Skip to main content
sharethis

ในโอกาสที่วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ตรงกับวันเอดส์โลก มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้จัดบริการปรึกษาทางโทรศัพท์ ตลอด 24 ชม. นับตั้งแต่ 10.00 น ของวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02 372 2222 และ หลังจากนั้นก็ยังสามารถใช้บริการได้ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ของทุกวัน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การที่ไม่สามารถปรึกษา หรือคุยกับใครในเรื่องความกังวลนี้ สะท้อนถึง ทัศนคติ ความเชื่อ การตัดสินคุณค่าในเรื่องเพศของสังคม รวมทั้งการตีตรา ดูหมิ่น เหยียดหยาม ตัดสินพฤติกรรทางเพศว่าดี เลว ซึ่งนับเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยกย่องถึงความสำเร็จในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอดส์จากทั่วโลก แต่เราไม่มีการจัดบริการปรึกษาทางโทรศัพท์ในเรื่องเอดส์ ที่เป็นบริการหลักของรัฐ โดยบริการปรึกษาทางโทรศัพท์ที่มีอยู่ตอนนี้ เป็นบริการที่จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมีเพียงไม่กี่องค์กรที่ยังคงจัดบริการนี้อยู่ ในขณะที่ประเทศไทย มีคนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ กว่า 12,000 คน และมีคนที่ติดเชื้อแล้วกว่า 500,000 คน
 
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นหนึ่งในองค์กรที่จัดบริการนี้มากว่า 16 ปี และพบว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์บริการปรึกษา จะมีผู้ที่เก็บตัวอยู่กับปัญหานี้เงียบๆ ออกมาใช้บริการจำนวนมาก
 
ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพ คิดเรื่องการจัดบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์อย่างจริงจัง เพื่อเป็นจุดแรกๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีปัญหาได้พบทางเลือก ทางออกในการแก้ปัญหาเอดส์ของตนเองได้

ปัญหาที่มีคนโทรมาปรึกษามากที่สุด คือ
1.มีเพศสัมพันธ์ กับ คนรู้จัก ซึ่งมีตั้งแต่ เพื่อนร่วมงาน แฟน เพื่อนในชั้นเรียน และคนที่เพิ่งรู้จัก กันในสถานบริการต่างๆ และมีทั้งที่ใช้และไม่ใช้ถุงยาง สำหรับคนที่ใช้ถุงยางแล้ว ก็ยังคงไม่มั่นใจว่า ถุงยางจะป้องกันได้  กังวลว่าตนเองจะติดเชื้อเอชไอวี
2.กลัวว่าจะติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่  จึงเลี่ยงไปใช้การมีเพศสัมพันธ์ด้วยปาก แล้วมี ความกังวลว่าจะติดเชื้อหรือไม่
3.มีความเสี่ยงแล้ว และอยากตรวจเลือด แต่ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน
4.เพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ ไม่รู้ว่าจะบอกกับคู่อย่างไร และก็ไม่กล้าปฏิเสธถ้าคู่ขอมีอะไรด้วย
5.รู้ว่าติดเชื้อ ยังไม่มีอาการป่วย ไม่มีข้อมูลอะไรเลย รู้แต่น่ากลัวต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน
6.เริ่มไปรักษาตัวเองแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่า หมอให้ยาอะไร ต้องกินอย่างไร และ ไม่เข้าใจว่า เอดส์รู้เร็วรักษาได้เป็นอย่างไร ที่ตนเองรักษาอยู่ใช่หรือไม่
7.ไม่รู้ว่าตนเองจะใช้สิทธิในการรักษาอย่างไร จากระบบต่างๆ เช่น ในประกันสังคมเบิกได้หรือไม่ บัตรทองครอบคลุมเรื่องเอดส์หรือไม่ และจะไปรับยาได้ที่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net