Skip to main content
sharethis

นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) แถลงว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 เพื่อพิจารณาสำนวนไต่สวน เรื่องกล่าวหา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดทางอาญา  ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.)ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดี บุคคลทั้งสี่ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 70

นอกจากนั้น พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง  ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป

สำหรับรายละเอียดในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีดังนี้
 
ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคประชาธิปัตย์ รวม 20 คน มีหนังสือลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.พล.ต.ท. สุชาติ  เหมือนแก้ว ผบงช.น. กับพว รู้เห็นเป็นใจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมโดยสงบในบริเวณหน้ารัฐสภา บริเวณถนนพิชัย บริเวณถนนสุโขทัย และบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลทำให้ประชาชนได้รับอันตรายแก่กาย และจิตใจ ประมาณ 400 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 6 คน และถึงแก่ความตาย 2 คน
 
ต่อมาประธานวุฒิสภา ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 มกราคม 2552  ส่งคำร้องของ รศ. จิราพร ลิ้มปานานนท์ และคณะ ซึ่งได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอ จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คนยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง ในกรณีดังกล่าวมาให้ดำเนินการไต่สวนถอดถอนด้วย นั้น
 
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รวมดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง  และมอบหมายให้นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี  กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2551 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 แล้ว
 
รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ประกาศที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม  2551 นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา ได้เรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 09.30 น.
 
ในขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้ประกาศที่จะขัดขวางการเข้าประชุมของสมาชิกรัฐสภาเพื่อมิให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยการเคลื่อนมวลชนมาปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่ค่ำวันที่ 6 ตุลาคม  2551
 
ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551  เวลาประมาณ 23.00 น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวภายในท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อพิจารณาเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา  โดยได้เรียก พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.เข้ารับฟังนโยบายของรัฐบาลต่อสถานการณ์การชุมนุม
 
พล.ต.อ. พัชรวาท  วงษ์สุวรรณ  พร้อมคณะประกอบด้วย พล.ต.อ. วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.จึงเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และได้พบกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยบุคคลทั้งสอง ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้ และสั่งให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ไปปฏิบัติ
 
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 01.40 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมด้วยคณะประกอบด้วย พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนพร นายตำรวจนอกราชการ และพล.ต.ต.สุรพงษ์ ศิริภักดี ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ได้เดินทางมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อนำมติคณะรัฐมนตรีมาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยขณะนั้นมี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ. วิโรจน์ พหลเวชช์ พล.ต.อ. ปานศิริ ประภาวัต และรอง ผบช.น.อีกหลายนาย ได้เข้าฟังการมอบหมายนโยบาย แต่พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ไม่ได้อยู่รับฟังด้วย เนื่องจากติดภารกิจรับเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้แจ้งต่อที่ประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ว่า ได้นำมติคณะรัฐมนตรี มาแจ้งว่า เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551  เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการเปิดเส้นทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้โดยเวลา 05.00 น. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และ คณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ ควบคุมการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้น ได้เดินทางกลับ โดยให้ พล.ต.อ. บุญฤทธิ์ รัตนพร และ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ศิริภักดี อยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
 
ต่อมาเมื่อพล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว กลับจากการรับเสด็จเดินทางมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้พบกับ พล.ต.อ. พัชรวาท  วงษ์สุวรรณ ซึ่งพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้แจ้งเรื่องการมาของพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ว่าได้มามอบหมายหน้าที่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปฏิบัติในการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมในตอนเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ให้ได้
 
ต่อมาเวลาประมาณ 04.30 น.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมด้วย พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น.พล.ต.ต.วิบูลย์  บางท่าไม้ รอง ผบช.น พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้ร่วมประชุมวางแผนเพื่อกำหนดแผนการปฏิบัติตามคำสั่งของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยมอบหมายหน้าที่ให้ พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รับผิดชอบดูแลเหตุการณ์ทั้งหมด  พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รับผิดชอบนำกองร้อยควบคุมฝูงชนจากตำรวจภูธรภาค 1, 2 และ 3 กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 5 กองร้อย เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่แยกการเรือน
 
ส่วนพล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ พันตำรวจเอก วิชาญ บริรักษ์กุล นำกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1และ 7กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 5 กองร้อยเข้าทางแยกขัตติยาณี ถนนพิชัย ให้เริ่มปฏิบัติการเวลา 06.00 น.และพล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้สั่งให้ พ.ต.อ.ลือชัย สุดยอด เข้าร่วมปฏิบัติการที่แยกขัตติยาณี ด้วย
 
ต่อมาเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 06.00 น. ปรากฏว่า มีการใช้แก๊สน้ำตา ชนิดยิง และขว้าง เพื่อผลักดันประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมปิดทางเข้ารัฐสภา บริเวณประตูปราสาทเทวริทธิ์  ด้านถนนราชวิถี ต่อเนื่องมาบริเวณแยกอู่ทองในเลยไปทางประตูด้านหน้ารัฐสภา  บริเวณถนนอู่ทองใน ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีผู้บาดเจ็บขาขาดนิ้วเท้าขาดและน่องเป็นบาดแผลฉกรรจ์ ด้วย
 
หลังจากนั้น สื่อมวลชนได้เสนอข่าวการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก และในเวลาต่อมาเวลาประมาณ 09.30 น. พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
 
ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เคลื่อนขบวนปิดล้อมประตูเข้าออกรัฐสภาทุกด้านโดยเฉพาะประตูปราสาทเทวริทธิ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ผลักดันโดยใช้แก๊สน้ำตาจนเปิดทางได้แล้วนั้น ถูกกลุ่มพันธมิตรได้เข้ามายึดครองและปิดล้อมไว้อีกครั้งหนึ่ง  ทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถออกจากที่ประชุมได้ทำให้สมาชิกส่วนหนึ่งและนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ ต้องปีนกำแพงออกด้านหลังซึ่งเป็นบริเวณเขตพระราชฐาน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำเฮลิคอปเตอร์ รับตัวนายกรัฐมนตรีออกไปได้ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากยังคงติดอยู่ในรัฐสภา
 
จนถึงเวลา 14.00 น.พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว ได้เรียกประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น. นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และ 4 ตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี และกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ เข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่แยกการเรือนเพื่อเปิดประตูปราสาทเทวริทธิ์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาออกจากรัฐสภาได้
 
เมื่อ พล.ต.ต.. เอกรัตน์  มีปรีชา ได้นำกำลังไปประจำบริเวณแยกซังฮี้ และนำกำลังเคลื่อนมาถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ก็พบกับกลุ่มพันธมิตร โดยมีนายวีระ สมความคิด เป็นแกนนำได้มีการเจรจาต่อรองให้กลุ่มพันธมิตร เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปรับสมาชิกรัฐสภาออกมา แต่กลุ่มพันธมิตรไม่ยอมเปิดทางให้ พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา จึงได้ใช้กำลังเข้าผลักดัน โดยยิงแก๊สน้ำตา เข้ากลุ่มประชาชน ตั้งแต่เวลา 16.04 น จนถึงเวลา 17.00 น. จึงสามารถผลักดันกลุ่มพันธมิตร ถอยร่นพ้นประตูปราสาทเทวริทธิ์ และนำสมาชิกรัฐสภาออกมาจากรัฐสภาได้  ซึ่งจากการผลักดันประชาชนกลุ่มพันมิตร  โดยใช้แก๊สน้ำตาดังกล่าวปรากฏว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาจำนวนหนึ่ง
 
ขณะที่มีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าประชาชนกลุ่มพันธมิตรที่แยกการเรือน ทำให้ประชาชนกลุ่มพันธมิตรจำนวนหนึ่งหนีมาทาง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ด้านถนนราชสีมา และจะเดินทางผ่านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลด้านถนนศรีอยุธยา เพื่อกลับไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่สามารถเดินทางได้เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดและยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนกลุ่มพันธมิตร
 
เมื่อกลุ่มพันธมิตรที่ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลทราบเรื่องจึงได้ประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมเดินทางไปที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อไปผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เปิดเส้นทางถนนศรีอยุธยา และเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มพันธมิตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ  และมีผู้บาดเจ็บสาหัส ขาขาด มือขาด นิ้วเท้าขาด และบาดเจ็บที่ต่างๆ จำนวนมาก 
 
จากรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้รายงานผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำนวน 471 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 86 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 14 ราย ประชาชน 72 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
 
อนึ่ง ในการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบปรากฏตามเอกสารวิทยุในราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล จาก ศปก.น. ที่ 0016.(ศปก.น.)/ 13879 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2551 ลงนามโดยพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จัดตารางการประกอบกำลังปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยกรณีการชุมนุมเรียกร้อง ระบุไว้ดังนี้
 
ลำดับ 1 วันที่ 6 ตุลาคม 2551 เวลา 08.01 – 20.00 น.พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมี พล.ต.ต..วิบูลย์ บางท่าไม้ รองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์
 
ลำดับ 2 วันที่ 6 ตุลาคม 2551 เวลา 20.01 – 08.00 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พล.ต.ท. สุชาติ  เหมือนแก้ว เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมี พล.ต.ต..ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์
 
ลำดับ 3 วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 08.01 – 20.00 น.พล.ต.ท. สุชาติ  เหมือนแก้ว เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมี พล.ต.ต.อำนวย  นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์
 
ลำดับ 4 วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 20.01 – 08.00 น.ของวันที่ 8 ตุลาคม 2551 .พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว  เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมี พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์
 
ลำดับ 5 วันที่ 8 ตุลาคม 2551 เวลา 08.01 – 20.00 น. พล.ต.ท.สุชาติ  หมือนแก้ว เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมี พล.ต.ต.เอกรัตน์  มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์
 
ต่อมาปรากฏหลักฐานตามวิทยุในราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 0016.(ศปก.น.)/13955 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ให้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน เปลี่ยนวันเวลาปฏิบัติภารกิจกับพล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา และมีคำสั่งวิทยุในราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 0016.(ศปก.น.)/13927 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2551 มอบหมายให้ พล.ต.ต.ลิขิต  กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติตามภารกิจนำกำลังกองร้อยปราบจลาจลเข้าไปเปิดเส้นทางเข้าออกรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม.2551 เวลา 06.10 น.และคำสั่งวิทยุในราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 0016.(ศปก.น.)/13940 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มอบหมายให้ พล.ต.ต.. เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล /รองผู้บัญชาการเหตุการณ์เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติตามภารกิจ นำกำลัง กองร้อยปราบจลาจลจำนวน 6 กองร้อย เข้าไปปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยสมาชิกรัฐสภา ข้าราชการรวมตลอดบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งติดอยู่ภายในรัฐสภา โดยให้ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป โดยมี พล.ต.ต.. จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้ช่วยปฏิบัติ
 
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ตลอดจนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ  และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราย ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว เห็นว่า
 
1.  นายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์   ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล  ต้องบริหารบ้านเมืองให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและเคารพสิทธิการแสดงออกของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายสมชาย  ได้ติดต่อให้นายชัย  ชิดชอบประธานรัฐสภา เปลี่ยนสถานที่การประชุมหรือเลื่อนการประชุมออกไป  แต่นายชัย  ชิดชอบ  ยังคงยืนยันให้มีการประชุมรัฐสภาตามวันและเวลาเดิมก็ตาม
 
แต่กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีการที่รุนแรงต่อประชาชนจนประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และเมื่อปรากฏว่า มีผู้บาดเจ็บสาหัสในการเข้าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเปิดทางเข้ารัฐสภาในตอนเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนกระทั่งพล.อ. ชวลิต  ยงใจยุทธ ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี  แต่นายสมชาย  ก็ไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชายุติการกระทำ กลับปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรงขึ้นตามลำดับตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
 
การกระทำหรือละเว้นการกระทำของ นายสมชาย จึงมีมูลความผิดทางอาญา  ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
 
2.  พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เข้าประชุมเพื่อรับฟังนโยบายของรัฐบาลด้วยการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุโดยมุ่งหวังเพื่อเปิดทางให้ได้โดยมิได้คำนึงถึงชีวิต ร่างกายของผู้ร่วมชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะสำคัญ ก็เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายสมชาย และพล.อ.ชวลิต ซึ่งการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นั้น  พล.อ.ชวลิต  ยงใจยุทธ ได้มอบหมายให้พล.ต.อ.บุญฤทธิ์  รัตนพร  และพล.ต.ต.สุรพงษ์ ศิริภักดี ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด
 
ดังนั้น การตัดสินใจประกาศลาออกอันเป็นการหลีกหนีความรับผิดชอบหลังเกิดความเสียหายแล้วย่อมไม่อาจพ้นความรับผิดได้ การกระทำหรือละเว้นการกระทำดังกล่าวของ พล.อ.ชวลิต  ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินลำดับถัดมาจากนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ให้เป็นผู้มีอำนาจสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภารกิจดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม จึงมีมูลความผิดทางอาญาฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
 
3. พล.ต.อ. พัชรวาท  วงษ์สุวรรณ เมื่อเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงเช้ามีผู้บาดเจ็บถึงขั้นขาขาด และมีบาดแผลในร่างกายหลายราย สื่อมวลชนได้เสนอข่าวอยู่ตลอดเวลา พล.ต.อ.พัชรวาท ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงที่ได้รับนโยบายจากฝ่ายการเมือง ให้ไปดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม กลับเพิกเฉยไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำ หรือยอมกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อประชาชน เพื่อสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง
 
การที่พล.ต.อ.พัชรวาท อ้างว่าไม่สามารถขัดขืนได้ นั้น เป็นการไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลัก ถึงแม้พล.ต.อ. พัชรวาท จะพยายามที่จะให้มีการเปลี่ยนสถานที่ประชุมหรือเลื่อนวันประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะไม่มีเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ไม่สามารถหักล้างผลของการกระทำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของพล.ต.อ. พัชรวาท  ได้กระทำไป และการที่พล.ต.อ. พัชรวาท ได้ทำตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้กระทำ โดยมิได้ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ตามวิสัยของข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ จนเกิดความเสียหายดังกล่าว
 
การกระทำหรือละเว้นการกระทำของพล.ต.อ.พัชรวาท จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ  อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79(5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญาฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
 
4.พล.ต.ท. สุชาติ  เหมือนแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบช.น. เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของพล.ต.ท.สุชาติ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต พล.ต.ท. สุชาติ  ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การเข้าดำเนินการผลักดันผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดทุกสถานการณ์
 
เมื่อทราบเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พล.ต.ท.สุชาติ ได้มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นั้น ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงและขว้างใส่กลุ่มประชาชนที่ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมากแล้ว ในเวลาประมาณ 16.00 น.พล.ต.ท.สุชาติ ยังคงสั่งให้มีการใช้กำลังเข้าผลักดันกลุ่มประชาชน โดยใช้แก๊สน้ำตาดังกล่าวอีก  จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนหนึ่ง และเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังคงยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัส ขาขาด มือขาด  และบาดเจ็บที่ต่างๆ จำนวนมากอีก
 
พล.ต.ท. สุชาติ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ทราบว่าการใช้แก๊สน้ำตาเข้าผลักดันประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน กลับไม่ดำเนินการทบทวนวิธีการหรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว กลับสั่งให้ดำเนินการเช่นเดิมอีกในตอนบ่ายและกระทำซ้ำอีกในตอนค่ำ
 
การกระทำของ พล.ต.ท. สุชาติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบช.น. จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง  ฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (3) (5) (6)  และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
 
สำหรับ พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล  พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา พล.ต.ต.วิบูลย์  บางท่าไม้ พล.ต.ต.จักรทิพย์  ชัยจินดา  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ทั้งหมด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในความควบคุมรับผิดชอบและสั่งการของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พฤติการณ์ และพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่ามีมูลเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
ส่วน พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร. ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
 
ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ  และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  พล.อ. ชวลิต  ยงใจยุทธ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ  และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542  มาตรา 92  และมาตรา 70 ต่อไป
 
นอกจากนี้กรณีที่ประธานวุฒิสภา ได้ส่งคำร้องขอให้ถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง  ในกรณีดังกล่าวมาให้ดำเนินการไต่สวนถอดถอนด้วยนั้น คณะกรรมการป.ป.ช.  ก็ได้มีมติให้ส่งรายงานไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
 
 
..............................................................................
ที่มา : มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net