Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.52 นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรiมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวว่า เนื่องจากการประกาศใช้ กฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ในส่วนของกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภท
ภาพยนตร์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 ส.ค.และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.เป็นต้นไปนั้น นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง เตรียมความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.นี้เป็นต้นไป ภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศที่จะเข้าฉายต้องยื่นให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ดำเนินการจัดประเภทภาพยนตร์ หรือ เรตติ้ง ตามกฎกระทรวงที่กำหนดไว้ 7 ประเภท
 
โดยเรตติ้งภาพยนตร์ทั้ง 7 ประเภท ประกอบด้วย 1. ภาพยนตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ และควรส่งเสริมให้ดู 2. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป 3. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป 4. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 5. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 6. ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และ 7. ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
 
เลขาธิการ กวช. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่าเริ่มมีผู้ ประกอบการทั้งรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ส่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการจัดเรตติ้งมา ปรึกษาถึงรายละเอียดขั้นตอนกันเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการติดสัญลักษณ์เรตติ้งกับภาพยนตร์ แต่ละเรื่อง และขอเวลาในการจัดพิมพ์เป็นแผ่นติดหน้าแผ่นภาพยนตร์ทุกเรื่องประมาณ 2 สัปดาห์ จึงขอให้ทาง สวช. ผ่อนผันไม่เข้มงวดในช่วงแรกนี้ ซึ่งทาง สวช. เข้าใจผู้ประกอบการในเรื่องนี้เพราะจนถึงขณะนี้สัญลักษณ์เรตติ้งภาพยนตร์ก็ ยังไม่ลงตัวจึงพร้อมให้เจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและผ่อนผันตามที่ผู้ประกอบการร้องขอ ส่วนผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่จะต้องมีการติดเรตติ้งข้างหน้าโรงเพื่อให้ ประชาชนทราบว่าภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ในเรตไหน ก็ยังมีความสับสนและยังไม่มีการเริ่มปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาสองส่วนนี้ยังพอแก้ไขและทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการได้
 
นางฉวีรัตน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ยังเป็นห่วงคือปัญหาความเข้าใจเรื่องการจัดเรตติ้งของประชาชนทั่วไปว่า ขณะนี้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดเรตติ้งมากน้อยเพียงใด พ่อแม่สามารถเลือกภาพยนตร์ให้ลูกชมตามวัยได้หรือไม่ เด็กและเยาวชนมีดุลพินิจพิจารณาในการเลือกชม และการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่ต้องเข้มงวด จริงจังในการขายบัตรชมให้ผู้ชมตรงตามเนื้อหาและอายุได้มากน้อยเพียงใด ซึ่ง สวช. พยายามประชาสัมพันธ์ออกไปอย่างเต็มที่ แต่ยังติดปัญหาเรื่องสัญลักษณ์เรตติ้งยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากมีมติเห็นชอบจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในสัปดาห์หน้า
 
 
 
 
 
 
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net