วิทยุชุมชน: ไปให้ถึงพันธกิจการปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

จากการต่อสู้เพื่อการดำเนินการวิทยุชุมชนในรูปแบบ “ของชุมชน-โดยชุมชน-เพื่อชุมชน ใช้ระบบอาสาสมัครในการดำเนินการ และไม่มีโฆษณา” ที่ยาวนานกว่า 12 ปี เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ประชาชนสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนได้ จากการประกาศหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นความก้าวหน้าในการยกระดับรูปธรรมการเข้าถึงทรัพยากรสื่อสารของชาติของประชาชน อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะความแปรปรวนทางการเมืองและสังคม จึงเกิดคำถามถึงทิศทางของวิทยุชุมชนที่จะต้องก้าวต่อไป

เมื่อวันที่ 24 ส. ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ร่วมกับสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการ “วิทยุชุมชน: ไปให้ถึงพันธกิจการปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง” ณ ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เพื่อทบทวนการก่อกำเนิดของวิทยุชุมชนตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ นำเสนอพัฒนาการ ภาพรวม และบทเรียน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการวิทยุชุมชนของภาคประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่าน มา พร้อมแสวงหาแนวทางความร่วมมือ ในการสนับสนุนวิทยุชุมชน เพื่อไปให้ถึงพันธกิจการปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองอย่าง ยั่งยืน

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องความสำคัญของวิทยุชุมชนในการปฏิรูปสังคมไทยว่า สิ่งสำคัญคือการมองว่าวิทยุชุมชนเป็นสื่อของภาคประชาชนไม่ใช่สื่อของภาค ธุรกิจหรือภาครัฐที่เป็นสื่อสาธารณะ โดยเอาแนวคิดของประชาธิปไตยที่ถูกต้องมาใช้ จากที่เคยมีความคิดผิดๆ ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองโดยเสียงข้างมากซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งใน ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยต้องพูดถึงเรื่องประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ โดยทำให้เกิดประโยชน์ใน 3 ด้าน คือ ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ทำให้สื่อของชุมชนเป็นประโยชน์ในการจัดการฐานทรัพยากร การทำมาหากินของคนตัวเล็กตัวน้อย เศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนที่บอกว่าเป็นของดีที่จะมาสู้กับเศรษฐกิจกระแสหลักที่ทำลายประเทศไทย ตรงนี้สื่อวิทยุชุมชนนำเสนอหรือยัง

ขณะนี้ วิทยุชุมชนกำลังทำเรื่องสิทธิของประชาชนในเรื่องสื่อภาคประชาชน โดยสิทธิต้องคู่กับหน้าที่ ซึ่งหน้าที่นี้คือหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หน่วยงาน องค์กรอิสระต้องเข้ามาส่งเสริมและพิทักษ์รักษา ยกตัวอย่าง กทช.ที่ต้องติดตามว่าอะไรที่มารบกวนการดำเนินงานของวิทยุชุมชน และทำไมจึงรบกวน ไม่ใช่เพิกเฉยในเรื่องเหล่านี้แล้วมาไล่ปิดไล่จับวิทยุชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่เข้าใจเรื่องสิทธิที่เป็นประโยชน์ของประชาชนและไม่ เข้าใจหน้าที่ของตนเอง

ประโยชน์ด้านที่ 2 ประโยชน์ ทางด้านการเมือง วิทยุชุมชนพูดเรื่องการเมืองได้แต่ต้องไม่เป็นเครื่องมือการปลุกระดม เป็นการเมืองแบบการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและตรวจสอบที่จะทำให้เกิด ประโยชน์ในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่ประโยชน์ของตัวบุคคล และสุดท้ายประโยชน์ในด้านสังคม ที่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ อย่างไรก็ตามประโยชน์ทั้ง 3 ด้านยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง วิทยุชุมชนถูกมองว่าเป็นวิทยุเถื่อน วิทยุผู้ก่อการร้าย วิทยุ อบต. วิทยุความมั่นคงในสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายฝ่ายพยายามใช้ประโยชน์จากวิทยุชุมชน

“หากเรายังไม่คิดว่าเราเป็นพระเอกได้ เราก็ต้องเป็นพระรองวันยันค่ำ หรืออาจเป็นตัวประกอบ” นพ.นิรันดร์ กล่าวพร้อมอธิบายว่าไม่ใช่การดูถูก แต่ต้องมีวิธีคิดก่อนว่าจะหลุดพ้นกรอบเดิมๆ ได้อย่างไร

ในส่วน วิธีคิด นพ.นิรันดร์ กล่าวว่าวิทยุชุมชนไม่ได้มีหน้าที่แค่บอกข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายอื่นที่นำวิทยุชุมชนไปใช้ สื่อวิทยุชุมชนเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อประชาชน ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในส่วนพื้นที่สาธารณะนี้ต้องระวังอย่าให้พื้นที่เป็นพื้นที่ธุรกิจ มิฉะนั้นจะกลายเป็นผู้บริโภคไม่ใช่พลเมือง และต้องระวังการเป็นผู้ผูกขาดการออกสื่อ โดยเปิดให้ตาสีตาสามารถพูดในสิ่งที่เขามีความเชี่ยวชาญได้ ให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วม และสิ่งสำคัญคือวิทยุชุมชนไม่ใช่พื้นที่ของมวลชน ของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

“จุดสำคัญของวิทยุชุมชน วิธีคิดต้องทำลาย 3 อย่าง คือ เป็นพื้นที่ธุรกิจ เป็นพื้นที่ของมวลชน และสามอย่าให้ใครมาเป็นผู้ผูกขาดการออกสื่อ” นพ.นิรันดร์ กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่าการเป็นพื้นที่สาธารณะต้องทำงาน 3 อย่าง คือ 1.มีอัตลักษณ์แสดงตัวตน เป็นวิทยุชุมชนที่บอกถึงประโยชน์แต่ละเรื่องของพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ติดรูปแบบนักจัดรายการ 2.ต้องแสดงถึงสถานภาพในทางสังคม สร้างรับรู้และเข้าใจในการขับเคลื่อน ให้สังคมยอมรับ 3.คนในพื้นที่ได้ประโยชน์

นอกจากนี้ ในเรื่องสิทธิ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า การสร้างสมรรถภาพแห่งสิทธิหรือการทำให้เกิดสิทธิที่เป็นจริงเราต้องเป็นคนทำ และภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมผลักดัน เป็นวาระประชาชนที่ต้องทำให้เป็นจริง โดยต้องทำ 3 อย่าง คือชุมชนต้องมีคุณค่า สร้างระบบสื่อสารสาธารณะ และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทุกคนก้าวเข้าสู่การมีส่วนร่วมทางนโยบาย

นพ.นิ รันดร์ กล่าวต่อมาถึงการทำงานในพื้นที่ว่า การขับเคลื่อนทำได้โดยใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประกอบด้วยภาคสังคมต้องมีจิตสำนึกร่วมกันว่าจะต้องทำให้วิทยุชุมชนเป็นสื่อ ภาคประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อนแล้วเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั่ว ประเทศ ในส่วนพันธมิตรที่จะมาช่วยเหลือ เช่น สสส. กองทุนพัฒนาการเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรรมการสิทธิฯ สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ องค์กรเหล่านี้มีงบประมาณที่จะมาสนับสนุน นอกจากนี้ ในส่วนองค์ความรู้สำคัญมาก นักวิชาการ สถาบันการศึกษา นอกจากพัฒนาองค์ความรู้เป็นช่วงๆ ต้องเข้ามาคลุกคลีและร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ ส่วนการผลักดันในเชิงนโยบายการทำงานในระดับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ควรเร่งดำเนินการโดยไม่ต้องรอกฎหมายที่จะออกมา

“หากต้องการให้วิทยุชุมชนไปให้ไกลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ให้เกิดประโยชน์กับตัวเราประการแรกเราต้องเป็นคนเริ่ม สอง หาแนวร่วมพันธมิตรมานั่งคุยกันเพื่อแปลงให้เป็นเรื่องรูปธรรมการทำงานใน พื้นที่ สาม ลงมือทำงาน คุยให้น้อยทำให้เยอะ ผมคิดว่าเราจะไปให้ถึง” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว พร้อมรับในการทำหน้าที่ผู้เชื่อมประสานเพื่อการขับเคลื่อน โดยระบุว่าไม่ได้สัญญาแต่เป็นหน้าที่

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ รองประธานสภาสถาบันนักวิชาการการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) กล่าวว่า เรื่องวิทยุชุมชนเป็นเรื่องระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยก็มีบัญญัติไวในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2540 มีแผนแม่บทการใช้สื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ แต่ไม่ได้มีการนำมาใช้ และมีแผนแม่บทการใช้สื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่มีการนำมาใช้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจแทนประชาชนเพราะใช้งบประมาณไปมากมายกับการทำประชาพิจารณ์

ผศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า วิทยุชุมชนมีหลายรูปแบบ ทั้งวิทยุชุมชนแท้ที่ดำเนินตามหลักการวิทยุชุมชนของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ไม่มีการโฆษณา วิทยุธุรกิจ วิทยุของ อบต./อบจ. วิทยุของหน่วยงานภาครัฐ อย่างวิทยุ DSI ก็ ต้องการอยู่ในสัดส่วนของวิทยุชุมชน หรือในส่วนวิทยุชุมชนของมหาวิทยาลัย ในส่วนบทบาท ด้านบวก วิทยุชุมชนเป็นการสื่อสารแนวราบ ที่เป็นปากเสียงของชาวบ้านในการร้องทุกข์ ชาวบ้านมีโอกาสเป็นเจ้าของสื่อ ส่งเสริมประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนระดับชาวบ้านรู้เท่าทันสื่อ คนตัวเล็กตัวน้อยมีความภูมิใจในความเป็นตัวตนของตนเอง และบัณฑิตนิเทศศาสตร์ในต่างจังหวัดมีงานทำ ส่วนด้านลบ คือ เป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างความแตกแยกนำไปสู่ความรุนแรง เน้นหาผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่สนใจสังคม เกิดคำถามเชิงจริยธรรมสื่อจนถึงจริยธรรมของพระกรณีวิทยุชุมชนของวัด อีกทั้งยังถูกมองว่าสร้างปัญหาคลื่นรบกวนวิทยุหลักและสัญญาณการบิน

ผศ.สุรสิทธิ์ กล่าวต่อมาถึงบทบาทนักวิชาการว่า ควรเกาะติดสถานการณ์ เป็นกำลังใจ และออกมาช่วยในการขับเคลื่อนของวิทยุชุมชน อีกทั้งอาจารย์ต้องให้ความรู้กับนักศึกษา และทำการศึกษาวิจัยประเด็นต่างๆ เช่น ความเป็นธรรมในการจัดสรรคลื่น จริยธรรม การให้บริการวิชาการแก่วิทยุชุมชน ส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อและภาคประชาสังคม ควรพัฒนาศักยภาพเชิงเนื้อหาให้ไปสู่การปฏิรูปสังคมและการเมือง พัฒนาเชิงทักษะอย่างในด้านเทคโนโลยี และพัฒนาเชิงคุณธรรมจริยธรรมของวิทยุชุมชน

อุดมศรี ศิริลักษณาพร ส่วนงานประชาสัมพันธ์ พอช.
กล่าว ว่าพันธกิจการปฏิรูปสื่อเพื่อไปให้ถึงการปฏิรูปสังคมและการเมือง มองโดยองค์รวมบางเรื่องสามารถไปถึง ในส่วนตัวเนื่องจากจุดเริ่มต้นของวิทยุชุมชนในประเทศไทยเกิดเนื่องจากกระแส ของการปฏิรูปสังคมและการเมือง โดยมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเครื่องมือ ในตอนนั้นมีความคาดหวังว่าการปฏิรูปสื่อที่กำลังจะมีขึ้นในสังคมไทย คือ การที่ภาคประชาชนได้ใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติที่เป็นคลื่นความถี่อย่างเป็น ธรรม เมื่อรัฐและภาคธุรกิจได้ใช้ทรัพยากรนี้อยู่แล้วขณะที่ภาคประชาชนสามารถเข้า ถึง ซึ่งในส่วนนี้อาจยังไปไม่ถึง

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายวิทยุชุมชนแทบทุกภาคพยายามผลักดันนโยบาย กฎเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ การดำเนินการวิทยุชุมชนที่เป็นมาตรการชั่วคราว โดยมีความตื่นตัวทั่วประเทศ แต่แรงผลักดันของประชาชนไม่ได้ถูกขานรับจากภาคส่วนต่างๆ ในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม วิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เกิดจากการไม่มีอะไรเลย แต่เกิดขึ้นจากการใช้ทุนทางสังคม โดยเริ่มต้นจากการดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในเชิงประเด็นและพื้นที่

วิทยุชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปสื่อของภาคประชาชน โดยประชาชนได้แสดงความกล้าหาญในการใช้สิทธิของชุมชนท้องถิ่นและสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำเพื่อการปฏิรูปสื่ออย่างลอยๆ แม้การปฏิรูปสื่อในเรื่องกฎหมายจะไม่ประสบผลสำเร็จ ตอนนี้กฎหมายยังไปไม่ถึงในเรื่อง 20 เปอร์เซ็นต์เป็นของภาคประชาชน แต่วิทยุชุมชนในหลายพื้นที่ มีเป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้วิทยุชุมชนเข้มแข็ง แต่เป็นเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อสื่อสารถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ หลายพื้นที่ทำเรื่องศีลธรรม เหล่านี้เป็นพันธกิจเพื่อก้าวไปสู่การปฏิรูปสังคมและการเมือง

อุดมศรี แสดงความเห็นต่อว่า การไปให้ถึงพันธกิจการปฏิรูปสังคมและการเมืองต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของ ชุมชนที่จะสนับสนุนให้วิทยุชุมชนอยู่ได้ นอกจากนั้นจะต้องเพิ่มในส่วนเนื้อหาสาระ โดยวิทยุชุมชนแต่ละสถานีต้องมีเป้าหมายและวาระของตนเองที่ชัดเจนเพื่อทำให้ ท้องถิ่นหรือชุมชนเข้มแข็งด้วย อาจเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรในชุมชน การแก้ปัญหาที่ดินในชุมชน แก้ปัญหายาเสพติด หรืออาจจัดให้มีวาระร่วมที่ทำร่วมกันทั้งประเทศเป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่ เห็นความสำคัญร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เหล่านี้ถ้าทำได้จะสร้างมูลค่าเชิงประจักษ์ต่อสังคมและสาธารณะ

“วิทยุ กับชุมชนต้องเป็นหัวใจดวงเดียวกัน พอทำเรื่องวิทยุอย่างเดียวลืมเรื่องชุมชนเราก็จะไปไม่ได้ หรือทำเรื่องชุมชนอย่างเดียวแต่ไม่มีสื่อเป็นเครื่องมือเราก็ไปไม่ได้เหมือน กัน” อุดมศรีกล่าว

ผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวถึงข้อเสนอต่อมาว่า หน่วยงานพัฒนาที่เคยสนับสนุนเรื่องวิทยุชุมชน ควรเข้ามาช่วยสนับสนุนให้วิทยุชุมชนบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปสังคมและการเมือง โดยต้องไม่ใช้วิทยุชุมชนเพื่อให้เป้าหมายของตนเองบรรลุ ต้องเอาเป้าหมายการแก้ปัญหาของชุมชน ของท้องถิ่น หรือสังคมเป็นตัวตั้ง ด้านนักวิชาการควรมีการสื่อสารถึงผลกระทบในเชิงคุณค่าของวิทยุชุมชน พูดถึงภาพในเชิงบวกเพื่อเสริมสร้างกำลังใจ

บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี ผู้ประสานงานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่าการจดแจ้งและขอใบอนุญาตหลังจากภาวะที่สับสนและถูกกล่าวหามานานว่าเป็นวิทยุเถื่อน ช่วยคลี่คลายความกังวลจากความกลัวว่าจะถูกจับกุม แต่ก็เป็นเพียงขั้นหนึ่งในเส้นทางของวิทยุชุมชน เพราะวิทยุชุมชนไม่ได้จบอยู่ที่การได้ใบอนุญาต ยังมีภารกิจต่างๆ อีกมากมายท่ามกลางสภาวการณ์ของสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ การที่เราก้าวเข้ามาทำวิทยุชุมชนทั้งที่ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ใช่นักสื่อสาร โดยรวมเพราะมองเห็นปัญหาของสังคม และเห็นว่าการสื่อสารมีความสำคัญ วิทยุชุมชนจำนวนไม่น้อยที่มีความเป็นมาของการก่อเกิดสถานี ไม่ใช่เป็นเรื่องของการนึกสนุก แต่เพราะเห็นปัญหาบ้านเมือง ทั้งวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปฏิรูปทางการศึกษา การปฏิรูปเศรษฐกิจที่รวยกระจุกจนกระจาย ปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ดิน สิ่งแวดล้อมแม้กระทั่งเรื่องศีลธรรม

10 ปีมานี้ บางคนมองวิทยุชุมชนว่าเป็นเป้าหมายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับคนทำวิทยุชุมชน วิทยุชุมชนไม่ใช่เป้าหมาย แต่ควรเป็นเครื่องมือนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการขยับเขยื้อนยกระดับปัญญาของผู้คน บ้านเมืองจะเข้มแข็งได้ปัญญาก็ต้องเข้มแข็ง ต้องรู้เท่าทัน แต่จะเข้มแข็งได้อย่างไรถ้าสื่อยังอยู่ภายใต้อำนาจเดิมๆ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจการเมือง ฉะนั้นจึงต้องมีเสรีภาพในการเอาความจริงมาเปิดเผยให้เห็นทั้งลึกและกว้าง อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่อิงผลประโยชน์ของฝ่ายใดทั้งสิ้น

บุญส่ง แสดงความคิดเห็นต่อมาว่า วิทยุชุมชนไม่ใช่เป็นเพียงแค่สถานีออกอากาศที่มีดีเจเต็มสถานี แต่เป็นโรงเรียน โรงพยาบาล และเป็นสถานที่ฝึกงานที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ฝึกงานธรรมดา เพราะคนที่เข้ามาร่วมกระบวนการไม่ใช่แค่มาจัดรายการ เปิดเพลง แล้วกลับบ้าน แต่มีกระบวนการแลกเปลี่ยนข่าวสารที่ก่อให้เกิดปัญญา นอกจากนั้นยังฝึกวัฒนธรรมใหม่ในการประชุม ร่วมกันบริหารจัดการ ทั้งนี้ การใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือต้องนำไปสู่กระบวนการที่ไม่ใช่แค่พูดได้ พูดเป็น พูดเก่ง พูดดี แต่ต้องคิดได้ คิดเป็น คิดเก่ง คิดดี และต้องก้าวขึ้นไปสู่ระยะที่สาม คือบริหารได้ บริหารเป็น บริหารเก่ง บริหารดี บริหารอย่างมีเหตุมีผล มีขีดความสามารถที่จะรับผิดชอบ

เขากล่าวว่า วันนี้ พันธกิจของวิทยุชุมชนในการแก้ไขอยู่ที่หัวใจหรือที่หลายคนเรียกว่าจิตสำนึก ท่ามกลางสังคมที่หายใจเป็งนเงิน ทุกอย่างคิดเป็นมูลค่า ฉะนั้นเพียงได้ใบอนุญาตไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่เรื่องที่จะต้องนำพาบ้านเมืองทางสติปัญญาถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสูงมาก และไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีคำถามถึงเรื่องเรตติ้งของวิทยุชุมชนที่ จ.กาญจนบุรี แต่ชาวบ้านตอบไม่ได้ และไม่มีงานวิชาการมาช่วยตอบคำถามตรงนี้ ตอบได้เพียงว่าที่มาร่วมกันทำงานเป้าหมายไม่ใช่เรตติ้ง

“ผมบอกว่า เราไม่มีเรตติ้ง แต่ทุกลมหายใจของเราก็คือว่าเราจะยกระดับคุณค่าคนในสังคม ยกระดับสติปัญญาของผู้คนได้อย่างไร นี่คือภารกิจยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำต่อไป” บุญส่งกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท