไทยทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญคือมีหลักประกัน
 
ในอดีตเราได้สร้างหลักประกันในเรื่องต่างๆ มาโดยลำดับ เริ่มตั้งแต่การรักษาฟรีสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ต่อมาก็มีการขายหลักประกันสุขภาพ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มเก็บ 30 บาท ต่อมาก็ไม่เก็บ 30 บาท
 
ขณะนี้ถือได้ว่า เรื่องการรักษาพยาบาลครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ เพียงแต่เราต้องทำงานหนักต่อไปในการปรับปรุงคุณภาพ บริการ
 
ส่วนการศึกษา เราพยายามผลักดันเรื่องการศึกษาฟรี เริ่มต้น 6 ปี ต่อมาขยายเป็น 9 ปี 12 ปี ปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันนโยบกายการเรียนฟรี 15 ปีแล้ว แต่อาจมีปัญหาอยู่บ้างในบางสถานศึกษา เรื่องคุณภาพก็ต้องดำเนินการต่อไป

แต่สิ่งที่พี่น้องทั้งประเทศ ต้องการมากกว่าการศึกษาและการรักษาพยาบาล คือเรื่องสวัสดิการ เมื่อมีความจำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้ามองไปแล้วกลุ่มคนในสังคมที่มีระบบรองรับดีที่สุด ก็หนีไม่พ้นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
 
ต่อมาเรามีระบบประกันสังคม พี่น้องที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม คือผู้ใช้แรงงาน แต่ก็เพียง 12 – 13 ล้านคนเท่านั้น ในขณะที่พี่น้องอีก 40 กว่าล้านคนยังไม่มีระบบสวัสดิการหรือหลักประกันที่ชัดเจน
 
นี่คือจุดที่รัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจว่า ระบบสวัสดิการสำหรับประชาชนทุกคน จะต้องเกิดขึ้น
 
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับการผลักดันระบบสวัสดิการมาตลอด คือ หากหวังจะให้เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลจัดงบประมาณมาทั้งหมด ประเทศของเราไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอย่างนั้นได้ เพราะฐานะทางการเงินการคลัง คงไม่สามารถใช้เงินภาษีอาการมาจัดเป็นสวัสดิการได้ถึง
 
เมื่อเป็นเช่นนั้นระบบสวัสดิการที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึงว่า ภาครัฐต้องเข้ามาเป็นหุ้นส่วน เข้าสมทบเงินกับพี่น้องประชาชน
 
สิ่งที่พบต่อไปคือ การที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะนอกเหนือจากกลุ่มข้าราชการ และผู้มีเงินเดือนประจำแล้ว การจะวางระบบที่สามารถจะหักเงินเดือนหรือดูแลให้มีการสมทบเงินเข้ามาได้อย่างแน่นอน เป็นประจำ ทำได้ยาก จึงเป็นข้อจำกัดในเรื่องการขยายระบบสวัสดิการมาโดยตลอด
 
แต่ว่าด้วยความเข้มแข็งของพี่น้องประชาชนเอง ด้วยภูมิปัญญาของไทย ด้วยผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พี่น้องประชาชนในหลายชุมชนทั่วประเทศ เป็นผู้ริเริ่มจัดทำระบบสวัสดิการชุมชนขึ้นมา

ขณะมีมากกว่า 3,100 ตำบลแล้ว เริ่มขยายครอบคลุมทุกจังหวัด คาดหวังว่าจะครอบคลุมทุกตำบลต่อไป อย่างที่จังหวัดสงขลาทราบว่า ขณะนี้ขาดเพียง 8 ตำบลเท่านั้นเอง

หวังว่านโยบายรัฐบาลเป็นอีกแรงกระตุ้นหนึ่งให้เกิดระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมไปทุกตำบลได้ อย่างน้อยที่สุด ในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า
 
ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเห็นประโยชน์สำคัญ 3 ข้อ
 
1.คนไทยทุกคนสามารถมีหลักประกัน มีความมั่นใจในชีวิตของตัวเองมากยิ่งขึ้น คือประโยชน์ในทางสวัสดิการ
 
2.ระบบสวัสดิการชุมชน เป็นระบบที่ส่งเสริมการออม ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การฝึกฝนนิสัยของทุกคนให้รู้จักประหยัดอดออม รู้จักคิดวางแผนการใช้จ่ายเงินในวันข้างหน้า สำหรับระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็เป็นผลดี เพราะเป็นการส่งเสริมรูปแบบการออมในระยะยาวไปในตัวด้วย
 
และ 3.มองข้ามไปไม่ได้เลย คือ สวัสดิการชุมชนเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดขึ้นจากการที่คนในชุมชนเองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างคำขวัญที่ว่า ให้ก็เป็นการให้อย่างมีคุณค่า รับก็เป็นการรับอย่างมีศักดิ์ศรี
 
ตรงนี้คือการสร้างทุนทางสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้บ้านเมืองเราไม่เป็นเพียงแต่บ้านเมืองที่มีหลักประกันที่ดี แต่เป็นบ้านเมืองที่มีความสงบสุขอีกด้วย
 
ด้วยเหตุผลนี้ ผมมีการโอกาสพบกับครูชบ ยอดแก้ว (ที่ปรึกษาสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา) มีโอกาสพบกับเครือข่ายที่ทำงานในภาคประชาชนสวัสดิการชมชุมมาตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง แล้วก็ได้ยืนยันว่ารัฐบาลตั้งใจที่จะผลักดันนโยบายนี้อย่างเต็มที่
 
ด้วยหลักคิดว่า ถ้าพี่น้องประชาชนสามารถสมทบเงินได้ 1 บาท รัฐบาลก็จะสมทบให้อีก 1 ส่วน คือ 1 บาท แล้วก็จะโน้มน้าวชักชวนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจให้เข้ามารร่วมสมทบด้วย ถ้าได้อีก 1 บาท ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก
 
แน่นอนว่า การจะทำเช่นนี้ก็ต้องเตรียมงบประมาณ วันที่ผมเข้ามารับตำแหน่งขณะนั้น ปีงบประมาณ 2552 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แล้วเราก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดงบประมาณเพิ่มได้มากนัก เพราะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้ แล้วก็มีประเด็นเร่งด่วนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
แต่ผมก็ได้บอกในวันนั้นว่า จะพยามยามดำเนินการให้ทันสำหรับปีงบประมาณ 2553 ซึ่งขณะนี้ได้ปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้ มาประเมินตัวเลขที่รัฐบาลจะต้องสมทบในปีงบประมาณ 2553 เมื่อคำนวนออกมาก็เป็นเงินประมาณ 727 ล้านบาท
 
ขณะนี้ทางกระทรวงฯ ได้ทำเรื่องที่จะแปรญัตติเพื่อให้บรรจุอยู่พระราชบัญญัติงบประมาณปีงบประมาณ 2553 ล่าสุดท่านรัฐมนตรีฯ บอกได้ประสานงานกับทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณอยู่ในขณะนี้
 
มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันได้ หากมีปัญหาผมก็จะคุยกับทางกระทรวงการคลังดูเรื่องเงินในส่วนของไทยเข็มแข็งว่า จะมาช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้หรือไม่ เป้าหมายคือ เราจะให้การสนับสนุนและให้การสมทบกองทุนสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว พิสูจน์แล้วว่าสามารถดำเนินงานอย่างมั่นคงระดับหนึ่ง แล้วก็ใช้เงิน 700 กว่าล้านบาทเข้าสมทบ
 
ส่วนอีก2 ปีข้างหน้า เราจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งครอบคลุมทุกตำบล แล้วจัดให้มีงบประมาณสนับสนุนนบนเงื่อนไขเช่นเดียวกันว่า ต้องเป็นกองทุนซึ่งได้พิสูจน์การทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง ให้เห็นถึงความมั่นคงในสถานะของกองทุนและความเข้มแข็งของคน และชุมชนนั้นๆ ว่าจะสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่อง และได้อย่างยั่งยืน
 
อย่างไรก็ตาม การทำงานเรื่องนี้จำเป็นต้องระมัดระวัง ประการแรกผมไม่ต้องการให้โครงการนี้ ไปเร่งรัดแล้วในที่สุด ทำให้สิ่งที่เริ่มต้นมาดีมีความมั่นคง ต้องไขว้เขว ถ้าเราเร่งรัดเกินไป พี่น้องที่นี้จะทราบว่า กว่าท่านทั้งหลายจะนำสวัสดิการชุมชนของท่านมาถึงวันนี้ได้ ต้องใช้เวลา ต้องใช้กระบวนการ ต้องทำความเข้าใจ และต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
 
ถ้าเราเร่งโดยหวังปริมาณมากจนเกินไป แล้วเกิดปัญหาขึ้น ตรงนี้จะเป็นตัวที่ทำลาย สิ่งที่เราได้สั่งสมมา แล้วก็จะทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นผมต้องย้ำว่า การสนับสนุนนั้นรัฐบาลทำแน่ ขณะเดียวกันเรามีการประเมินความพร้อมของแต่ละกองทุน ของแต่ละชุมชนอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องหรือยั่งยืน

ประการที่สอง คือ เรื่องการให้สวัสดิการนั้น ตัวที่จะเป็นปัญหามากที่สุดในแง่ความยั่งยืนของโครงการหรือของสวัสดิการชุมชน คือเรื่องบำนาญ ถ้าเราคำนวนตรงนี้ไม่ดี แล้วเราเริ่มให้บำนาญหรือสวัสดิการทางด้านนี้สูงเกินไป เราจะพบว่าไม่ช้าไม่นาน เงินที่ไหลออก จะมากกว่าเงินที่สมทบเข้าไปจากทุกฝ่าย สุดท้ายกองทุนจะยืนอยู่ไม่ได้
 
เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นจุดหนึ่งซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูแล้วก็ให้การช่วยเหลือในการศึกษาอย่างเต็มที่ ว่าระดับความช่วยเหลือหรือระดับของสวัสดิการที่จะให้ในลักษณะของบำนาญนั้นจะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร แน่นอนขึ้นอยู่กับการสมทบเงิน การบริหารจัดการกองทุน รวมถึงเงื่อนเวลาต่างๆด้วย
 
ประการที่สาม เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน คือ แม้ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งหลาย จะครอบคลุมไปทุกพื้นที่ แต่ตัวเลขประชากรที่ครอบคลุมจริงๆ ยังเป็นจำนวนน้อยอยู่ ผมและรัฐบาลต้องการให้ระบบสวัสดิการนั้นครอบคลุมพี่น้องประชาชนทุกคนจริงๆ
 
ขณะนี้กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเสนอกฎหมาย ในลักษณะที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแต่ละคน สามารถออมในบัญชีของตัวเอง แล้วรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าเป็นกองทุนการออม แล้วเอาเงินมารวมกันเพื่อบริหารจัดการ แล้วก็มีระบบของสวัสดิการตอบแทนในยามชราภาพ
 
ผมคิดว่างานของกระทรวงการคลังตรงนี้ คือสนับสนุน แต่สิ่งที่ผมได้ปรารภกับกระทรวงการคลังไปแล้ว คือพี่น้องประชาชนจำนวนมาก อาจยังไม่สามารถออมเงินด้วยตัวเอง แล้วเข้าสู่โครงการที่กระทรวงการคลังกำลังคิด เช่นว่า ต้องออมเเดือนละกี่ร้อยบาท หรือ 6 เดือนจำนวนเท่าไหร่ก็แล้วแต่
 
แต่ผมได้บอกกับกระทรวงการคลังว่า ขณะนี้เรามีองค์กรที่ทำเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนอยู่แล้ว กำลังขอให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวนตัวกฎหมายที่เขาจะเสนอว่า นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้บุคคลแต่ละคนมาเป็นสมาชิกแล้ว จะรับสมาชิกในลักษณะที่เป็นกองทุนสวัสดิการได้หรือไม่
 
ถ้าสามารถทำตรงนี้ได้ ผมก็ถือว่า โอกาสของพี่น้องประชาชนนั้น จะได้หลายต่อ คือในระบบของสวัสดิการชุมชนนั้นพี่น้อง ใส่ 1 บาท รัฐบาลก็จะใส่ให้ 1 บาทอยู่แล้ว พอเอากองทุนนี้ไปเข้าระบบกองทุนของกระทรวงการคลัง ก็อาจจะได้เงินสมทบเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วยเข้ามาสนับสนุนกองทุน
 
เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมขอยืนยันว่า เราจะเดินหน้าด้วยกันต่อในการทำระบบนี้ให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง
 
สิ่งที่เป็นข้อเสนอที่ครูชบ ได้สรุป ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจจะดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนการเรียกร้อง ให้ประกาศเรื่องนี้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เหมือนอีกหลายๆเรื่อง ผมอยากจะบอกว่า หัวใจสำคัญที่สุด ก็คือการเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ
 
หมายถึง การที่ทุกหน่วยต้องสนับสนุน และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญที่สุดคือ โครงการต้องมีลักษณะที่ยั่งยืน ไม่ผันแปรไปตามสภาพทางการเมือง ผมยืนว่า ผมยินดีที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นระเบียนวาระแห่งชาติ

และจะให้ทุกหน่วยงานได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะเร่งเดินหน้า จัดวางพื้นฐานของระบบทุกอย่าง เพื่อให้สิ่งนี้อยู่คู่กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม
 
ถ้าเราทำระบบนี้สำเร็จ นั่นหมายถึงอนาคตของลูกหลานและคนรุ่นต่อๆไป ตั้งแต่เกิดจนตาย จะมีหลักประกันที่ดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net