Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ครั้งหนึ่งคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐที่กดขี่และเอารัดเอาเปรียบผู้ไร้อำนาจ โดยแย่งชิงทรัพยากรอันจำกัดไปจากคนยากจน จึงเกิดทฤษฎีความขัดแย้งโดยใช้ชนบทล้อมเมืองและกำลังอาวุธเข้าต่อสู้ยึดอำนาจคืนสู่ประชาชน แต่เมื่อยังไม่ประสบผลสำเร็จและเสมือนหนึ่งไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย มีผู้คนล้มตาย บาดเจ็บ พิการและกลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างยากลำบากในสังคมไทย จนทุกวันนี้อยู่ในวัยชราภาพ

คุณประกาศิต รูปสูง เป็นลูกอาจารย์สน รูปสูง ที่ทำกิจกรรมนักศึกษาและเคลื่อนไหวทางการเมืองและมวลชนมาโดยตลอด เมื่อเขาเห็นผู้เฒ่าผู้แก่อดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันพากันล้มป่วยและตายไปโดยไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร เขาและเพื่อนพ้องน้องพี่จึงคิดจัดทำกองทุนสุขภาพและสวัสดิการขึ้น เจตนารมณ์และอุดมการณ์นี้น่าสนับสนุนทั้งทางความคิดและการปฏิบัติจริง

กิจกรรมแรกที่คุณประกาศิตและพี่น้องคิดกัน คือ การจัดคอนเสริ์ตเพลงเพื่อชีวิต โดยวงคาราวาน , วงไก่ แมลงสาบ , นิด ลายสือ และสุธี ปุราทะกา โดยที่มีอีกความคิดหนึ่งทางการเมือง คือ การเสวนาเรื่องการก้าวพ้นสังคมหลากสีในความขัดแย้งทางการเมือง โดยจะมีคุณอมรเทพ อมรรัตนานนท์ คุณนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้เขียน และคุณเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ ดำเนินรายการ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 ณ ห้องประชุมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น                        

เราท่านที่รักความเป็นธรรม รักมนุษย์และพอแบ่งปันทรัพยากรทั้งทางปัญหา ความคิด ความรู้ ประสบการณ์และเงินจำนวนหนึ่ง น่าจะไปเข้าร่วมและสมทบกองทุนดังกล่าว

ผู้เขียน มองว่า ความขัดแย้งหลักมาจาก 2 สี คือ สีเหลือง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นความร่วมมือของชนชั้นกลางที่รักความเป็นธรรมกับกลุ่มอมาตยาธิปไตย พูดภาษาทฤษฏีอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มทุนนิยมกับศักดินาบูรณาการเป็นแนวร่วมชั่วคราว สีแดง เป็นกลุ่มนายทุนธุรกิจการเมืองกลุ่มนักการเมืองอาชีพ กลุ่มอดีตสหายที่ร่ำรวย ไม่ยากลำบากเหมือนกลุ่มคนที่คุณประกาศิตต้องการมีกองทุนสุขภาพและสวัสดิการ โดยมีฐานมวลชนที่ไม่พอเพียงเป็นมวลชนพื้นฐาน มีลักษณะทุนนิยมบวกสังคมนิยม อาจเรียกเล่นๆ ได้ว่า สังคมทุนนิยมภิวัฒน์ ส่วนสีอื่นๆ เป็นองค์ประกอบและสีสันทางการเมือง ไม่ใช่คู่ความขัดแย้งหลัก           

สังคมไทยในอนาคตต้องชูธงทฤษฎี สังคมคุณธรรมภิวัฒน์ โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือ เพื่อต่อสู้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ที่มีการเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิงทรัพยากร การเมืองแบบนายทุน นักการเมืองอาชีพ อดีตข้าราชการ และคนมักใหญ่ใฝ่สูง เข้าไปมีอำนาจและจัดสรรผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาสู่คุณธรรมของปัจเจกชน การสร้างชุมชนเข้มแข็งและเครือข่ายที่ทรงพลัง และเข้าไปจัดการระบบการตลาดที่นำเงินนอกชุมชนเข้า นำวัตถุดิบชุมชนออกเป็นรายได้ ไม่นำเงินในออก ไม่เอาสินค้าภายนอกเข้าชุมชน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อมวลชนอย่างแท้จริง โดยไม่ตกอยู่ในกระแสบริโภคนิยม การเห็นเงินตราและวัตถุเป็นใหญ่

ธงนำทางทฤษฏีจะเป็นไปได้โดยไม่ต้องใช้กำลังอาวุธ ต้องมียุทธศาสตร์ไม่น้อยกว่า 20 ปี ในการปฏิวัติ ปฏิรูปและการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐในรูปการเมืองภาคพลเมืองกับการเมืองภาคตัวแทนต้องผสมผสานกันอย่างเป็นขบวนการเดียวกัน

การแปลงทฤษฏีสู่การปฏิบัติจึงเป็นสิ่งท้าทายการก้าวพ้นการเมืองหลากสี ที่มีสีเหลืองและสีแดงเป็นคู่ขัดแย้งหลัก ซึ่งต้องมีกลุ่มคนที่สนใจทฤษฏีและยุทธศาสตร์มานั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสุนทรียะสนทนาและจัดขบวนการแปลงสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยจากมือนายทุน ศักดินา นักการเมือง ไปสู่ ประชาชนที่แท้จริงได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net