Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากการรายงานข่าวผ่านทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ บร.5 หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 26 กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 215 ฐานปฏิบัติการ ศปป.ที่ นม.1 และเจ้าหน้าที่กองกำลังสุรนารี ได้นำเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ บริเวณท้ายเขื่อนลำนางรอง อ.โนนดินแดง และพื้นที่ป่าที่บริษัทเอกชนเช่าปลูกป่ายูคาลิปตัส จำนวน 9 แปลง รวมกว่า 23,700 ไร่ พบว่ามีชาวบ้านที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มโฉนดชุมชน เครือข่ายปฎิรูปที่ดินฯ และกลุ่มพระวันชัยที่อ้างว่าไม่มีที่ทำกินได้บุกรุกเข้าไป เผาทำลาย แผ้วถางป่ายูคาลิปตัสที่นายทุนหมดสัญญาสัมปทาน และป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ จนได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ แม้เจ้าหน้าที่จะเข้าไปห้ามปรามขัดขวาง แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อต้านขู่จะทำร้ายเอาชีวิต อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

เมื่อวันที่15 ก.ย.52 ชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมชี้แจงต่อกรณีข่าวดังกล่าว ในการสัมมนา “โฉนดชุมชน และนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรวมรวบความเห็นเสนอต่อรัฐบาลในการเตรียมการออกระเบียบสำนักนายกสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในเร็ววันนี้ โดยศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ที่สมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ

นายไพฑูรย์ สร้อยสด ชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรอง สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่าชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรองถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการให้เช่าพื้นที่ ล่าสุดกลายเป็นผู้แผ้วถางทำลายป่ากว่า 3,000 ไร่  จากข่าวโหมกระพือในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่ที่นั่นไม่มีไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข่าวที่ถูกเผยแพร่ไปแล้ว มาได้รู้จากการบอกเล่าภายหลัง นอกจากนี้ข่าวยังมีการให้ข้อมูลถึงการใช้เฮลิคอปเตอร์ทหารบินเข้าตรวจสอบพื้นที่ว่าเป็นป่าอนุรักษ์ ทั้งที่สภาพจริงเป็นพื้นที่ป่ายูค่า

“ชาวบ้านมีการจัดการป่าคุ้มครองพื้นที่ป่า เข้าไปทำกินในพื้นที่ที่เอกชนได้ขนย้ายออกไป ในพื้นที่ไม่ถึง 2,000 ไร่ ไม่มีการขยายพื้นที่เพิ่ม เราเคารพกติกามาตลอด แต่ข่าวมีออกไปกลับบอกเราไม่เคารพกติกา” นายไพฑูรย์กล่าว

เขาให้ข้อมูลด้วยว่า ในพื้นที่หมดสัญญาเช่าของเอกชนที่เป็นปัญหาดังกล่าว มีชาวบ้าน 3 กลุ่มเข้าไปจัดการพื้นที่ โดยกลุ่มที่เข้าไปกลุ่มแรกคือกลุ่มยายลาซึ่งเป็นชาวบ้านจากโนนดินแดนที่เข้าไปจัดการปฎิรูปที่ดินเช่นกัน กลุ่มต่อมาคือกลุ่มพระวันชัยซึ่งเป็นชาวบ้านจากต่างอำเภอที่ต้องการที่ดินทำกิน ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวมุ่งไปสู่การเช่าที่ดินเพราะเห็นว่าเป็นแนวทางคล่องตัวกว่า อีกกลุ่มคือกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรอง ที่ต้องการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยแต่ละกลุ่มมีข้อตกลงว่าจะไม่ก้าวก่ายกัน มีกฎกติกาของแต่ละกลุ่มเอง แต่ล่าสุดกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำลำนางรอง กว่า 1,000 คน กำลังเข้าไปแผ้วถางในพื้นที่ที่กลุ่มปฎิรูปฯ เข้าไปจัดการ แต่ชาวบ้านเองไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลว่าในพื้นที่มีการตั้งค่าหัวเจ้าหน้าที่รักษาพันธ์ป่าไม้หากเข้าไปในพื้นที่ถึง 1 แสนบาท

ทั้งนี้ พร้อมกับที่มีการนำเสนอข่าวออกไป ในพื้นที่มีการประสานงานหน่วยงานป่าไม้ 6 หน่วย ขณะนี้เข้าไปอยู่ในพื้นที่แล้ว 3 หน่วย ร่วมกับกำลังทหารอีกกว่า 2,000 นาย โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประมาณ 200 นาย ทำที่พักห่างจากที่ตั้งชุมชนของกลุ่มปฏิรูปที่ดินฯ ประมาณ 500 เมตร และมีทหารเข้ามาพักด้วยโดยอ้างว่าเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์ไม่ให้มีการแผ้วถางในพื้นที่ หากมีการแผ้วถางจะมีการนำกำลังมาสลายชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ประกาศว่าในเร็ววันนี้ชาวบ้านไม่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องออกไปจากพื้นที่ และต่อไปต้องออกให้หมดไม่เช่นนั้นจะมีการปฎิบัติการอย่างเด็ดขาด

ชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรอง กล่าวแสดงความเห็นว่า การเสนอข่าวมีการเหมารวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่กรณีความขัดแย่งว่าเป็นผู้บุกรุก แต่ข่าวโจมตีเฉพาะกลุ่มปฏิรูปที่ดินฯ ว่าเป็นแกนนำในการทำลายป่า ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้นจึงอยากให้นักข่าวเวลาเสนอข่าวควรแยกแยะแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน และเดินลงไปดูพื้นที่จริงๆ ลงไปหาชาวบ้านว่าเขาอยู่กันอย่างไร โดยเขายืนยันว่าในวันที่ 12 ก.ย.ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อไม่มีนักข่าวเข้ามาในพื้นที่ของชุมชน มีแต่เฮลิคอปเตอร์ของทหารมาบินวนในพื้นที่ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะการสำรวจพื้นที่ที่เคยทำมาจะเป็นการใช้เฮลิคอปเตอร์ของป่าไม้ ส่วนข้อเรียกร้องต่อทหารที่ขนาดนี้อยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านก็อยากให้ทหารเข้ากรมกอง

“เดินดินไปสัมผัสพวกผมหน่อย พวกผมไม่รังแกใคร” นายไพฑูรย์ กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า การสื่อข่าวสารว่าชาวบ้านทำลายป่าอนุรักษ์ ทำลายป่าต้นน้ำ อาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาสลายชาวบ้าน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตุถึงการยุยงให้ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ เกิดความขัดแย้งกัน และยุยงเรื่องการรุกทำลายในพื้นที่ว่าอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมในการสลายกลุ่มชาวบ้านด้วยเช่นกัน

“พื้นที่ 2 หมื่นกว่าไร่ไม่ใช่พื้นที่น้อยๆ ทรัพย์สินที่อยู่ในพื้นที่เป็นผลประโยชน์มหาศาล ผลประโยชน์ยังมีในพื้นที่อยู่” ชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรองแสดงความคิดเห็น และกล่าวว่าการแก้เข้าไปในพื้นที่ของชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรอง กว่า 4 เดือน ถึงวันนี้ชาวบ้านยังไม่ได้มีโอกาศในการทำอยู่ทำกินอย่างสงบเลย

อย่างไรก็ตามนายไพฑูรย์ แสดงความเห็นว่าหากสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่คลี่คลายลงไปได้โดยไม่มีการสลายการชุมชน จากประสบการณ์ในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ต่อไปอาจมีการออกหมายจับแกนนำชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะมีอย่างน้อย 9 คนที่อาจต้องถูกหมายจับ

เมื่อถามถึงช่องทางของการเช่าที่ดินเพื่อจัดสรรการทำประโยชน์ตามที่ชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ยอมรับ แต่กลุ่มปฏิรูปที่ดินฯ กลับต้องการดำเนินการในรูปโฉนดชุมชน นายไพฑูรย์ ให้เหตุผลว่า ที่ดินดังกล่าวดั้งเดิมเป็นที่ดินของชาวบ้านที่มีการแผ้วถางกันมา หากเช่าก็เหมือนเป็นการเช่าที่ตนเอง อีกทั้งมติล่าสุดของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำนางรอง เมื่อวันที่ 23 เม.ย.52 ระบุให้บริษัทเอกชนเช่าทำประโยชน์และชาวบ้านเช่าทำกินในพื้นที่ฝ่ายละครึ่งจากพื้นที่รวมกว่า 23,700 ไร่ ขณะนี้ความเป็นจริงบริษัทได้แบ่งไปแล้ว 16,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือไม่ถึงครึ่งต้องจัดสรรให้คนที่ต้องการจะเช่ากว่า 4,000 คน อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้เช่าจริง คาดว่าไม่เกิน 3 ปี นายทุนก็จะเก็บเกี่ยวที่ดินตรงนี้ไปหมด เพราะไม่มีอะไรมารับประกันความยังยืนว่าที่ดินจะคงอยู่ในมือชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันกำหนดเอง ดังนั้นจึงยืนยันที่จะไม่เช่า

สำหรับการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรองได้เข้าไปจัดการที่ดินในพื้นที่ที่เอกชนได้นำทรัพย์สินออกไปแล้ว เนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ โดยจัดสรรการใช้ประโยชน์ คือ มีพื้นที่รักษาให้เป็นป่าธรรมชาติโดยห้ามตัดแต่ปลูกเพิ่ม 400 ไร่ ส่วนที่เหลือก็จัดเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน
 
ทั้งนี้ กลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรอง เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรไร้ที่ดินและมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ จาก ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ จำนวนกว่า 170 ครอบครัว ภายใต้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้เคลื่อนย้ายเข้าไปจัดตั้งชุมชนเพื่อทำการตรวจสอบพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ซึ่งบริษัทเอกชนได้เช่าปลูกยูคาลิปตัสและสัญญาเช่าได้หมดอายุลงแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2552 ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.2552 เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน โดยให้รัฐบาลปฏิบัติตามแนวทางโฉนดชุมชน

นายกว่าง อายุ 60 ปี ชาวบ้านโนนดินแดงอีกคนหนึ่ง เล่าถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ว่า พื้นที่ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ในอดีตเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการต่อสู้ของรัฐบาลและคอมมิวนิสต์ รัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน แต่เมื่อในพื้นที่สงบรัฐบาลได้มีการจัดสรรที่ดินใหม่ในปี พ.ศ.2522 โดยจัดสรรที่ดินในพื้นที่อื่นให้ชาวบ้านแล้วบอกกับว่าที่ดินเดิมที่มีเหลืออยู่กว่า 2 หมื่นไร่นี้จะเก็บไว้เพื่อจัดสรรให้ลูกหลานในอนาคต ให้ช่วยกันดูแลรักษา แต่ต่อมารัฐบาลได้เปิดให้เอกชนเช่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 แต่การเช่าพื้นที่มีเงื่อนไขว่าต้องมีรถไถ รถแทรกเตอร์ ขอเช่าที่แค่ 20 ไร่ แต่ต้องมีเงินเป็นหมื่นเป็นแสนซื้อรถไถ รถแทรกเตอร์ ชาวบ้านทั่วไปเลยไม่มีสิทธิ

เมื่อบริษัทเอกชนที่เช่าทำสวนยูคาลิปตัสหมดสัญญาชาวบ้านเลยอยากได้ที่ให้ลูกหลาน เพราะสมาชิกของชุมชนเดิมที่ถูกย้ายออกมาจากพื้นที่ 104 หลังคาเรื่อน จากที่เคยมีที่ดินครอบครัวละ 40-50 ไร่ ได้รับจัดสรรใหม่เหลือแค่ 15 ไร่ วันนี้ได้เพิ่มมาเป็น 279 หลังคาเรือน ดังนั้นจึงได้เข้าไปดูแลพื้นที่เก่า ประมาณ 2,000 ไร่ แบ่งกันทำกิน ดังนั้นจึงขอวอนฝ่ายต่างๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วย

นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กล่าวว่า เรื่องการจัดการที่ดินโดยชูโฉนดชุมชน เป็นกระแสที่กำลังได้รับการตอบรับ ซึ่งรัฐบาลก็ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภาคแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งการจัดทำโฉนดชุมชนก็มีอุปสรรค์ที่ขักขวางไม่ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนที่เป็นพื้นที่นำร่องโฉนชุมชน 3 แห่ง จากทั้งหมด 30 แห่ง ดับตั้งแต่เดือนมีนาคม (ที่มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 ชุดเพื่อแก้ปัญหา) ในพื้นที่ยังคงมีการเผา ไล่รื้อ ยิงข่มขู่ชาวบ้าน รวมทั้งใช้การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งทางแพ่งและอาญา ส่วนกรณีพื้นที่ส่วนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ชาวบ้านก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 31 ราย

สำหรับในพื้นที่บ้านลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้ดำเนินการปฎิรูปที่ดินโดยชุมชน ถือเป็นการโต้แย้งการครอบครองที่ดินของเอกชนรายใหญ่และรัฐ ขณะนี้ได้มีทหารเข้าไปอยู่ในพื้นที่โดยบอกว่าพื้นที่เป็นที่อนุรักษณ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการให้สัปทานเอกชนปลูกป่ายูคาลิปตัส ในพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ ตั้งแต่ปี 2527 อีกทั้งเดิมพื้นที่นี้ เป็นที่ทำกินเก่าของชาวบ้านแต่มีการให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จนเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายทุนหมดสัญญาเช่าพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสชาวบ้านจึงได้เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ภาวะการณ์ของปัญหาเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง รัฐบาล นักวิชาการ ควรเข้ามาร่วมดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

“ในขณะที่รัฐบาลบอกเดินหน้าโฉนดชุมชน แต่ประชาชนต้องเผชิญกับอำนาจ ผลประโยชน์ ความรุนแรงในพื้นที่” นายสุรพล กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความเห็นว่า ประเด็นร่วมด้านหนึ่งนั้นโฉนดชุมชนมีความสวยหรู มีการกระจากการถือครองที่ดิน แก้ปัญหาการเปลี่ยนมือ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องต่อสู้อย่างหนักโดยลำพัง ทั้งที่ปัญหาในพื้นที่ทั้งอิทธิพลท้องถิ่น นายทุน ข้าราชการในพื้นที่ ประชาชนจัดการเองไม่ได้แน่ ทั้งที่ต้องการจะต่อสู้เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมตามนโยบายของรัฐ

ด้านนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะได้มีมติผ่อนผันให้สมาชิกคปท.อยู่ในพื้นที่ของรัฐที่ยังไม่ได้รับรองสิทธิไป พลางก่อน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2552 ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือ ข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จึงคิดว่าไม่น่าจะมีการใช้ความรุนแรง

ในส่วนของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ในการทำโฉนดชุมชนต้องลงลึกไปในพื้นที่ โดยภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล แต่ก็ต้องยึดหลักของกฎหมาย ซึ่งก็มีปัญหาที่ภาครัฐบางครั้งไม่เด็ดขาดรวดเร็วในการแก้ปัญหา เพราะข้อจำกัดเรื่องคนที่จะลงพื้นที่และเวลา ทำให้การลงดูพื้นที่ทำได้ล่าช้า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่าป่าไม้กับอุทยานมีปัญหามากสุด เพราะเอากฎหมายไปจับ ทำให้ลำบากในการแก้ปัญหา ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐ กรมที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้าน และสำนักนายกควรจะต้องมานั่งพูดคุยกันเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนรวมในการแก้ปัญหา
 
ล่าสุดวานนี้ (16 ก.ย.52) เครื่อข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการจ่อกรณีการเข้าครอบครองพื้นที่หมดสัญญาเช่าโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ระบุข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย เช่น เจ้าหน้าที่สังกัดกรมป่าไม้ และตชด.เคารพและปฏิบัติตามมติการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2552 และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบสั่งการให้ทุกฝ่ายสลายหรือถอนกำลังเจ้าหน้าที่รวมทั้งกลุ่มต่างๆ ออกจากพื้นที่ เพื่อคืนความสงบสุขให้กับชุมชน

รัฐบาลต้องยุติการต่อสัญญาเช่า และเร่งรัดนำที่ดินที่หมดสัญญาเช่ามาปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน เร่งรัดสั่งการให้ข้าราชการในท้องที่ออกสำรวจรังวัดพื้นที่ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ในส่วนที่เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 30 พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และสั่งการให้สื่อของรัฐ ยุติการนำเสนอข่าวสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและทำให้สังคมเข้าใจผิด

 

 

 
แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
กรณีการเข้าครอบครองพื้นที่หมดสัญญาเช่าโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์
 
นับจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 กลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านลำนางรอง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินและมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ จาก ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 170 ครอบครัว ภายใต้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้เคลื่อนย้ายเข้าไปจัดตั้งชุมชนเพื่อทำการตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งนายทุนบริษัทเอกชนได้เช่าพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสและไม้โตเร็วในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ และสัญญาเช่าได้หมดอายุลงแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน โดยให้รัฐบาลปฏิบัติตามแนวทางโฉนดชุมชน
 
ความเป็นมาของพื้นที่สัญญาเช่าโนนดินแดงแห่งนี้แต่เดิมเป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกรในต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ได้อยู่มาก่อนนับจากปี 2512 แต่ถูกรัฐบาลถือสิทธิส่งมอบพื้นที่ให้แก่บริษัทเอกชนเช่าปลูกสวนป่าเชิงพาณิชย์ ในปี 2527
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2552 จนถึงปัจจุบันได้มีการเคลื่อนย้ายสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารพราน รวมจำนวนประมาณ 500 คน เข้าไปตั้งประจำการณ์อยู่ใกล้กับหมู่บ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ห่างจากชุมชนประมาณ 500 เมตร ซึ่งเป็นการคุกคามการใช้สิทธิของเกษตรกร โดยเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 64 ที่ให้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันของประชาชน และนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552
 
ในคราวประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 ได้มีมติผ่อนผันให้สมาชิกคปท.อยู่ในพื้นที่ของรัฐที่ยังไม่ได้รับรองสิทธิไปพลางก่อน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะเสร็จสิ้น
 
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังต่อไปนี้
 
1.             ให้รัฐบาลดำเนินการสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย เช่น เจ้าหน้าที่สังกัดกรมป่าไม้ และตชด. เคารพและปฏิบัติตามมติการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552
2.             ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบสั่งการให้ทุกฝ่ายสลายหรือถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ รวมทั้งกองกำลังภายใต้การนำของ อบต.ป๋องที่เตรียมการเข้าไปปะทะและไล่รื้อที่พักของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เพื่อคืนความสงบสุขให้กับชุมชน
3.             รัฐบาลต้องยุติการต่อสัญญาเช่า และเร่งรัดนำที่ดินที่หมดสัญญาเช่ามาปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน
4.             ให้รัฐบาลเร่งรัดสั่งการให้ข้าราชการในท้องที่ออกสำรวจรังวัดพื้นที่ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ในส่วนที่เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 30 พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
5.             สั่งการให้สื่อของรัฐ ยุติการนำเสนอข่าวสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและทำให้สังคมเข้าใจผิด
 
สมานฉันท์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
16 กันยายน 2552
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net