Skip to main content
sharethis

ช่วงนี้องค์กรภาคประชาชนโดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ในอาเซียนคึกคักกันเป็นพิเศษ ในโอกาสที่จะมีการจัดเวทีคู่ขนานก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ในวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2552 โดยเวทีคู่ขนานดังกล่าวใช้ชื่อว่า มหกรรมประชาชนอาเซียน (ASEAN People Forum) ที่โรงแรมรีเจนท์ บีช อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อกำหนดประเด็นที่จะให้ภาคประชาชนนำเสนอต่อผู้นำอาเซียน

แน่นอนว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นหนึ่งที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาคือปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยหัวเรี่ยวหัวแรงในครั้งนี้คนหนึ่งคือ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม หรือผู้ใช้นามปากกาในงานเขียนว่า ตนกูอารีฟีน บินจิ อดีตนายตำรวจผู้มีบทบาทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้

 


พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม

 

ประชาไท: การขับเคลื่อนของเอ็นจีโอ ในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะในโอกาสที่จะมีมหกรรมประชาชนอาเซียน ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
พล.ต.ต.จำรูญ: หลังมีข้อมูลว่า จะมีการประชุมอาเซียน พอดีมีเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงถล่มที่มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 มีชาวบ้านเสียชีวิต 10 คน เป็นที่สั่นสะเทือนในกลุ่มมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มมุสลิมมีการรวมตัวและมีกิจกรรมร่วมกัน ต่างมีเป้าหมายร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการเรียกร้องความยุติธรรมกับฝ่ายรัฐ

การรวมกันในหมู่เอ็นจีโอครั้งนี้ ไม่ใช่การรวมกันเฉพาะในภาคใต้ของไทย เป็นการรวมกันกับกลุ่มเอ็นจีโอในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะเอ็นจีโอมุสลิมที่รู้ถึงความเป็นไปของมัสยิดไอร์ปาแย

เมื่อจะมีการประชุมอาเซียน เอ็นจีโอทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ไม่ว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ก็ปรึกษาหารือกัน ทางมาเลเซียยินดีที่จะมาร่วมกับเรา แล้วจะดึงอินโดนีเซีย ฟิลลิปินส์มาด้วย เพื่อร่วมกับเอ็นจีโอในประเทศไทย เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ให้มีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี จะเรียกร้องให้รัฐบาลไทย สร้างความยุติธรรมให้กับชาวมลายูมุสลิม ให้เร่งรัดจับกุมคนร้ายที่ลอบยิงชาวมลายูมุสลิมในกรณีมัสยิดอัลฟุรกอน นอกจากนี้จะเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุติการทรมาน เราพุ่งไปใน 4 – 5 ประเด็นนี้
 

ทำไมต้องกรณีไอร์ปาแย ทั้งที่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นจำนวนมาก
ไอร์ปาแยเป็นตัวจุดฉนวนให้เกิดความรู้สึกร่วมว่า เหตุการณ์มันเริ่มจะเข้าสู่ความรุนแรงเกินขีดของความอดทนของชาวมลายูมุสลิมทั่วเอเชีย เพราะการลอบยิงผู้ที่กำลังละหมาดอยู่ เป็นการกระทำที่เลวร้ายกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะเป็นการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ เป็นการกระทำที่มีเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่มีโอกาสต่อสู้ คือผู้ที่กำลังกราบไว้พระเจ้า เขาไม่เป็นโทษเป็นพิษเป็นภัยขณะที่เขากำลังละหมาด แล้วไปยิงเขาข้างหลัง

เป็นการละเมิดที่ร้ายแรงที่สุดมากกว่ากรณีมัสยิดกรือเซะ เพราะยังมีโจรผู้ร้ายอยู่ในกลุ่ม ยังมีผู้มีอาวุธต่อสู้ และที่ตากใบก็ยังมีการต่อสู้เรียกร้อง แต่กรณีไอร์ปาแย ไม่ได้มีการต่อสู้ ไม่ได้มีการทำอะไรที่แสดงอาการใดๆ ที่เป็นผลร้ายต่อชาติบ้านเมืองเลย โดยเฉพาะผู้ที่ลอบยิงตามข่าวคือ อดีตคือทหารพราน มันบ่งบอกอะไร

นี่คือความรู้สึกร่วมที่เกาะขึ้นระหว่างเอ็นจีโอมุสลิมในประเทศไทยและเอ็นจีโอที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศไทย ไม่ใช่มุสลิมอย่างเดียวที่รู้สึกอย่างนี้ โดยเฉพาะมูลนิธิต่างๆที่มาร่วมกับเรา และในต่างประเทศก็ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอมุสลิม ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซียมีเอ็นจีโอที่ไม่ใช่มุสลิมมาร่วมกับเราด้วย

นี่คือชนวนของการรวมกลุ่มของเอ็นจีโอทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อจะเรียกร้องแก่รัฐบาลในการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้

แต่การรวมตัวครั้งนี้ เราไม่ได้มุ่งในประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่นั่นก็เป็นประเด็นใหญ่ ประเด็นรองลงมา ที่เราจะพูดคุยในหมู่เอ็นจีโอในอาเซียน คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ที่มีการขับไล่ชาวมุสลิมในรัฐอาระกันออกจากแผ่นดินเกิดของตัวเอง

พวกเราที่เป็นเอ็นจีโอทั้งอาเซียน จะเรียกร้องให้ประเทศพม่าแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของปัญหาทั้งปวง โดยเฉพาะชาวรัฐอาระกันหรือที่เรียกว่าชาวโรฮิงญา ต้องหลบหนีออกมาจากบ้านเมืองของตัวเอง เข้าไปอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กลายเป็นปัญหาหนึ่งของโลกมุสลิม อันเนื่องมาจากปัญหาผู้ลี้ภัยที่ถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินเกิดนั่นด้วย คือ ความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐอาระกันโดยรัฐบาลพม่า แล้วเราจะเอาผลสรุปของการคุยในวันนั้น ยื่นต่อตัวแทนของพม่าด้วย เพื่อยื่นต่อรัฐบาลพม่าต่อไป

อีกประเด็นที่จะคุยคือ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ที่เกาะมินดาเนา เพราะยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ ผลสรุปในการคุยจะเสนอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ครั้งนี้ด้วย โดยเราจะเชิญตัวแทนของเอ็นจีโอฟิลิปปินส์มาร่วมด้วย

ตอนนี้มีเอ็นจีโอในประเทศไทยทีมาร่วมกับเราแล้ว 24 องค์กร ส่วนของต่างประเทศโดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียที่จะมาประมาณ 7 องค์กร นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ แต่ไม่ได้มาในนามองค์กร แต่มาในนามตัวแทนประชาชนในประเทศนั้นมาร่วมอีกด้วย เช่น ตัวแทนประชาชนในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาร่วมคุยกับเรา จากการที่เขาได้รับผลกระทบต่างๆ

ตอนนี้สรุปประเด็นที่จะเสนอแล้วหรือยัง
จะสรุปกันในวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ที่ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย คลองตัน กรุงเทพมหานคร ในการสัมมนาเรื่อง “ประชาชน ASEAN ร่วมร้องเรียกหาความยุติธรรมและสันติภาพ” ระหว่างวันที่ 16 – 17 ตุลาคม 2552 โดยจะคุยกันตั้งแต่เช้าถึงเย็น แล้วจะทำข้อสรุปทั้งหมด เพื่อจะเอาเข้าที่ประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียนที่โรงแรมรีเจนส์ บีช อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 19 ตุลาคม 2552 โดยมีตัวแทนของเราเข้าไปเสนอในที่ประชุม โดยประเด็นของเราจะอยู่ในเสาความมั่นคง

คิดว่าข้อเสนอของเอ็นจีโอหรือภาคประชาชนตอนนี้มีพลังพอที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ เหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หลังจากมีการเคลื่อนไหวครั้งนี้ รัฐบาลคงจะระมัดระวังมากขึ้น รัฐต้องพิจารณารอบคอบมากขึ้นในการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ เพราะคนต่างประเทศคุยให้เราฟังหลังจากเขาเดินไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาให้ข้อมูลกับเราว่า เท่าที่เขาเห็นภาพการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร ที่หลุดออกมาจากรัฐบาลส่วนกลางเลย คือให้อำนาจเต็มที่กับรัฐบาลทหารในการแก้ปัญหา แล้วหลุดขาดจากการควบคุมของรัฐบาลส่วนกลาง

รัฐบาลบอกว่า เป็นเรื่องของทหาร แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็บอกปาวๆ ว่า ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร แต่ในพื้นที่มันยังไม่เป็นลักษณะตามที่รัฐบาลพูด เพราะฉะนั้น เราพยายามผลักดันเรื่องนี้ ถ้าเรามีข้อเสนอดีๆ รัฐบาลก็อาจจะฟัง เพราะตอนนี้รัฐบาลอาจไม่รู้ก็ได้ว่า อะไรที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่

แนวทางการเมืองนำการทหารตอนนี้เป็นเพียงคำพูด ยังไม่ได้ลงสู่การปฏิบัติ เป็นนโยบายที่อยู่ในความคิด ใช้ในการโฆษณา เป็นการสร้างภาพ แต่เนื้อหาไม่มี

เราไปดูในเรื่องการปฏิบัติรายวัน มันก็เป็นเรื่องรายวัน ตรวจค้นจับกุม ตรวจค้นจับกุม แล้วก็ตูมตามระเบิด แล้วก็ตรวจค้นจับกุมอยู่อย่างนั้น วิธีการต่างๆ อยู่ที่ทหารทั้งหมด แล้วฝ่ายการเมืองก็แทบจะไม่ทำอะไรมาก เรื่องการพัฒนาก็เดินไม่ค่อยเท่าไหร่

แต่รัฐบาลก็บอกว่าการเมืองนำการทหารคือต้องทุ่มการพัฒนาลงไป มันตรงประเด็นหรือไม่ แล้วความต้องการของประชาชนจริงๆ คืออะไร
มีเอกสารเล่มหนึ่ง ที่บันทึกการสัมมนาเรื่องงบประมาณการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าการทุ่มงบประมาณไปมากๆ ใครได้ประโยชน์

เมื่อก่อนมองว่า ปี 2547 งบประมาณด้านความมั่นคงน้อย แต่งบประมาณด้านการพัฒนาคืองานการเมืองที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีสูง แต่ต่อมางบความมั่นคงสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ความมั่นคงคือเรื่องการทหารสูงขึ้น ปี 2551 สูงขึ้นไปอีก โดยงบด้านความมั่นคงความมั่นคงสูงประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนงบด้านพัฒนาแค่ 7,000 กว่าล้านบาท และปี 2552 ยิ่งไปกันใหญ่ งบด้านความมั่นคงสูงขึ้นไปถึง 15,000 ล้านบาทแล้ว นี่หรือคือการเมืองนำการทหาร คือ เน้นให้ทหารปฏิบัติการมากขึ้น เพิ่มจำนวนเครื่องมือ จำนวนคน ซึ่งตัวเลขงบประมาณเป็นตัวบอก นี่เป็นข้อมูลจากสำนักงบประมาณ ซึ่งครั้งนั้นนายนิรันดร จอมทอง ตัวแทนสำนักงบประมาณ เขาสรุปค่อนข้างดีว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ การจัดสรรงบประมาณลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีงบประมาณ 2553 มีอยู่ 3 ลักษณะตามนโยบายรัฐบาล โดยผ่านงบกลาง ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้เยอะที่สุดถึง 7,000 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,000 กว่าล้านบาท และกองทัพบกได้ถึง 2,000 กว่าล้านบาท เงินไปกองอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคงมากที่สุด

ส่วนหน่วยงานอื่นไม่ต้องไปดู เพราะได้แค่ 50 ล้าน 60 ล้านบาท กรมการปกครองมากที่สุด 1,700 ล้านบาท

เขามีข้อสรุปว่า งบประมาณที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2552 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 118,900 ล้านบาท ไม่ใช่น้อย เป็นเม็ดเงินมหาศาล ยังไม่รวมเงินเดือนข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่ ถ้ารวมก็คงมากกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนราชการเหล่านั้นขาดการบูรณาการกัน และหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ค่อยเข้ามาสู่กระบวนการของแผนพัฒนา ถ้าหน่วยงานที่เป็นผู้ปฏิบัติงานไม่มีส่วนร่วมในการทำแผน แผนงานเหล่านี้คงจะสำเร็จได้ยาก

เขาบอกอีกว่า ผมไปประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ จึงรู้ ฝ่ายนิติบัญญัติบอกว่าการทำงานของส่วนราชการในพื้นที่ขาดการบูรณาการ ต่างคนต่างทำ กลายเป็นว่า งบประมาณมหาศาลแต่ประสิทธิภาพน้อย ได้กับประชาชนน้อย

สิ่งที่อยากเห็นคือการบูรณาการ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งจะทำให้เรารู้ความต้องการที่แท้จริงของคนพื้นถิ่น เมื่อเรารู้และตอบสนองความต้องการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่นั่น แน่นอนว่า สันติสุขย่อมกลับคืนมา

เขาให้ความเห็นตามที่เขาสรุปมาว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้างบน ตั้งงบเพื่อลงไปผ่านหน่วยงานของรัฐเท่านั้น และเงินเหล่านี้ มันซึมเข้าไปในหมู่ข้าราชการที่เป็นผู้จัดสรร และเงินนิดเดียวเองที่ไปตกถึงมือชาวบ้าน นี่หรือ คือการพัฒนาที่เป็นการเมืองนำการทหาร

การขับเคลื่อนต่อไปของเอ็นจีโอหลังจากมหกรรมประชาชนอาเซียน
มีอีก เราก็ยังทำงานแบบบูรณาการ ต้องเข้าใจว่าองค์กรทั้งองค์กรมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม มีความชำนาญในทิศทางที่แตกต่างกัน บางองค์กรชำนาญเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม สาธารณสุข การแพทย์ สิทธิมนุษยชน เยาวชน ถ้ามาร่วมกันแล้วทำงานด้วยกัน ให้เป็น One Stop Service เลย เรื่องอะไรเข้าทางใครก็ไปดำเนินการ

ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร จะร้องเรียนกับทางราชการ ชาวบ้านอาจไม่ถูกใจ เราก็อาจจะช่วยชาวบ้านโดยส่งทนายความไป เพราะในองค์กรร่วมของเรา เรามีกลุ่มทนายความ ไปช่วยให้คำแนะนำต่างๆ

หรืออยากรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงอะไรบางอย่างในหมู่บ้านในตำบล เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราก็อาจจะส่งกลุ่มนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัคร แล้วก็มีบัณฑิตอาสาที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ้างทำงานในหมู่บ้าน ประสานกับพวกบัณฑิตอาสาโดยผ่านองค์กรนักศึกษาเข้าไป เขาก็จะถามกับบัณฑิตอาสาว่า เรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะรู้ปัญหาลึกกว่า

ทำไมถึงมีกลุ่มสหพันธ์นักศึกษามาร่วมกับเรา เพราะเราต้องการรู้ข้อเท็จจริง เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เขาจะไปประสานกับบัณฑิตอาสาในพื้นที่ นักศึกษาด้วยกัน เขาสามารถที่จะให้ข้อมูลถึงกันได้ ดีกว่าที่เราไปเอง เพราะเราไปอาจไม่ได้ข้อมูล เพราะความใกล้ชิดกับชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่พอ ถ้าใช้พวกนี้ไปได้ถึงกว่า ทั้งปัญหาทางศาสนา วัฒนธรรม คือลงไปช่วยให้คำแนะนำ มีเยอะ บางเรื่องขัดกับหลักการศาสนาหรือไม่ เรื่อง ฮาลาล ฮารอม เราก็จะเอามูลนิธิลงไปช่วย ให้คำแนะนำกับประชาชนว่า สิ่งนี้ควรหรือไม่ควร ทำได้หรือไม่ได้

อย่างกรณีการนำชาวมุสลิมที่สวมหมวกกะปิเยาะห์แล้วให้ทำชีริก (คือ การยึดถือยึดมั่นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มองเห็น หรือที่มองไม่เห็น ที่มีอยู่แล้ว หรือที่คิดสร้างขึ้นมา ว่ามีพลังอำนาจความสามารถที่ให้คุณประโยชน์หรือให้โทษต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยอำนาจ ของตนเอง โดยมิใช่เป็นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า รวมไปถึงการกราบไหว้บูชา ต่อสิ่งใดๆนอกเหนือจากพระผู้เป็นเจ้า เช่น รูปภาพ รูปปั้น หรือวัตถุอื่นๆ - คำอธิบาย จาก www.religionoftruth.fcpages.com) อะไรบางอย่าง ซึ่งเราต้องอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่า อย่าทำอย่างนั้น เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจ หรืออาจเพราะถูกกดดันให้ทำ

เราอาจไปบอกกับหน่วยงานราชการว่าควรไม่ควร ว่า สิ่งนี้มันขัดกับความรู้สึก ขัดกับความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม เราบอกราชการได้ นี่คือการรวมกลุ่มกันทำงาน

เราอาจจะประชุมกลุ่มเครือข่ายด้วยกันว่า เรื่องอย่างนี้ เราต้องมีบทบาทอย่างไรบ้าง เช่น สร้างกระแส ยื่นข้อเรียกร้อง อะไรที่มันกระทบกับประชาชนส่วนรวม เราจะร่วมกันเรียกร้อง ซึ่งจะมีพลังมากกว่าที่เราคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งทำ

หลังจากนี้ เราจะมีอีกหลายกิจกรรม โดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นในอดีตที่ยังเป็นคดีสีเทา เช่น คดีมัสยิดกรือเซะที่หาผู้กระทำผิดในคดีนี้ไม่ได้ คดีตากใบ ก็ไม่มีผู้กระทำผิด ถ้าเราเทียบคดีตากใบที่พิจารณาคดีกันถึง 5 ปี ยังหาข้อสรุปไม่ได้ขณะนี้ แต่ไต่สวนเพิ่งจบไปใช้เวลาถึง 5 ปี ถ้าเทียบกับคดีที่เกิดขึ้นที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนเขาก็มีข้อสรุปแล้ว

แต่คดีตากใบยังไม่มีข้อสรุป มีเพียงคำสั่งไต่สวนของศาลที่สรุปเพียงว่า ผู้ตายนั้นตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจ อยู่ระหว่างการควบคุมของพนักงาน นี่ก็ยังไม่รู้ว่าจะฟ้องร้องได้ผลขนาดไหนอย่างไร เรื่องจะเข้าถึง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) หรือไม่ก็ยังไม่รู้เลย

ผมว่า 5 ปีนี้ เป็น 5 ปีที่รอคอย คือรอคอยความยุติธรรม เมื่อครบ 5 แล้ว องค์กรต่างๆ จะมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2552 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่ทำความเสียหายอะไร เพียงเราจะมาพูดคุยกันเท่านั้นเอง

ทำไมคดีสีเทาอย่างนี้ กระบวนการถึงเดินช้า โดยเฉพาะคดีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
คือวัฒนธรรมไทยมีระบบอุปถัมภ์ ไม่เหมือนต่างประเทศ อย่างอเมริกา แค่ตำรวจเอาไม้พลองตีพวกอเมริกันผิวดำ ขึ้นโรงขึ้นศาล ศาลลงโทษเลย แต่บ้านเรา ถ้าคนมุสลิมตาย ตั้งแต่คดีกรือเซะ คดีตากใบ และอีกหลายๆ คดีที่ผ่านมา มันไม่เป็นธรรม เพราะมีระบบอุปถัมภ์แทรกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะผู้กระทำผิด ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ คดีก็ชักช้า การพิจารณาหลายขั้นหลายตอน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตรวจแล้วตรวอีก แก้แล้วแก้อีก

แล้วจะให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมได้อย่างไร
ไม่ได้ เพราะในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล มีระบบอุปถัมภ์แทรกอยู่ภายใน ซึ่งเป็นระบบที่อยู่กับสังคมไทยมานาน กลายเป็นนิสัยคนไทย ถ้าใครทำผิด ถ้าเป็นพวกต้องช่วยไว้ก่อน เรารู้อยู่แล้ว เพราะเราก็เคยน่ะ เวลาตำรวจต้องคดี ก็ต้องช่วยไว้ก่อน ไปทุบชาวบ้านตาย ก็ต้องช่วยตำรวจไว้ก่อน

แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้ข้ามพ้นเรื่องนี้ไปได้
ต้องสร้างจิตสำนึกให้คนไทยได้รู้ว่าระบบอุปถัมภ์ในระบบยุติธรรมนี่มันทำลาย มันทำลายความยุติธรรม มันไปทำลายเรื่องอื่นๆหมด มันเบี่ยงเบนหมด ความจริงมันไม่เกิด เพราะเราไปช่วยเอาความเท็จไปบดบังความจริง เพื่อจะช่วยเหลือกัน

ถ้าปัญหายังเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป
ความยุติธรรมก็ยังไม่เกิด ความจริงก็ยังไม่เกิด รัฐก็ยังทำอะไรไม่ได้ ปัญหาทุกปัญหา ก็ยังฝากไว้ให้กับกองทัพเป็นผู้พิจาณา มันก็ต้องใช้เวลา รัฐบาลก็ยังคิดไม่ออก อะไรที่ทหารทำอยู่ตอนนี้ ก็บอกว่า ดีแล้ว ดีแล้ว เป็นการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ

รัฐบาลจะไม่เปลี่ยนความคิดเพื่อให้ทหารทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสิ่งที่ทหารไม่อยากทำ ถ้าเปลี่ยนแปลงอะไรตอนนี้ขึ้นมา ทหารอาจจะไม่พอใจก็ได้ รัฐบาลก็ต้องเอาใจทหาร เพราะรัฐบาลจะได้อยู่นานๆ ไม่มีปัญหากับฝ่ายทหาร โดยเฉพาะการเมืองข้างบน เริ่มมีทหารบางส่วนเข้าไปอยู่กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เข้ามาเล่นการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะนายทหารเก่าๆ

ถ้ารัฐบาลทำอะไรผิดพลาด กระทั่งนโยบายในภาคใต้ รัฐบาลไม่อยากให้ขัดใจกับฝ่ายทหาร อะไรที่ทหารขอ รัฐบาลต้องให้ เพื่อจะได้ยืดเวลาการเป็นรัฐบาลให้นานขึ้น นี่คือความคิดของคนในรัฐบาล อะไรที่ทหารทำ ถูกต้องทุกอย่าง เช่น อย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีพูด ว่า ผมเห็นใจทหาร ผมเชื่อทหาร อะไรเหล่านี้

แสดงว่าปัญหายังแก้ไม่ได้ งบประมาณก็ถูกผลาญไปเรื่อยๆ
สุดท้าย ถ้ายังเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ผมว่าเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ปัญหาสงครามประชาชน จะใช้การทหารแก้อย่างเดียวไม่ได้ ไม่ว่าที่ไหนในโลก อย่าลืมว่าสงครามในภาคใต้ ไม่ได้เป็นเรื่องการก่อการร้ายอย่างเดียว มีประชาชนอีกล้านกว่าคนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จากปฏิบัติของฝ่ายทหารและฝ่ายราชการ เป็นคนมลายูมุสลิม

รัฐบาลบอกว่า คนส่วนใหญ่เขาไม่เอากับคนพวกนี้หรอก แต่คนส่วนใหญ่มันเดือดร้อน เมื่ออยู่กับมึง กูเดือดร้อน เมื่อกูอยู่กับมึง กูไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมากขึ้นทุกวัน คนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐมีมากขึ้น สุดท้ายมันก็เพิ่มข้อเรียกร้อง ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ มันจะไม่ดังเฉพาะในประเทศแล้ว ต่างประเทศก็เริ่มหันมามอง เขาเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว เขาไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้

แม้กระทั่งผู้แทนของอเมริกา พวกเอ็นจีโอ เริ่มเข้ามาศึกษา เพราะผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของอียู ของอเมริกาก็ดีที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าปัญหาภาคใต้ยังแก้ไม่สำเร็จ ผลประโยชน์พวกนี้ได้รับผลกระทบหมด

เมื่อต่างประเทศเข้ามา จะเป็นอย่างไร อย่างที่นายมหาเดร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เคยพูดไว้ว่า ต้องให้สิทธิในการปกครองตนเอง ต้องให้เขาได้โอกาสในการเลือกทิศทางอนาคตของเขาเอง การเลือกอนาคตของตัวเองมันจะนำไปสู่การลงประชามติเหมือนกรณีประเทศติมอร์ตะวันออก

แล้วมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบด้วยหรือไม่
แน่นอนเขาต้องการให้เกิดอย่างนี้ขึ้นมา สิ่งที่เราเรียกร้องคืออย่าให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น เรากำลังช่วยรัฐบาล รัฐบาลต้องตระหนักว่า ถ้าไปถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ เอ็นจีโอหรือรัฐบาลก็จะแย่แล้ว แย่กันหมด อย่าให้รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้เหตุการณ์เรื้อรัง แล้วพัฒนาไปสู่การเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองของชาวบ้าน อันเนื่องมาจากกูอยู่กับมึงไม่ได้แล้ว กูเดือดร้อน กูไม่ได้รับความเป็นธรรม คนของกูตายทุกวัน สุดท้ายองค์กรระหว่างประเทศก็ต้องเข้ามา

วิธีไกล่เกลี่ยคือต้องเรียกรัฐบาลกับตัวแทนในพื้นที่มาเจรจาว่าจะเอาอย่างไรกัน การเจรจานั้นอาจจะนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิปกครองตนเอง เหมือนในต่างประเทศ แต่การปกครองตนเองจะนำไปสู่รัฐอิสระ เราพยายามเตือนรัฐบาล อย่าปล่อยนะ ให้เปลี่ยนรูปแบบ ให้เอาการเมืองเข้าไปแก้ ให้ยุติการละเมิดสิทธิ ยุติการทรมาน เพราะสิ่งเหล่านี้มันเข้าตาต่างประเทศ สิ่งที่เราพูดเพื่อเตือนรัฐบาล ไม่ใช่เข้าข้างฝ่ายโน้น

ในฐานะที่เป็นอดีตข้าราชการทำไมจึงมาเป็นเอ็นจีโอ
ไม่ได้คิดอะไร เพียงแต่มีคนอยากให้มาช่วย เพราะผมทำงานเอ็นจีโอตั้งแต่ผมยังรับราชการอยู่ เอ็นจีโอรวมกลุ่มขึ้นมาเมื่อปี 2540 ตอนนั้นผมยังเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอยู่ และเป็นประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้มาตั้งแต่นั้น แล้วมูลนิธิมาจดทะเบียนปี 2546 ผมก็เป็นประธาน ผมก็ยังรับราชการอยู่ ปี 2548 ผมลาออก ผมจะไปไหนเขาก็ไม่ยอม ผมก็ต้องทำงานต่อ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง เรื่องความเป็นธรรม ก็ต้องช่วย ไม่ช่วยได้อย่างไรเป็นงานต่อเนื่อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net