Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีกรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
            
สถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และประชากรกลุ่มหนึ่งที่ต้องประสบความทุกข์ยากอย่างหนัก คือ กลุ่มสตรีหม้าย ซึ่งต้องสูญเสียทั้ง “สามี” “บิดา” และผู้นำหรือหัวหน้าครอบครัวที่ถูกลอบทำร้ายหรืออุบัติเหตุจนเสียชีวิต และบุคคลกลุ่มนี้จำเป็นที่รัฐและองค์กรเอกชนจะต้องให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
 
ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยหนึ่งที่เกี่ยวกับสตรีหม้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ศึกษเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาสตรีหม้ายเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายอรรคพล ศศะภูริ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ พบว่า ในมิติด้านสังคม สตรีหม้ายยังสามารถดำเนินชีวิตได้ปกติไม่ได้รับผลกระทบที่จะบั่นทอนการดำเนินชีวิตในถิ่นที่อยู่อาศัยมากนัก หากแต่ยังได้รับความเอาใจใส่ ดูแลช่วยเหลือกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้สตรีหม้าย ยังยืนยันในการอยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิม ถึงแม้สถานการณ์ความไม่สงบยังดำรงอยู่ ส่วนหนึ่งก็เพราะยังมีเครือญาติ ทรัพย์สิน อาชีพ และความรักในถิ่นที่อยู่
           
มิติด้านเศรษฐกิจ พบว่า สตรีหม้ายมีรายได้ลดลง เพราะต้องสูญเสียหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเป็นเสาหลักในการหารายได้สู่ครอบครัว บางครั้งจึงจำเป็นต้องขอรับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากทางราชการ โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพรายเดือนที่ช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้า จนกว่าจะจบปริญญาตรี หรือเลิกการศึกษาไปก่อนจบปริญญาตรีก็ตาม
           
มิติด้านสุขภาพ พบว่า สุขภาพทางกายของสตรีหม้าย ไม่เป็นปัญหาในการดำรงชีวิต แต่สุขภาพทางจิตใจคงต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากทางราชการที่เกี่ยวข้องเป็นระยะด้วย
           
มิติด้านการศึกษา พบว่า สตรีหม้ายต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านนี้ด้วยวิชาความรู้ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพหรือแนะนำสั่งสอนผู้อื่นต่อได้ และยังต้องการจัดที่ทัศนศึกษาต่างพื้นที่ และแลกเปลี่ยนมุมมองของชีวิตกับสตรีในภูมิภาคอื่น 
 
ส่วนภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคมและองค์การภาคเอกชน ที่มีส่วนช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีหม้าย   ภาพรวมของ 4 มิติดังกล่าว ก็ได้ดำเนินการตามบทบาทภารกิจหน้าที่ หลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนและรัดกุมแล้ว โดยเน้นการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม
 
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ศึกษามีดังนี้
 
1. การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อการช่วยเหลือเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีหม้าย ควรยึดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยใช้กลไกของ บ้าน โรงเรียน มัสยิด /วัด ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ ตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพราะเป็นการใช้กลไกของพื้นที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
 
2.  การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีหม้าย ควรใช้ทุนทางสังคม เป็นส่วนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะทุนทางสังคมถือเป็นทุนสำคัญที่เสริมสร้างวิถีชีวิตที่ดีงามของคนในสังคม และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการปกครองของประเทศไทย มาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรเทาความรุนแรงและแก้ปัญหาในยามเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม การแก้ปัญหาและฟื้นฟูให้คนไทยและสังคมกลับมาดำรงสถานะเดิม จำเป็นต้องอาศัยทุนทางสังคมช่วยสนับสนุน
 
การช่วยเหลือเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีหม้ายควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวแม่หม้าย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
 
ระดับนโยบาย
 
1) รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดระบบสวัสดิการที่ออกแบบเฉพาะ เพื่อรองรับกลุ่มของ    แม่หม้ายให้สามารถได้รับความช่วยเหลือ ในระยะสั้นและระยะยาว
 
2) รัฐต้องมีมาตรการในการเสริมพลังหรือความเข้มแข็งแก่ครอบครัวแม่หม้าย ทั้งในด้านความรู้ การอบรมดูแลลูก การจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพึ่งตนเองในระยะยาว
 
3)รัฐต้องสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในเรื่องงานอาชีพและการมีรายได้ให้แก่หัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลลูกโดยลำพัง
 
4)รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดบริการสวัสดิการเสริมที่จำเป็นให้แก่แม่หม้ายเพื่อหนุนเสริมให้สามารถกระทำบทบาทหน้าที่ในฐานะครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ
 
5)รัฐต้องส่งเสริมให้มีระบบฐานข้อมูลของแม่หม้ายเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ
 
ระดับปฏิบัติมีแนวการปฏิบัติที่สำคัญดังนี้
           
1) การให้การสงเคราะห์เฉพาะหน้า เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน การจัดบริการให้คำปรึกษากรณีภาวะวิกฤต โดยการส่งเสริมหรือกระตุ้นให้ครอบคัวมีโอกาสทบทวนตนเอง ค้นหาคุณค่าและศักยภาพที่มีในตนเอง
           
2) การเสริมพลังหรือหรือความเข้มแข็งแก่ครอบครัว เช่น การส่งเสริมกิจกรรมเชิงกลุ่มหรือเครือข่ายของกลุ่มที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน หรือการฝึกอบรมทักษะการบริหารจัดการของตนเอง
           
3) การเพิ่มศักยภาพในเรื่องงานอาชีพและการมีรายได้
 
4) การจัดบริการเสริมที่จำเป็นให้แก่ครอบครัว โดยอาสาสมัครในชุมชนนั้น
 
5) การจัดระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวในลักษณะนี้ให้มากขึ้น

ผู้เขียนมีทัศนะว่าในวาระที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแม่แห่งชาติเราทุกคนควรให้ความสำคัญกับสตรีหม้ายซึ่งเป็นมารดาคนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งตามทัศนะอิสลามได้ให้เกียรติบุคคลที่ให้ความช่วยสตรหม้ายดั่งที่ศาสดากล่าวไว้ความว่า "บุคคลที่พยายามช่วยเหลือสตรีม่าย หรือคนจนเปรียบได้กับมุญาฮิต (พยายามอย่างจริงจัง) ที่ดินรนต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ  หรือเปรียบได้กับบุคคลที่ยืนละหมาดในเวลากลางคืน และถือศีลอดในเวลากลางวัน" (บันทึกโดยอิม่าม บุคอรี)
              
ในขณะที่อิสลามได้ยกย่องให้เกียรติสตรีในฐานะเพศแม่ไว้อย่างมากมายเช่นกันดั่งที่ ท่านศาสดามุฮัมมัด ได้วจนะหลายครั้งเช่น ความว่า "สิ่งมีค่าสูงสุดในโลกนี้ได้แก่สตรีที่มีคุณความดี" (บันทึกโดยอิม่ามมุสลิม)
ผู้ที่สมบูรณ์พร้อมในหมู่ผู้ศรัทธาได้แก่ บุคคลที่ลักษณะทางศีลธรรมของเขาประเสริฐที่สุด และที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกท่านได้แก่บรรดาผู้ที่ให้ความกรุณาต่อครอบครัวของตน" (บันทึกโดยอิม่ามติรมีซี.)

"มุสลิมคนหนึ่งจะต้องไม่รังเกียจภรรยาของตนเอง ถ้าหากว่าเขาไม่พอใจในสิ่งหนึ่งที่ไม่ดีในตัวเธอ ขอให้เขาพอใจกับสิ่งที่ดีอีกอย่างหนึ่งในตัวเธอ" (บันทึกโดยอิม่าม มุสลิม)

"จงปฏิบัติต่อสตรีด้วยความกรุณา เพราะเหตุว่าพวกเธอถูกสร้างขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงและกระดูกซี่โครงที่โค้งที่สุด ได้แก่ซี่ที่อยู่บนสุด ถ้าท่านพยายามดัดมันให้ตรง มันก็จะหัก แต่ถ้าท่านปล่อยมันไว้ มันก็จะยังคงโค้งอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นจงปฏิบัติต่อบรรดาสตรีด้วยความกรุณา" (บันทึกโดยอิม่าม บุคอรี และมุสลิม)

ท่านศาสดามุฮัมมัดมีความเมตตาต่อครอบครัวอย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่อิบรอฮีมลูกของท่านยังเล็กและอยู่กับแม่นมที่ชานนครมะดีนะห์ ท่านได้ไปเยี่ยม ซึ่งในครัวเต็มไปด้วยควันไฟเพราะบ้านแม่นมมีอาชีพช่างตีเหล็ก ท่านได้อุ้มอิบรอฮีมขึ้นมาจูบแล้วลากลับ เมื่ออิบรอฮีมสิ้นชีวิตท่านกล่าวว่า "แท้จริงอิบรอฮีมเป็นลูกของฉัน เขาเสียชีวิตในวัยดื่มนม และแน่แท้เขาจะมีแม่นมสองคนทำหน้าที่ให้นมเขาในสวนสวรรค์จนครบกำหนด"

ท่านกล่าวว่า "อัลลอฮ์จะถามผู้ที่ให้การดูแลทุกคนเกี่ยวกับคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา และผู้ชายจะถูกถามเกี่ยวกับคนในครอบครัว" (บันทึกโดยอิม่าม อะหมัด-นะซาอี-อบูดาวูด)

จากวจนะสุดท้ายของท่านศาสดา ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "โปรดจำไว้ให้มั่นประชาชาติของฉันชายนั้น เป็นผู้ทรงสิทธิเหนือสตรีและสตรีก็มีสิทธิเหนือชาย สตรีคือ หลักประกันที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้อยู่ในความดูแลรักษาของท่าน ดังนั้นท่านจะต้องให้ความเป็นธรรมและความปรานีแก่เธอ"

พระเจ้าเองได้กำฉับศาสดาให้บอกแก่สาวกของท่าน ผ่านคัมภีร์อัลกุรอานความว่า "ในทางตรงกันข้ามจงอยู่ร่วมกับพวกนางบนพื้นฐานของความกรุณา และความเที่ยงธรรม ถ้าหากท่านเกลียดพวกนางก็อาจเป็นไปได้ว่าพวกท่านเกลียดสิ่งหนึ่ง ขณะที่อัลลอฮ. ได้ทรงทำให้มีความดีมากมายเกิดขึ้นในสิ่งนั้น" (4:19)

นี่คือหลักการศาสนาทีให้เกียรติหญิงหม้ายและสตรีในฐานะเพศแม่ดังนั้นจงช่วยเหลือหญิงหม้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่ท่านสามารถกระทำได้ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net