Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ท่านจะมองเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า ในระยะเวลานั้น (ก่อน พ.ศ.2501) เป็นความแตกแยกอย่างรุนแรง การกล่าวร้ายใส่โทษ ความต้องการที่จะเห็นแต่เรื่องยุ่งยาก ความคิดโน้มเอียงไปทางร้าย ความตั้งใจที่จะประหารทำลายซึ่งกันและกันได้แสดงออกมาทุกวิถีทาง จนกระทั่งรัฐบาลสมัยนั้นต้องยอมรับว่า ไม่สามารถบริหารงานของประเทศชาติต่อไปได้ และจำเป็นต้องลาออก ฉะนั้น แผนอันดับแรกของการปฏิวัติคือ ต้องขจัดกวาดล้างพฤติกรรมต่างๆ อันเป็นเหตุแห่งความแตกร้าวและสร้างความสามัคคีให้คนในชาติขึ้นมาให้จงได้[*] (ตัวหนาเน้นโดยผู้เขียน)

นี่คือเหตุผลในการปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำการปฏิวัติเพื่อขจัดความแตกร้าว และสร้างสามัคคีในชาติ!
 
สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ต้องถือว่าแตกร้าวยิ่งกว่าก่อน พ.ศ.2501 เพราะการแตกแยกแบ่งสีเหลือง แดง น้ำเงิน ขาว เกิดขึ้นทั้งในระหว่างเพื่อนกับเพื่อน สามีกับภรรยา เกิดขึ้นในครอบครัว ในหมู่บ้าน วัด โรงเรียน ในการเมืองบนท้องถนน การเมืองในสภา หรือกล่าวอย่างรวมๆ คือในแทบทุกสถาบันของสังคมไทย
 
และที่น่าวิตกยิ่งขึ้นคือ ความแตกร้าวภายในประเทศอาจถูกซ้ำเติมด้วยความแตกร้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากมวลชนเสื้อเหลืองใช้อุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งไปเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร
 
ในสภาวการณ์เช่นนี้ เราจะวางใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีคนคิดก่อการปฏิวัติเพื่อขจัดความแตกร้าว และสร้างสามัคคีในชาติเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก!
 
ก็ในเมื่อรัฐประหารหลงยุค 19 กันยายน 2549 ยังเกิดขึ้นได้ ใครจะรับรองได้ว่ารัฐประหารหลงยุคยิ่งกว่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก ตราบที่การเมืองยังคงเป็นเรื่องของเกมช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่ม คือกลุ่มนักการเมือง อำมาตย์ และกลุ่มทุนธนกิจการเมือง
 
จะว่าไปแล้วความแตกแยกที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ สาเหตุหลักๆก็คือกลุ่มชนชั้นนำดังกล่าวไม่อาจประนีประนอม หรือไม่สามารถจัดดุลอำนาจและผลประโยชน์ให้ลงตัวได้ หากมวลชนที่ถือหางแต่ละฝ่ายไม่เท่าทันกลเกมอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ โอกาสที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการปฏิวัติรัฐประหารโดยชนชั้นนำบางกลุ่มที่เฝ้าคอยจังหวะช่วงชิงความได้เปรียบในการขึ้นครองอำนาจรัฐย่อมเป็นไปได้เสมอ
 
ดังนั้น ความเชื่อมั่นว่าการปฏิวัติ/รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ต้องไม่วางอยู่บนความเชื่อที่ว่าหมดสมัยที่จะมีฝ่ายใดกล้าคิดทำรัฐประหารแล้ว แต่ต้องวางอยู่บนวิถีทางที่ถูกต้องในการป้องกันการปฏิวัติ/รัฐประหาร
 
ซึ่งผู้เขียนขอเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนดังนี้
 
1. การชุมนุมใดๆเพื่อรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 49 ต้องแสดงออกถึงการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อย่างสงบ สันติ ไม่สร้างความรุนแรงที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร
 
2. การชุมนุมต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่า เพื่อส่งเสียงให้ดังไปทั่วประเทศและให้ชาวโลกรับรู้ว่า สังคมไทยไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาอำมาตยาธิปไตยที่กำกับ ชี้นำ แทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล ศาล กองทัพ และกลไกอื่นๆของรัฐ ประเทศไทยต้องไม่ตกอยู่ในสภาพเสมือนเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” อีกต่อไป
 
3. ต้องเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นว่า กองทัพคือกลไกของรัฐ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากประชาชน กองทัพไม่ใช่กลไกของ “อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” ที่ถูกอำนาจนั้นใช้เป็นเครื่องมือกำกับ ควบคุม ต่อรอง แทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาลของประชาชน
 
4. ต้องชี้ชวนให้คนทั้งสังคมตระหนักถึงอันตรายของรัฐประหาร ที่เป็นขวากหนามของพัฒนาการประชาธิปไตยในสังคมไทยมาโดยตลอด และชี้ชวนให้ประชาชนตระหนักร่วมกันว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องป้องกันไม่ให้รัฐประหารเกิดขึ้น หรือสำเร็จได้อีก
 
5. ต้องประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า เราต้องการให้สังคมไทยพ้นไปจากระบอบอำนาจนิยมอุปถัมภ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์-อำมาตย์อุปถัมภ์ หรือนายทุนอุปถัมภ์ เราต้องการสร้างสังคมใหม่ที่เสมอภาคเป็นธรรมด้วยมือของเราเอง
 
ความคาดหวังอันเสมือนเป็น “ตุ๊กตา” 5 ข้อนี้จะสะท้อนออกมาได้ในการชุมนุมรำลึกรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็ต่อเมื่อมวลชนสามารถหลุดพ้นจากการตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำกลุ่มใดๆ เปลี่ยนกลับมาเป็นผู้ใช้กลุ่มชนชั้นนำนั้นๆ เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุถึงการสร้างรัฐประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจต่อรองมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
 
ซึ่งหมายความว่าเราต้องสร้าง “การเมืองแบบมวลชน” ให้มวลชนมีพลัง และกลไกทั้งทางวัฒนธรรมและทางกฎหมายในการกำกับ ตรวจสอบ ต่อรอง หรือใช้นักการเมืองเป็นเครื่องมือในการตอบสนองต่อความต้องการของเสียงส่วนใหญ่โดยเคารพเสียงส่วนน้อย
 
ที่สำคัญเราต้องมองให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนี้ มีข้อดีที่ชัดเจนคือสังคมไทยได้ขยายพื้นที่การต่อรองทางการเมืองจากการเมืองภาคนักการเมือง มาสู่การเมืองแบบมวลชนมากขึ้น ดึงเกมการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองจากชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่มมาสู่กลุ่มต่อรองที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้อำนาจจารีตนิยมถูกตั้งคำถามและถูกท้าทายด้วยการใช้เหตุผลมากขึ้น
 
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอีกแล้วที่เราจะรอรับฟังผู้มีอำนาจใดๆ มาสั่งสอนหรือปฏิวัติรัฐประหารให้เราสามัคคี สมานฉันท์ แต่เราจะสามัคคีสมานฉันท์ด้วยการสร้างและขยายมวลชนที่ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เสมอภาคเป็นธรรม เพื่อเป็นมวลชนที่มีอำนาจต่อรอง กดดันกลุ่มอำนาจทางการเมืองต่างๆ ให้ทำตามอำนาจของประชาชนตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น
 
ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีรุนแรงไปล้ม “ระบอบ” อะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องสร้างพลังมวลชนที่เข้มแข็ง แน่วแน่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ใช้เหตุผลวิพากษ์ความไม่ชอบธรรมของอำนาจจารีตในแง่ด้านต่างๆให้มากขึ้น พร้อมกับร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ โดยไม่ใช้วิธีรุนแรง    
 
 
 


[*]ข้อมูลจากประมวลสุนทรพจน์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502-2504,กรุงเทพฯ,โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี,2507,หน้า 16.
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net