รายงาน : ข่าวสืบสวนสอบสวน : พลังอำนาจของข่าวสาร พลังปัญญาของสังคม

5 ก.ย.52 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะทำงานวิจัย “ข่าวสืบสวนสอบสวนในหนังสือพิมพ์ไทย” นำโดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ร่วมกับโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media monitor) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการเสวนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “ข่าวสืบสวนสอบสวน: พลังอำนาจของข่าวสาร พลังปัญญาของสังคม” พร้อมเปิดตัวหนังสือในชื่อเดียวกัน ซึ่งถอดบทเรียนประสบการณ์จากนักข่าวหลายสำนัก เพื่อบอกเล่าปัญหาและอุปสรรคการรายงานข่าวสืบสวนในประเทศไทย

คอร์รัปชั่นในสังคมไทย ปัญหาที่แก้ไขได้ด้วยการเปิดเผยข้อมูล
เริ่มต้นการเสวนาด้วยการอภิปรายในหัวข้อ “คอร์รัปชั่นก็อย่างนั้นๆ” ดำเนินรายการโดย ธีรเดช เอี่ยมสำราญ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ มีที่มาจากการทำโพลล์ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าโกงไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้หากมีผลงาน

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า คอร์รัปชั่นนั้นแทรกอยู่ในทุกอณูของการปฏิบัติราชการและเอกชน และไม่ใช่เกิดในสังคมไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ก็มี ไม่ว่าจะในสหรัฐฯ ลาว หรือกัมพูชา ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้การปราบทุจริตน้อยลงไป อาจเกิดจาก 1.วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตที่รู้สึกว่าเมื่อมีใครทำอะไรให้ต้องมีสินน้ำใจให้ตอบแทน โดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เรื่องการซื้อของขวัญให้หมอที่ภรรยาไปฝากครรภ์ แม้จะเป็นหน้าที่ของหมอที่จะต้องดูแลคนไข้อยู่แล้ว แต่เพราะหมอดูแลอย่างดีจึงซื้อของขวัญให้ ซึ่งคนรับและคนให้ก็มองเป็นเรื่องธรรมดา ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างให้ของตอบแทนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ 2.การมีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรต่างกัน หรือการจัดการทรัพยากรให้ประชาชนไม่เท่ากัน เช่น หากระบบการศึกษาของแต่ละโรงเรียนเท่ากัน ก็คงไม่มีระบบเด็กฝาก คนก็อาจให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องฝากให้เรียนสตรีวิทย์ หรือเตรียมอุดมฯ และเมื่อมีคนเข้าถึงอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรมากกว่าก็เอาอำนาจนั้นไปแสวงหาผลประโยชน์ต่อ 3.ปัญหาของการมีส่วนร่วม คือ เมื่อมีอำนาจแล้วก็ไม่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ประสงค์ เสนอว่า จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ หน่วยงานราชการต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึง อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายเขียนไว้ให้เปิดเผย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ถ้าไม่ขอ ก็ไม่เปิด นอกจากนั้น องค์กรอิสระเองก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดสรรข้อมูลให้เป็นระบบ และให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ตลอดด้วย ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการตรวจสอบการทุจริต

เสนอเก็บภาษีทางตรงคนจน แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา บรรณาธิการข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวถึงทางแก้คอร์รัปชั่นว่า อาจทำได้โดยเน้นที่การป้องกันมากกว่าการปราบปราม โดยให้ประชาชนมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการ และมีส่วนช่วยตรวจสอบการทุจริต ทั้งนี้ เขาเล่าว่า เขาเคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการถอดมาตราที่ให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องหน่วยงานราชการได้ออกไปจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 โดยขณะนั้นผู้ที่มีส่วนตัดสินใจให้เหตุผลว่า เดี๋ยวจะมีการแกล้งฟ้องกัน แล้วนักการเมืองจะทำงานไม่ได้ ซึ่งเขาได้เคยเสนอไปแล้วว่า อาจกำหนดโทษไว้หนักๆ ถ้าฟ้องแล้วไม่ผิด คนที่ฟ้องก็ต้องติดคุกแทน แต่ก็ไม่เป็นผล โดยมาตรานั้นได้ถูกถอดออกไป

วรวิทย์ กล่าวว่า อำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร ประชาชนไม่เคยเข้าถึง พอมาอำนาจที่สี่ คือ อำนาจตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ เราก็เข้าไม่ถึงอีก ต้องเสียภาษีให้เขาโกงเหมือนเดิม ทั้งนี้ เขาเสนอด้วยว่า หากให้ประชาชนตั้งองค์กรฟ้องกันเองได้ การล็อบบี้น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะต่างก็อยากรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

นอกจากนี้ เขายังเสนอให้เก็บภาษีทางตรงกับคนจนด้วย เพื่อให้เขารังเกียจเวลาที่นักการเมืองเอาเงินมาให้ และอาจทดแทนด้วยการเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เพราะที่ผ่านมา เวลานักการเมืองเอาเงินไปแจกเป็นเบี้ยหัวแตก พวกเขากลับไม่รู้สึกอะไร ทั้งที่นั่นก็เป็นเงินของคนจนที่เสียภาษีทางอ้อม แต่พวกเขาคิดว่าไม่ใช่เงินของตัวเอง คิดว่านักการเมืองเป็นคนดีที่กินแล้วยังแบ่งเงินให้บ้าง แต่คนที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับการทุจริต กลับเป็นคน 8-9 ล้านคนที่เสียภาษีทางตรงทุกปี 
 
ข่าวสืบสวน คนอ่านได้อะไร ในสายตาของคนทำสื่อ
ผดุงศักดิ์ เหล่ากิจไพศาล นักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวถึงแนวคิดการทำข่าวสืบสวนสอบสวนจากเรื่อง “ช่องทางคอรัปชั่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ว่า การที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลประโยชน์ของตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่ด้วยความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน ทำให้ความตั้งใจในการออกแบบการกระจายอำนาจกลายเป็นช่องทางการทุจริต อีกทั้งยังยกตัวอย่างถึงกรณีการเลือกตั้ง อบต.ที่ใครมีญาติเยอะโอกาสในการได้รับเลือกตั้งก็มีสูง แต่ไม่ได้รู้ถึงความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ ในขณะที่การเมืองในระดับประเทศก็เข้าครอบงำการเมืองท้องถิ่น ทำให้การเมืองท้องถิ่นกลายเป็นเครื่องมือของการเมืองระดับชาติที่อุปถัมภ์กัน

เขากล่าวต่อมาว่า เม็ดเงินที่ลงไปในพื้นที่มีการโกงอย่างเป็นระบบ แม้จะมีรูปแบบการประมูลที่ถูกต้อง แต่ในเบื้องหลังก็มีนอมินี ในกรณีการทุจริตนมโรงเรียน มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ข้อมูลถึงการล็อกสเป็คการประมูลนมโรงเรียนตั้งแต่ในระดับชาติเป็นลำดับไล่ลงมาเรื่อยๆ แม้ อบต.จะมีอำนาจในการคัดเลือก แต่ก็ห้ามเลือกบริษัทนอกโซน ไม่เช่นนั้นจะผิดระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในกรณีที่มี 2 บริษัทเข้าประมูลโครงการ บริษัทหนึ่งให้เงินใต้โต๊ะ อีกบริษัทหนึ่งบอกว่าเป็นบริษัทเครือข่ายนักการเมือง อบต.ต้องตัดสินใจเลือกบริษัทเครือข่ายนักการเมืองเนื่องจากมีระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อประโยชน์กันมา

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ต่างจากระบบเดิมๆ ตราบใดที่ยังไม่มีความเข้มแข็งพอและได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านจริง” นักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่าการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องมาจากการกระจายอำนาจที่ไม่เป็นจริง ประชาชนไม่ได้ให้ความสนใจติดตามการทำงานหลังจากได้ไปลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว เพียงแค่ให้ตัดถนนผ่านหน้าบ้านก็พอ งบประมาณส่วนใหญ่จึงถูกใช้ไปกับการก่อสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น

ผดุงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การที่นักข่าวทำข่าวสืบสวนสอบสวน เพราะต้องการให้คนอ่านรู้เท่าทันข่าว ให้เห็นภาพข่าวที่เกิดขึ้นใน 360 องศา อีกทั้งในวันนี้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง และถือว่ามีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ข้อมูลที่ได้รับรู้จากข่าวสืบจะทำให้ประชาชนรู้ถึงปัญหาและหันมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

“การเจาะข่าวมาตีแผ่ตรงนี้จะเป็นส่วนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน” ผดุงศักดิ์กล่าว

นักข่าวเสนอเปิดพื้นที่ข่าวสืบสวนในหน้าสื่อให้มากขึ้น
สัจภูมิ ละออ นักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวถึงการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนในเรื่อง “แรงงานต่างด้าว: โรฮิงญา” ว่าเป็นการทำงานของทีมข่าวแผนกสกู๊ป และนักข่าวท้องถิ่นในพื้นที่ทำให้ได้ข้อมูลที่ลึกในการเผยแพร่ ในส่วนเหตุผลที่เลือกทำเรื่องนี้เนื่องจากมองว่าประเทศไทยเหมือนเป็นแอ่งกระทะที่พร้อมรองรับแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่หลังไหลเข้ามาเหมือนน้ำและเกรงว่าสักวันจะต้องสำลักน้ำตาย เพราะปัญหามากมายที่ตามมาทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ที่ทำกันเป็นขบวนการ การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงปัญหาด้านอาชญากรรม โรคติดต่อ ปัญหาสังคมต่างๆ แม้จะมีข้อดีในเรื่องแรงงานราคาถูก และความสัมพันธ์ในการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตามเป้าหมายในการนำเสนอข่าวไม่ใช่การนำคนผิดมาลงโทษ แต่ให้รู้ว่าปัจจุบันเมืองไทยอยู่ในจุดนี้แล้ว ควรทำอย่างไร สังคมไม่ควรเพิกเฉยแล้วปล่อยให้ปัญหาดำเนินต่อไปถึงขั้นที่ร้ายแรงจนยากจะแก้ไข แต่ในขณะเดียวกันก็นำเสนอว่าชีวิตของคนเหล่านี้มีความแร้งแค้น เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็นเพราะปัญหาภายในประเทศ แล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างถูกกฎหมายได้อย่างไร

ส่วนปัญหาการนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวน สัจภูมิกล่าวว่า คนทำงานมีความพร้อมทั้งในส่วนบุคลลากรและข้อมูล แต่การเสนอข่าวสืบสวนมีปัญหาในเรื่องของความสม่ำเสมอ เนื่องจากพื้นที่กำกัดอยู่เฉพาะในส่วนสกู๊ปข่าวหน้าหนึ่งซึ่งจะต้องมีการแย่งชิงพื้นที่กับข่าวการเมืองหรือข่าวสถานการณ์สำคัญ ดังนั้นอาจต้องให้พื้นที่กับข่าวสืบสวนสอบสวนได้นำเสนอให้มากขึ้น

ย้ำการแทรกแซงสื่อผ่านงบโฆษณาจาก “รัฐ” และ “ทุน” ยังคงอยู่ทุกยุคสมัย
ด้านธีรเดช เอี่ยมสำราญ กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ กล่าวถึงข่าวสืบสวนเรื่อง “การใช้ข้อมูลทางการเงินตรวจสอบความโปร่งใสของนักการเมือง” ว่าข่าวการเมืองในปัจจุบันส่วนใหญ่มีลักษณะการโต้ตอบกันของนักการเมืองด้วยคารม ไม่ได้เป็นการนำเสนอข้อมูล จึงพยายามเข้าไปดูข้อมูลในเชิงลึกในเรื่องการเงิน ทรัพย์สิน และที่ดินของนักการเมือง เก็บข้อมูล โดยต้องอาศัยระยะเวลาที่จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่าง ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่พรรคการเมืองจะต้องมีการรายงานทุกเดือนเรื่องเงินสนับสนุนพรรค โดยพรรคประชาธิปัตย์ในช่วง 5 เดือนแรกที่ทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลได้รับเงินสนับสนุนเกือบ 50 ล้านบาท จากบริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งที่ในขณะเป็นฝ่ายค้านได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 4-5 แสนบาท ต่อเดือน บางเดือนอยู่ในหลักหมื่น โดยเป็นเงินสนับสนุนจากสมาชิกพรรคเอง ทั้งนี้ นอกจากเงินในส่วนนี้แล้วมีการพูดกันว่าพรรคการเมืองยังมีเงินที่ใส่เข้ามาจากนอกระบบด้วย

ข้อมูลการเงิน ผลประโยชน์ของนักการเมือง เมื่อย้อนไปถึงที่มา แล้วนำมาเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐจะทำให้เห็นการประสานผลประโยชน์ระหว่างโครงการของรัฐและกลุ่มธุรกิจ ยกตัวอย่างกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่การพิจารณากฎหมายต้องเลื่อนออกไป เพราะนักการเมืองเจ้าที่ดินและนักธุรกิจที่มีการถือครองที่ดินจำนวนมากไม่ว่าด้วยตนเองหรือนอมินีต้องเสียประโยชน์จากการเสียภาษีมากขึ้น หากมีการออกกฎหมาย นอกจากนี้อาจนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ อธิบายเชื่อมโยงกับข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรีและนักการเมือง เพื่อกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้มีความโปร่งใส

ในส่วนปัญหาและอุปสรรค์ในการรายงานข่าวสืบสวน ธีรเดชกล่าวถึงความเชื่อมโยงในเรื่องความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ว่า หนังสือพิมพ์โดยทั่วไปในปัจจุบันมีรายได้จากยอดขาย 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ทำให้ยังคงอยู่และดำเนินงานต่อไปได้คือโฆษณา เพราะรายได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์มาจากในส่วนนี้ และตรงนี้เองที่มีผลต่อการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนเพราะบางข่าวเกี่ยวพันธ์หรือส่งผลกระทบกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำการกดดันโดย การตัดงบ สั่งเบรก หรือไม่ลงโฆษณา นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินเพื่อการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐ ยกตัวอย่างสำนักนายก ซึ่งจะมีโฆษณาเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ตรงนี้เป็นช่องทางที่ใช้บีบสื่อที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลมาทุกกยุคสมัย แม้แต่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ประสบสถานการณ์นี้อยู่

อย่างไรก็ตามการเสนอข่าวสืบส่วนนั้นนักข่าวมีศิลปะที่จะเล่นข่าว มากกว่าการตั้งหน้าปะทะตรงๆ แต่เป็นการทำให้รู้ว่าสิ่งไม่ถูกต้องที่ทำอยู่มีคนรับรู้ ให้เลิกทำ หรืออาจใช้การแบ่งข้อมูลให้กันในกลุ่มสื่อเพื่อเป็นเครือข่ายในการตีโอบล้อม ด้วยการนำเสนอข่าวเรื่องเดียวกันพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวโครงการชุมชนพอเพียงที่ล่าสุดต้องล้มโครงการไป

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงข้อเสนอผ่านเอกสารประกอบการแถลงข่าวซึ่งเผยแพร่ในวันเดียวกันนี้ว่า “กระบวนการรายงานข่าวสืบสวนนี้อาจต้องหาพื้นที่สาธารณะที่เป็นส่วนกลาง เช่น การสร้างชุมชนโต๊ะข่าวสืบสวนสอบสวนออนไลน์ เพราะปลอดการแทรกแซงจากอำนาจทุนที่ผ่านเม็ดเงินโฆษณา และปลอดอำนาจรัฐ อีกทั้งยังต้นทุนต่ำ เมื่อมีศูนย์ข้อมูลข่าวสืบสวนกลางที่เป็นเว็บไซต์ใครก็สามารถจะเข้ามาใช้ได้ และที่สำคัญมันสอดรับกับพฤติกรรมการเสพรับสื่อของเด็กรุ่นใหม่ที่นิยมอ่านข่าวจากเว็บไซต์ ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้การรายงานข่าวสืบสวนเกิดขึ้นได้และได้รับความสนใจมากขึ้น”

ผลงานวิจัยข่าวสืบสวนในหนังสือพิมพ์ไทย ความคาดหวังต่อการขับเคลื่อนสังคม
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิจัยจากโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media monitor) กล่าวถึงการตรวจสอบว่า ได้ติดตามคุณภาพของเนื้อหาข่าวสืบสวน 8 เรื่อง จาก 6 หนังสือพิมพ์ ประกอบด้วย 1.ความไม่ชอบมาพากลการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มในแม่น้ำโขง หนังสือพิมพ์มติชน 2.กรณีทุจริตฝายแม้ว หนังสือพิมพ์มติชน 3.การใช้ข้อมูลการเงินตรวจสอบความโปร่งใสของนักการเมือง หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 4.สำรวจโครงการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า หนังสือพิมพ์ประชาไท 5.แรงงานต่างด้าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 6.ช่องทางคอรัปชั่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 7.การทุจริต รถบีอาร์ที หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 8.ทุจริตเชิงนโยบายเปิดเอกชนเช่าพื้นที่ อุทยานแห่งชาติ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กว่า 1,000 ชิ้น ตามโครงการงานวิจัย “ข่าวสืบสวนในหนังสือพิมพ์ไทย” ตั้งแต่เดือน ต.ค.51-เม.ย.52

ผลการศึกษาเชิงปริมาณ ในส่วนรูปแบบของงานเขียน ยังคงนำเสนอผ่านรูปแบบข่าวเป็นหลัก รองลงมาคือบทความ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ ในส่วนเนื้อหาเน้นข้อมูลประเภทบุคคลมากที่สุด ขาดการใช้ข้อมูลในเชิงลึก ไม่ค่อยพบการอ้างอิงเอกสาร หลักฐาน ภาพถ่าย สำหรับประเด็นข่าวสืบสวน พบว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับรายงานประเด็นข่าวสืบสวนใน 2 ลักษณะคือ ครอบคลุมประเด็นสำคัญได้ครบถ้วน และเน้นประเด็นสำคัญหลักเพียงประเด็นเดียว
 
ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ ศึกษาใน 5 หัวข้อ พบว่า 1.ความต่อเนื่อง พิจารณาจากความสม่ำเสมอในการติดตามประเด็นข่าว โดยรวมพบว่ารายงานข่าวจะหยุดลงเมื่อถึงจุดอิ่มตัวของเหตุการณ์ หนังสือพิมพ์บางฉบับจะเปลี่ยนรูปแบบไปนำเสนอข้อมูลผ่านบทความ รายงานพิเศษ หรือสกู๊ปแทน ขณะที่การใช้คอลัมน์ประจำยังพบน้อยและไม่สามารถรักษาความต่อเนื่องได้ดีนัก 2.ความลึก พิจารณาที่ความลึกของประเด็นและการอ้างอิงแหล่งข่าวในแนวดิ่ง โดยรวมพบว่า ประเด็นข่าวจะลึกมากขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์รายงานข่าวสืบสวน โดยใช้แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือแหล่งข่าวเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข่าว อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมยังไม่ค่อยมีความลึกในประเด็นข่าวมากนัก โดยรวมค่อนข้างขาดแหล่งข่าวที่ภาคประชาชน ประชาสังคม หน่วยงานรัฐอื่นๆ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ระดับปฏิบัติการ

3.ความกว้าง พิจารณาที่ความหลากหลายของประเด็นและการอ้างอิงแหล่งข่าวในแนวระนาบเดียวกัน โดยรวมพบว่ายังค่อนข้างขาดความกว้าง ความหลากหลายของประเด็นข่าว ไม่สามารถพัฒนาประเด็นข่าวเรื่องผลกระทบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้มาก มักมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการทุจริตการคอร์รัปชั่นมาก เป้าหมายของการนำเสนอข่าวเพื่อการตรวจสอบ ตรวจจับมากกว่าเรื่องผลกระทบทาง สังคม เศรษฐกิจ ขณะที่การนำเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน เรื่องเขื่อนบ้านกุ่มค่อนข้างนำเสนอประเด็นข่าวได้กว้างดี โดยเน้นเรื่องวิถีชีวิต ผลกระทบทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความเชื่อ ศาสนา ประวัติศาสตร์ได้หลากหลาย

4.ความซับซ้อน พิจารณาจากการนำเสนอประเด็นข่าวที่มีความกว้างและความลึกโดยสามารถถ่ายทอด เรื่องราวข่าวได้อย่างน่าสนใจ เข้าใจง่าย กระชับ และเห็นภาพรวมของเนื้อหาข่าวทั้งหมด โดยรวมพบว่านำเสนอข่าวได้ดี มีความซับซ้อนของเรื่องราวและอธิบายได้อย่างคลี่คลาย ชัดเจน สามารถเชื่อมโยงประเด็นข่าวต่างๆ ให้เห็นความสัมพันธ์ ที่มาที่ไปได้ดี เรียงลำดับและคัดเลือกข้อมูลมานำเสนอได้อย่างมีจังหวะดี แต่ขาด รูปแบบการนำเสนอที่มีความหลากหลาย เช่นการขาดบทความ สกู๊ป รายงานพิเศษซึ่งจะเอื้อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวข่าวได้ดีมากยิ่งขึ้น

5.ความแรง พิจารณาจากผลกระทบ ความเปลี่ยนแปลงในเหตุการณ์ การเกิดกระบวนการตรวจสอบ ไปจนถึงการระงับโครงการนั้นๆ โดยรวมพบว่า ข่าวที่สร้างความแรงได้มากนั้นเกิดจากการนำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานประกอบที่เด่นชัด มีการเจาะประเด็นข่าวที่ชัดเจนและหลากหลาย ขณะที่ข่าวสืบสวนที่ขาดความกว้างและความลึกของข่าวจะมีความแรงหรือผลกระทบต่ำ และจะไม่นำไปสู่การตรวจสอบ หรือขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้อ่านและผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยสังเกตได้จากการอ้างอิงแหล่งข่าวในระดับที่มีผลกระทบโดยตรง และการขาดความต่อเนื่องและความคืบหน้าของข่าวประกอบกัน

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิจัยหลักจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการส่งเสริมข่าวสืบสวนสอบสวนในหนังสือพิมพ์ กล่าวว่าการส่งเสริมการเสนอข่าวสืบสวนอย่างมีคุณภาพเป็นช่องทางทำให้คนตื่นตัวต่อข้อเท็จจริงเบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ และส่งผลต่อการเคลื่อนไหวจนเกิดการระงับยับยังหรือชะลอโครงการบางโครงการได้ แต่การทำข่าวสืบสวนก็มีปัญหา ทั้งในส่วนของคนทำงานข่าวเอง ตัวองค์กรสื่อซึ่งปัจจุบันมีลักษณะของการเป็นองค์กรธุรกิจที่ต้องทำกำไร การจัดโครงสร้างองค์กรข่าวแบบแบ่งสายข่าว เป็นอุปสรรค์ต่อการเชื่อมโยงข่าวสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับหลายสายงาน และในส่วนข้อจำกัดของข่าวที่ปัจจุบันมีการแข่งขันกันในเรื่องของความรวดเร็ว ทำให้ข่าวสืบสวนที่มีมาตรฐานสูง มีความซับซ้อนของข้อมูล และใช้เวลาในการทำงานนาน ถูกลดความสำคัญลง

ท่ามกลางสมรภูมิข่าวสารข้อมูลมีความสำคัญที่สุดในการใช้เป็นหลักฐาน แต่ปัจจุบันระบบข้อมูลอยู่อย่างกระจัดกระจายทำให้ยากต่อการค้นหาข้อมูล ส่วนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาเองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เนื่องจากสถาบันการศึกษาไม่ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพต่อวงการสื่อ เน้นการเรียนในส่วนทฤษฎีมากกว่าในภาคปฏิบัติ อีกทั้งยังมีปัญหาการแทรกแซงสื่อทั้งจากทุนและนักการเมือง ผ่านโครงข่ายโยงใยทางธุรกิจในการให้โฆษณา หรือการเข้าเป็นเจ้าของ ผู้ถือหุ้น หรือบอร์ดบริหารในกิจการสื่อหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงการแทรกแซงในเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้นักข่าวไม่ทำหน้าที่ของตนเองด้วยการสร้างทัศนคติบางอย่าง นอกจากนั้นเรื่องของการข่มขู่คุกคามสื่อยังคงเป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ในสังคม

ส่วนข้อเสนอสุชาดากล่าวว่า ควรมีการกลับมาทบทวนกันใหม่ในเรื่องการรับคนเข้าสู่การเป็นนักข่าว ไม่ใช่ใช้แค่ผลการเรียนอย่างที่เคยทำมาแต่ให้มีระบบคัดเลือกที่เป็นพิเศษ มีคณะกรรมการตรวจคุณธรรม จริยธรรม และความเชื่อมั่นในวิชาชีพ อีกทั้งเมื่อเข้าทำงานควรมีระบบพี่เลี้ยงในการฝึกฝนการทำงาน และมีระบบการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ หรืออาจมีการจัดทำคู่มือหลักสูตรให้เรียนรู้จากเอกสาร อีกทั้งอาจมีการเพิ่มแรงจูงใจให้นักข่าวโดยการให้รางวัลสำหรับการทำข่าวสืบสวน

สำหรับข้อเสนอต่อสังคม ควรมีการรณรงค์ทางสังคมเพื่อป้องกันและต่อสู้กับกระบวนการแทรกแซงสื่อ และเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นจากกฎหมายอาญาให้เป็นกฎหมายแพ่ง เพื่อให้สื่อสามารถใช้ความกล้าหายได้อย่างปลอดภัย ส่วนผู้อ่านเองก็ต้องแสดงปฏิกิริยาต่อประเด็นต่างๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใส เพื่อเป็นข้อมูลให้นักข่าวสืบต่อได้ จัดเวทีติดตามประเด็นต่างๆ ของภาคประชาชน คนในพื้นที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังควรมีระบบสนับสนุนอื่นๆ เช่น การจัดเก็บข้อมูลที่ดี นักวิชาการที่จะมาช่วยอธิบายความหมายของข้อมูลต่างๆ และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท